January 26, 2017 12:31
ตอบโดย
ฐิติพร ตั้งวิวัฒนาพานิช (พญ.)
โรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เกิดขึ้นตามอายุไขปกติ นั่นแสดงว่ารักษาไม่หายขาดค่ะ มีแต่บรรเทาหรือชะลอความเสื่อมไม่ให้เพิ่มขึ้นหรือเสื่อมเพิ่มเร็วเกินไป เหมือนของใช้ยิ่งใช้ยิ่งนานวันวัสดุที่ทำมันก็เสื่อมลง อยากให้เหมือนใหม่มันไม่ได้ ก็ต้องซื้อใหม่ แต่อวัยวะของมนุษย์เรามันไม่ได้เปลี่ยนของใหม่ได้ ไม่ได้มีอะไหล่ โดยส่วนที่เสื่อมของข้อเข่านั้นก็คือกระดูกอ่อนที่รองรับน้ำหนักระหว่างกระดูกต้นขาและปลายขา เมื่อกระดูกไม่สัมผัสกันเราจึงไม่เจ็บปวด เมื่อนานๆไปเราใช้งานเข่า เราอายุมากขึ้น กระดูกอ่อนที่เคยรองรับอยู่ก็กร่อนสึกไปเรื่อยๆ กระดูกชนกระดูกก็เจ็บค่ะ การชะลอการเสื่อมของข้อเข่าสามารถทำได้โดยงดเว้นท่าทางที่ต้องใช้เข่ารับน้ำหนักมาก เช่น คุกเข่า นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ ย่อเข่าเก็บของ ขึ้นบันได ยืนหรือเดินเป็นเวลานานๆติดต่อกัน หรือออกกำลังที่ต้องกระโดดเยอะ สำคัญอย่าลืมลดน้ำหนักควบคุมอาหาร เพราะยิ่งน้ำหนักมาก ข้อเข่าก็ยิ่งต้องแบกรับภาระน้ำหนักมากขึ้นไปด้วย หมั่นออกกำลังเพื่อบริหารกล้ามเนื้อและเอ็นรอบๆหัวเข่าและต้นขาให้แข็งแรงทดแทนข้อที่เสื่อมไป อาจเริ่มด้วยการใช้ถุงทราย ถุงพลาสติกถ่วงขวดน้ำมาแขวนไว้ที่ข้อเท้า แล้วนั่งเก้าอี้ ใช้ขาออกแรงยกน้ำหนักขึ้น ทำซ้ำๆทุกวัน วันละ 50 - 100 ครั้ง อาจค่อยๆเพิ่มน้ำหนักถ่วงด้วยค่ะ สำหรับการรักษานั้นเน้นไปที่การออกกำลัง กายภาพ การใช้ยาแก้ปวดชนิดกินหรือฉีดยาเข้าข้อ หากต้องการให้อาการปวดหายไปต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยแพทย์ศัลยกรรมกระดูก โดยแพทย์จะไถพื้นผิวกระดูกจริงออกแล้วใช้ซีเมนต์หล่อเป็นรูปข้อเทียมใส่เข้าไปแทน จะใช้เวลาพักฟื้นสักระยะหนึ่ง
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ตอบโดย
Danuchar Chaichuen (พว.)
โรคข้อเข่าเสื่อม คือ โรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งเป็นผลมาจากอายุที่เพิ่มขึ้นและการใช้งานมาก เมื่อมีการใช้งานผิวข้อที่สึกจะมีการขัดสีกัน ทำให้เกิดอาการปวดข้อเข่าตามมา
ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ โดยจุดมุ่งหมายในการรักษา คือ ช่วยบรรเทาอาการปวด ช่วยให้หน้าที่การใช้งานของข้อกลับคืนสู่ภาวะปกติหรือใกล้เคียงปกติมากที่สุด และป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปของข้อ วิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความรุนแรงของโรค การใช้งานที่คาดหวังและความพร้อมของผู้ให้การรักษา
การรักษามีแนวทางหลัก 2 วิธี ได้แก่ การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด
1. การปรับเปลี่ยนการใช้งานในชีวิตประจำวัน ได้แก่
- การพักหรือใช้งานข้อให้น้อยลง หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า เช่น คุกเข่า พับเพียบ ยองๆ ขัดสมาธิ หรือนั่งเก้าอี้ต่ำ
- หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นควรเดินช้าๆ และขึ้นลงทีละขั้น
- หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งท่าเดียวนานๆ ควรเปลี่ยนท่าหรือขยับข้อเข่าอยู่เรื่อยๆ
- นั่งถ่ายบนโถนั่งชักโครก หรือใช้เก้าอี้ที่มีรูตรงกลางวางไว้เหนือคอห่านแทนการนั่งยองๆ ควรทำราวจับบริเวณโถนั่งเพื่อใช้ช่วยพยุงตัวเวลาจะนั่งหรือยืน
2. ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง
3. การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน เช่น ไม้เท้า ไม้ค้ำยัน จะช่วยลดแรงที่เกิดกับข้อได้
4. ที่นอนควรมีความสูงระดับเข่า ไม่ควรนอนบนพื้น เพราะจะปวดมากเวลาจะนอนหรือลุกขึ้น
5. การประคบอุ่นบริเวณข้อเข่า ช่วยลดอาการปวดและกล้ามเนื้อเกร็งได้
6. การสวมสนับเข่า ในกรณีที่ข้อเข่าเสียความมั่นคง จะช่วยกระชับข้อและลดอาการปวด
7. การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อ การเพิ่มหรือคงไว้ซึ่งพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ และการเพิ่มสมรรถภาพของร่างกาย
8. การใช้ยา ปัจจุบันมียาหลายกลุ่มที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อม ไก้แก่
- ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยากลุ่มแรกที่ใช้ในการควบคุมอาการ
- ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและการอักเสบของข้อ
- ยาช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อ เช่น กลูโคซามีนซัลเฟต จะช่วยชะลอโรค ซ่อมแซมผิวข้อ ลดการอักเสบและอาการปวด เป็นยาทางเลือกในข้อเสื่อมระยะเริ่มต้น
- ยาทาภายนอก ช่วยลดอาการโดยไม่ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงจากยารับประทาน
- การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อ เป็นทางเลือกในการช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวข้อดีขึ้น
- การฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เป็นทางเลือกในข้อเสื่อมรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น
การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
มีข้อบ่งชี้ คือ ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัดแล้วให้ผลการรักษาล้มเหลว โดยผู้ป่วยยังมีอาการที่รุนแรงอยู่จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานได้ปกติ การผ่าตัดมีหลายวิธี ได้แก่
1. การล้างข้อโดยใช้วิธีการส่องกล้อง ช่วยล้างน้ำไขข้อที่อักเสบ เศษกระดูก กระดูกอ่อนและเยื่อบุข้อที่หลุดร่อนออก แต่งผิวข้อให้เรียบและกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกอ่อนผิวข้อใหม่
2. การผ่าตัดจัดแนวกระดูกขา ใช้ในกรณีที่เป็นข้อเสื่อมซีกเดียวร่วมกับมีขาโก่งผิดรูปเล็กน้อย เป็นการผ่าตัดปรับแนวของข้อและขาใหม่ ช่วยลดอาการปวดและเพิ่มอายุการใช้งานของข้อ
3. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นการผ่าตัดเอาผิวข้อที่สึกออกไปและทดแทนด้วยผิวข้อเทียม เหมาะกับผู้ป่วยที่มีการสึกของผิวข้ออย่างรุนแรง มีข้อผิดรูปหรือมีข้อยึดติดมาก
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
วิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)