"คุณหมอลูกเป็ด"
เขียนโดย
"คุณหมอลูกเป็ด"
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เชื้อราผิวหนังในเด็กทารก โรคที่เกิดง่าย...ในบริเวณอับชื้น

เรียนรู้สาเหตุ การวินิจฉัยโรค ทางป้องกันและรักษาโรคเชื้อราบนผิวหนังเด็กทารก โรคเกิดง่ายใต้ผ้าอ้อม!
เผยแพร่ครั้งแรก 30 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
เชื้อราผิวหนังในเด็กทารก โรคที่เกิดง่าย...ในบริเวณอับชื้น

คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเกิดผื่นแดง โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อม (diaper area) สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นได้คือ “เชื้อรา” เชื้อราที่ผิวหนัง เชื้อราบนผิวบริเวณที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อมของทารกเกิดได้อย่างไร อันตรายหรือไม่ จะรักษาและป้องกันได้ด้วยวิธีไหน HonestDocs มีคำตอบ

เชื้อราที่ผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมเกิดขึ้นได้อย่างไร?

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะสงสัยว่า ลูกติดเชื้อราได้อย่างไร ทั้งที่คุณพ่อคุณแม่ดูแลเรื่องความสะอาดเป็นอย่างดี หลังจากทารกขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระก็ได้เช็ดล้างทำความสะอาดเสมอ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จริงๆ แล้วเชื้อราบนผิวหนังบริเวณที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อมนั้นมีหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุดในเด็กทารกคือ แคนดิดอะซิส (Candidiasis) ซึ่งต่างจาก เชื้อกลาก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “ring worm” หรือที่ภาษาทางการแพทย์เรียกว่า “Dermatophyte Infection”

เชื้อราชนิดที่ก่อให้เกิดโรค แคนดิไดอะซิส นี้ ปกติแล้วจะอยู่ที่ผิวหนังของคนเราได้โดยไม่ก่อให้เกิดโรค เพราะมีแบคทีเรียชนิดดีคอยทำหน้าที่ดูแลควบคุมปริมาณของเชื้อราอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมที่ดีของผิวหนังถูกเปลี่ยนไปเป็นสภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา เชื้อราจะเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วและก่อโรคได้ อย่างในเด็กทารก เมื่อมีอุจจาระและปัสสาวะปนเปื้อนออกมาสัมผัสกับผิวหนังเป็นเวลานาน ความชื้นที่ผิวหนังก็จะสูงขึ้น พอรวมกับสภาพความเป็นด่างของอุจจาระและปัสสาวะ ผิวหนังจึงเปื่อยยุ่ยและเกิดบาดแผลได้ง่าย และเสียสภาพการต้านทานเชื้อโรคในที่สุด (โดยปกติแล้วเชื้อราจะชอบความชื้นและสภาวะที่เป็นด่าง ส่วนเชื้อแบคทีเรียชนิดดีที่ผิวหนังจะชอบสภาวะที่เป็นกรดอ่อนๆ)

นอกจากนี้ อุจจาระและปัสสาวะเองยังเป็นอาหารให้เชื้อราเจริญเติบโตได้มากยิ่งขึ้น นอกจากเชื้อราจะอยู่ตามผิวหนังแล้ว ยังพบว่าเชื้อราอาจจะปนเปื้อนกับปัสสาวะและอุจจาระ กลายเป็นเชื้อก่อโรคที่ผิวหนังได้อีกด้วย

เชื้อราที่ผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมมีลักษณะอย่างไร?

โรคเชื้อราบริเวณที่ห่อหุ่มด้วยผ้าอ้อม ซึ่งรู้จักกันในชื่อโรค “Diaper Candidiasis” (โดยส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ Candida albicans) นั้นมีลักษณะเป็นผื่นนูนแดง ดูชื้นแฉะ ที่บริเวณขอบผื่นผ้าอ้อมสามารถพบผื่นแดงเล็กๆ ลักษณะเดียวกันกระจายตัวอยู่รอบๆ (satellite lesions) ผื่นดังกล่าวมักพบกระจายอยู่ทั่วบริเวณผิวหนังอุ้งเชิงกราน สามารถลามไปยังขาหนีบทั้งสองข้าง หัวหน่าว ฝีเย็บ รอบรูทวาร และแก้มก้นทั้ง 2 ข้าง โดยมีลักษณะจำเพาะคือจะต้องพบผื่นบริเวณรอยพับหรือตามซอกของผิวหนัง ได้แก่ รอยพับขาหนีบ ถุงอัณฑะในเด็กผู้ชาย รูเปิดของท่อปัสสาวะ รวมถึงอวัยวะเพศหญิง (labia majora) บางครั้งอาจพบขุย ร่วมกับผื่นที่กล่าวมาข้างต้นได้

เด็กทารกคนใดที่มีภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อราบริเวณที่ห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อม?

ทารกทุกคนมีภาวะเสี่ยงจากการติดเชื้อราดังกล่าว เนื่องจากทารกปัสสาวะและอุจจาระบ่อยมาก จึงเพิ่มโอกาสที่ผิวหนังจะสัมผัสกับอุจจาระและปัสสาวะเป็นเวลานาน ผิวหนังมีความเปียกชื้น จึงถูกทำลายได้ง่ายและมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมที่จะติดเชื้อราได้มากขึ้น นอกจากนี้ระบบภูมิคุ้มกันของทารกยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถต่อสู้หรือกำจัดเชื้อราที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้

ส่วนภาวะอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • ภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากเด็กที่มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะมีเนื้อส่วนเกินปิดคลุมตามรอยพับมากขึ้น ทำให้มีการระบายของอากาศบริเวณดังกล่าวลดลง มีการเก็บสะสมความชื้นมากขึ้น จึงเกิดการติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น
  • การใช้ยาปฏิชีวนะนานเกินไปหรือครอบคลุมเชื้อมากเกินไป ทำให้แบคทีเรียชนิดดีตาย เชื้อราจึงเจริญเติบโตได้ดี
  • ภาวะเบาหวาน การมีปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไป ทำให้ภูมิคุ้นกันของร่างกายมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้ลดลง
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

การวินิจฉัยโรคเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณผ้าอ้อม

โดยทั่วไปแล้ว จากลักษณะของผื่นที่ได้กล่าวไปข้างต้นร่วมกับประวัติจากคุณพ่อคุณแม่ สามารถทำการวินิจฉัยผื่นเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมได้ อย่างไรก็ตาม การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อทำให้การวินิจฉัยถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น สามารถทำได้โดยการขูดผิวชั้นนอกสุดของผื่นและนำไปย้อมด้วยโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) เพื่อดูสายราและยีสต์ของรา อย่างไรก็ตาม ผื่นบริเวณผ้าอ้อมนั้นบางทีอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกับผื่นเชื้อราก็ได้ เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบจากการระคายเคืองจากอุจจาระหรือปัสสาวะ (diaper irritant contact dermatitis) ผื่นแพ้สัมผัส (allergic contact dermatitis) ผื่นจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (perianal streptococcal dermatitis) ผื่นแพ้ต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis) โรคสะเก็ดเงินบริเวณที่ห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อม (diaper psoriasis) ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) ผื่นอักเสบที่เกิดจากการเสียดสีของผิวหนังบริเวณข้อพับ (intertrigo) เป็นต้น โดยผื่นเหล่านี้มีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย อาจจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์อื่นๆ เพิ่มเติม

การป้องกันและรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณผ้าอ้อม

การรักษาโรคเชื้อราที่ผิวหนังบริเวณผ้าอ้อม ควรเริ่มต้นจากการทำให้ผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อแข็งแรงขึ้นก่อน โดยกำจัดสาเหตุของสิ่งที่ทำลายผิวหนัง ได้แก่ การรักษาภาวะถ่ายเหลว การเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือผ้าอ้อมจากผ้าที่ใช้กันทั่วไป ไม่ปล่อยให้ผิวหนังสัมผัสอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเวลานาน หากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ควรใช้ชนิดที่ซึมซับได้ดี มีสาร superabsorbent polymers เป็นองค์ประกอบ ส่วนผ้าอ้อมจากผ้าควรทำมาจากผ้าฝ้ายโปร่ง มีเนื้อสัมผัสนุ่ม ไม่ระคายผิว และดูดซับน้ำได้ดี หากมีคราบอุจจาระหรือปัสสาวะเปื้อนบริเวณผิวหนัง ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดอย่างแรงหรือขัดออก เนื่องจากจะทำให้ผิวได้รับความระคายเคืองเป็นแผลถลอก ทำให้ติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น แนะนำให้ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิห้องเปิดผ่านชำระคราบอุจจาระหรือปัสสาวะออกไป หรือใช้ผ้าเนื้อนุ่มชุบน้ำสะอาดหรือน้ำมันมะกอกเช็ดออกเบาๆ

นอกจากนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้สบู่ทำความสะอาดทุกครั้ง เนื่องจากสบู่มีฤทธิ์เป็นด่าง จะยิ่งทำให้ผิวหนังได้รับความระคายเคืองมากยิ่งขึ้น หากจำเป็นต้องใช้สบู่ให้ใช้สบู่เหลวสำหรับเด็กที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมและแอลกอฮอล์ ไม่แนะนำให้ใช้กระดาษชำระแบบเปียกทำความสะอาด เนื่องจากมีส่วนผสมของสารเคมีหลายชนิด ทำให้ผิวหนังระคายเคืองและแพ้ได้ง่ายขึ้น

ส่วนการรักษาด้วยยานั้น แนะนำให้ใช้ยาฆ่าเชื้อราชนิดทา เช่น ครีมโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือครีมคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ไม่แนะนำให้ใช้ยาที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ เนื่องจากสารสเตียรอยด์จะไปยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อรา และจะทำให้โรคแย่ลงในที่สุด นอกจากนี้บริเวณผิวหนังที่ห่อหุ้มด้วยผ้าอ้อมสามารถดูดซึมยาสเตียรอยด์เข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับผิวหนังส่วนอื่น ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อันตรายตามมาได้

หากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา ไม่ควรซื้อยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ตามร้านขายยาเอง หลังจากทายาฆ่าเชื้อราแล้ว ควรทายาที่มีสารเคลือบผิวทับอีกชั้นเพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ครีมหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนประกอบของซิงก์ออกไซด์ (zinc oxide) เป็นต้น โดยทั่วไปหากดูแลรักษาผิวอย่างถูกวิธีผื่นจะดีขึ้นและหายภายในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์

โดยสรุป โรคเชื้อราผิวหนังบริเวณผ้าอ้อมเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กทารก ซึ่งมักทำให้ทารกงอแงเนื่องจากการะคายเคืองบริเวณผิวหนัง มีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญคือการสัมผัสกับปัสสาวะหรืออุจจาระที่นานเกินไป การดูแลรักษาที่เหมาะสม ได้แก่ การดูแลผิวที่ถูกวิธี การทายาฆ่าเชื้อรา การทายาที่มีสารเคลือบผิว และไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์เนื่องจากทำให้โรครุนแรงขึ้นและได้รับผลข้างเคียงจากยาอีกด้วย


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cohen B. Differential diagnosis of diaper dermatitis. Clin Pediatr (Phila). 2017;56(5):16-22.
Rippke F, et al. pH and Microbial infections. Curr Probl Dermatol. 2018;54:87-94.
Sikic PM, et al. Diagnosis and management of diaper dermatitis in infants with emphasis on skin microbiota in diaper area. Int J Dermatol. 2018;57(3):265-75.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)
ภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ (Chorioamnionitis)

ภาวะติดเชื้อในมดลูกจัดเป็นภาวะที่รุนแรง

อ่านเพิ่ม