January 25, 2017 19:44
ตอบโดย
ชมชนัท ทับเจริญ (พญ.)
"ข้อไหล่ติดนั้นจะก่อให้เกิดอาการปวดเจ็บตื้อๆ โดยอาการปวดจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหว อาการที่เด่นชัดคือการไม่สามารถขยับข้อไหล่ได้เลย มีอาการปวดเวลานอนทับ เจ็บไหล่ หรือเวลากลางคืนมาก
อาการของโรคข้อไหล่ติดมี 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 - ระยะเจ็บปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีอาการเจ็บปวดค่อยๆ เป็นมากขึ้น เมื่อโรคเป็นมากขึ้นอาจมีอาการปวดแม้ไม่ได้ทำอะไร ระยะนี้มักนาน 6 สัปดาห์ ถึง 9 เดือน พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อลดลง
ระยะที่ 2 - ระยะข้อยึด อาการปวดจากระยะแรกอาจยังคงอยู่แม้มักจะเริ่มมีอาการปวดลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ในทุกทิศทางลดลง อาจส่งผลต่อกิจวัตรประจำวันอย่างมาก ระยะนี้ทั่วไปอาจนาน 4-9 เดือน หรืออาจนานกว่านี้ได้
ระยะที่ 3 - ระยะฟื้นตัว อาการปวดจะลดลง พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อไหล่จะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วง 5 เดือนถึง 2 ปี
มากกว่า 70% ของผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด โดย
- รับประทานยาต้านการอักเสบเพื่อลดอาการปวดและบวม
- การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยตรงเข้าไปในข้อไหล่ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
- การออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหว
- การใช้ความร้อนเพื่อช่วยคลายการยึดติดก่อนที่จะออกกำลังกายยืด
การรักษาทางกายภาพบำบัดเพื่อลดปวดและเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวมีหลายวิธี เช่น การดัดดึงข้อต่อ การใช้ความร้อน/เย็น รักษาด้วยคลื่นเหนือเสียง และการออกกำลังกาย โดยการออกกำลังกายมีส่วนสำคัญอย่างมากในการบรรเทาและการรักษาอาการของโรคโดยเน้นออกกำลังกายที่เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกาย
1. ใช้มือแตะที่กำแพง ค่อยๆเลื่อนมือขึ้นไปทางด้านบนอย่างช้าๆ จนถึงจุดที่รู้สึกว่าตึง ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 ชุด
2. หันด้านข้างเข้าหากำแพง ใช้มือแตะที่กำแพง ค่อยๆเลื่อนมือขึ้นไปทางด้านบนอย่างช้าๆ จนถึงจุดที่รู้สึกว่าตึง ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 ชุด
3. เอื้อมมือด้านปกติไปจับข้อมือที่มีอาการ และดึงขึ้นมาเหนือศรีษะ จนถึงจุดที่รู้สึกว่าตึง ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 ชุด
4. เอื้อมมือด้านปกติไปจับข้อมือที่มีอาการ (หากเอื้อมไม่ถึงให้ใช้ผ้าขนหนูช่วย) และดึงอ้อมทางด้านหลังจนถึงจุดที่รู้สึกว่าตึง ทำค้างไว้ประมาณ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 ชุด
5. โน้มตัวมาทางด้านหน้า มือข้างปกติจับกับโต๊ะหรือเก้าอี้หมุนข้อไหล่ข้างที่มีอาการให้กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้อย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการปวด ประมาณ 10 รอบ ทำซ้ำ 10 ครั้ง 3 ชุด
6. เอื้อมมือข้างที่มีอาการทางด้านหน้า มือข้างปกติจับที่ข้อศอกดึงค้างไว้จนรู้สึกตึงประมาณ 15-30 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
7. ประสานมือทั้งสองข้าง ยกแขนขึ้นไปทางด้านหลังค้างไว้จนรู้สึกตึงประมาณ 15-30 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
8. กางไหล่พร้อมงอศอกข้างที่มีอาการวางบนขอบประตูโน้มตัวมาทางด้านหน้าจนรู้สึกตึงที่ด้านหน้าข้อไหล่ค้างไว้ 15-30 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
แต่เนื่องจากส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่มีข้อไหล่ติดนั้น มีสาเหตุจากภายในข้อไหล่เอง ซึ่งอาจจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด ดังนั้น แพทย์เฉพาะทางจะทำการตรวจแยกสาเหตุของอาการปวดก่อนวางแผนการรักษา
"
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ปวดไหล่มานานมากมีวิธีรักษามั้ยค่ะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)