February 05, 2017 11:22
ตอบโดย
รัตน์พล อ่ำอำไพ (แพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวช)
การใช้ยารักษา การใช้ยารักษาควรใช้กรณีที่จำเป็น แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ยาบรรเทาอาการเฉียบพลัน และยาที่ใช้ในการป้องกันการเกิดอาการ
1. การใช้ยารักษาบรรเทาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลัน ได้แก่
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาแก้ปวดชนิด NSAIDs
- ยากลุ่มเออร์กอต (Ergot-based drug) ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงพอสมควร ควรใช้ในการรักษาเฉพาะอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงและเป็นนาน ๆครั้ง ซึ่งการใช้ยาบ่อย จะทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นและอาจติดยา
- ยากลุ่มทริปแทน (Triptan) เป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ไดัเช่นกันแต่มีราคาแพง
สำหรับการใช้ยานอนหลับชนิดต่าง ๆ ก็สามารถใช้ในการรักษาไมเกรนได้ แต่ไม่ควรใช้บ่อยและควรใช้อย่างระมัดระวังเพราะจะมีปัญหาติดยาเกิดขึ้น
2 ยาในการรักษาแบบป้องกัน จะใช้ในกรณีที่มีอาการปวดไมเกรนบ่อย เช่น เกิน 2 ครั้งต่อเดือน การเกิดอาการปวดแต่ละครั้งรุนแรง หรือกรณีไม่สามารถรับประทานยาในกลุ่มที่ใช้รักษาอาการปวดไมเกรนแบบเฉียบพลันได้ ซึ่งยาในกลุ่มนี้ไม่ใช่ยาแก้ปวดจึงรักษาอาการปวดไมเกรนไม่ได้แต่เป็นยาที่ใช้สำหรับการป้องกันการเกิดไมเกรนและต้องรับประทานยาทุกวัน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน
โดยมีวัตถุประสงค์ของการใช้ยาป้องกันการเกิดไมเกรน คือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะหรือลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะหลังจากหยุดยาในกลุ่มนี้อาการปวดศีรษะอาจหยุดไปเป็นเวลานาน ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
- กลุ่มยาเบต้า-บล็อกเกอร์ (β-blocker) ที่มีผลในการป้องกันไมเกรน คืออะทีโนลอล เมโทโพรลอลและทิโมลอลผลแทรกซ้อนที่ควรระวังในการใช้ยาในกลุ่มนี้คือ อาการอ่อนเพลีย ซึ่งพบได้ประมาณ 20% แต่อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเอง ผลแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ง่วงซึม ฝันร้าย ซึมเศร้า ภาพหลอน มือเท้าเย็น
- กลุ่มยาแอนตี้-ซีโรโตนิน (Anti-serotonin) ได้แก่ พิโซติเฟนซึ่งเป็นยาที่ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันประมาณ 50% แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้อ้วนและง่วงนอน
- กลุ่มยาแคลเซียมแอนทาโกนิส (Calcium antagonist) ได้แก่ ฟลูนาริซีน เวอราพรามิล ไนเฟดดิปีน และ ไนโมดิปีน สามารถป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับกลุ่มยาเบต้า-บล็อกเกอร์
- กลุ่มยากันชัก ที่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันการเกิดไมเกรนได้ ได้แก่ โซเดียมวาลโปรเอต โทพิราเมท และกาบ้าเพนติน
- กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า (TCA) มีประโยชน์ในผู้ป่วยนอนไม่หลับและมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย แต่อาจมีผลทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน และน้ำหนักเพิ่มได้
การใช้ยารักษาไมเกรนนี้ควรใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและควรมารับการรักษาต่อเนื่องไม่ควรซื้อยาทานเองเนื่องจากผลข้างเคียงจากการใช้ยามีค่อนข้างมากและบางครั้งรุนแรง นะครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ยาสำหรับรักษาไมเกรนโดยเฉพาะมีมั้ยคะ?
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)