Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody ทางเลือด เพื่อวินิจฉัยการเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี
เผยแพร่ครั้งแรก 7 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

การตรวจหา Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody จากการเจาะเลือดไปตรวจ ทำเพื่อวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี (Myasthenia Gravis (MG)) ที่แตกต่างจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภทอื่นๆ คนทั่วไปที่ไม่มีอาการจำเพาะไม่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจ และไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ ก่อนตรวจทั้งสิ้น

ชื่ออื่น: Muscle nicotinic Acetylcholine Receptor (AChR) Binding Antibody, AChR Antibody, Myasthenia Gravis Antibodies, Acetylcholine Receptor Binding Antibody, Acetylcholine Receptor Blocking Antibody, Acetylcholine Receptor Modulating Antibody

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อทางการ: Acetylcholine Receptor Antibody

จุดประสงค์การตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

การตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody จากการเจาะเลือดไปตรวจ ทำเพื่อวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี และใช้แยกความแตกต่างจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงประเภทอื่นๆ เช่น

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงเรื้อรัง
  • กล้ามเนื้อเปลี้ย

โดยปกติแล้ว ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี มักมีต่อมไทมัสที่ใหญ่ขึ้น และอาจมีเนื้องอกต่อมไทมัสอยู่ใต้กระดูกหน้าอก หากมีการตรวจพบเนื้องอกต่อมไทมัส เช่น ในระหว่างการทำ CT Scan เพื่อเหตุผลอื่นๆ แพทย์อาจตัดสินใจตรวจ AChR Antibody เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าวจริงหรือไม่

เมื่อไรที่ต้องตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

แพทย์อาจตรวจ AChR Antibody เมื่อผู้ป่วยมีอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี เช่น

  • หนังตาตก
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตาได้ลดลง
  • กลืนหรือเคี้ยวอาหารลำบาก พร้อมกับมีอาการสำลัก น้ำลายไหล และขย้อนอาหาร
  • พูดไม่ค่อยชัด
  • กล้ามเนื้อคออ่อนแอ
  • มีปัญหากับการยกศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • เดินลำบากและท่าเดินเปลี่ยนไป
  • กล้ามเนื้อบางบริเวณอ่อนแรง แต่ยังรู้สึกปกติ
  • อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่แย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีอาการดีขึ้นเมื่อพักผ่อน

วิธีเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

แพทย์จะตรวจ AChR Antibody จากเลือดโดยการแทงเข็มเข้าไปในเส้นเลือดดำในแขน ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า

รายละเอียดการตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

Acetylcholine Receptor (AChR) Antibodies เป็นออโตแอนติบอดีที่ระบบภูมิต้านทานผลิตขึ้น โดยจะไปกีดขวางการสื่อสารระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อกระดูก ยับยั้งไม่ให้กล้ามเนื้อหดตัว และทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างรวดเร็ว โดยไปป้องกันไม่ให้สารสื่อประสาทที่ช่วยในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้ออย่าง Acetylcholine ทำงาน จึงทำให้เกิดผลกระทบหลักๆ ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • Binding Antibodies จับกับตัวรับบนเซลล์ประสาท และอาจทำให้เกิดการอักเสบที่จะไปทำลายตัวรับคำสั่ง
  • Blocking Antibodies อาจอยู่ที่ตัวรับคำสั่ง ซึ่งจะไปป้องกันไม่ให้ Acetylcholine จับกับตัวรับ
  • Modulating Antibodies อาจเชื่อมกับตัวรับคำสั่ง ทำให้เข้าไปยังเซลล์กล้ามเนื้อ และถูกกำจัดออกจากรอยต่อระหว่างปลายประสาทกับเซลล์กล้ามเนื้อลาย (Neuromuscular Junction)

กระบวนการเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี ซึ่งเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองแบบเรื้อรัง โดยมีความสัมพันธ์กับการมีอยู่กับ AChR Antibody ซึ่งมีผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อ

แพทย์อาจตรวจหา AChR Antibodies โดยใช้หลายวิธี เพื่อระบุว่ากลไกใดที่เป็นปัญหาในแต่ละคน เนื่องจาก AChR Antibody สามารถเป็นได้ทั้งแบบ Binding, Blocking หรือ Modulating

ความหมายของผลตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

คนทั่วไปที่ไม่พบ AChR Antibodies ในเลือด จะมีผลตรวจเป็นลบ อย่างไรก็ตาม อาจพบผลบวกของ AChR Antibodies ได้จากผู้ที่มีอาการต่อไปนี้

  • มีเนื้องอกต่อมไทมัสบางชนิด
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเพนิซิลลามีน
  • มีเซลล์มะเร็งปอดขนาดเล็ก
  • เป็นโรคตับที่เกิดจากการแพ้ภูมิตัวเอง
  • เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็มส์ (Lambert-Eaton Myasthenic Syndrome)

แม้ผลตรวจเป็นลบ แต่แพทย์ก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ของการเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีออกทันที เนื่องจากมีผู้เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีแค่บริเวณดวงตามากถึง 50% และผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีทั่วไปประมาณ 10-15% มีผลตรวจ AChR Antibodies เป็นลบ

แพทย์อาจใช้ผลที่ได้จากการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อหาออโตแอนติบอดี เช่น Anti-MuSK Antibody และการตรวจ Anti-Striated Muscle Antibody มาช่วยวินิจฉัยเพื่อให้ได้ผลที่แม่นยำขึ้น

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจ Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody

  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาซักซินิลโคลีน (Succinylcholine) สามารถทำให้ AChR Antibodies เพิ่มขึ้น
  • ผู้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองชนิดอื่นๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคลูปัส
  • การรักษาด้วยกัมมันตรังสีก่อนหน้านี้ สามารถทำให้ตรวจไม่พบ AChR Antibodies ได้

ที่มาของข้อมูล

Lab Test Online, Acetylcholine Receptor (AChR) Antibody (https://labtestsonline.org/tests/acetylcholine-receptor-achr-antibody), 21 December 2018.


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What is the role of anti- receptor (AChR) antibody testing in the evaluation of myasthenia gravis (MG)?. Medscape. (https://www.medscape.com/answers/1171206-92641/what-is-the-role-of-anti--receptor-achr-antibody-testing-in-the-evaluation-of-myasthenia-gravis-mg)
Acetylcholine Receptor Antibodies - Immunology. Oxford University Hospitals. (https://www.ouh.nhs.uk/immunology/diagnostic-tests/tests-catalogue/acetylcholine-receptor-antibodies.aspx)
Muscle autoantibodies in myasthenia gravis: beyond diagnosis?. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3505488/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป