กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Voltfast (ตัวยา Diclofenac)

เผยแพร่ครั้งแรก 29 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 30 มี.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

เมื่ออยู่ในภาวะเจ็บป่วย และต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานกับอาการของโรค คงไม่มีใครที่ไม่อยากหายป่วยนะคะ แท้จริงแล้ว น่าจะต้องการให้อาการดีขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เสียด้วยซ้ำ

เช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปวดศีรษะไมเกรน ปวดประจำเดือน ปวดจากการบาดเจ็บหรือหลังผ่าตัด และอีกหลายอาการปวด ที่แต่ละนาทีดูเหมือนจะผ่านไปช้าเหลือเกิน หากมียาแก้ปวดตัวไหนที่ช่วยทำให้หายปวดได้เร็วก็ย่อมเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

จึงเป็นที่มาให้มีการวิจัยและพัฒนาสูตรตำรับยาแก้ปวด ให้สามารถออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น เช่น การเติมสารประกอบในเม็ดยาเพื่อช่วยเพิ่มความเร็วในการละลายและดูดซึมของพานาดอล แอคติฟาส (Panadol actifast), การผลิตยาในรูปแบบสารละลายบรรจุในเม็ดแคปซูลนิ่มของโกเฟน (Gofen), ไอบูซิน อาร์ (Ibucin R), นูโรเฟน ซาวานซ์ (Nurofen zavanze) และการผลิตยาในรูปแบบผงละลายน้ำของโวลท์ฟาส (Voltfast)

ยาตัวหลังนี้ แม้ว่าจะมีจำหน่ายในประเทศไทยมามากกว่า 3 ปีแล้ว แต่ชื่ออาจยังไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน วันนี้เลยถือโอกาสมาชำแหละ เอ๊ย! แกะกล่องยาโวลท์ฟาส (Voltfast) ให้ดูดีกว่าค่ะ

โวลท์ฟาส (Voltfast) เป็นยาในรูปแบบผงละลายน้ำ ใน 1 กล่องจะมียา 9 ซอง ซึ่งแต่ละซองมีตัวยา Diclofenac potassium 50 มิลลิกรัม

ไดโคลฟีแนค (Diclofenac) เป็นยาในกลุ่มของยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs หรือ NSAIDs) ใช้สำหรับอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบ เช่น การอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อ

ไดโคลฟีแนคที่ในรูปเกลือโพแทสเซียมนั้นละลายน้ำได้ดีค่ะ สามารถละลายและดูดซึมที่กระเพาะอาหารได้เลย จึงเห็นผลเร็วกว่าไดโคลฟีแนคในรูปเกลือโซเดียมที่ละลายน้ำได้น้อยกว่า แถมบางยี่ห้อยังเป็นยาเม็ดเคลือบชนิดละลายในลำไส้ (Enteric – coated tablet) เพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่ก็ทำให้ออกฤทธิ์ได้ช้ากว่า

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับไดโคลฟีแนคในรูปเกลือโพแทสเซียมด้วยกัน โวลท์ฟาสซึ่งมีตัวยาเป็นผง ไม่ต้องรอให้เม็ดยาแตกตัวก่อนละลาย ทำให้ดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วขึ้น โดยมีระดับยาสูงสุดในเลือดหลังรับประทาน 5 – 20 นาที จึงนิยมใช้ในกรณีปวดศีรษะไมเกรนค่ะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ขนาดและวิธีใช้

ละลาย ยา 1 ซอง (โวลท์ฟาส 50 มิลลิกรัม) ในน้ำเปล่า 1 แก้ว คนให้เข้ากัน สารละลายยาอาจมีสีเหลืองเล็กน้อย ไม่ต้องตกใจค่ะ ไม่มีผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาแต่อย่างใด รับประทานวันละ 1 – 3 ซอง ตามอาการ โดยรับประทานในเวลาท้องว่างหรือก่อนรับประทานอาหาร

...อะไรนะ! รับประทานก่อนอาหาร!!!...

ใช่แล้ว... พิมพ์ไม่ผิดหรอกค่ะ แนะนำให้รับประทานโวลท์ฟาสในตอนท้องว่างเพื่อให้ยาดูดซึมได้ดี แต่ควรใช้ในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือไม่นานเกิน 1 สัปดาห์นะคะ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร

อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาตอนท้องว่างแล้วรู้สึกอึดอัด ไม่สบายท้อง สามารถรับประทานพร้อมหรือหลังอาหารได้ค่ะ แต่ยาอาจมีการดูดซึมและออกฤทธิ์แก้ปวดได้ช้ากว่า

ห้ามใช้ยานี้ใน...

  • ผู้ที่แพ้ตัวยาสำคัญ หรือสารประกอบอื่นในตำรับ
  • มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ มีเลือดออก หรือมีแผลทะลุ
  • อยู่ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยตับวาย / ไตวาย / โรคหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง
  • ผู้ป่วยหอบหืด ลมพิษ หรือโพรงจมูกอักเสบแบบเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการเหนี่ยวนำของยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ตัวอื่น ๆ
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 14 ปี

และต้องระมัดระวังการใช้ใน...

  • ผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักน้อย
  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ผู้ที่มีความเสี่ยง หรือเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง
  • หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

เมื่อพิจารณาในด้านราคาต่อ 1 หน่วยการใช้ (1 เม็ด หรือ 1 ซอง) ของยาไดโคลฟีแนค เฉพาะความแรงที่เท่ากันคือ 50 มิลลิกรัม พบว่าไดโคลฟีแนค โซเดียม แบบเม็ด จะมีราคาถูกกว่า ไดโคลฟีแนค โพแทสเซียม แบบเม็ด อันนี้เปรียบเทียบเฉพาะยาที่ผลิตในประเทศเหมือนกันนะคะ เพราะยานอกของไดโคลฟีแนค โซเดียม แบบเม็ดขนาด 50 มิลลิกรัม ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยค่ะ

และเมื่อเปรียบเทียบยานอก ของไดโคลฟีแนค โพแทสเซียมแบบเม็ดกับแบบผงละลายน้ำ (ในวันที่เขียนบทความ มีไดโคลฟีแนคแบบผงอยู่ยี่ห้อเดียว และเป็นยานอกค่ะ) พบว่าแบบผงมีราคาสูงกว่านิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นว่ายาที่แพงกว่าจะดีกว่าเสมอไปนะคะ เนื่องจากการตอบสนองต่อยาในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน จึงพบได้ว่าบางคนใช้ยาที่ออกฤทธิ์เร็วกลับได้ผลไม่ดีเท่ายาที่ออกฤทธิ์ช้ากว่า ดังนั้น หากยาที่ใช้อยู่ให้ผลการรักษาที่น่าพอใจแล้ว ก็ใช้ตัวเดิมดีกว่าค่ะ

แต่ถ้ายังไม่พบยาแก้ปวดเฉียบพลันที่ให้ผลที่น่าพอใจ และไม่อยู่ในกลุ่มผู้ที่ควรระวังหรือห้ามใช้ ยาแก้ปวดในรูปแบบผงสำหรับชงผสมน้ำอย่างโวลท์ฟาสก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจนะคะ


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)