"คุณหมอลูกเป็ด"
เขียนโดย
"คุณหมอลูกเป็ด"

รวมอาการทางผิวหนังที่ติดต่อได้จากสัตว์เลี้ยง

สัตว์เลี้ยงน่ารักก็จริง แต่หากไม่ใส่ใจเรื่องสุขอนามัยก็อาจเป็นที่มาของเชื้อโรคติดต่อสู่คนได้
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
รวมอาการทางผิวหนังที่ติดต่อได้จากสัตว์เลี้ยง

จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่า กว่า 50% ของครัวเรือนมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน และสำหรับบางบ้านสัตว์เลี้ยงเหล่านี้อาจใกล้ชิดกับคนเสียจนนับเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัวด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงอาจมีเชื้อโรคบางอย่างซ่อนอยู่และสามารถติดต่อสู่คนผ่านทาง สารคัดหลั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ หรือน้ำลายของสัตว์เลี้ยง หรืออาจมีสิ่งสกปรกที่ติดมากับตัวสัตว์เลี้ยง เช่น ดิน น้ำ เป็นต้น

โรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่คนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ใช้เวลาคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเป็นเวลานาน ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือบกพร่อง เด็กเล็ก คนแก่ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเป็นโรคประจำตัวบางอย่าง หรือหญิงตั้งครรภ์ มีโอกาสที่จะติดโรคจากสัตว์เลี้ยงได้ง่ายขึ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคที่เกิดจากปรสิตจากสัตว์เลี้ยง

  • หมัด (Fleas)
    หมัด เป็นแมลงไม่มีปีก จากรายงานทางชีววิทยาปัจจุบันพบหมัดมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ สายพันธุ์หมัดที่มักอยู่ตามตัวสุนัขและแมวมีประมาณ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Ctenocephalides felis, C. canis, Pulex spp. และ Echnidnophaga gallinacean ไข่ที่ตัวหมัดวางไว้สามารถตรวจพบได้ตามบริเวณที่สัตว์เลี้ยงนอน ตัวของหมัดเองจะทำให้สัตว์คันมากหลังจากการเกาที่รุนแรงอาจทำให้เกิดขนร่วงเฉพาะจุดที่เกาได้

    หมัดจะระบาดมากในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นตามแนวเส้นศูนย์สูตร เช่น ประเทศไทย เนื่องจากเป็นสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของหมัด หมัดสามารถติดต่อไปยังสัตว์เลือดอุ่นได้ทุกชนิดรวมถึงคน เมื่อคนติดหมัดจากสุนัขหรือแมว จะพบอาการคันเป็นอาการเด่น พบว่าเด็กเล็กเป็นกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดหมัดมากที่สุด เนื่องจากเด็กเล็กจะเคลื่อนที่โดยการคลาน ทำให้มีพื้นผิวสัมผัสกับไข่หมัดหรือตัวหมัดมากขึ้น นอกจากอาการคันแล้ว ตัวหมัดเองยังเป็นพาหะของโรคอื่นๆ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนผ่านทางการกัดของหมัด

  • เห็บ (Ticks)
    เห็บ เป็นแมลงชนิดหนึ่ง แบ่งเป็น Argasid (soft ticks) และ Ixodid (hard ticks) สามารถพบได้ทั่วโลก เห็บติดต่อได้ในสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด สามารถติดต่อมาสู่คนได้จากการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีตัวเห็บอยู่โดยตรง หรือการสัมผัสบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่ เมื่อคนติดเห็บแล้วจะมีอาการเริ่มจากคันมาก เจ็บ และระคายเคืองบริเวณที่โดนกัดจากอาการแพ้ หลังจากนั้นจะกลายเป็นแผล และกลายเป็นตุ่มนูนจากชั้นหนังแท้ในที่สุด
    อาการสามารถอยู่ได้เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ขึ้นอยู่กับการแพ้ในแต่ละบุคคล นอกจากอาการดังกล่าว ตัวเห็บเองยังเป็นพาหะของโรคอื่นๆ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายของคนผ่านทางการกัดของเห็บได้อีกด้วย

  • ปรสิตขนาดเล็กอื่นๆ (Mites)
    ปรสิตขนาดเล็กอื่นๆ เช่น Otodectes cynotis (มักอาศัยตามหูของสัตว์เลี้ยง), Sarcoptes scabiei (หิดสุนัข โดยจะขุดผิวหนังเป็นโพรงและอาศัยในชั้นหนังกำพร้าของสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ), Cheyletiella spp. (อาการคันระคายเคืองไม่รุนแรงมาก) และ Demodex spp. เป็นต้น ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วโลก มักพบในลูกสุนัขหรือลูกแมว สามารถติดต่อสู่คนได้ค่อนข้างง่ายผ่านทางการสัมผัส กอด หรือนอนกับสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้ออยู่ เป็นต้น โดยมีตุ่มแดงบริเวณผิวหนัง ร่วมกับอาการคันระคายเคือง เป็นอาการที่พบได้บ่อยหลังติดเชื้อ

ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว การกัดของหมัดและเห็บนอกจากจะทำให้มีอาการทางผิวหนัง แมลงเหล่านี้ยังเป็นพาหะของเชื้อโรคอื่นๆ ที่สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เช่น

  • Rickettsia rickettsia ทำให้เกิดโรค Rocky mountain spotted fever
  • Ehrlichia spp., Coxiella burnetii ทำให้เกิดโรค Query fever หรือ Q fever
  • Borrelia burgdorferi ทำให้เกิดโรค Lyme disease
  • Rickettsia typhi ทำให้เกิดโรค Typhus
  • Bartonella henselae ทำให้เกิดโรค Cat-scratch disease
  • Yersinia pestis
  • Dipylidium caninum เป็นพยาธิตืดสุนัขหรือตืดแมว ทำให้เกิดโรค Dipyliadiasis

อาการของโรคที่กล่าวมาในข้างต้นส่วนใหญ่จะมีไข้ และตัวเชื้อมีผลต่ออวัยวะหลายระบบ แล้วแต่ชนิดเชื้อก่อโรค การวินิจฉัยการติดเชื้อดังกล่าวต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ดูปฏิกิริยาการติดสารเรืองแสงของเชื้อ (immunofluorescent) หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมของตัวเชื้อด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) เป็นต้น อย่างไรก็ตามโรคที่กล่าวมาส่วนใหญ่ไม่พบในประเทศไทยแต่ก็มีบางโรคที่สามารถพบได้ในประเทศไทย เช่น Rickettsia typhi หรือ Dipylidium caninum เป็นต้น

โรคติดเชื้ออื่นๆที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง

  • โรคกลาก (Dermatophyte infection)
    เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา ซึ่งประกอบด้วย Microsporum spp., Trichophyton spp. และ Epidermophyton spp. เชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คน จากสัตว์สู่คน เช่น สุนัขหรือแมว หรือจากสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน (โดยอาจปนเปื้อนมาจากผิวหนัง ขน อุ้งเท้า หรือกรงเล็บของสุนัขหรือแมวก็ได้) สู่คนโดยผ่านทางการสัมผัสเชื้อโดยตรง โดยส่วนใหญ่เชื้อรามักชอบสิ่งแวดล้อมร้อนชื้นจึงทำให้เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตมรสุมโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน โดยเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบบ่อย ได้แก่ Microsporum canis, Microsporum gypseum และ Trichophyton mentagrophytes

    เชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากสามารถติดได้ตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ตัวหรือแขนขา (Tinea corporis) ศีรษะ (Tinea capitis) เล็บ (Tinea unguium) เท้า (Tinea pedis) มือ (Tinea manuum) ง่ามขา (Tinea cruris) และหน้า (Tinea faciei) โดยเชื้อกลากที่ก่อโรคบริเวณผิวหนังจะมีรอยโรคเป็นวง ขอบวงแดงมีลักษณะอักเสบ ตรงกลางวงมีสีแดงหรืออาจสีคล้ายผิวหนังปกติ มีขุยสีขาวเล็กๆ กระจายทั่วผืนของรอยโรค มีอาการคัน หากปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาล่าช้าผื่นดังกล่าวจะขยายตัวออกและอักเสบมากยิ่งขึ้น

    หากเชื้อกลากก่อโรคบริเวณศีรษะ สามารถมาได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นผื่นวงคล้ายที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดงคันมีขุยสีขาว หรือแม้แต่มีลักษณะคล้ายก้อนนูนอักเสบมีหนอง โดยเชื้อกลากบริเวณศีรษะมักพบร่วมกับผมร่วงและเส้นผมหัก พบในเด็กเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเชื้อกลากที่ก่อโรคบริเวณเล็บสามารถมาได้หลายรูปแบบเช่นกัน โดยมักพบแผ่นเล็บหนาตัวขึ้น มีการเสียรูป ผิวเล็บด้านบนมีลักษณะขรุขระหรือเป็นขุยขาว ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเชื้อก่อโรคและลักษณะการติดโรค

    อย่างไรก็ตาม เชื้อกลากที่ติดต่อมาจากสัตว์จะแสดงอาการรุนแรงที่สุดในบรรดาการติดต่อทั้งหมด โดยทั่วไปเชื้อกลากสามารถตรวจพบด้วยขูดผิวหนังที่มีรอยโรคและย้อมเชื้อทางห้องปฏิบัติการ อย่างไรก็ตามในโรคกลากบางตำแหน่งมีความจำเป็นต้องส่งเพาะเชื้อเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาต่อไป

  • โรคเกลื้อน (Malassezia dermatitis)
    เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อรา Malassezia spp. สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสสัตว์เลี้ยงที่มีเชื้ออยู่ เชื้อราดังกล่าวมักเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีไขมันเยอะ เช่น หน้า ศีรษะ ไรผม คอ หน้าอก และหลังส่วนบน เป็นต้น โดยทั่วไปโรคเกลื้อนจะมีลักษณะเป็นผื่นเรียบขนาดเล็กหลายสี ในคนไทยมักพบสีขาว แต่อาจพบสีน้ำตาลหรือสีอื่นๆ ได้ ผื่นขอบเขตชัดเจน มีขุยบางๆ สีขาวเล็กน้อยบริเวณผื่น ไม่ค่อยมีอาการคัน เชื้อเกลื้อนสามารถตรวจพบด้วยขูดผิวหนังที่มีรอยโรคและย้อมเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การรักษาสามารถทำได้ด้วยการทายาฆ่าเชื้อรา อย่างไรก็ตาม แม้เชื้อราที่ก่อโรคถูกกำจัดไปแล้ว แต่สีของผิวหนังที่เปลี่ยนไปอาจต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนในการกลับมาเป็นผิวหนังสีปกติ

  • สปอโรทริโคสิส (Sporotrichosis)
    เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อรา Sporothrix schenckii (เชื้อดังกล่าวมักพบจากการโดนหนามกุหลาบทิ่มตำ แต่ก็สามารถในสัตว์เลี้ยงได้ด้วย โดยพบในแมวมากกว่าในสุนัข) หรือเกิดจากเชื้อ Nontuberculous mycobacteria ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง การติดต่อเกิดจากการมีแผลเปิดบริเวณผิวหนังและแผลดังกล่าวสัมผัสกับเชื้อที่ติดมาจากสัตว์หรือสิ่งสกปรกที่ติดตัวสัตว์มา เช่น ดิน หรือน้ำสกปรก เป็นต้น ลักษณะอาการที่สำคัญ ได้แก่ การมีตุ่มแดงบริเวณผิวหนังอาจเป็นตุ่มเดี่ยวๆ หรือมีหลายตุ่มเรียงตัวตามแนวท่อน้ำเหลือง (Lymphatic pattern) การวินิจฉัยทำได้โดยการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจดูพยาธิสภาพผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ ร่วมกับการเพาะเชื้อ

  • โรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ
    มีเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่สามารถติดจากสุนัขและแมวได้ เช่น Staphylococcus, Streptococcus, Corynebacterium, Pasteurella และ anaerobic species โดยสามารถแสดงอาการทางผิวหนังได้หลายรูปแบบ เช่น เป็นผื่นแดง แผลพุพอง หนอง รูขุมขนอักเสบ การติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่สุนัขและแมวกัด หรือข่วน นอกจากการติดเชื้อทางผิวหนังแล้วการถูกกัด ข่วน หรือมีแผลเปิดสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ยังมีโอกาสติดเชื้ออื่นๆที่รุนแรง เช่น พิษสุนัขบ้า และเชื้อบาดทะยัก หลังจากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อประเมิณความรุนแรงและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการรักษาตามมาตรฐานที่ถูกต้องต่อไป

  • โรคติดเชื้อไวรัส ทางการแพทย์มีรายงานการติดเชื้อไวรัสจากสุนัขและแมวสู่ค่น แต่พบได้น้อยมาก

โดยสรุปแล้ว มีโรคทางผิวหนังมากมายที่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมวได้ อย่างไรก็ตามยังมีโรคอื่นๆอีกมากที่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงโดยไม่แสดงอาการทางผิวหนัง การดูแลรักษาความสะอาดสัตว์เลี้ยง อย่างถูกต้องเหมาะสม และการตรวจสุขภาพของสัตว์เลี้ยงตามนัดหมายของสัตวแพทย์ ทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง สามารถลดโอกาสการติดเชื้อในตัวสัตว์เลี้ยงเองและการติดต่อของเชื้อมาสู่คนได้


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Moriello KA. Zoonotic skin diseases of dogs and cats. Anim Health Res Rev. 2003;4:157-168.
Moretti A, et al. Dermatophytosis in animals: epidemiological, clinical and zoonotic aspects. G Ital Dermatol Venereol. 2013;148:563-572.
Ghasemzadeh I, et al. Review of bacterial and viral zoonotic infections transmitted by dogs. J Med Life. 2015;8(Spec Iss 4):1–5.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)