ต้นตีนเป็ด มีอันตรายหรือไม่?

รู้จักต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ ความแตกต่างระหว่างตีนเป็ดกับตีนเป็ดน้ำ ทั้งด้านพฤกษศาสตร์และสารประกอบในพืชที่ส่งผลต่อสุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 31 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ต้นตีนเป็ด มีอันตรายหรือไม่?

ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ เป็นพรรณไม้มงคลที่คนไทยรู้จักกันดี จุดเด่นของต้นตีนเป็ดคือ ดอก ที่มีกลิ่นแรง เฉพาะตัว ดอกตีนเป็ดมักจะออกในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม บางคนไม่ชอบกลิ่นของดอกตีนเป็ด ได้กลิ่นแล้วเกิดอาการคลื่นเหียน อาเจียน วิงเวียนศีรษะ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris (L.) R.Br.
ชื่อสามัญ White Cheesewood, Blackboard tree, Devil tree, Indian devil tree, Milkwood pine
ชื่ออื่นๆ กะโน้ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) จะบัน (เขมร-ปราจีนบุรี) ชบา ตีนเป็ด (ภาคกลาง) ตีนเป็ดดำ (นราธิวาส) บะซา ปูลา ปูแล (ปัตตานี มาเลย์-ยะลา) พญาสัตบรรณ (ภาคกลาง) ยางขาว (ลำปาง) สัตบรรณ (ภาคกลาง, เขมร-จันทบุรี) หัสบรรณ (กาญจนบุรี)
ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE

ลักษณะทั่วไปของต้นตีนเป็ด

เป็นไม้ยืนต้น สูง 15-35 เมตร เปลือกต้นสีเทาอ่อนหรือเทาอมเหลืองค่อนข้าวหนา กิ่งแตกออกรอบข้อ มีน้ำยางขาว ใบเดี่ยวเรียงรอบข้าง ข้างละ 6-9 ใบ กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 5-18 เซนติเมตร ปลายทู่กลมหรือเว้าเล็กน้อย ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวแกมเหลือง ผลเป็นฝัก ออกเป็นคู่ รูปกลมยาว

สรรพคุณของตีนเป็ด

ส่วนต่างๆ ของต้นตีนเป็ดมีสรรพคุณดังนี้

  • เปลือกต้น มีรสขม ช่วยให้เจริญอาหาร แก้บิด แก้ท้องเสีย สมานลำไส้ แก้ไข้หวัด รักษามาลาเรีย รักษาหลอดลมอักเสบ ขับเลือดและของเสีย สามารถนำมาต้มอาบเพื่อรักษาอาการผื่นคันได้
  • ดอก ช่วยแก้ไข้ ตัวร้อน และสารสกัดจากดอกมีน้ำมันหอมระเหย สามารถใช้ไล่ยุงได้
  • ใบ ใช้ชงดื่ม รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน
  • ยาง ใช้ภายนอกสำหรับรักษาแผล แผลเปื่อย มีหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว บรรเทาอาการปวดข้อ

ต้นตีนเป็ดมีพิษหรือไม่?

ต้นตีนเป็ดที่ส่งกลิ่นฉุนในช่วงฤดูหนาว ไม่ได้มีพิษร้ายแรง ส่วนดอกของมันมีน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมหวานเมื่อได้กลิ่นตอนเจือจาง แต่เมื่อมีปริมาณเข้มข้นมากขึ้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทให้ทำงานหนักขึ้น จนสามารถทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะได้ อีกทั้งยังกระตุ้นให้ผู้แพ้กลิ่นสารจำพวกนี้มีความอยากอาเจียน

คนที่แพ้กลิ่นดอกตีนเป็ดมักจะแพ้กลิ่นดอกราตรีด้วย เนื่องจากในดอกไม้ทั้งสองชนิดมีสารประกอบกลุ่มเดียวกัน อาการที่เกิดจากการแพ้กลิ่นจากดอกตีนเป็ดมักไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตราย จะแตกต่างจากพิษที่เกิดจากต้นตีนเป็ดน้ำ ที่เป็นพืชในวงศ์เดียวกัน ชื่อคล้ายกัน จนหลาย ๆ คนอาจเข้าใจผิด

ต้นตีนเป็ดน้ำเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กกว่าตีนเป็ด สูงประมาณ 15 เมตร มีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับแกมใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก ดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีขาว ตรงกลางดอกสีเหลือง ผลสดสีเขียว รูปกลม หรือรี ผิวเรียบ เมื่อสุกจะมีสีม่วงเข้ม ซึ่งจะแตกต่างจากผลต้นตีนเป็ดที่ออกเป็นฝัก

พิษจากตีนเป็ดน้ำ เกิดได้จากเนื้อผล เนื้อเมล็ด ใบ และน้ำยาง มีฤทธิ์ทำให้อาเจียน เป็นยาถ่าย ยาระบาย ทำให้แท้ง เฉพาะส่วนน้ำยางทำให้เกิดอาการระคายเคือง หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด

ส่วนเนื้อในเมล็ดมีสารที่เป็นพิษ ได้แก่ เทเวทินบี (Thevetin B) เทโวบิโอไซด์ (Thevobioside) โดยออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุในปากและกระเพาะอาหาร ทำให้อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง หากรับประทานในปริมาณมากแล้วล้างท้องไม่ทัน สารพิษจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และเกิดพิษต่อหัวใจ วิธีการรักษาเบื้องต้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพื่อทำการล้างท้องและรักษาไปตามอาการ

นอกจากนี้เมล็ดตีนเป็ดน้ำที่มีรสขม พบสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจที่เรียกว่าสารคาร์เบอริน (Cerberin) ซึ่งเป็นตัวยาที่มีโครงสร้างเดียวกันกับที่ใช้ในยากระตุ้นหัวใจ หากได้รับในปริมาณมากจะเกิดพิษและรบกวนการเต้นของหัวใจ สามารถทำให้เสียชีวิตได้


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สารานุกรมพืชในประเทศไทย, ตีนเป็ด(http://www.dnp.go.th/botany/detail.aspx?wordsnamesci=Alstonia0scholaris0(L.)0R.0Br. ), 31 ตุลาคม 2559.
ฐานข้อมูลพืชพิษ, ตีนเป็ดทะเล(ตีนเป็ดน้ำ) (http://webdb.dmsc.moph.go.th/poison/Detail.asp?id=144&Temp=0).
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, พญาสัตบรรณ หรือตีนเป็ด (http://www.natres.psu.ac.th/FNR/vfsouthern/index.php/2013-10-26-10-11-55/9-uncategorised/84-2013-11-17-08-10-18).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)