โภชนาการตามเวลา การรับประทานอาหารนอกจากจะให้ประโยชน์กับร่างกายแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการให้ความสุขสำหรับตัวเองอีกด้วย หลายคนจึงสรรหาอาหารดีๆอร่อยๆที่ตัวเองชอบมารับประทานจนบางครั้งก็เกิดปัญหามีโรคภัยไข้เจ็บตามมาจากการตามใจปากได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อให้ร่างกายกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขอีกครั้งจึงต้องหันกลับมาดูแลเรื่องอาหารการกินเสียใหม่ โดยสามารถ เลือกรับประทานสิ่งที่ชอบได้ในเวลาที่เหมาะสม ที่เรียกกันว่า “โภชนาการตามเวลาสมบูรณ์แบบ”
ซึ่งในที่นี้เวลาหมายถึง การรับประทานอาหารให้แตกต่างกันตามช่วงเวลา แบ่งเป็น เช้า กลางวัน 16.00 น. และตอนเย็น สำหรับโภชนาการ หมายถึงการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับช่วงเวลา และสุดท้าย สมบูรณ์แบบ หมายถึงโปรแกรมที่ง่ายไม่ยุ่งยากในการปฏิบัติและได้ผลอย่างแท้จริงสามารถยึดเป็น โปรแกรมโภชนาการใช้ไปได้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่เป็นการลดน้ำหนักเท่านั้น ยังรวมถึงการป้องกันและการรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมออีกด้วย
สำหรับผลของโปรแกรมนี้จะทำให้สามารถรับประทานอาหารได้น้อยลง มีรูปร่างที่สมส่วน มีสุขภาพที่ดี ผิวพรรณสดใส สุขภาพจิตดี ช่วยทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันเป็นกล้ามเนื้อ อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลายจากความเครียดได้เป็นอย่างดี
วิธีการปฏิบัติโภชนาการตามเวลา
อวัยวะสำคัญที่มีบทบาทในการย่อยอาหารทั้ง 5 ได้แก่ สมอง ตับ ไต กระเพาะอาหาร และตับอ่อน อาจมีบทบาทมากหรือน้อยแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาของวัน ซึ่งหากมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และถูกต้อง ก็จะทำให้มีน้ำหนักที่สมดุลได้ โดยไม่ทำให้กลับไปมีน้ำหนักตัวที่เกินอีก โดยสมองจะเป็น ตัวการใหญ่ของกระบวนการทั้งหมด ซึ่งจะเป็นผู้สั่งการให้รับประทานอาหารเข้าไป ทันทีที่ตื่นนอนตอนเช้า ตามที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากไขมัน โปรตีนเพื่อสังเคราะห์เซลล์ใหม่ รวมถึงแป้ง เพื่อให้การเผาผลาญพลังงานเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และจากนั้น กระบวนการย่อย ซึ่งมี ตับจะทำหน้าที่ย่อยไขมันและสังเคราะห์โปรตีน กระเพาะอาหารก็ทำหน้าที่ ย่อยอาหารที่เข้ามา เป็นต้น
ช่วงเช้า
ในตอนเช้า หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงน้ำตาลที่สามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ตับอ่อนทำงานหนัก ส่วนเวลาที่เหมาะสำหรับ การรับประทานน้ำตาลควรเป็นช่วงบ่าย เพราะเป็น ช่วงเวลาที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามาก จึงทำให้ร่างกายสามารถรับน้ำตาลได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับร่างกายและ ไม่ทำให้เกิดภาวะ อินซูลินมีมากเกินขนาดจนก่อให้เกิดภาวะต้านอินซูลิน
ช่วงกลางวัน
มื้อกลางวัน ร่างกายจำเป็นต้องได้รับโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื้อปลา และแป้งประมาณ 250 กรัม นอกจากนี้ยังควรรับประทานผักใบเขียวพร้อมกับ น้ำมันมะกอกเพื่อลดความหิว
ช่วงเย็น
ช่วงนี้ตับและกระบวนการย่อยอาหารจะทำงานอยู่ในระดับต่ำที่สุด จึงไม่ควรรับประทานไขมันจากเนื้อสัตว์ ยกเว้นไขมันดี เช่น น้ำมันปลาและน้ำมันมะกอก ซึ่งไขมันที่สะสมอยู่บริเวณหน้าท้อง จะสามารถทำกำจัดให้หายไปได้ ด้วยการรับประทานอาหารเย็นอย่างเหมาะสม อาจรับประทานเฉพาะปลาและน้ำมันปลาเท่านั้น อีกทั้งควรงดผักที่มีแป้งสูง และหลีกเลี่ยงไม่ให้ตับอ่อนทำงานหนัก โดยการงดน้ำตาล แป้ง ผลไม้และแอลกอฮอล์
อาจอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ช่วงเย็นตับอ่อนหยุดการทำงาน มีเพียงแค่กระเพาะอาหารเท่านั้นที่ทำงานอยู่ และไตกำลังจะเริ่มกระบวนการชำระล้างร่างกาย โดยทำหน้าที่ตลอดทั้งคืน เพื่อตื่นขึ้นมาอย่างแจ่มใส ในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ไม่มีอาการงัวเงีย และพร้อมสำหรับการรับประทานอาหารอีกครั้ง แต่ถ้าหากมีความรู้สึกงัวเงียแทบลุกไม่ขึ้น หรือไม่แจ่มใส อาจมีสาเหตุมาจาก การย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์ในช่วงกลางคืน อาจเกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป ดื่มแอลกอฮอล์ หรือรับประทานน้ำตาลหรือไขมัน มากเกินไป ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะก่อให้เกิดอาการปั่นป่วน ในระบบย่อยอาหารได้แทบทั้งสิ้น
โภชนาการตามเวลาไม่ใช่เรื่องยาก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสมแล้วออกกำลังกายพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ชีวิตก็มีความสุขแล้ว