กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

โรคมะเร็งผิวหนัง

ทำความรู้จักอาการโรคมะเร็งผิวหนัง รู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว มีโอกาสหายได้
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
โรคมะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย รวมทั้งหนังศีรษะ ใบหน้า จมูก ใบหู ผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ และถุงอัณฑะ

ผิวหนัง เป็นเนื้อเยื่อบุผิว (Epithelium) ซึ่งปกคลุมอยู่ภายนอกร่างกาย มีหน้าที่ป้องกันอันตรายให้กับอวัยวะภายใน และรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่  ผิวหนังในที่นี้รวมถึงหนังศีรษะ ผิวหนังที่ปกคลุมอวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ (ในเพศชาย) และผิวหนังบริเวณส่วนนอกของทวารหนัก 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคมะเร็งผิวหนังนั้น จัดเป็นโรคมะเร็งชนิดที่พบบ่อย ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโรคมะเร็งที่พบมากในหญิงไทย

โรคมะเร็งผิวหนังสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่เกิดได้น้อยกว่ามากในเด็ก

สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรคมะเร็งผิวหนัง แต่เชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยงรวมกัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่

  • การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต หรือรังสียูวี (Ultraviolet radiation: UV) จากแสงแดด  ทั้งชนิดยูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะแสงแดดในช่วง 9.00-16.00 น. เพราะเป็นช่วงที่รังสียูวีมีปริมาณสูง
  • คนที่ผิวบาง ไวต่อแสงแดด สังเกตได้จากเมื่อถูกแดดแล้วผิวจะคล้ำเร็ว หรือไหม้ง่าย
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด ทั้งจากชนิดที่ถ่ายทอดได้ และชนิดที่ไม่ถ่ายทอด ซึ่งมักเป็นพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งตัว หรือการตายของเซลล์ปกติ
  • เชื้อชาติ เพราะโรคมะเร็งผิวหนังเป็นโรคที่พบบ่อยในคนเชื้อชาติตะวันตก
  • การเป็นแผลเรื้อรังของผิวหนัง ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้
  • การกลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็งของไฝ และปาน
  • การที่ผิวหนังได้รับสารเคมี หรือยาพอกบางชนิดอย่างเรื้อรัง เช่น สารหนู (Arsenic) และสารไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) จึงเกิดการกลายพันธุ์ไปเป็นมะเร็ง
  • การที่ผิวหนังได้รับรังสีเอกซ์ (X-rays) ปริมาณสูง หรืออย่างเรื้อรัง อาจเกิดการกลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้เช่นกัน
  • การได้รับยาและสารบางชนิดที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่ายกาย

อาการของโรคมะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังไม่มีอาการเฉพาะ ลักษณะอาการจะเหมือนการมีแผลเรื้อรัง ไฝ และ/หรือปานทั่วไป โดยอาการของมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีก้อนเนื้อผิดปกติ และโตเร็วในผิวหนัง หรือบนผิวหนัง โดยมักไม่มีอาการเจ็บ หรือปวด
  • ก้อนเนื้อผิวหนังที่ผิดปกติมักจะอยู่บริเวณผิวที่ได้รับการสัมผัสแสงอาทิตย์ เช่น ใบหน้า ใบหู มือ หลัง และอกส่วนบน
  • มีแผลเรื้อรัง ลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะได้รับการรักษาด้วยวิธีทั่วไปแล้วก็ตาม อาจมีอาการเจ็บแผลร่วมด้วย
  • มีไฝ หรือปานผิดปกติไปจากเดิม มักกินลึกลงไปในผิวหนัง โตเร็ว หรือแตกเป็นแผล
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น จะมีต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้เคียงกับจุดที่เกิดแผล หรือก้อนมะเร็งโตจนคลำได้ แต่มักไม่มีอาการเจ็บ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนัง

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งผิวหนังได้จากการสอบถามประวัติอาการ การตรวจร่างกาย ตรวจลักษณะก้อนเนื้อ หรือแผล แต่วิธีตรวจที่แน่ชัดที่สุด คือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ หรือแผล ไปตรวจทางพยาธิวิทยา

ชนิดของโรคมะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยมี 3 ชนิด คือ ชนิดเบซาล (Basal cell carcinoma) ชนิดสความัส (Squamous cell carcinoma) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เรียกรวมกันว่า มะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non-melanoma skin cancer) และชนิดเมลาโนมา (Malignant melanoma)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ระยะของโรคมะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนัง มี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ ทั่วไป

ระยะของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา

  • ระยะที่ 1 ก้อน หรือแผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร และเป็นชนิดมีความรุนแรงต่ำ
  • ระยะที่ 2 ก้อน หรือแผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร แต่เป็นชนิดมีความรุนแรงสูง หรือมีขนาดมากกว่า 2 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 3 ก้อน หรือแผลมะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงก้อน หรือแผลมะเร็งเพียงต่อมเดียว และมีขนาดโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งลุกลามมาก ลุกลามเข้าหลายๆ อวัยวะ และ/หรือเข้ากระดูก
    และ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงหลายต่อม
    และ/หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงมีขนาดโตกว่า 6 เซนติเมตร
    และ/หรือโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากก้อน หรือแผลมะเร็ง
    และ/หรือแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป มักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด และกระดูก

ระยะของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

  • ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 2 มิลลิเมตร
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 2 มิลลิเมตร แต่แตกเป็นแผล หรือก้อนมะเร็งโตเกิน 2 มิลลิเมตร ขึ้นไป
  • ระยะที่ 3 โรคมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้กับก้อน หรือแผลมะเร็ง
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น อวัยวะที่พบบ่อยคือ ปอด กระดูก ตับ และสมอง หรือแพร่กระจายตามกระแสน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากก้อนมะเร็ง

Q&A

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งผิวหนังระยะที่เท่าไร

แพทย์ทราบได้ว่า ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งผิวหนังระยะที่เท่าไร จากการตรวจด้วยวิธีต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น

โรคมะเร็งผิวหนังมีวิธีรักษาอย่างไร

วิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งผิวหนังคือ การผ่าตัด อาจร่วมกับรังสีรักษา และ/หรือเคมีบำบัดเมื่อมีโรคลุกลาม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง ตำแหน่งผิวหนังที่เกิดโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย ส่วนการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า หรือวัคซีน ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา

โรคมะเร็งผิวหนังรักษาหายได้หรือไม่

โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำ หรือปานกลาง โอกาสรักษาหายสูงมาก โดยเฉพาะในระยะแรกๆ มีโอกาสรักษาหายสูงถึงประมาณ 80-90%

โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา จัดเป็นมะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงสูง โอกาสรักษาหายต่ำกว่าชนิดไม่ใช่เมลาโนมา อย่างไรก็ตามยังมีโอกาสรักษาหายได้ แต่ทั้งนี้ก็เช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ คือ โอกาสในการรักษาหายของโรคมะเร็งผิวหนังทั้งสองชนิดนอกจากจะขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งแล้ว ยังขึ้นอยู่กับระยะของโรค และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งผิวหนังหรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพพอจะตรวจพบโรคมะเร็งผิวหนังในระยะแรก ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การสังเกตผิวหนัง ไฝ หรือปานของตนเอง เมื่อพบว่ามีการแตกเป็นแผล โตเร็วผิดปกติ มีก้อนเนื้อผิดปกติ หรือมีแผลเรื้อรังบนผิวหนัง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังหรือไม่

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังที่มีประสิทธิภาพ วิธีป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่หลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงการอาบแดด

ดังนั้น เมื่อต้องออกแดกควรใช้ร่ม สวมหมวก หรือเสื้อผ้าปิดบัง เพื่อให้ผิวหนังได้รับแสงแดดโดยตรงน้อยที่สุด และใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ ทั้งในการป้องกันรังสียูวีเอ คือ ค่าพีเอ (Protection grade of UVA: PA) ตั้งแต่สามบวก (+++) ขึ้นไป และรังสียูวีบี คือ ค่าเอสพีเอฟ (Sun protection factor: SPF ) ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สถาบันโรคผิวหนัง, โรคผิวหนังที่เกิดจากแสงแดด (http://inderm.go.th/news/myfile/247005b1a04a0c26d2_13.pdf)
Skin cancer (non-melanoma) (https://www.nhs.uk/conditions/non-melanoma-skin-cancer/treatment/), 3 January 2017

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
5 หนังสือทำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
5 หนังสือทำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การทำอาหารง่าย ๆ ที่มีโภชนาการที่เหมาะสมระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่ม
ประวัติความเป็นมาของการค้นพบและรักษาโรคมะเร็ง (Cancer)
ประวัติความเป็นมาของการค้นพบและรักษาโรคมะเร็ง (Cancer)

ความเป็นมาของโรคมะเร็ง: การค้นพบและรักษา โรคมะเร็งครั้งแรก

อ่านเพิ่ม
มะเร็งเป็นโรคติดต่อหรือไม่?
มะเร็งเป็นโรคติดต่อหรือไม่?

คำตอบต่อคำถามทางสุขภาพที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่ม