วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว

การฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวจึงสามารถช่วยป้องกันโรคที่มีการอุบัติและความชุกไม่เหมือนกันกับประเทศเราได้
เผยแพร่ครั้งแรก 27 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว

วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว เรื่องจำเป็นต้องศึกษาก่อนเดินทาง

เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลวันหยุด โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว เป็นช่วงที่คนไทยเลือกที่จะไปท่องเที่ยวโดยเฉพาะจำนวนการท่องเที่ยวในต่างประเทศที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในปัจจุบัน ข้อมูลจาก กรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศมีประมาณ 7.7 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในแถบเอเชียตะวันออกมากที่สุดอยู่ที่ 6.6 ล้านคน โดยสามประเทศแรกที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปมากที่สุด คือ ประเทศมาเลเซีย ลาว และญี่ปุ่น สาเหตุที่ต้องกล่าวถึงประเทศจุดหมายที่คนไทยนิยม เนื่องจากสถานที่ที่เลือกเดินทางไปนี้เอง จะช่วยกำหนดแนวทางการปฏิบัติตัวด้านสุขภาพ เช่น อุณหภูมิ ความกดอากาศ สุขอนามัย แต่ระดับความเสี่ยงนั้นก็แตกต่างกันไปอีกตามแต่พฤติกรรมในแต่ละบุคคล การฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวจึงสามารถช่วยป้องกันโรคที่มีการอุบัติและความชุกไม่เหมือนกันกับประเทศเราได้

วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว คืออะไร

วัคซีน คือการฉีดเชื้อ หรือส่วนของเชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกาย เราจะไม่เกิดโรคจากเชื้อที่ฉีดเข้าไปในร่างกายเนื่องจากเชื้อที่ฉีดนั้นตายแล้ว หรืออ่อนแอลง หรืออาจเป็นแค่ชิ้นส่วนของเชื้อที่ก่อโรคไม่ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ ร่างกายจะตอบสนองด้วยการสร้างแอนติบอดี (antibody) ที่จะป้องกันร่างกายต่อการรับเชื้อนั้นอีกในอนาคต สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว การรับวัคซีนก่อนการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ปัจจัยเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะไปที่ไหน เพราะแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยง ความชุกของโรคและโอกาสที่จะสัมผัสต่อเชื้อแตกต่างกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

วัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยว มีกี่กลุ่ม

องค์การอนามัยโลก (WHO) แบ่งกลุ่มวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ วัคซีนที่จำเป็นต้องที่ได้รับปกติก่อนเดินทาง วัคซีนที่แนะนำให้นักท่องเที่ยวรับตามความเหมาะสม และสุดท้ายคือ วัคซีนที่เป็นข้อกำหนดว่าต้องได้รับก่อนจะเดินทางไปบางประเทศ

สำหรับวัคซีนกลุ่มแรก คือ วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับปกติก่อนการเดินทาง ตามข้อมูลของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำวัคซีนที่จำเป็นต้องให้ในเด็กทุกคน ปี พ.ศ. 2560 ได้แก่ วัคซีนบีซีจี (วัคซีนวัณโรค) ไวรัสตับอักเสบบี (HBV) คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ (DTwP) ปอลิโอชนิดกิน (OPV) หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) และวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Live JE) โดยเด็กจะได้รับวัคซีนเหล่านี้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 12 ปี นอกจากนี้สมาคมฯยังได้แนะนำวัคซีนเสริมอื่นที่อาจให้เสริมในเด็ก ได้แก่ วัคซีนฮิบ (Hib) ตับอักเสบเอ (HAV) อีสุกอีใส (VZV) นิวโมคอคคัส (PCV) เอชพีวี (HPV)

สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปต่างประเทศก็จะได้รับวัคซีนข้างต้นตามปกติในวัยเด็กอยู่แล้ว แต่ยังมีวัคซีนบางชนิดที่อาจฉีดเพิ่มเติม เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal influenza) ซึ่งสามารถพบได้ทั่วโลก แม้ว่าจะไม่ได้เดินทางก็สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ แต่วัคซีนชนิดนี้ต้องฉีดใหม่ทุกปี เนื่องจากฉีดวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่จากไวรัสได้เพียงสายพันธุ์เดียวเท่านั้น วัคซีนที่ฉีดในปีนี้จึงป้องกันได้เฉพาะสายพันธุ์ในปีนี้อย่างเดียว แต่ไวรัสมีการกลายพันธุ์ใหม่ทุกปี ทำให้วัคซีนที่ฉีดในปีนี้ไม่สามารถป้องกันไวรัสที่กลายพันธุ์ของปีหน้าได้

กลุ่มที่สองคือ วัคซีนที่แนะนำให้นักท่องเที่ยวรับตามความเหมาะสม วัคซีนกลุ่มนี้พิจารณาจากสถานที่ที่จะไปท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละสถานที่มีความชุกและความเสี่ยงแตกต่างกัน วัคซีนกลุ่มนี้อาจรวมไปถึงวัคซีนเสริมตามคำแนะนำของสมาคมฯที่นักท่องเที่ยวยังไม่ได้รับ วัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • วัคซีนอหิวาตกโรค (cholera vaccine) แนะนำสำหรับนักเดินทางที่เข้าไปทำงานในค่ายอพยพผู้ลี้ภัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พื้นที่หลังจากเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือในพื้นที่ที่สุขาภิบาลไม่ดี น้ำไม่สะอาด เช่น แถบแอฟริกาใต้ซาฮารา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และอเมริกากลาง
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (HAV) และบี (HBV) แนะนำสำหรับประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชียใต้ และประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้นของไวรัสนี้
  • วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (meningococcal meningitis vaccine) แนะนำสำหรับประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ แถบแอฟริกาและซาอุดิอาราเบีย ประเทศซูดาน ไนจีเรีย เอธิโอเปีย วัคซีนนี้มีข้อกำหนดว่าต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน สำหรับผู้ที่ต้องการไปแสวงบุญ หรือประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดิอาราเบีย
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบจากเห็บ (tick-borne encephalitis vaccine) แนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปปีนเขา ตั้งแคมป์ในป่า ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิถึงช่วงฤดูร้อน เห็บที่เป็นสาเหตุของโรคพบมากในป่าแถบตอนกลาง ตะวันออก และตอนเหนือของยุโรป รัสเซีย จนถึงญี่ปุ่นและจีน
  • วัคซีนโรคไทฟอยด์ (typhoid vaccine) แนะนำสำหรับประเทศแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องอยู่หรือทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่น หรืออยู่ในพื้นที่ที่สุขอนามัยไม่ดีเป็นเวลานาน
  • วัคซีนโรคไข้เหลือง (yellow fever) มียุงเป็นพาหะ แนะนำสำหรับประเทศแอฟริกาและอเมริกาใต้ โดยจะต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 10 วันก่อนการเดินทาง นอกจากนี้ยังมีบางประเทศกำหนดว่าต้องได้รับวัคซีนไข้เหลืองก่อนเดินทางเข้าประเทศด้วย

และกลุ่มสุดท้าย คือ วัคซีนที่เป็นข้อกำหนดว่าต้องได้รับก่อนจะเดินทาง ปัจจุบัน WHO มีการกำหนดไว้ สองวัคซีน คือวัคซีนโรคไข้เหลือง และ วัคซีนโรคไข้กาฬหลังแอ่นและปอลิโอ (สำหรับประเทศซาอุดิอาระเบีย) โดยรายชื่อของแต่ละประเทศที่กำหนดนั้น สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งผู้ที่จะเดินทางสามารถสอบถามข้อมูลและขอรับการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลทั่วประเทศ

การรักษาสุขภาพระหว่างการเดินทาง ไม่ได้อยู่แค่การฉีดวัคซีน

นอกจากเรื่องวัคซีนแล้ว ผู้ที่จะเดินทางไปยังต่างประเทศควรเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ควรพกยาที่ต้องใช้เป็นประจำ หรือยารักษาโรคประจำตัวให้เพียงพอต่อจำนวนวันที่จะเดินทาง โดยเฉพาะยาพ่นในผู้ป่วยโรคหืด หรือยาประจำตัวสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรศึกษาสถานพยาบาลบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ที่จะไปหรือเบอร์โทรศัพท์ติดต่อสถานพยาบาลก่อนเผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้สุขอนามัยส่วนบุคคลและความสะอาดก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งเรื่องการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม สุขา เท่านี้แล้วเราก็พร้อมที่จะเดินทางอย่างสนุกกาย สบายใจ ปลอดภัยจากโรค


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Available jabs [Internet]. nhs.uk. 2018 [cited 5 February 2018]. Available from: https://www.nhs.uk/conditions/...
Immunise – 3.2 Vaccination for international travel [Internet]. Immunise.health.gov.au. 2018 [cited 5 February 2018]. Available from: http://www.immunise.health.gov...
International travel and health [Internet]. World Health Organization. 2018 [cited 5 February 2018]. Available from: http://www.who.int/ith/en/

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)