กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease: AD)

เผยแพร่ครั้งแรก 9 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ความหมาย เป็นอาการสมองเสื่อม (Dementia) ชนิดหนึ่ง มักพบในผู้ป่วยที่มีอายุตั้ง 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเกิดจากเซลล์สมองตาย ทำให้ความสามารถในการทำงานของสมองลดลงจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจกวัตรประจำวันของผู้ป่วย

สาเหตุ สาเหตุที่เกิดขึ้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้สมองเสื่อม เช่น เป็นผู้สูงอายุ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สมองได้รับการกระทบกระเทือน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคปัญญาอ่อน และเคยมีอาการชัก

พยาธิสรีรภาพ สมองที่เหี่ยวและมีน้ำหนักลดลง ร่องสมอง (Succus) และห้องสมอง (Ventricle) กว้างขึ้น เซลล์สมองอักเสบและถูกทำลาย ซึ่งมีผลกระทบต่อเชาว์ปัญญาและพฤติกรรมของผู้ป่วย และยังพบว่าอะเซทิลโคลีน (Acetycholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสารทในสมองที่ทำหน้าที่การจำมีปริมาณลดลงและมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการสมองเสื่อม

อาการ มีอาการหลงลืม เช่น ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่พูดไปเมื่อสักครู่ไม่ได้ หลงลืมสิ่งของ จำไม่ได้ว่าเก็บไว้ที่ไหนและคิดว่ามีคนขโมยไป สับสนเรื่องเวลา สถานที่ กลับบ้านไม่ถูก มีปัญหาเรื่องการพูด ลืมหรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดเป็นคำ ๆ หรือประโยคซ้ำๆ ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ ไม่สนใจกิจวัตรประจำวันหรืองานอดิเรก จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้ามีปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน และการใช้โทรศัพท์ มีพฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน มีพฤติกรรมก้าวร้าว แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น เป็นต้น อาการผิดปกตินี้จะดำเนินไปเรื่อย ๆ และไม่กลับคืนสู่สภาพเดิม

การวินิจฉัยโรค จากการซักประวัติความเจ็บป่วย การได้รับอนุมัติเหตุหรือมีการกระทบกระเทือนทางสมอง การตรวจร่างกายในระบบประสาท การตรวจระดับเชาว์ปัญญา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) หาค่าอิเล็กโทรไลต์ตรวจหน้าที่ของตับ (Liver function test; LFT) ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis; U/A) ตรวจดูของเสียในเลือดเพื่อประเมินหน้าที่ของไต (Blood urea nitrogen: BUN) ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (Computed tomography scan: CT scan) ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging: MRI) หรือ

ตรวจ PET (Position Emission tomography) เพื่อดูพื้นที่ของสมองที่เสียไปการถ่ายภาพรังสีทรวงอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และใช้เกณฑ์มาตรฐานของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันที่กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ จะมีอาการต่าง ๆ เช่น มีความจำเสื่อมในสิ่งใหม่ ๆ หรือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว มีความผิดปกติด้านการใช้ภาษาและการเคลื่อนไหว ไม่สามารถระบุสิ่งของได้ มีความบกพร่องในการตัดสินใจและการวางแผน มีอาการผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากอาการทางจิต (Delirium, Depression, Schizophrenia) เป็นต้น

การรักษา ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ และไม่สามารถทำให้โรคดำเนินไปอย่างช้า ๆ ได้ เป็นเพียงการรักษาเพื่อให้อาการดีขึ้น ให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีความจำเสื่อมเนื่องจากมีระดับของสารสื่อประสาทอะเซติลโคลีนลดลง จึงมีการพัฒนายาซึ่งสามารถยับยั้งเอนไซม์อเซติลโคลีนเอสเทอเรส ที่น่าจะให้สารอะเซติลโคลีนลงเหลืออยู่มากขึ้น ปัจจุบันมียาที่เรียกว่าสารยับยั้งอะเซติลโคลีนเอสเทอเรส (Cholinesterase inhibitors) เช่น Donepezil hydrochloride (Aricept), Rivastigmine tartrate (Exelon), Galantamine hydrobromide (Riminyl) เป็นต้น ซึ่งช่วยลดการย่อยสารอะเซติลโคลีนและเป็นการรักษาระดับของอะเซติลโคลีน ยากเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในระยะเริ่มต้นและระยะปานกลางในการรักษาอาการความจำเสื่อม สารยับยั้งอะเซติลโคลีนเอสเทอเรสหลายตัวอาจมีอาการข้างเคียงในผู้ป่วยบางราย เช่น ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์

การพยาบาล 1) หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมไม่ก้าวร้าว ควรพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล พูดช้า ๆ ให้ชัดเจน และลดสิ่งกระตุ้น 2) หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมด่าก้าวร้าว กรีดร้อง ตวาด ด่าว่า ควรพูดให้ผู้ป่วยหยุดกระทำ อาจปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียวเงียบๆ หรือพูดปลอบโยน ช่วยระงับอารมณ์โดยการสัมผัส บางครั้งต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีการละเมอหรือเดินไปเดินมา 3) หากผู้ป่วยมีพฤติกรรมทำร้ายร่างกาย ทุบตี ขว้างปาสิ่งของ ควรปล่อยให้ผู้ป่วยพูดระบายความรู้สึก หรือมีข้อเสนอให้ผู้ป่วยเลือก เช่น หากไม่หยุดกระทำสิ่งนั้นจะให้กระทำสิ่งนี้แทน เป็นต้น การฝึกให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเอง หรือให้ความร่วมมือในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้นโดยกำหนดกิจกรรมให้ผู้ป่วยทำ เช่น แปรงฟัน หวีผม เป็นต้น อยู่ให้กำลังใจและชมเชยผู้ป่วย ระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตราย กระตุ้น

ให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองและให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสม การรักษาความเป็นอยู่ทางสังคมและติดต่อสื่อสารให้ใกล้เคียงกับปกติ แก้ไขภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้โดยกระตุ้นให้ดื่มน้ำมาก ๆ ให้ยากตามแผนการรักษา พาผู้ป่วยไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ในตอนกลางวัน และแก้ไขผู้ป่วยที่มีภาวะท้องผูก โดยเพิ่มอาหารกากใยและดื่มน้ำมากขึ้น กระตุ้นให้ออกกำลังกาย ใช้ยาระบาย ยาเหน็บ และสวนอุจจาระตามแผนการรักษา ในรายที่กลั้นอุจจาระไม่ได้ ต้องให้ผู้ป่วยนอนในห้องที่อยู่ใกล้ห้องน้ำ นอกจากนี้ช่วยลดภาวะเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วย โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและแนวทางในการดูแลแก่ผู้ดูแลผู้ป่วย


19 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Timothy J. Legg, PMHNP-BC, GNP-BC, CARN-AP, MCHES, What Are the Signs of Early Onset Alzheimer’s Disease (AD)? (https://www.healthline.com/health/alzheimers-disease/signs-of-early-onset-alzheimers), April 4, 2016
Timothy J. Legg, Ph.D., CRNP, What to know about Alzheimer's disease (https://www.medicalnewstoday.com/articles/159442.php), February 13, 2018
nhs.uk, Alzheimer's disease (https://www.nhs.uk/conditions/alzheimers-disease/), 10 May 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)