รูปแบบของยา (เรวดี ธรรมอุปกรณ์, 2546: 2-6, กำพล ศรีวัฒนกุล, 2538: 33-42)
รูปแบบของยาต่างๆ มีดังนี้
- ยาเม็ด (Tablets) มีทั้งชนิดเม็ดไม่เคลือบและชนิดเม็ดเคลือบ ยาเม็ดธรรมดาไม่ได้เคลือบเป็นยาเม็ดที่อาจมีรูปร่างกลม เหลี่ยม หรือรูปร่างต่างๆ กัน มีขนาดต่างๆ กัน ผิดหน้าของเม็ดยาอาจเรียบหรือนูน ส่วนใหญ่เมื่อรับประทานต้องกลืนทั้งเม็ด ห้ามเคี้ยว เช่น Paracetamol, Peritrate เป็นต้น บางชนิดต้องเคี้ยวก่อนกลืน เช่น ยาลดกรดชนิดเม็ด ยาขับลมชนิดเม็ด เป็นต้น หากไม่ระบุว่าต้องเคี้ยวโดยทั่วไปให้กลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำ บางชนิดเป็นเม็ดยาที่มีลักษณะแข็ง ใช้อมในปากโดยไม่ต้องเคี้ยวเพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ในปากหรือลำคอ จะเป็นยาประเภทอมแก้เจ็บคอ ยาอมเพื่อทำลายเชื้อโรคในช่องปาก เช่น Strepsil เป็นต้น บางชนิดต้องอมไว้ใต้ลิ้น ห้ามเคี้ยวและห้ามกลืนโดยเด็ดขาด เพราะเป็นยาที่เตรียมไว้เพื่อใช้อมใต้ลิ้นจะกลืนไม่ได้เพราะตัวยาจะถูกทำลายที่ตับ เมื่อถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารแล้วจะผ่านตับ ทำให้ปริมาณยาที่จะออกฤทธิ์มีไม่เพียงพอ เช่น Methyltestosterone, Nitroglycerin เป็นต้น บางชนิดห้ามเคี้ยวหรืออย่าปล่อยให้ละลายในปาก เนื่องจากยาจะมีผลทำให้คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง เช่น Dulcolax (Bisacodyl) เป็นต้น ยาเม็ดเคลือบ เป็นยาที่นำมาเคลือบโดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน เช่น เพื่อป้องกันไม่ให้ยาชื้นหรือเพื่อกลบรสยา หรือเคลือบเป็นสีๆ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ของตน เป็นต้น ดังนั้นผู้ให้ยาจึงไม่ควรจำสีของเม็ดยาเป็นสำคัญ เพราะยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญชนิดเดียวกัน อาจเคลือบสีหรือทำเป็นรูปแบบของเม็ดยาต่างกัน ยาเม็ดบางชนิดเคลือบด้วยวัสดุเพื่อให้เม็ดยาแตกตัวในลำไส้เล็ก เรียกยาเม็ดชนิดนี้ว่า Enteric-Coated Tablets วิธีใช้ยาเม็ดเคลือบที่ให้แตกตัวในลำไส้เล็ก เมื่อรับประทานให้กลืนยาทั้งเม็ด ห้ามเคี้ยวก่อนกลืนหรือรับประทานพร้อมกับยาลดกรดหรือนม บางชนิดใช้ภายนอก เช่น ยาเหน็บทางทวารหนัก ยาเหน็บช่องคลอด เป็นต้น
- ยาแคปซูล (Capsules) ยาแคปซูลเป็นรูปแบบที่มีตัวยาเป็นของแข็งหรือของเหลวบรรจุอยู่ภายในเปลือกหุ้ม ซึ่งจะละลายได้เมื่อรับประทานเข้าไปในกระเพาะอาหาร ยกเว้นกรณีให้ยาทางสายยางให้อาหาร (Nasogastic-tube) เพราะตัวยาอาจมีผลระคายเคืองทางเดินอาหารและอาจมีผลต่อการดูดซึมของยา แคปซูลบางชนิดบรรจุสารที่ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นาน โดยยาจะค่อยๆ ปล่อยตัวยาออกมาทีละน้อย เช่น Amoxicillin, Adalat เป็นต้น โดยทั่วไปจะบอกให้ทราบว่าเป็นยาออกฤทธิ์นานหรือควบคุมการปลดปล่อยของตัวยาโดยใช้คำย่อต่อท้ายชื่อยานั้นๆ เช่น Adalat CR (CR = controlled release หรือใช้คำย่อ SR = sustained release) เป็นต้น
- ยาผง (Powder and Granules) ยาผงมีทั้งชนิดรับประทานและยาใช้ภายนอก ดังนี้
- ชนิดรับประทาน ยาผงชนิดรับประทานโดยทั่วไปให้ละลายน้ำก่อนรับประทาน ไม่ควรเทใส่ปากในลักษณะผงแห้งแล้วดื่มน้ำตาม เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันในหลอดอาหารได้ วิธีละลายยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง หากต้องใช้ยามากกว่า 1 ขวด ให้ละลายทีละขวด โดยเคาะผงยาในขวดให้ร่วน ใช้น้ำต้มสุกที่เย็นแล้วหรือน้ำดื่มที่สะอาดละลายยา ห้ามใช้น้ำร้อนหรือน้ำอุ่น เปิดฝาขวดยา เติมน้ำลงในขวดยาประมาณครึ่งขวด ปิดฝาขวดเขย่าให้ผงยาเปียกทั่วและกระจายไม่จับเป็นก้อน เปิดฝาขวดยาอีกครั้ง เติมน้ำลงในชวดจงถึงขีดที่กำหนดไว้บนขวดยาหรือขีดบอกบนฉลากยา ปิดฝาขวด เขย่าให้กระจายเข้ากันดี ก่อนรินยา ต้องเขย่าขวดก่อนทุกครั้ง ยาที่ผสมแล้วมีอายุการใช้ไม่เกิน 7 วัน และเก็บยาไว้ในที่เย็นหรือในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อป้องกันการสลายตัวของยา แบ่งรับประทานเป็นมื้อๆ
- ชนิดใช้ภายนอก ยาผงใช้ภายนอกมักใช้โรยที่ผิวหนังเพื่อลดอาการคันและช่วยให้รู้สึกเย็นสบายป้องกันการอับชื้น ยาผงไม่ควรใช้โรยแผลที่มีน้ำเหลือง เพราะจะทำให้น้ำเหลืองเกาะกันเป็นก้อนแข็งระคายต่อแผล และทำให้แผลหายช้าเนื่องจากการเจริญเติบโตของเชื้อโรคภายใต้แผ่นสะเก็ดแข็งนั้น เวลาใช้ยาผงต้องระวังอย่าให้ผงปลิวเข้าปาก จมูกหรือตา เมื่อใช้เสร็จแล้วต้องล้างมือให้สะอาด
- ยาน้ำ ยาน้ำเหมาะสำหรับคนที่กลืนยาเม็ดไม่ได้ ดูดซึมและออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายาเม็ด แต่สลายตัวง่ายกว่า ยาน้ำแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
- ยาน้ำใส (Solution) เป็นรูปของยาที่มีสารละลายอยู่ในน้ำ ไม่มีตะกอน ได้แก่ ยาน้ำเชื่อม (Syrups) ยาจะเหนียวข้นและมีรสหวาน เช่น ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ยาขับเสมหะ วิตามินน้ำเชื่อม ยาแก้ปวดลดไข้ชนิดน้ำเชื่อม เป็นต้น หากยาน้ำเชื่อมตกผลึกแข็งแสดงว่าเสื่อมคุณภาพหรือหมดอายุไม่ควรใช้ต่อ
- ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspensions) ยาน้ำแขวนตะกอน เมื่อตั้งทิ้งไว้ ตัวยาจะตกตะกอนลงที่ก้นขวด ก่อนใช้ต้องเขย่าขวดให้ตะกอนกระจายตัวแล้วรีบรินทันที เพื่อให้ตัวยากระจายทั่วขวด จึงจะช่วยให้ได้ขนาดยาแต่ละครั้งเท่าๆ กัน หากเขย่าแล้วตะกอนไม่กระจายตัวแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพหรือหมดอายุและไม่ควรใช้ ตัวอย่างยาน้ำแขวนตะกอน เช่น Alum milk, Kaopectal, M. Alba เป็นต้น หากเป็นยารับประทานต้องใช้เครื่องตวงยามาตรฐาน เช่น ช้อนตวงยาหรือหลอดหยดยา เป็นต้น
- ยาน้ำแขวนละออง (Emulsion) ยาน้ำแขวนละออง ประกอบด้วย น้ำและน้ำมันผสมกันอยู่จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนใช้ควรเขย่าแรงๆ หากเกิดการแยกชั้นของน้ำและน้ำมัน โดยที่เขย่าแล้วไม่เป็นเนื้อเดียวกันแสดงว่ายานั้นเสื่อมคุณภาพ ตัวอย่างยาน้ำแขวนละออง เช่น ยาระบายพาราฟิน (Liquid paraffin emulsion) เป็นต้น
- ยาขี้ผึ้ง (Ointments) ครีม (Creams) และเจล (Gels)
- ยาขี้ผึ้ง เป็นยาที่มีลักษณะเป็นน้ำมัน เป็นยาที่ใช้ภายนอก ใช้ทาเฉพาะที่ มีหลายประเภท เช่น ขี้ผึ้งทาแผล ขี้ผึ้งป้ายตา ขี้ผึ้งทาแก้ปวดบวม เป็นต้น ยาขี้ผึ้งมักจะละลายเมื่อถูกความร้อน จึงควรเก็บให้ห่างจากแสงแดด
- ครีม เป็นยาน้ำแขวนละอองที่มีความข้นมาก ครีมจะเหลวกว่าขี้ผึ้ง เป็นยาที่ใช้ภายนอก ใช้ทาเฉพาะที่ มีตัวยาละลายอยู่ในน้ำหรือน้ำมัน ใช้ทาได้ง่าย ล้างออกง่าย ช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น ใช้ทาบางๆ ไม่ต้องถูนวดเพราะยาดูดซึมได้ดีอยู่แล้ว การถูนวดจะทำให้ยาดูดซึมมากกว่าปกติและอาจทำให้เกิดพิษจากยา ตัวอย่างยาพวกครีม เช่น ครีมทาแก้ปวดบวม ครีมทาลดการอักเสบ พวกสเตียรอยด์ ครีมแก้สิว เป็นต้น
- เจล เป็นยากึ่งแข็งกึ่งเหลว ตัวยาในเจลจะค่อยๆ ดูดซึม เป็นยาทาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ และปวดบวม เช่น Reparil gel เป็นต้น
- ยาเหน็บ (Suppositories) เป็นยาที่มีลักษณะกึ่งของแข็ง มีรูปร่าง ขนาดต่างๆ กัน มีวิธีใช้เฉพาะที่ โดยใช้สอดเข้าช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น ทวารหนัก ช่องคลอด เป็นต้น ยาเหน็บทางช่องคลอด อาจเป็นไขมันหรือละลายในน้ำได้ เช่น ยาถ่าย ยาชาเฉพาะที่ ยากันชัก เป็นต้น ส่วนใหญ่ต้องการให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่ มีบางชนิดต้องการให้ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปออกฤทธิ์ที่อื่นได้
- ยาฉีด (Injection) เป็นยาที่ประกอบด้วยตัวยาซึ่งละลายในน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ สารละลายได้รับการปรับความเป็นกรด-ด่าง เพื่อให้มีความสมดุลหรือไม่เจ็บปวดจากบริเวณที่ฉีด
-ยาทิงเจอร์ (Tinctures) และ ยาอีลิเซอร์ (Elixirs) เป็นยาน้ำที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอยู่ 4-40% ส่วนยาสปิริต (Spirits) เป็นยาน้ำที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอยู่ 60-90% มีรสหวาน ใช้รับประทานเท่านั้น เช่น เหล้าสะระแหน่ เหล้าแอมโมเนียหอม ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร ยาจิบแก้ไอ ยาขับเสมหะ เป็นต้น ภายหลังการใช้ยาพวกนี้แล้วควรปิดฝาภาชนะที่ใส่ให้แน่น เพื่อป้องกันการระเหยของแอลกอฮอล์ซึ่งจะทำให้ความเข้มข้นของยาผิดไปจากเดิม
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น
ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก
หากคุณเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์และอยากอ่านเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติม สามารถสนับสนุนผู้แต่ง รองศาสตราจารย์ปราณี ทู้ไพเราะ ได้โดยการซื้อหนังสือ “คู่มือยา (Handbook of Drugs)”