รากสามสิบ (Shatavari)

รู้จักรากสามสิบ สมุนไพรมีชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงสตรี และคุณประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากที่ผู้คนเชื่อกัน พร้อมวิธีใช้รากสามสิบอย่างปลอดภัย
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 5 มิ.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
รากสามสิบ (Shatavari)

รากสามสิบ เป็นสมุนไพรที่หลายคนนึกถึงสรรพคุณเกี่ยวกับการบำรุงในสตรี จึงถูกขนานนามว่าเป็นสมุนไพรสำหรับสาวร้อยผัว แต่แท้จริงแล้ว รากสามสิบไม่ได้มีดีเฉพาะสรรพคุณดังกล่าว อีกทั้งยังมีสรรพคุณด้านอื่นๆอีกมากมายที่แพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนโบราณใช้กันมาตั้งแต่อดีต

ชื่อวิทยาศาสตร์ Asparagus racemosus Willd.

ชื่อวงศ์ ASPARAGACEAE

ชื่อพ้อง Protasparagus racemosus (Willd.) Oberm

ชื่ออังกฤษ Shatavari

ชื่อท้องถิ่น จ๋วงเครือ เตอสีเบาะ ผักชีช้าง ผักหนาม พอควายเมะ สามร้อยราก สามสิบ

ถิ่นกำเนิดของรากสามสิบ

รากสามสิบเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบในแอฟริกา จีน อินโดจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงทางเหนือของออสเตรเลีย ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของรากสามสิบ

รากสามสิบเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าและรากใต้ดินคล้ายรากกระชาย ปลายรากเป็นหัวยาว ลำต้นบนดินผิวเกลี้ยง เลื้อยพัน มีหนามแหลม สูง 1.5-4 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลดรูปลงเป็นส้นแคบยาว กว้าง 0.5-1 มิลลิเมตร ยาว 10-36 มิลลิเมตร ช่อออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอม ดอกสีขาวมีแถบสีเขียว เกสรตัวผู้ยาวเท่ากลีบดอก ผลมีเนื้อหลายเมล็ด ผลสดรูปค่อนข้างกลมสีแดงหรือม่วงแดง ผลสุกสีแดงมี 1-3 เมล็ด

สารอาหารหรือข้อมูลทางโภชนาการของรากสามสิบ

จากการศึกษาทางด้านพฤกษเคมี (Phytochemical) พบว่า รากสามสิบมีสารสำคัญหลายชนิด เช่น แอสพารากามีน (Asparagamine) เซตาโนเอต (Cetanoate) เดาคอสติรอล (Daucostirol) ซาราซาโปเจนีน (Sarsasapogenin) ซาตาวารีน (Shatavarin) เรซโมซอล (Racemosol) และรูติน(Rutin) เป็นต้น สารเหล่านี้เป็นสารประเภทสเตียรอยด์ซาโปนิน (Steroidal saponins) ซึ่งทำหน้าที่เลียนแบบฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง จึงเรียกสารกลุ่มนี้อีกอย่างได้ว่าไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen)

สรรพคุณของรากสามสิบ

ส่วนต่างๆ ของรากสามสิบ มีสรรพคุณทางยา ดังนี้

  • คนโบราณใช้ส่วนรากของรากสามสิบมาแช่อิ่ม รับประทานเป็นขนมกินเล่น ทางภาคใต้นำส่วนเหนือดินมาปรุงใส่ในอาหาร เช่น แกงส้มและแกงเลียง เป็นต้น
  • ส่วนราก มีรสเฝื่อนเย็นหวานชุ่ม มีสรรพคุณบำรุงเด็กในครรภ์ บำรุงตับ ปอด บำรุงน้ำนม บำรุงกำลัง แก้กษัย (ความเสื่อมของร่างกาย) โดยนำรากสามสิบมาตากให้แห้ง จากนั้นนำมาต้มในน้ำเดือด 100 มิลลิลิตร เคี่ยวให้น้ำงวดลงเหลือ 1 ใน 3 ของน้ำทั้งหมด รับประทานก่อนอาหารเช้าเย็น
  • กรณีเป็นแผลอักเสบ เป็นฝี ใช้ส่วนรากฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อาการปวดฝี ทำให้เย็น ช่วยถอนพิษฝี พิษปวดแสบปวดร้อน
  • ผลมีรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม แก้พิษไข้กลับไข้ซ้ำ มักใช้ร่วมกับผลราชดัด เพื่อเป็นยาดับพิษไข้ วิธีรับประทานคือบดผลของรากสามสิบและราชดัดเป็นผง นำมาผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานก่อนอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน อาการไข้ต่างๆ จะทุเลาลง
  • ประเทศอินเดีย แพทย์พื้นบ้านจะใช้รากสามสิบเป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศทั้งชายและหญิง คนทางภาคเหนือของประเทศไทยใช้รากสามสิบทำเป็นยาดอง ใช้กินเป็นยาบำรุงสำหรับเพศชาย ส่วนหมอยาโบราณจะใช้เป็นยาบำรุงสำหรับสตรี กล่าวคือสามารถมีบุตรได้ไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม
  • ในตำราอายุรเวทจะใช้สมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรหลักในการบำรุงสตรี เช่น แก้ภาวะประจำเดือนไม่ปกติ แก้ภาวะหมดประจำเดือน แก้ปวดประจำเดือน แก้ตกขาว โดยนำรากมาต้มกิน หรือนำรากมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการกินรากสามสิบ

รายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า รากของรากสามสิบมีฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นจึงห้ามใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม สำหรับการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองพบว่า การกินส่วนรากในปริมาณสูงไม่พบความเป็นพิษ แสดงว่าการรับประทานรากสามสิบเป็นครั้งคราวมีความปลอดภัย แต่มีรายงานว่าการกินน้ำต้มรากสามสิบร่วมกับการใช้ผงรากสวนเข้าทางช่องคลอดเพื่อหวังผลให้แท้งบุตร ทำให้เกิดพิษจนถึงแก่ชีวิตได้ และไม่มีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษหากรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจึงควรรับประทานรากสามสิบภายใต้การดูแลของแพทย์


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, ไม้เทศเมืองไทย, 2522.
วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล พร้อมจิต ศรลัมพ์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ, สยามไภษัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ, 2538.
มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม, โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ตำราการแพทย์แผนไทยเดิม(แพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับอนุรักษ์) เล่มที่ ๑ ฉบับชำระ พ.ศ. ๒๕๕๐, 2550.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
รากสามสิบ คืออะไร สรรพคุณ วิธีใช้ วิธีทาน ข้อควรระวัง และผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง
รากสามสิบ คืออะไร สรรพคุณ วิธีใช้ วิธีทาน ข้อควรระวัง และผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง

ทำความรู้จักรากสามสิบ สมุนไพรชั้นดีสำหรับบำรุงร่างกายผู้หญิง

อ่านเพิ่ม