กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs

Ambroxol (แอมบรอกซอล)

เผยแพร่ครั้งแรก 27 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที

Ambroxol เป็นยาในกลุ่มยาละลายเสมหะ ชื่อทางการค้าที่เป็นที่รู้จักคือ Mucosolvan ผลิตโดยบริษัท Boehringer-Ingelheim กลไกการออกฤทธิ์ของยา Ambroxol คือ ยามีฤทธิ์เพิ่มปริมาณการหลั่งของสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจ เพิ่มปริมาณการสร้างสารลดแรงตึงผิว ช่วยให้ร่างกายสามารถขับเสมหะออกได้ง่ายขึ้น และออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของเซลล์ชนิดมีซิเลีย เพื่อเพิ่มการพัดโบกเสมหะออกจากทางเดินหายใจ

Ambroxol จัดอยู่ในกลุ่มยาทั่วไป ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ ยาเสพติด ยาควบคุมพิเศษ หรือยาอันตราย สำหรับบุคคลทั่วไป เภสัชกรสามารถจำหน่ายยาและให้คำแนะนำในการใช้ยาได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพฯ รูปแบบยา Ambroxol ที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • รูปแบบยาน้ำ ความแรง 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • รูปแบบยาแคปซูลชนิดออกฤทธิ์นาน ขนาด 75 มิลลิกรัม
  • รูปแบบยาเม็ด ขนาด 30 มิลลิกรัม

นอกจาก Ambroxol ในรูปแบบยาเดี่ยวแล้ว Ambroxol ยังพบเป็นส่วนผสมในยาอมสำหรับบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ เช่น ยาอม Strepsil สูตร Chesty Cough และ Throat Irritation & Cough

ในบางครั้งจะพบการเติมยาตัวอื่นลงไปร่วมกับ Ambroxol เช่นยา Ammonium Chloride ซึ่ง Ammonium Chloride นั้นไม่ใช่ตัวยาหลักในตำรับยาแก้ไอ (หากเป็น Ammonium Chloride แบบยาเดี่ยว จะมีในรูปแบบยาฉีด ใช้สำหรับรักษาภาวะคลอไรด์ในเลือดต่ำ และภาวะเลือดเป็นด่าง) แต่การเติมยานี้จะช่วยฤทธิ์ในการขับเสมหะของยาแก้ไอ ขับเสมหะตัวอื่นได้ เนื่องจาก Ammonium Chloride มีฤทธิ์ระคายเคืองบริเวณเยื่อบุหลอดลม ทำให้เกิดการสร้างเสมหะเพิ่มมากขึ้นในระบบทางเดินหายใจ ปริมาณเสมหะที่เพิ่มขึ้นช่วยให้สามารถถูกขับออกทางปากได้ง่ายขึ้น

ข้อบ่งใช้ของยา Ambroxol

Ambroxol ใช้เพื่อละลายเสมหะ (Mucolytic) ในผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการหลั่งของเมือกในทางเดินหายใจที่ผิดปกติ หรือโรคที่ส่งผลต่อการขับออกของเสมหะ

ขนาดและวิธีการใช้ยา Ambroxol

การใช้ Ambroxol เพื่อละลายเสมหะ ไม่ว่าจะเป็นใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน ทั้งยาน้ำ ยาแคปซูล หรือยาเม็ด

จะมีขนาดและวิธีการใช้ ดังนี้

  • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยา Ambroxol ขนาด 30 มิลลิกรัม (1 เม็ด หรือ 1 ช้อนชา) วันละสามครั้ง หรือขนาด 60 มิลลิกรัม (2 เม็ด หรือ 2 ช้อนชา) วันละสองครั้ง และยาในรูปแบบแคปซูลออกฤทธิ์นาน รับประทานขนาด 75 มิลลิกรัม (1 แคปซูล) วันละครั้ง
  • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ยาในรูป Ambroxol
    • สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ขนาด 7.5-15 มิลลิกรัม รับประทานวันละสองครั้ง
    • สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ขนาด 7.5-15 มิลลิกรัม รับประทานวันละสามครั้ง
    • สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี ขนาด 15-30 มิลลิกรัม รับประทานวันละสอง หรือสามครั้ง
    • สำหรับเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้รับประทานขนาดเดียวกับผู้ใหญ่

ข้อควรระวังในการใช้ Ambroxol 

  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ควระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคปอดบวม หรือโรคในระบบทางเดินหายใจ
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีการได้รับการกดภูมิคุ้มกัน (เช่น ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี)
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ควรระวังการใชยาในผู้ป่วยเด็ก
  • ควรระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ผลข้างเคียงของการใช้ Ambroxol 

  • ยังไม่พบผลข้างเคียงของการใช้ยาที่รุนแรงในผู้ป่วยที่ใช้ยานี้
  • อาการที่อาจพบได้ เช่น อาการในระบบทางเดินอาหารระดับไม่รุนแรง อาการแพ้ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายท้อง กลืนลำบาก แสบร้อนที่อก ปากแห้ง คอแห้ง และรบกวนการรับรู้รส

ข้อควรทราบอื่นๆของยา Ambroxol

  • ยา Ambroxol ยังไม่ถูกจัดกลุ่มตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหาร เนื่องจากพบว่ามีการได้รับรายงานการเกิดผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร
  • ยาในรูปแบบยาแคปซูล ให้กลืนแคปซูลทั้งเม็ด ห้ามหัก เปิด หรือเคี้ยวแคปซูล
  • การใช้ยานี้ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ร่วมกับยารักษาอาการไอกลุ่มอื่น ควรพิจารณาการใช้อย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงต่ออันตรายที่รุนแรงและยังไม่มีหลักฐานการศึกษาถึงประสิทธิผลในการรักษาที่แน่ชัด
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง

8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Effects of ambroxol on the autophagy-lysosome pathway and mitochondria in primary cortical neurons. Nature. (Available via: https://www.nature.com/articles/s41598-018-19479-8)
Ambroxol - C13H18Br2N2O. U.S. National Library of Medicine National Center for Biotechnology Information. (Available via: https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/Ambroxol)
Silveira, C.R.A., MacKinley, J., Coleman, K. et al. Ambroxol as a novel disease-modifying treatment for Parkinson’s disease dementia: protocol for a single-centre, randomized, double-blind, placebo-controlled trial. BMC Neurol 19, 20 (2019). https://doi.org/10.1186/s12883-019-1252-3. BMC Neurology. (Available via: https://bmcneurol.biomedcentral.com/articles/10.1186/s12883-019-1252-3)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)