นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป
เขียนโดย
นพ. สุวพัชญ์ พิศาลมงคล แพทย์ทั่วไป

เป็นอะไร? ทำไมถึงคันจมูก คันยุบยิบ

"คันจมูก โดยมากมักเกิดจากอาการภูมิแพ้ วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น ยังมีวิธีรักษาอื่นอีก เช่น ใช้ยา หรือ ผ่าตัด "
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 4 ก.พ. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
เป็นอะไร? ทำไมถึงคันจมูก คันยุบยิบ

จมูก อวัยวะหนึ่งของร่างกาย เป็นเสมือนประตูทางผ่านแรกของอากาศและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่มากับอากาศ เข้าสู่ทางเดินหายใจ เช่น ดอกไม้ สารเคมี  ฝุ่นละออง เกสร มลพิษทางอากาศต่างๆ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการคันจมูก (Itchy nose) ขึ้นมาได้ หรือเรียกได้ว่าโดยส่วนใหญ่แล้วอาการคันจมูก คันจมูกยุบยิบนี้เป็นอาการของการแพ้ แต่ก็สามารถพบอาการคันจมูกได้จากสาเหตุอื่นด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการคันจมูกพบได้ทั่วไปในทุกช่วงอายุ เป็นอาการที่ก่อให้เกิดความรำคาญ หากมีอาการมากๆ อาจทำให้จามและมีน้ำมูกไหลร่วมด้วยได้

หากกำลังสงสัยเกี่ยวกับอาการคันจมูก สาเหตุ แนวทางการรักษารวมถึงการป้องกัน และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความต่อไปนี้

สาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการคันจมูก

อาการคันจมูกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยที่พบบ่อยที่สุดคือการแพ้ (Allergy) อาการแพ้เกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ โดยกระบวนการเกิดจะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป

สาเหตุที่พบทำให้เกิดอาการคันจมูกอื่นๆ ได้แก่

1. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis)

เป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรูปแบบหนึ่ง โดยเป็นปฏิกิริยาภูมิแพ้ชนิดที่ 1 (IgE mediated type I hypersensitivity reaction) การเป็นโรคนี้จะทำให้มีอาการคันจมูก น้ำมูกไหล คัดจมูก และจามได้

2. ไข้หวัด (Common cold)

เมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัสที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน จะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายหลั่งสารเคมีต่างๆ และสร้างน้ำมูกเพื่อขจัดเชื้อออกไปให้เร็วที่สุด การกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนี้มีผลทำให้เกิดอาการคันจมูก น้ำมูกไหล และการจามขึ้นมาได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

3. โรคจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการแพ้ (Nonallergic rhinitis)

อาการที่เกิดขึ้นจะเป็นคล้ายกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ คือ มีอาการคันจมูก จาม คัดจมูก และน้ำมูกไหล

โดยอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดจากการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่เกิดจากการอยู่หรือทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นเป็นประจำ เช่น ฝุ่นละออง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันจากการเผาไหม้ เป็นต้น

4. ภายในโพรงจมูกแห้ง

จะพบได้ในผู้ที่ชอบสั่งน้ำมูกบ่อยๆ หรือรับประทานยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูกมากๆ ผู้อยู่ในอากาศเย็น รวมถึงคนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจตอนนอน ที่เรียกว่า ซีแพพ (CPAP: Continuous positive airway pressure) เมื่อภายในจมูกแห้งจะทำให้เกิดอาการคันจมูก และเจ็บจมูกได้

5. โรคไซนัสอักเสบ (Sinusitis)

อาการที่อาจจะพบในโรคนี้ได้ คือ อาการคันจมูก คัดจมูก มีเสมหะข้นสีเหลืองหรือสีเขียว หายใจมีกลิ่นเหม็น ได้รับกลิ่นลดลง เป็นต้น

6. ริดสีดวงจมูก (Nasal polyp)

เป็นติ่งเนื้อที่อยู่ภายในจมูก เป็นเนื้อดีที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่สามารถขัดขวางทางเดินหายใจทำให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวก คันจมูก และคัดจมูกได้

อาการคันจมูกเกิดขึ้นได้อย่างไร?

มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดอาการคันจมูก แต่ในบทความนี้จะขออธิบายถึงกระบวนการเกิดอาการคันจมูกที่มีสาเหตุมาจากอาการแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด

กระบวนการเกิดอาการแพ้จนนำไปสู่การคันจมูก เริ่มจากร่างกายได้รับสิ่งกระตุ้นจากภายนอก เช่น สัตว์เลี้ยง ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เมื่อสิ่งกระตุ้นเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายขึ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ท้ายที่สุดแล้วจะมีการปล่อยสารออกจากเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง คือ สารตัวกลางที่กระตุ้นการอักเสบ (Inflammatory mediators) ขึ้นมา หนึ่งในสารนี้ที่สำคัญและรู้จักกันในชื่อว่า ฮิสตามีน (Histamine) จะไปกระตุ้นอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดอาการคันจมูก จาม คัดจมูก และน้ำมูกไหลได้

ทำอย่างไรอาการคันจมูกถึงดีขึ้น?

มีหลากหลายวิธีที่สามารถป้องกันและบรรเทาอาการคันจมูกด้วยตัวเองที่บ้านได้ เช่น

  • ล้างจมูก วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดจากการแพ้ซึ่งได้ผลดีที่สุด เพราะจะช่วยล้างสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อยู่ในโพรงจมูก จึงช่วยลดอาการคันจมูกได้

    การล้างจมูกทำได้โดยใช้ไซริงค์ (Syringe) ดูดน้ำเกลือ แล้วสอดปลายไซริงค์เข้าไปในรูจมูกข้างใดข้างหนึ่ง ก้มศีรษะลงเล็กน้อย กลั้นหายใจแล้วฉีดน้ำเกลือเข้าไปในจมูกจนน้ำเกลือออกมาทางรูจมูกอีกข้างหนึ่งหรือออกทางปาก

    จากนั้นสั่งน้ำมูกและน้ำเกลือออกทางจมูกทั้งสองข้าง บ้วนน้ำเกลือที่ไหลลงคอทิ้ง ทำตามขั้นตอนดังกล่าวซ้ำสลับกันทั้งสองข้าง 2-3 ครั้ง 
  • หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกบ่อยๆ เนื่องจากจะทำให้ภายในโพรงจมูกแห้ง
  • การเพิ่มความชื้นในอากาศ เนื่องจากสาเหตุของอาการคันจมูกอาจเกิดจากภายในโพรงจมูกแห้ง การเพิ่มความชื้นในอากาศจึงช่วยบรรเทาอาการคันจมูกที่เกิดจากสาเหตุนี้ได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ร่างกายสลายเสมหะและกำจัดสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูกได้ดีขึ้นด้วย
  • ใช้สเปรย์น้ำเกลือ เพื่อช่วยไม่ให้โพรงจมูกแห้ง
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกายในการช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมภายในโพรงจมูก

การรักษาอาการคันจมูกที่ถูกต้องเป็นอย่างไร?

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการรักษาอาการคันจมูกที่มีสาเหตุมาจากอาการแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด การรักษาอาการนี้ต้องอาศัยหลายๆ วิธีประกอบกัน ได้แก่

  • กำจัดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ (Avoidance) หากทราบว่าสารใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ การหลีกเลี่ยงจึงเป็นการช่วยป้องกันและแก้ปัญหาการแพ้จากสารที่กระตุ้นนั้นได้
  • รักษาโดยการใช้ยา (Medications) เช่น ยาสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในรูปแบบพ่นจมูก ยาแก้แพ้ (Antihistamine drugs) 
  • รักษาโดยการผ่าตัด (Surgery) จะพิจารณาผ่าตัดรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการมาก หรือเคยได้รับการรักษาด้วยยาอย่างเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น การผ่าตัดอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้
  • รักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy) เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยให้ผู้ป่วยแพ้สารที่ก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นๆ ลดน้อยลง โดยการให้สารก่อภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยแพ้นั้นเข้าสู่ร่างกายทีละน้อย ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

โดยสรุปแล้ว การรักษาอาการคันจมูกที่ถูกวิธีนั้นจะเป็นการรักษาที่สาเหตุ หากเป็นปัญหานี้เรื้อรังควรที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยแพทย์ซึ่งแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลรักษาอาการนี้โดยเฉพาะคือแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist) เพื่อที่จะได้ทราบสาเหตุ การรักษา และวิธีป้องกันอย่างถูกวิธีตามภาวะหรือโรคที่เป็นในอนาคต


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน, โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) (http://www.rcot.org/pdf/Allergic_Rhinitis.pdf).
Corinne O’Keefe Osborn, How to Treat a Tickle in Your Nose (https://www.healthline.com/health/tickle-in-nose), 1 December 2017.
Claire Sissons, Why is my nose tingling inside? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/321664.php), 30 April 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
คัดจมูก อาการกวนใจ ชวนหายใจไม่โล่ง
คัดจมูก อาการกวนใจ ชวนหายใจไม่โล่ง

ทำความเข้าใจอาการคัดจมูก ปัญหากวนใจของใครหลายคน เกิดจากสาเหตุอะไร อันตรายไหม และรักษาได้อย่างไร

อ่านเพิ่ม