โดยปกติช่องคลอดเราจะมีแบคทีเรียประจำถิ่นอาศัยอยู่ ซึ่งไม่เป็นอันตราย และคอยปกป้องไม่ให้แบคทีเรียก่อโรคอื่นๆ มารุกราน แต่หากเกิดสภาวะที่ทำให้ช่องคลอดเสียสมดุล แบคทีเรียก่อโรคอาจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเกิดการติดเชื้อและอักเสบในช่องคลอดได้
ภาวะช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis)
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์จนถึงวัยทอง โดยอาการที่เด่นชัด ได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- มีตกขาวออกมามาก และมีสีผิดปกติ เช่น เป็นสีเทาขุ่น
- ตกขาวมีกลิ่นเหม็นมาก และทำให้ช่องคลอดมีกลิ่นแรงด้วย
- รู้สึกระคายเคือง แสบคันช่องคลอดอย่างรุนแรง
- รู้สึกเจ็บแสบช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์
การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด แม้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สร้างความรำคาญใจจนหลายๆ คนต้องไปพบแพทย์ในที่สุด อีกทั้งยังมีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้เรื่อยๆ อีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
- การมีเพศสัมพันธ์ หากอวัยวะเพศชายไม่สะอาด ความโชคร้ายก็อาจมาตกอยู่กับผู้หญิงได้เหมือนกัน เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่สาวๆ จะติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะหากมีคู่นอนหลายคน และไม่ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน
- การทานยาปฏิชีวนะบ่อยๆ อาจทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล แบคทีเรียประจำถิ่นที่มีประโยชน์จะถูกกำจัด ทำให้แบคทีเรียก่อโรคมีโอกาสเพิ่มจำนวนขึ้นได้
- มีฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ เช่น ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากแบคทีเรียประจำถิ่น Lactobacilli จะลดลง ทำให้แบคทีเรียก่อโรคถือโอกาสขยายจำนวนขึ้น
- การสวนล้างช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดเสียสมดุล และแบคทีเรียที่ดีถูกกำจัดไปเช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
- เกิดการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด อาจลุกลามจนเกิดการติดเชื้อและอักเสบที่ปีกมดลูกและรังไข่ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
- เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ภาวะช่องคลอดอักเสบ จะทำให้โอกาสติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน และ HIV เพิ่มขึ้น
- มีผลต่อการตั้งครรภ์ ภาวะช่องคลอดอักเสบในสตรีมีครรภ์ อาจเสี่ยงต่อถุงน้ำคร่ำแตก และทารกมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ได้
การรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย
โดยทั่วไป แพทย์จะรักษาโดยการจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับกำจัดแบคทีเรียก่อโรค เช่น ยา Metronidazole ซึ่งมีทั้งรูปแบบยากินและยาทาช่องคลอด สำหรับยากิน อาจมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ อาจใช้ยาชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น Clindamycin และ Tinidazole ซึ่งการรักษามักต้องทำทั้งในผู้หญิงที่ติดเชื้อ และคู่นอนของเธอด้วย เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อซ้ำจากการมีเพศสัมพันธ์
การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ
- ดูแลความสะอาดของช่องคลอด โดยการล้างอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดเฉพาะภายนอก และเช็ดให้แห้งก่อนสวมเสื้อผ้าเพื่อป้องกันความอับชื้น อีกทั้งควรสวมชุดชั้นในที่สะอาดด้วย
- ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการแสบคันและตกขาวจะหาย และหากอยู่ในระหว่างรักษา ควรใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
การป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
- ใช้ถุงยางอนามัย หรือให้ฝ่ายชายทำความสะอาดอวัยวะเพศให้ดีก่อนมีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรทานยาปฏิชีวนะบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น