กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงคือโรคอะไรกันแน่?

หนึ่งในอาการที่คนสับสนมากที่สุด “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ที่จริงอาจหมายถึงโรคซึ่งแตกต่างกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงคือโรคอะไรกันแน่?

คนไข้ 3 คนมาพบจักษุแพทย์ด้วยปัญหาต่างๆ กัน หลังจากพบแพทย์ ทั้งสามได้รับข้อมูลจากแพทย์ถึงสาเหตุการป่วยว่าเกิดจาก “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” โดยมีอาการและการรักษาที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนี้

คนแรก มีอาการหนังตาตกทั้ง 2 ข้าง บางวันตกน้อย บางวันตกมาก ตอนนี้เริ่มมองภาพซ้อน รู้สึกเหนื่อยเพลียง่าย แพทย์ส่งตรวจเพิ่มเติมและส่งปรึกษาแพทย์อายุรศาสตร์ระบบประสาทและสมอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คนที่ 2 มาด้วยคันตา ขยี้ตาบ่อยๆ ตาข้างหนึ่งดูเล็กกว่าอีกข้าง ดูแล้วไม่สวยงาม ชอบเลิกคิ้วข้างเดียวบ่อยจนเสียบุคลิก แพทย์แนะนำให้หยุดใส่คอนแทคเลนส์แล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไข

คนที่ 3 มาด้วยอาการมองใกล้เดี๋ยวชัดเดี๋ยวมัว ปวดเบ้าตาร้าวไปท้ายทอย ทั้งๆ ที่ระยะเวลาทำงานใช้จอคอมพิวเตอร์ก็เท่าเดิม

กล้ามเนื้อตาอ่อนแรงคืออะไร?

เป็นไปได้อย่างไร คนที่เป็น “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” เหมือนกัน จึงมีอาการไม่เหมือนกันเลย คำแนะนำและการวางแผนรักษาก็แตกต่างกันไปคนละทิศคนละทาง ราวกับไม่ใช่โรคเดียวกัน

คำตอบคือเป็นไปได้ เนื่องจากคนไข้ทั้ง 3 รายนี้ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเดียวกันเลย คนแรก เป็นโรค Myasthenia Gravis เรียกย่อๆว่า MG คนที่ 2 เป็นโรคโทซิส (Ptosis) หรือหนังตาตก หลังการขยี้ตาบ่อยๆ เพราะเป็นภูมิแพ้ที่ตาและใช้คอนแทคเลนส์ คนที่ 3 มีภาวะ Asthenopia หรือกล้ามเนื้อตาล้า เพราะอายุ 38 ปี ใกล้จะมีสายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

เหตุที่แพทย์บอกกับทั้งสามว่าพวกเขาเป็น “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” เหมือนกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นโรคคนละชนิด เนื่องจากในภาษาไทยเราไม่มีชื่อเรียกโรคดังกล่าวโดยตรง ดังนั้นแพทย์เองจึงพยายามจะสื่อสารให้คนไข้เข้าใจด้วยการตั้งชื่อให้โรคเป็นภาษาไทย จากกลไกความผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว

เมื่อเรากล่าวถึง “กล้ามเนื้อตา” ในภาษาไทย มักเข้าใจกันว่าหมายถึงกล้ามเนื้อที่ทำให้ตากลอกไปมาเท่านั้น แต่ความจริงกลุ่มกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับดวงตา มีถึง 3 กลุ่ม เรียงลำดับจากด้านนอกสุดไปสู่ในลูกตาดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 กล้ามเนื้อหนังตาหรือเปลือกตา (Eyelid muscles) คือกลุ่มกล้ามเนื้อตาขนาดเล็กหลายมัด ยึดเกาะกับหนังตาทั้งบนและล่างที่คลุมลูกตาไว้ ทำหน้าที่ช่วยเปิดปิดหนังตารวมทั้งยกคิ้วขึ้น ถูกควบคุมด้วยเส้นประสาทสมอง และระบบประสาทอื่นๆ หลายชนิดอย่างซับซ้อน
  • กลุ่มที่ 2 กล้ามเนื้อภายนอกลูกตา (Extraocular muscles) คือ กล้ามเนื้อที่ช่วยดึงให้ลูกตากลอกไปมา ยึดเกาะอยู่บริเวณตาขาวคือผนังลูกตา ถูกควบคุมด้วยเส้นประสาทสมอง
  • กลุ่มที่ 3 กล้ามเนื้อภายในลูกตา (Intraocular muscles) ได้แก่ Ciliary muscle ที่เชื่อมกับเลนส์แก้วตา และม่านตา อยู่ภายในลูกตา ช่วยในการปรับแสงเข้าตา ปรับโฟกัสในการมองใกล้ ถูกควบคุมด้วยเส้นประสาทสมองเช่นกันและระบบเส้นประสาทอื่นๆ

ความผิดปกติที่เกิดกับคนไข้ตัวอย่างทั้ง 3 ราย ทุกโรคเกิดจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อตาก็จริง แต่เป็นกล้ามเนื้อตาคนละกลุ่ม ทำหน้าที่ต่างกัน ในเมื่อที่มาของโรคต่างกัน ที่การดำเนินไปของโรคตลอดจนแนวทางการรักษาและผลก็ย่อมแตกต่างกันด้วย

โรคที่ถูกเรียกว่า “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” ที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

  1. Myasthenia Gravis (MG) เป็นโรคที่ทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อลายได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่จะไม่มีอาการชาหรือเจ็บปวด เชื่อว่าเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติไปทำลายตัวรับสัญญานประสาทที่กล้ามเนื้อ เมื่อไม่ได้รับสัญญานประสาทมากระตุ้น กล้ามเนื้อก็จะอ่อนแรง ยิ่งกล้ามเนื้อทำงานมากก็จะยิ่งอ่อนแรงมาก โรคนี้จึงมักมีอาการแสดงออกครั้งแรกที่กล้ามเนื้อตาใน 2 กลุ่มแรก คือ กล้ามเนื้อหนังตาและกล้ามเนื้อภายนอกลูกตา เพราะกล้ามเนื้อตา 2 กลุ่มนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลาแม้เราไม่เคลื่อนไหว

    อาการที่พบบ่อยที่สุดและเกิดขึ้นเป็นอาการแรกของโรคคือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ยกเปลือกตา และใช้กลอกตา อาจสังเกตได้ว่าอาการมักจะเป็นมากช่วงบ่ายหรือเย็น ทำให้ลืมตาไม่ขึ้น เห็นภาพซ้อน ถึงกับตาเหล่ได้ ที่มากกว่านั้นคือ โรค Myasthenia Gravis สามารถทำให้กล้ามเนื้อลายทุกส่วนในร่างกายอ่อนแรงได้ อาการที่สำคัญและต้องรับการดูแลอย่างเร่งด่วนคือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหน้าอกทำให้หายใจลำบาก กลืนลำบาก คนไข้ที่เป็น MG ควรได้รับการตรวจหาภาวะต่อมไทมัสโตผิดปกติด้วย จักษุแพทย์อาจต้องส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางแผนกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามมาด้วยการตรวจพิเศษ ทั้งตรวจเลือด ตรวจสแกนต่างๆ

    โรค MG ใช้การรักษาด้วยยาเม็ดสำหรับรับประทานเป็นหลัก ช่วยเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อได้ แม้ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด ตัวโรคเองอาจมีอาการดีขึ้นหรือแย่ลงตามลักษณะของโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ ในบางราย การตัดต่อมไทมัสอาจช่วยให้ดีขึ้นได้
  2. โทสิส (Ptosis) คือภาวะที่หนังตาตกหรือหย่อนลงมากว่าระดับปกติ เป็นปัญหาที่เกิดกับกล้ามเนื้อตาในกลุ่มที่ 1 คือเปลือกตาหรือหนังตาเป็นหลัก
    ในภาวะปกติ เปลือกตาหรือหนังตาบนจะปิดลงมาคลุมกระจกตา (หรือที่มักเรียกว่าตาดำ) ประมาณ 1 มิลลิเมตร ส่วนเปลือกตาล่างจะแตะพอดีกับขอบตาดำ หากหนังตาตกลงมาต่ำกว่าระดับเล็กน้อย มักจะไม่มีผลกระทบมากนอกจากเรื่องความสวยงาม คนที่หนังตาข้างหนึ่งตกมากกว่าอีกข้างมักจะยกคิ้วข้างที่หนังตาตกขึ้นสูงกว่าโดยอัตโนมัติ หากหนังตาตกสองข้างอาจจะชอบเลิกคิ้วยกหน้าผากขึ้น หรือเงยหน้าขึ้นเพื่อช่วยให้หนังตาไม่บังการมองเห็น แต่หากหนังตาตกลงมาจนปิดถึงกลางตาบังรูม่านตา จะไม่สามารถมองเห็นได้เลย ถือเป็นภาวะหนังตาตกที่จำเป็นต้องรักษา

    ปัญหาหนังตาตกลืมตาไม่ค่อยขึ้นนี้ สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือเกิดจากความหย่อนหรือการยืดของกล้ามเนื้อเปลือกตา (Blepharoptosis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ที่มักจะมีหนังตาหย่อนคล้อย (Dermatochalasis) มีไขมัน หรืออาจมีคิ้วตกร่วมด้วย การรักษาทำโดยการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งรอบดวงตา จะใช้เทคนิคอย่างไรนั้นขึ้นการประเมินปัญหาเป็นรายบุคคลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

    จากตัวอย่าง คนไข้รายที่ 2 อายุยังไม่มาก มีอาการเคืองตา ชอบขยี้ตาบ่อยๆ จากโรคภูมิแพ้ที่เยื่อบุตา และยังเคยมีประวัติใส่คอนแทคเลนส์มานานโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เวลาใส่และถอดใช้การดึงเปลือกตาค่อนข้างแรง อีกทั้งการขยี้ตาบ่อยๆ ก็ทำให้กล้ามเนื้อเล็กๆ ที่อยู่วงรอบเปลือกตายืดหรือครากได้เช่นกัน จักษุแพทย์มักแนะนำให้งดใช้คอนแทคเลนส์เพื่อเป็นการรักษาที่ต้นเหตุเสียก่อน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น จึงจะแนะนำให้ผ่าตัดตกแต่งเปลือกตา การผ่าตัดคล้ายการทำตาสองชั้น แต่จะต้องมีการยกกล้ามเนื้อตาให้ตึงขึ้น และ ปรับระดับให้ชั้นตาและเปลือกตาเปิดได้เท่าๆ กันร่วมด้วยจึงจะได้ผลดี
  3. Asthenopia หรือ Eye strain อีกชื่อเรียกที่ใช้บ่อยคือ กล้ามเนื้อตาล้า สาเหตุจากกล้ามเนื้อตา 2 กลุ่ม คือ กล้ามเนื้อภายนอกลูกตา (กลุ่มที่ 2) และกล้ามเนื้อภายในลูกตา (กลุ่มที่ 3) ส่วนที่มีหน้าที่เพ่งมองใกล้นั้นไม่แข็งแรงพอ อันที่จริงจะถือว่าเป็นความผิดปกติก็ไม่เชิง เพราะความไม่แข็งแรงนี้เรียกว่าไม่พอรับงานมองใกล้เป็นเวลานานมากกว่า คนไข้จะมีอาการตาลาย มองชัดบ้างไม่ชัดบ้าง จนถึงปวดตา ปวดหัว อาจจะปวดที่กระบอกตาและร้าวไปถึงท้ายทอยได้

    อาการนี้มักพบในเด็กหรือวัยรุ่นที่ต้องอดนอนอ่านหนังสือหรือเพ่งมองหน้าจออยู่ระยะเดียวนานหลายชั่วโมง อีกกลุ่มที่พบได้คือ กลุ่มที่อายุเริ่มเข้า 40 ปีที่เริ่มมีสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) ซึ่งกำลังกล้ามเนื้อตาที่ใช้เพ่งมองใกล้อ่อนแรงลงไปตามวัยนั่นเอง

    การรักษาปัญหานี้ ควรจะพบจักษุแพทย์ก่อนเพื่อตรวจโรคตา ตรวจว่ามีตาเหล่ตาเขแอบแฝงหรือไม่และวัดสายตา ถ้ามีสายตาผิดปกติก็ควรแก้ไขโดยใช้แว่นสายตาอย่างถูกต้อง คนที่มีอายุเริ่มเข้า 40 ปีอาจจะต้องใช้แว่นช่วยมองใกล้ด้วย ในกรณีที่ทุกอย่างปกติดี แนะนำให้ฝึกการเพ่งของกล้ามเนื้อตา คำแนะนำทั่วไปสำหรับผู้ที่มีกล้ามเนื้อตาล้า ควรใช้แสงสว่างที่เพียงพอในการทำงานเพื่อการมองเห็นอย่างสบายตา ควรพักสายตาบ่อยๆ ระหว่างการใช้สายตามองใกล้นานๆ และใช้น้ำตาเทียมช่วยหล่อลื่นผิวตาระหว่างพักสายตา

ดังที่ได้กล่าวมาคงเป็นที่เข้าใจได้ว่า คำเรียกว่า “กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง” นั้น หากจะให้สื่อสารเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงโรคใดกันแน่ ต้องได้ทราบชื่อเฉพาะของโรค ซึ่งคนไข้ที่เป็นโรคนี้ควรทราบ รวมถึงเข้าใจที่มาที่ไปของโรคตามสมควร เพื่อจะได้ดูแลตนเองและมีความคาดหวังต่อการรักษาอย่างถูกต้อง อีกสิ่งหนึ่งที่จะฝากไว้เป็นข้อพึงระวังคือ หากมีอาการลืมตาไม่ขึ้น หนังตาตก ร่วมกับอาการดังต่อไปนี้

  1. อาการเห็นภาพซ้อน ตาเหล่ เกิดขึ้นกะทันหันในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือในเวลาเป็นวัน
  2. มีอาการติดเชื้อที่ตา ตาแดงมากและปวดรอบเบ้าตาอย่างรุนแรง
  3. มีไข้ ตาโปน กลอกตาไม่ได้
  4. มุมปากตกดื่มน้ำแล้วหก พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะเป็นโรคอื่นที่ ไม่ใช่โรคกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Christian J. Lueck, in Handbook of Clinical Neurology, 2011
Lily Koo Lin, in Ocular Surface Disease: Cornea, Conjunctiva and Tear Film, 2013
2017-2018 Basic and Clinical Science Course, Section 07 Orbit, Eyelids and Lacrimal System. ebook. American Academy of Ophthalmology

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป