วิธีการให้ยา

เผยแพร่ครั้งแรก 5 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
วิธีการให้ยา

วิธีการให้ยา (จุฑามาศ สัตยวิวัฒน์, 2545: 13-16)

วิธีการให้ยามีหลายวิธี ดังนี้

  1. การรับประทาน (Oral = O) การให้ยาโดยการรับประทานเป็นวิธีการให้ยาที่ปลอดภัยและสิ้นเปลืองน้อยที่สุด และเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด แต่มีข้อจำกัดสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือหมดสติ เป็นต้น
  2. การฉีด (Injection) การให้ยาโดยการฉีด มีหลายทาง ดังนี้
    • การฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous injection =V) วิธีนี้จะช่วยให้นาออกฤทธิ์ได้เร็วที่สุด ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกประเภท เหมาะสำหรับยาที่ถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหารและระคายเคืองบริเวณที่ฉีด
    • การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular injection = M) วิธีนี้ยาจะออกฤทธิ์ได้ข้ากว่าการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ แต่ยาจะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานกว่าและมีข้อจำกัด คือ เหมาะสำหรับยาฉีดที่มีปริมาณไม่เกิน 5 มิลลิลิตร การฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อจะต้องดันเข็มอย่างรวดเร็วเข้ากล้ามเนื้อใหญ่ ดึงลูกสูบดูว่าไม่มีเลือดย้อนกลับมา เข็มต้องไม่อยู่ในหลอดเลือด ดันยาช้าๆ กล้ามเนื้อจะต้องผ่อนคลาย จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดี ยาดูดซึมดี บริเวณที่ฉีด ได้แก่ กล้ามเนื้อสะโพก กล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า และกล้ามเนื้อต้นแขน
    • การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Hypodermic หรือ Subcutaneous injection = H หรือ Sc) วิธีนี้ยาจะออกฤทธิ์ได้ช้ากว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งจำนวนยาฉีดต้องไม่เกิน 2 มิลลิลิตร ฉีดเข้าไปในเนื้อเยื่อซึ่งอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง ฉีดบริเวณต้นแขน ต้นขา และหน้าท้องข้างสะดือ ทำมุม 45 องศา ต้องแน่ใจว่าปลายเข็มไม่แทงเข้าหลอดเลือด โดยดึงลูกสูบออก หากไม่พบเลือดในกระบอกฉีด จึงดันยาเข้าไปช้าๆ ควรย้ายที่บ่อยๆ และสังเกตดูอาการอักเสบเป็นฝี (Abscess) หรือการตายของเนื้อเยื่อ (Necrosis) อย่าใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ เพราะยาจะดูดซึมช้าหรือไม่ดูดซึม
    • การฉีดยาเข้าชั้นผิวหนัง (Intradermal injection =ID) เป็นการฉีดยาจำนวนน้อยมาก ไม่เกิน 0.3 มิลลิลิตร เข้าไปในชั้นหนังแท้ (Dermis) ซึ่งอยู่ใต้หนังกำพร้า วิธีนี้ใช้สำหรับทดสอบว่าผู้ป่วยแพ้ยานั้นหรือไม่ เช่น การทดสอบภูมิแพ้ของร่างกายต่อยาเพนนิซิลลิน (Penicillin test) ยาต้านพิษบาดทะยัก (Tetanus antitoxin test) เป็นต้น หรือใช้ในการทดสอบภูมิต้านทานวัฯโรค (Tuberculin test หรือ Purified protein derivative test = PPD) หรือทดสอบโรคภูมิแพ้ (Allergic disease) หรือให้ภูมิคุ้มกันโรค หรือฉีดยาชาเฉพาะที่ นิยมฉีดที่ท้องแขน การฉีดต้องให้เป็นตุ้มนูนเล็กๆ (Wheal) ควรทำเครื่องหมายเพื่ออ่านผลใน 24-48 ชั่วโมง
    • การหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ (Infusion via intravenous drip = Vdrip) เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการให้ยาที่มีจำนวนมากๆ และต้องให้ยาเป็นระยะเวลานานๆ หรือเพื่อรักษาหลอดเลือดไว้สำหรับให้สารน้ำหรืออาหารทดแทนในผู้ป่วยที่รับประทานไม่ได้
  3. การให้ยาเฉพาะที่ (Topical application) ยาที่ให้เฉพาะที่ นิยมใช้ในรูปขี้ผึ้ง ครีม โลชั่น ยาน้ำ ยาผง ยาพวกนี้มักเป็นยาที่ใช้ภายนอก ดังนี้
    • ใช้ทา เช่น Prednisil cream, Whitfield’s ointment เป็นต้น
    • ใช้ถูนวด เช่น Analgesic cream, Mobilat เป็นต้น
    • ใช้หยอด เช่น Silmecetin eye drop, Sofradex, Bactacin ear solution เป็นต้น วิธีใช้ยาหยอดตา ล้างมือให้สะอาด เขย่าขวดยา ให้ผู้ป่วยนอนหรือนั่งแหงนหน้ามองขึ้นข้างบน ใช้มือดึงหนังตาล่างให้เป็นกระพุ้ง หยอดยาตามจำนวนหยดลงไป ระวังอย่าให้หลอดหยดแตะกับตาหรือเปลือกตา ให้ผู้ป่วยหลับตาพร้อมทั้งใช้มือกดหัวตาไว้ประมาณ 1-2 นาที ซับส่วนที่เกินออก หากจำเป็นต้องหยอดยาตาหลายชนิดในช่วงเวลาเดียวกัน ให้เว้นช่วงระยะเวลา 5 นาที เพื่อให้ยาแต่ละชนิดออกฤทธิ์ได้ดี วิธีใช้ยาหยอดหู ล้างมือและทำความสะอาดใบหูด้วยผ้าชุบน้ำ เช็ดให้แก้ง กำขวดยาไว้ในอุ้งมือ 2-3 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิให้ใกล้เคียงกับร่างกาย เอียงหูหรือนอนตะแคง ให้หูข้างที่จะหยอดอยู่ด้านบน ดูดยาและหยอดยาตามจำนวนหยด ดึงใบหูเบาๆ เพื่อให้ยาไหลลงหูได้สะดวก เอียงหูข้างนั้นไว้ 2-3 นาที หรือใช้สำลีอุดหูไว้ 5 นาที หากต้องการหยอดหูทั้ง 2 ข้าง ให้ทำซ้ำเหมือนเดิม วิธีหยอดจมูก ให้ผู้ป่วยสั่งน้ำมูกเบาๆ และใช้กระดาษเช็ดภายในจมูก ล้างมือให้สะอาด ให้ผู้ป่วยแหงนคอไปด้านหลังให้มากที่สุด หรือนอนราบบนเตียง เงยหน้าขึ้น หยอดยาลงในรูจมูก ระวังอย่าให้ปลายหลอดแตะจมูก แล้วให้ผู้ป่วยก้มศีรษะมาทางด้านหน้าและหมุนซ้ายขวาไปมาช้าๆ ประมาณ 2-3 นาที
    • ใช้พ่น เช่น Beconase, Ventolin inhaler เป็นต้น วิธีพ่นยาทางจมูก ให้ผู้ป่วยสั่งน้ำมูกเบาๆ และใช้กระดาษเช็ดภายในจมูก ล้างมือให้สะอาด ให้ผู้ป่วยแหงนหน้าขึ้นเพียงเล็กน้อย ให้หลอดพ่นสัมผัสปลายจมูกแล้วพ่นยาลงในรูจมูก วีธีใช้ยาสูดพ่นทางปาก เปิดฝาขวดแล้วเขย่าขวดยา ให้ผู้ป่วยหายใจออกทางปากมากที่สุด อมปลายกระบอกยาและหุบปากให้สนิท ใช้นิ้วกดก้นหลอดยาลงให้สุด พร้อมกับหายใจเข้าลึกๆ อย่างช้าๆ ดึงกระบอกพ่นออกจากปาก หุบปากกลั้นหายใจให้นานที่สุดอย่างน้อย 10 วินาที หากต้องการพ่นอีกครั้งให้เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 นาที
    • ใช้ป้าย เช่น Chlor-pyrad, Ophthalmic ointment, Gentian violet, X-Z-G เป็นต้น วิธีใช้ยาป้ายตา บ้างมือให้สะอาด ให้ผู้ป่วยนอนหรือนั่งแหงนหน้ามองขึ้นข้างบน ให้มือดึงหนังตาล่างให้เป็นกระพุ้ง บีบยาลงในกระพุ้งตา โดยเริ่มจากหัวตา ระวังอย่าให้ปลายหลอดแตะกับตาหรือเปลือกตา กะพริบตาเบาๆ ประมาณ 1-2 นาที หรือใช้นิ้วมือคลึงเบาๆ เช็ดยาส่วนเกินออก หากจำเป็นต้องใช้ยาป้ายร่วมกับยาหยอดตา ให้ใช้ยาหยอดตาก่อนยาป้ายตาประมาณ 5 นาที
    • ใช้กลั้วปากและคอ เช่น Special mouth wash, Xylocaine viscous, Mycostatin oral suspension เป็นต้น
    • ใช้เช็ดแผล เช่น Alcohol 70%, Hydrogen peroxide, Providine iodine เป็นต้น
  4. การให้ยาทางทวารหนัก (Suppositories) และทางช่องคลอด หรือเรียกว่า ยาเหน็บ ซึ่งมีลักษณะคล้ายยาเม็ดรับประทานแต่มีขนาดใหญ่กว่า การเหน็บยามักจะเหน็บก่อนเข้านอน เพื่อป้องกันยาไหลออกมาเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า

    ยาเหน็บทวารหนัก มักนิ่มเหลว สอดเข้าทวารหนักยาก ดังนั้นก่อนใช้ควรแช่แท่งยาพร้อมทั้งกระดาษตะกั่วที่หุ้มในน้ำแข็ง เมื่อยาแข็งแล้วจึงฉีกกระดาษตะกั่วออกแล้วสอดเข้าทางทวารหนักให้ลึกประมาณ 1-1 1/2นิ้ว วิธีใช้ยาเหน็บทวารหนักล้างมือให้สะอาด แกะกระดาษห่อยาออก ให้ผู้ป่วยนอนตะแคง เหยียดขาข้างที่นอนทับออก และงอเข่าข้างที่อยู่ข้างบน ค่อยๆ สอดยาเข้าทวารหนักให้ลึกจนสุดเม็ดยาที่สอด นอนในท่าเดิมประมาณ 15 นาที เพื่อให้ยาละลายหมด และไม่หลุดออกมา หากยาเหน็บนิ่มหรือไม่คงรูป ควรแช่ยาในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อให้ยาคงรูปแข็ง

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

    แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

    ยาเหน็บทางช่องคลอด ค่อนข้างแข็ง จึงควรชุบน้ำก่อนสอดเข้าช่องคลอด และควรควรเหน็บให้ลึกประมาณ 1-1 1/2นิ้ว วิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอดล้างมือให้สะอาด แกะกระดาษห่อยาออก ปัสสาวะก่อนให้เรียบร้อย จุ้มยาลงในน้ำสะอาดให้พอเปียกหมาดๆ นอนหงายชันเข่าและค่อยๆ สอดยาเข้าช่องคลอดให้ลึกที่สุด นอนพักสักครู่ เพื่อให้ยาละลายหมด ยาอาจเปื้อนกางเกงในได้

  5. การใช้ยาอมใต้ลิ้น (Sublingual, SL) หรือบริเวณกระพุ้งแก้ม การให้ยาโดยวิธีนี้ยาจะดูดซึมได้ดีทางเยื่อบุ (Mucous membrane) ภายในช่องปากเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็วกว่าการรับประทาน แต่การให้ยาโดยวิธีนี้ใช้ได้กับยาเพียงบางชนิดเท่านั้นเนื่องจากคุณสมบัติทางเคมีของยา เช่น Nitroglycerin (NTG), Isordil (ชนิด 5 มิลลิกรัม สำหรับอมใต้ลิ้น), Methyltestosterone เป็นต้นยาเม็ดสำหรับอมใต้ลิ้นเพื่อรักษาอาการเจ็บหน้าอก (Chest pain) อมทันทีที่มีอาการ ไม่เคี้ยวหรือกลืนยาหรือกลืนน้ำลายขณะอมยา เมื่ออมยาเม็ดแรกแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้อมยาเม็ดที่ 2 ป้องกันอาการล่วงหน้าได้ 5-10 นาที ก่อนประกอบกิจกรรมที่คาดว่าจะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก
  6. การใช้ยาชนิดแผ่นปิดผิวหนัง เพื่อรักษาอาการเจ็บหน้าอก (Chest pain) ควรปิดแผ่นยาเวลาเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ อย่ารอให้มีอาการก่อนแล้วค่อยปิด เพราะจะได้ผลช้า วิธีใช้ยาแผ่นปิดผิวหนัง ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนใช้ยา ติดแผ่นยาในบริเวณที่มีขนน้อยและแห้ง เช่น ท้องแขนหรือใต้ราวนม เป็นต้น อย่าปิดยาบริเวณที่มีรอยแผลหรือรอยพับ ควรปิดแผ่นยาเพียงวันละ 12-14 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการดื้อยาในรายที่ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน ทั้งนี้ควรดึงแผ่นยาออกในเวลากลางคืน
  7. การสูดดม (Inhalation) ยาที่ใช้จะเป็นประเภทสารระเหย หรือเป็นยาน้ำ การให้ยาโดยวิธีนี้ให้โดยการพ่นเป็นฝอยเข้าในโพรงจมูก เช่น ยาขยายหลอดลมทาง Hudson’s nebulizer เป็นต้น ยาจะออกฤทธิ์เร็วและออกฤทธิ์เฉพาะแห่ง ซึ่งวิธีนี้อาจมีข้อเสีย เพราะวิธีการให้และการเก็บรักษายาไม่สะดวก ปริมาณยาที่ได้ไม่แน่นอน และทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย

หากคุณเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์และอยากอ่านเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติม สามารถสนับสนุนผู้แต่ง รองศาสตราจารย์ปราณี ทู้ไพเราะ ได้โดยการซื้อหนังสือ “คู่มือยา (Handbook of Drugs)”


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Route of Administration. U.S. Food and Drug Administration (FDA). (https://www.fda.gov/drugs/data-standards-manual-monographs/route-administration)
Administration of Medication: Taking Drugs the Right Way. Healthline. (https://www.healthline.com/health/administration-of-medication)
Working to reduce medication errors. (2018). https://www.fda.gov/drugs/resourcesforyou/consumers/ucm143553.htm

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)