เหงือกเป็นเนื้อเยื่อที่แข็งแรงซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวยึดฟัน เหงือกของเราสามารถเป็นได้ตั้งแต่สีแดงหรือชมพูไปจนถึงสีน้ำตาลหรือดำ อย่างไรก็ตาม การมีเหงือกสีดำไม่เพียงแต่ทำให้ดูไม่น่ามอง หรือทำให้เราเสียความมั่นใจในขณะที่พูดหรือยิ้มเท่านั้น แต่มันอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็นโรคร้าย หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกาย เราลองมาดูกันดีกว่าว่ามีสาเหตุใดที่ทำให้เหงือกดำได้บ้าง
1. เมลานิน
โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของเราจะผลิตเมลานิน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ผิว ผม และดวงตามีสี ยิ่งคนมีเมลานินในร่างกายมากเท่าไร มันก็จะยิ่งทำให้ผม ผิว หรือดวงตามีสีเข้มมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้การมีเหงือกสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำก็อาจเป็นเพราะว่าเรามีเมลานินในร่างกายมากกว่าคนทั่วไป แต่ถ้าเหงือกมีสีเข้มมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล หากเหงือกเพิ่งมาเปลี่ยนสีในช่วงเวลาสั้นๆ หรือมีปื้นสีดำปรากฏบนเหงือก ต้นเหตุก็อาจไม่ใช่เมลานิน และอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
2. การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่สามารถทำให้เหงือกเปลี่ยนสี ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า Smoker's melanosis ทั้งนี้ในร่างกายของเรามีเซลล์ผลิตเมลานินที่เรียกว่า เมลาโนไซต์ และสารนิโคตินในบุหรี่สามารถทำให้เซลล์ดังกล่าวผลิตเมลานินออกมามากกว่าปกติ ทำให้เหงือกกลายเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสีสามารถเกิดขึ้นแค่บางจุดหรือเกิดขึ้นทั้งหมด ข้างในแก้มและริมฝีปากล่างก็อาจเปลี่ยนสีเช่นกัน อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังพบความเชื่อมโยงของการเลิกสูบบุหรี่และการมีสีของเหงือกลดลง
3. ยา
มิโนไซคลีนเป็นยาที่ใช้รักษาสิวและการติดเชื้อบางประเภทอย่างโรคหนองในเทียม ซึ่งผลข้างเคียงที่ผิดปกติของมิโนไซคลีนคือการมีสีของบางอวัยวะเปลี่ยนไป ซึ่งในบางครั้งก็สามารถเกิดขึ้นได้ในปากของเรา อย่างไรก็ตาม คุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนสีที่บริเวณใดๆ บนร่างกายที่มีต้นเหตุมาจากการทานยา เพราะแพทย์อาจให้คุณทานยาชนิดอื่นแทน
4. รอยสักอมัลกัม (Amalgam tattoo)
รอยสักอมัลกัมสามารถปรากฏที่บริเวณใดๆ ในปากก็ได้ แต่มักจะปรากฏถัดจากบริเวณที่มีการอุดฟัน ซึ่งจะเป็นจุดสีดำ สีเทา หรือสีน้ำเงินภายในปาก ทั้งนี้อมัลกัมเป็นส่วนผสมของโลหะที่ใช้อุดฟันและครอบฟัน ถ้าอนุภาคของวัสดุนี้หลุดออกไปมันก็จะปรากฏใต้เหงือก ในกรณีนี้การรักษาไม่ใช่เรื่องจำเป็น เพราะมันไม่ได้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ
5. โรคเหงือกอักเสบเนื้อตายเฉียบพลัน
โรคเหงือกอักเสบเนื้อตายเฉียบพลันคือ การติดเชื้อที่รู้จักกันในชื่อว่า Trench mouth ซึ่งมันสามารถทำให้เรามีไข้ ปวดเหงือก และปากเหม็น การติดเชื้อสามารถทำให้เหงือกเป็นสีดำหรือเทาถ้ามีชั้นของเนื้อเยื่อที่ตายแล้วก่อตัวขึ้นบนเหงือก อย่างไรก็ดี โรคดังกล่าวเกิดจากการมีแบคทีเรียเติบโตในช่องปากอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักเป็นผลมาจากโรคเหงือกอักเสบ นอกจากนี้แบคทีเรียอาจก่อตัวขึ้นเพราะคุณดูแลสุขอนามัยช่องปากได้ไม่ดี ความเครียด การนอนไม่เพียงพอ หรือการทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สำหรับอาการเริ่มแรกคือ การมีเลือดออกที่เหงือก ปากเหม็น มีน้ำลายมาก และรู้สึกป่วย ซึ่งทันตแพทย์จะทำความสะอาดช่องปากและอาจจ่ายยาปฏิชีวนะให้ ทั้งนี้การใช้น้ำยาบ้วนปาก และการรักษาฟันและเหงือกให้สะอาดจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ
6. โรคแอดดิสัน
โรคแอดดิสันสามารถส่งผลต่อต่อมหมวกไต โดยจะไปยับยั้งไม่ให้ต่อมผลิตฮอร์โมนออกมาอย่างเพียงพอ ซึ่งนอกจากมันจะทำให้ผู้ป่วยมีเหงือกและริมฝีปากที่ดำขึ้นแล้ว มันก็ยังทำให้มีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกหิวน้ำมากกว่าปกติ น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ นอกจากโรคแอดดิสันจะส่งผลต่อสีของริมฝีปากและเหงือกแล้ว มันก็ยังทำให้เกิดจุดสีดำที่ผิวส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งมักพบที่บริเวณหัวเข่า ข้อนิ้ว เส้นฝ่ามือ และรอบๆ แผลเป็น
7. โรค Peutz-Jeghers
โรค Peutz-Jeghers เป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดติ่งเนื้อหรือมะเร็ง ซึ่งหนึ่งในอาการที่จะปรากฏในช่วงเริ่มต้นคือ การมีกระสีน้ำเงินเข้มหรือน้ำตาลเข้ม โดยสามารถพบได้ในช่องปาก ผิวที่นิ้ว และผิวที่เล็บเท้า อย่างไรก็ตาม กระที่เกิดจากโรคดังกล่าวมักแสดงออกให้เราเห็นตอนเป็นเด็ก และจะหายไปเมื่ออายุมากขึ้น
เราจะรักษาปัญหาเหงือกดำได้อย่างไร?
การรักษาปัญหาเหงือกดำจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเหงือกติดเชื้อ หรือคุณเป็นโรคแอดดิสัน มันก็จะรักษาโดยใช้ยา นอกจากนี้การเลิกสูบบุหรี่ก็พอจะช่วยได้เช่นกัน และแพทย์ก็อาจใช้วิธีฟอกสีเหงือก เพื่อให้สีของเหงือกดูสว่างขึ้น
จากที่กล่าวไปจะเห็นได้ว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้เหงือกของเรามีสีดำไม่น่ามอง แต่คุณสามารถป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นโดยดูแลสุขอนามัยของช่องปากและลดการทานน้ำตาล ซึ่งมันจะทำให้ฟันและเหงือกแข็งแรง รวมถึงแปรงฟันทุกวัน ใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง และไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ