พลูคาว

รวมข้อมูล สรรพคุณ ข้อควรระวังของพลูคาวหรือผักคาวตอง พร้อมไขคำตอบว่าเป็นมะเร็งแล้วกินพลูคาวดีหรือไม่
เผยแพร่ครั้งแรก 5 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
พลูคาว

พลูคาว” เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมรับประทานใบสดแกล้มอาหาร โดยเฉพาะอาหารเหนือและอีสาน เช่น ลาบ ก้อย และแจ่ว และเมื่อไม่นานมานี้พลูคาวได้กลายเป็นสมุนไพรยอดนิยม เนื่องจากมีข่าวว่าพลูคาวมีสรรพคุณต้านโรคร้ายอย่างมะเร็ง แต่เรื่องนี้ผ่านการทดสอบ ทำการวิจัย หรือพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วหรือไม่ HonestDocs มีคำตอบ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อวิทยาศาสตร์ Houttuynia cordata Thunb.

ชื่อวงศ์ SAURURACEAE

ชื่อพ้อง Polypara cochinchinensis Lour.

ชื่อเรียกท้องถิ่น ผักคาวตอง (ลำปาง อุดรธานี) คาวทอง (อุตรดิตถ์ มุกดาหาร) ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักคาวปลา ผักเข้าตอง ผักคาวตอง (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพลูคาว

พลูคาวเป็นไม้ล้มลุก อายุ 2 – 4 ปี สูง 15-40 เซนติเมตร ทั้งต้นมีกลิ่นคาวคล้ายกลิ่นคาวปลา ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปหัวใจ กว้าง 4-6 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 1-3.5 เซนติเมตร ก้านใบส่วนโคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น หูใบอยู่ติดกับก้านใบ ดอกช่อออกที่ปลายยอด มีใบประดับสีขาวคล้ายกลีบดอก 4 กลีบ ดอกย่อยจำนวนมากขนาดเล็กสีเหลือง ไม่มีกลีบดอก ผลแห้งแตกได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ถิ่นกำเนิดของพลูคาว

พลูคาวเป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย แถบเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วย เป็นที่รู้จักกันดีในทางภาคเหนือ สามารถเพาะพันธุ์จากการปักชำ ชอบขึ้นตามบริเวณที่ลุ่ม ชื้นแฉะ พลูคาวมีรากเลื้อยไปตามพื้นดินที่เรียกว่า ไหล ซึ่งจะเลื้อยเพื่อขยายพันธุ์ห่างจากต้นเดิมประมาณ 10-20 เซนติเมตร

สรรพคุณของพลูคาว

  • แพทย์ตามชนบทใช้ใบพลูคาวปรุงเป็นยาแก้กามโรค แก้เข้าข้อออกดอก (หมายถึง โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 เชื้อซิฟิลิสจะเข้าไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายและเข้าไปสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย เรียกว่า “ออกดอก” ระยะนี้เป็นระยะที่ติดต่อได้โดยง่าย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีผื่นขึ้น แต่มีอาการปวดเมื่อยตามข้อ จึงเรียกว่า “เข้าข้อ”) โดยนำพลูคาวทั้งต้นมาต้มเคี่ยวจนน้ำงวด แล้วรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อ
  • แก้โรคผิวหนังทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย ทำให้น้ำเหลืองแห้ง ให้แผลแห้ง แก้แผลเปื่อย โดยนำพลูคาวทั้งต้นมาต้มเคี่ยวจนน้ำงวด แล้วรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อเช่นกัน
  • แก้โรคเรื้อน มะเร็งคุดทะราด (หมายถึง โรคเรื้อน หรือโรคเรื้อรังที่มีแผลตามผิวหนัง เริ่มจากขึ้นเป็นตุ่มเล็กๆคล้ายหูดขึ้นทั่วตัว แล้วขยายขนาดขึ้นเป็นตุ่มนูนแดง หรือโตคล้ายดอกกะหล่ำปลี ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในบริเวณใกล้แผลจะอักเสบและบวมโต ในระยะแรกผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการไข้ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษา จะมีการทำลายของผิวหนังและกระดูก ทำให้เกิดความพิการ) โดยนำพลูคาวทั้งต้นมาต้มเคี่ยวจนน้ำงวด แล้วรับประทานครั้งละครึ่งแก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อเช่นกัน
  • ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ขับระดูขาว (ตกขาว) รักษาฝีหนองในปอด โดยนำพลูคาวทั้งต้น มาต้มในน้ำแค่พอเดือด รับประทานแทนน้ำเปล่า เมื่ออาการดีขึ้น ให้รับประทานน้ำเปล่าเช่นเดิม
  • นิยมให้ผู้หญิงหลังคลอดบุตรรับประทานเป็นอาหารเพื่อเป็นการบำรุงร่างกายและโลหิต

พลูคาวกับโรคมะเร็ง

จากการค้นคว้าพบว่า มีงานวิจัยมากมายทดลองใช้สารสกัดพลูคาวทดลองกับเซลล์มะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นเซลล์มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว งานวิจัยเหล่านี้ต่างยืนยันว่า สารสกัดพลูคาวยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็งได้จริง อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงเป็นการทำในหลอดทดลองเท่านั้น จึงไม่สามารถยืนยันสมมติฐานนี้ได้อย่างชัดเจน

ผู้ที่เป็นมะเร็งแล้วสามารถรับประทานพลูคาวได้หรือไม่?

พลูคาวเป็นผักชนิดหนึ่งที่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และไม่ก่อให้เกิดอันตรายสำหรับผู้บริโภค แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม สามารถรับประทานเป็นผักต้มคู่กับน้ำพริก หรือเมนูอาหารอื่นๆ ก็ได้ตามชอบ สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานพลูคาวในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ หรือได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะยังไม่มีงานวิจัยยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารพลูคาวนั้นปลอดภัยต่อร่างกายจริง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ศัพท์แพทย์ไทย, 2546.
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ไม้เทศเมืองไทย, 2522.
มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ผักพื้นบ้าน : ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชน, 2538.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)