กล้ามเนื้อแข็งเป็นก้อน เป็นไต เกิดจากอะไร...แล้วรักษาได้หรือเปล่า?

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
กล้ามเนื้อแข็งเป็นก้อน เป็นไต เกิดจากอะไร...แล้วรักษาได้หรือเปล่า?

หลายๆ คนคงเคยมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเวลานั่งทำงานหรือต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นซ้ำๆ และเมื่อลองคลำไปยังจุดที่ปวด บางครั้งก็พบก้อนหรือไตแข็งๆ นูนออกมาด้วย ยิ่งลองกดที่ก้อนดังกล่าวแรงขึ้น ก็จะรู้สึกปวดมากขึ้น หรือปวดร้าวไปยังบริเวณข้างเคียง สงสัยไหมว่าก้อนแข็งๆ นั้นเกิดจากอะไร และสามารถรักษาให้หายได้ไหม?

กล้ามเนื้อที่แข็งนูนออกมาเป็นก้อนหรือเป็นไตนั้นเรียกว่า จุดกดเจ็บ หรือ Trigger point ซึ่งเกิดจากการที่เราใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นอย่างหนัก หรือเคลื่อนไหวในอิริยาบถเดิมซ้ำๆ โดยไม่พัก ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งตัวต่อเนื่องโดยไม่คลายออก ปมกล้ามเนื้อที่หดตัวจะนูนขึ้นมาเป็นก้อนเล็กๆ แต่หากเรายังคงใช้งานกล้ามเนื้อไปเรื่อยๆ เส้นใยกล้ามเนื้อจะยิ่งหดเกร็งมากขึ้นจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงได้ ทำให้กล้ามเนื้อขาดพลังงาน มีของเสียคั่งค้าง และเกิดการอักเสบเรื้อรังขึ้นจนก้อนนูนนั้นมีขนาดใหญ่และเราสามารถคลำพบได้ อาการที่บ่งบอกว่ากล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็ง อักเสบ และเกิดจุดกดเจ็บ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • รู้สึกปวดกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อนั่งทำงาน หรือต้องใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้น
  • กล้ามเนื้อส่วนจุดกดเจ็บนั้นไวต่อความรู้สึก เมื่อกดจะรู้สึกเจ็บมากขึ้น และปวดร้าวไปยังบริเวณข้างเคียง เช่น เมื่อกดโดนจุดกดเจ็บที่ต้นคอ อาจปวดร้าวไปถึงไหล่ ต้นแขน หรือขมับได้
  • มีอาการเมื่อยล้าอ่อนแรง ในส่วนกล้ามเนื้อที่เกิดการหดเกร็งและอักเสบ ทำให้ขยับลำบาก
  • บางครั้งอาจมีอาการอื่นๆ เช่น ชาตามแขนขา และปวดศีรษะเรื้อรังด้วย

บุคคลที่มีความเสี่ยงจะเกิดกล้ามเนื้อหดเกร็งอักเสบ และเกิดจุดกดเจ็บ ได้แก่

  • ผู้ที่ชอบนั่งหรือนอนในอิริยาบถไม่เหมาะสม เช่น นั่งห่อไหล่ นั่งก้มหน้า
  • ผู้ที่ทำงานในท่าทางเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น พนักงานในออฟฟิศ ช่างโลหะ คนทำงานโรงงาน
  • ผู้ที่ต้องแบกหามของหนักเป็นประจำ
  • นักกีฬา หรือคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก
  • ผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจนให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บ
  • ผู้ที่มีความเครียดสะสม และพักผ่อนน้อย

การรักษา/บำบัดจุดกดเจ็บ

การคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็งบริเวณจุดกดเจ็บสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • ใช้การนวดกดจุด เราอาจใช้นิ้วมือหรืออุปกรณ์อื่นๆ นวดคลึงซ้ำๆ ตรงจุดกดเจ็บ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ ซึ่งการนวดอย่างถูกวิธีเป็นประจำ จะช่วยให้จุดกดเจ็บมีขนาดเล็กลง
  • การฝังเข็ม เป็นการแพทย์ทางเลือกที่พบว่าสามารถรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งได้ผลดี โดยการฝังเข็มจะช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ และลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้
  • การใช้คลื่นความถี่สูงและเลเซอร์ เป็นการใช้พลังงานความร้อนเพื่อช่วยคลายเส้นใยกล้ามเนื้อที่หดเกร็งให้มีสภาพปกติ และช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อดังกล่าวได้ดีขึ้น
  • การฉีดยา มักใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาสเตียรอยด์ เช่น Cortisone ฉีดเข้าไปที่มัดกล้ามเนื้อโดยตรง เพื่อลดการอักเสบ และช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • การประคบร้อนและประคบเย็น การประคบร้อนด้วยน้ำอุ่นจะช่วยให้เส้นใยกล้ามเนื้อคลายตัว และทำให้เลือดไหลเวียนดี ส่วนการประคบเย็นจะช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดได้
  • การทำกายภาพบำบัด การบำบัดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ใช้ความร้อน อัลตราซาวน์ ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม จะช่วยบรรเทาและป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็งได้

นอกจากนี้ การรักษายังรวมถึงการบำบัดตามอาการ เช่น การให้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs ยาต้านโรคซึมเศร้า และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมด้วย

การป้องกันกล้ามเนื้อหดเกร็ง และการเกิดจุดกดเจ็บ

  • หลีกเลี่ยงการทำงานในท่าเดิมนานๆ หากจำเป็นควรพักเป็นระยะเพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง
  • ปรับเปลี่ยนอิริยาบถการนั่ง นอน ยืน ให้เหมาะสม เช่น ปรับมานั่งหลังตรงแทนการนั่งห่อไหล่ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และควรยืดกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง


12 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Acute Kidney (Renal) Failure: Symptoms, Causes, Treatment & Prevention. WebMD. (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-is-acute-kidney-failure)
Chronic kidney disease - NHS (https://www.nhs.uk/conditions/kidney-disease/)
Kidney failure: Types, symptoms, causes, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/327300)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป