โรคลมชัก (Epilepsy) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบการส่งกระแสประสาทในสมองเกิดการทำงานผิดปกติทำให้เกิดอาการชัก โดยอาการของโรคลมชักนั้นมีหลายรูปแบบ ได้แก่
- อาการชักแบบชักเกร็ง (Tonic Seizures) ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง อาจเป็นทั้งตัวหรือเฉพาะส่วน (Partial หรือ focal seizures) ก็ได้ มักจะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณหลัง แขนและขา จนทำให้ผู้ป่วยล้มลง
- อาการชักแบบชักกระตุก (Clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ โดยอาจทำให้เกิดการกระตุกในจังหวะซ้ำ มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อบริเวณคอ ใบหน้า และแขน
- อาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง (Tonic-clonic Seizures) เป็นอาการชักที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อในร่างกายทุกส่วน ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกร่วมด้วย ส่งผลทำให้ผู้ป่วยล้มลงและหมดสติ บางรายอาจร้องไห้ในขณะชักด้วย และหลังจากอาการบรรเทาลง ผู้ป่วยมักรู้สึกเหนื่อยจากการชัก
- อาการชักแบบชักสะดุ้ง (Myoclonic Seizures) อาการชักชนิดนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยจะเกิดอาการชักกระตุกของแขนขาคล้ายกับการโดนไฟฟ้าช็อต ในบางรายอาจเกิดขึ้นร่วมกับอาการชักแบบอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน
- อาการชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic Seizures) ผู้ป่วยที่มีอาการชักชนิดนี้จะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการได้ อาจทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้อย่างเฉียบพลัน
- อาการชักแบบเหม่อลอย (Absence Seizures) เป็นอาการชักที่มักเกิดขึ้นในเด็ก ลักษณะนี้จะสังเกตอาการได้ยาก เนื่องจากเป็นอาการชักที่นิ่งไปเฉยๆ คล้ายคนเหม่อลอย อาการชักอาจจะเกิดช่วงเวลาสั้นๆ ไม่นาน แล้วผู้ป่วยก็กลับมาเป็นปกติ หากไม่สังเกตอาการดีๆ อาจจะไม่รู้ว่ามีการชักอยู่ อาการชักชนิดนี้จะทำให้ผู้ป่วยเสียการรับรู้ในระยะสั้นๆ ได้ และมักจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น
โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยมักจะพบมากในเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี หรือผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ส่วนใหญ่แล้วโรคลมชักนั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถช่วยควบคุมไม่ให้มีอาการชักกำเริบและใช้ชีวิตตามปกติได้หากผู้ป่วยรับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักอาจได้รับผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดอาการขึ้นขณะทำงานที่มีความเสี่ยงกับความปลอดภัย หรือขับขี่ยานพาหนะ หรือใช้ชีวิตประจำวันอยู่ อาจมีความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ และส่งผลกระทบต่าง ๆ ที่อันตรายต่อชีวิตตามมาได้ ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยควรที่จะเข้ารับการรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การรักษาและยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก
นอกเหนือจากการผ่าตัดแล้ว การรักษาโรคลมชักโดยการรับประทานยา (Anticonvulsant Drugs) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชักซ้ำเป็นวิธีมาตรฐานที่นิยมใช้กันทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การใช้ยากันชักต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนว่าเป็นโรคลมชักจริงและเป็นโรคลมชักชนิดใด เพราะถ้าเป็นแค่อาการชักที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา โดยพบว่า 70% ของผู้ป่วยถ้ารับประทานยาอย่างต่อเนื่องสามารถกลับมาหายได้ เป้าหมายของการใช้ยากันชัก คือ การควบคุมอาการชักให้ได้โดยมีผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยากันชักมากกว่า 1 ชนิด เพื่อควบคุมอาการชัก
ยากันชักมีหลายชนิดซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างกันเพื่อความเหมาะสมในการนำมาใช้รักษาโรคลมชักให้ถูกประเภท โดยทั่วไปยากันชักจะออกฤทธิ์โดยไปเปลี่ยนแปลงระดับของสารเคมีที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำสัญญาณประสาทภายในสมอง ทำให้ลดโอกาสในการเกิดอาการชักได้ ยากันชักสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
- ยารักษาโรคลมชักกลุ่มดั้งเดิม (Classic anticonvulsants) ได้แก่
- โซเดียมวาโปรเอต (sodium valproate; Depakene®) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท GABA (Gamma-aminobutyric acid) ที่มีชื่อว่า GABA transaminase และปิดช่องทางขนส่งโซเดียม (Na+) ส่งผลให้การส่งกระแสประสาทภายในสมองลดลง นิยมใช้เป็นยาตัวแรกที่แพทย์เลือกใช้สำหรับรักษาอาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง อาการชักเกร็งเฉพาะส่วน อาการชักแบบเหม่อลอย และอาการชักสะดุ้ง ยานี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากมีผลทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด มีผลข้างเคียงทำให้ผมร่วงและทำให้ไม่สบายทางเดินอาหาร
- คาร์บาร์มาซีปีน (carbamazepine; Tegretol®, Mazepine®) ออกฤทธิ์ยับยั้งช่องทางขนส่งโซเดียม (Na+) เป็นยาหลักที่ใช้สำหรับรักษาอาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง อาการชักเกร็งเฉพาะส่วน และโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia) ยานี้ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เนื่องจากมีผลทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด ผลข้างเคียงทำให้บวมน้ำและเม็ดเลือดมีความผิดปกติ
- ออกคาร์บาร์ซีปีน (oxcarbazepine; Trileptal®) ยานี้เป็นอนุพันธุ์ของยาคาร์บามาซีปีน ออกฤทธิ์ปิดกั้นศักย์ไฟฟ้าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประจุของเกลือโซเดียมในบริเวณเซลล์ประสาท และยับยั้งการส่งผ่านกระแสประสาทที่ผิดปกติต่อเซลล์กล้ามเนื้อ นิยมใช้กับอาการชักแบบชักเกร็งเฉพาะส่วน
- อีโทซูซิไมด์ (ethosuximide; Zarontin®) ออกฤทธิ์ยับยั้งช่องทางขนส่งสัญญาณประสาทแคลเซียม (voltage-gated calcium channels; T-type) ในสมองส่วนธาลามัส (Thalamus) ทำให้การส่งกระแสประสาทภายในสมองลดลง เป็นยาหลักที่ใช้สำหรับรักษาอาการชักชนิดเหม่อลอย
- ฟีนีทอยด์ (Phenytoin; Dilantin®) ออกฤทธิ์ลดการทำงานของช่องทางขนส่งโซเดียม (Na+) นิยมใช้สำหรับรักษาอาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง และใช้ในการป้องกันอาการชักชนิดต่อเนื่องนานกว่า 5 นาที โดยไม่หยุดชัก (status epilepticus) มีผลข้างเคียงทำให้มีภาวะเหงือกบวม (gingival hyperplasia)
- เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine) ออกฤทธิ์จับกับตัวรับ GABA-A ทำให้ช่องตัวรับเปิดบ่อยขึ้น ทำให้ปริมาณ GABA ในสมองเพิ่มขึ้น ใช้ในการรักษาอาการชักชนิดต่อเนื่อง
- ยารักษาโรคลมชักกลุ่มใหม่ (Newer anticonvulsants) ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ออกฤทธิ์ดีกว่าเดิม ในขณะที่ผลข้างเคียงลดลง ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
- ลาโมไทรจีน (lamotrigine; Lamictal®) ออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของช่องทางขนส่งโซเดียม (Na+) และลดการหลั่งสารสื่อประสาทกลูตาเมท (glutamate) และแอสพาเทท (aspartate) จากระบบประสาทส่วนกลาง ใช้เป็นยาหลักสำหรับรักษาอาการชักแบบชักเกร็งเฉพาะส่วน อาการข้างเคียงอาจทำให้เกิดตาพร่า และเกิดภาวะกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวชนิดรุนแรงได้
- ฟีโนบาร์บิทอล (phenobarbital; Phenobarb®) ออกฤทธิ์ลดการทำงานของช่องทางขนส่งโซเดียม (Na+) นิยมใช้สำหรับรักษาอาการชักในเด็ก อาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง และอาการชักเกร็งเฉพาะส่วน ยานี้มีผลข้างเคียงทำให้เด็กมีอาการซุกซนมากกว่าปกติได้
- เลวิไทราซีแทม (levetiracetam; Keppra®) ออกฤทธิ์กระตุ้นการปลดปล่อยของสารสื่อประสาทบริเวณไซแนปผ่านการจับกับตัวพาโปรตีน SV2A ในสมอง นิยมใช้สำหรับรักษาอาการชักเกร็งเฉพาะส่วนในระยะยาว
- โทพิราเมท (topiramate; Topamax®) ออกฤทธิ์ศักย์ไฟฟ้าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนประจุของเกลือโซเดียมในบริเวณเซลล์ประสาท และเพิ่มปริมาณ GABA นิยมใช้สำหรับรักษาอาการชักแบบชักกระตุกและเกร็ง และอาการชักเกร็งเฉพาะส่วน ยานี้มีผลข้างเคียงทำให้นอนไม่หลับ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อหิน (glaucoma) และนิ่วในไต (kidney stones)
- ไทอะกาบีน (Tiagabine; Gabitril®) ออกฤทธิ์ยับยั้งการเก็บสารสื่อประสาท GABA กลับ ทำให้มีปริมาณ GABA ค้างอยู่ในสมองได้นานขึ้น นิยมใช้ในการรักษาอาการชักเกร็งเฉพาะส่วนทั้งชนิดที่ผู้ป่วยมีและไม่มีสติ ยานี้มีผลข้างเคียงทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอนไม่หลับ และน้ำหนักเปลี่ยนแปลง
- กาบาเพนติน (Gabapentin; Neurontin®) ออกฤทธิ์ยับยั้งช่องทางขนส่งสัญญาณประสาทแคลเซียม (voltage-gated calcium channels; T-type และ L-type) ในสมองส่วนธาลามัส นิยมใช้เป็นยาตัวเลือกที่ 2 ในการรักษาอาการชักเกร็งเฉพาะส่วน ยานี้มีผลข้างเคียงทำให้ปากแห้ง นอนไม่หลับ และคลื่นไส้ได้
- ไวกาบาทริน (Vigabatrin; Sabril®) ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท GABA ที่มีชื่อว่า GABA transaminase ใช้เป็นยาตัวเลือกหลักในการรักษาอาการชักเกร็งเฉพาะส่วนที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผลหรือควบคุมอาการชักไม่ได้ ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร
วิธีรับประทานยารักษาโรคลมชักอย่างถูกต้อง
- รับประทานยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพราะจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการชักได้หากขาดยา
- ห้ามหยุดหรือปรับขนาดยาเอง ยกเว้นมีอาการแพ้ยา เช่น หายใจไม่ออก ลำคอตีบตัน มีผื่นขึ้นตามตัว เยื่อบุอ่อนตามปากและตาบวม หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดยาทันที และนำตัวอย่างยามาพบแพทย์
- ควรพบแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามผลการรักษา ป้องกันผลข้างเคียงและอาการชักที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าช่วงนั้นจะไม่มีอาการชักเกิดขึ้นแล้วก็ตาม หากมีอาการชักระหว่างที่รับประทานยาอยู่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรปรับเปลี่ยนยาหรือไม่อย่างไร
- ยารักษาโรคลมชักเกือบทุกตัวมักมีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม ควรระมัดระวังการขับขี่ยานพาหนะและใช้งานเครื่องจักรกล
- ไม่ควรรับประทานยาพร้อมกับนม เนื่องจากนมมีผลลดการดูดซึมยาได้
- งดดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างรับประทานยารักษาโรคลมชัก