ต้นหอม (Scallion)

ประโยชน์ของต้นหอม สุดยอดผักเคียงจาน และอันตรายที่อาจเกิดได้หากบริโภคมากเกินไป
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ต้นหอม (Scallion)

ต้นหอม ผักเคียงจานสีเขียวสดใส มีกลิ่นฉุน มักใช้โรยหน้าคู่อาหารหลายเมนูในชีวิตประจำวัน ทั้งเพื่อตัดรส แก้เลี่ยน และเพิ่มสีสันให้อาหารดูน่ากิน นอกจากนี้ต้นหอมยังมีสารที่ให้ประโยชน์แก่สุขภาพอีกด้วย

ต้นหอมมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?

ต้นหอมอุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  1. มีไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีนต้านการเกิดโรคมะเร็ง ฟลาโวนอยด์ช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันความเสียหายของดีเอ็นเอและเนื้อเยื่อรอบเซลล์ ทั้งนี้ยังมีวิตามินซีช่วยลดระดับคลอเรสเตอร์รอลในเส้นเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ

    จากรายงานการวิจัยพบว่า ต้นหอมมีสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารเดียวกับที่พบในกระเทียม มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันเลวในเส้นเลือด ซึ่งกลไกการทำงานคล้ายยาสเตติน (Statins-กลุ่มยาลดไขมันในเลือด) ช่วยยับยั้งเอนไซม์ตับที่ทำหน้าที่สังเคราะห์คอเลสเตอรอลออกมา

    นอกจากนี้สารดังกล่าวยังช่วยไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว ยับยั้งการก่อตัวของเกล็ดเลือดและมีฤทธิ์สลายลิ่มเลือด ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ทั้งหลอดเลือดแดงที่หัวใจและหลอดเลือดที่อวัยวะส่วนปลาย เช่น แขนและขาได้ และยังช่วยต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ได้อีกด้วย
  2. มีแคลเซียมและวิตามินเคสูง ช่วยเสริมสร้างความหนาแน่นและความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ทุกวัย
  3. มีวิตามินซี ซึ่งมีส่วนช่วยสังเคราะห์คอลลาเจน ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ช่วยให้กระดูกแข็งแรง
  4. มีธาตุเหล็กและฟอสฟอรัสปริมาณสูง ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง
  5. มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นระบบทางเดินหายใจ รักษาอาการไข้หวัดทั่วไปได้ และทำให้อาหารมีกลิ่นน่ารับประทาน
  6. อุดมด้วยวิตามินเอ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และมีสารแคโรทีนอยด์ เช่น ลูทีนและซีแซนทีน ช่วยในการมองเห็น ปกป้องดวงตาจากการอักเสบและช่วยชะลอการเกิดจอประสาทตาเสื่อม
  7. มีกรดโฟลิก ที่อยู่ในกลุ่มของวิตามินบีรวม มีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ดีเอ็นเอและการแบ่งเซลล์ เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ป้องกันการบกพร่องของระบบประสาทในทารกแรกเกิดได้ ยิ่งไปกว่านั้นต้นหอมช่วยให้การไหลเวียนเลือดและลมดีขึ้น จึงช่วยเพิ่มน้ำนมในหญิงหลังคลอดได้ดีอีกด้วย
  8. รสร้อนของต้นหอมช่วยทำให้การทำงานของลำไส้ดีขึ้น ช่วยในการขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ มีกากใยอาหารสูง ช่วยแก้อาการท้องผูกได้

ต้นหอมกับกุยช่าย (ดอกไม้กวาด) เป็นต้นเดียวกันหรือไม่?

คนส่วนใหญ่มักคิดว่ากุยช่ายคือต้นเดียวกับต้นหอม ความจริงแล้วเป็นพืชวงศ์ ALLIACEAE เหมือนกัน แต่คนละชนิด แต่ลักษณะใบกุยช่ายจะแบนกว่า มีสารสำคัญที่ชื่อว่าอัลลิซินเหมือนกัน มีธาตุเหล็ก วิตามินเอ แคลเซี่ยม และฟอสฟอรัสสูง ช่วยรักษาอาการหวัด เพิ่มน้ำนม ลดความดันโลหิต บำรุงกระดูก ประโยชน์ก็ไม่ต่างจากต้นหอม สามารถรับประทานทดแทนกันได้

ต้นหอมไทยต่างจากต้นหอมญี่ปุ่นหรือไม่?

ต้นหอมญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เนกิ (Negi) จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นหอมไทย แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า รสชาติหวานและกลิ่นหอม กลิ่นไม่ฉุนเท่าของไทย ส่วนใหญ่ใช้เป็นผักโรยหน้าในซุปและอาหารต่างๆ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถปลูกเองได้เกือบทุกพื้นที่ ส่วนเรื่องของประโยชน์นั้น ช่วยป้องกันโรคหัวใจตีบ ช่วยลดไขมันในเลือดเลือด อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญต่อร่างกายเหมือนกัน

หลักการบริโภคต้นหอมอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย

ก่อนรับประทานต้นหอม ควรล้างกาบใบและโคนของต้นหอมให้สะอาด โดยการฉีกแยกล้างละใบ แช่ในน้ำส้มสายชู อัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก เพราะส่วนใหญ่ผักที่มีกาบใบอย่างต้นหอม กะหล่ำปลี หรือผักกาด มักจะมีเศษดิน เศษปุ๋ย และสารเคมีจากยาฆ่าแมลงสะสมอยู่มาก การรับประทานให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ต้องรับประทานตั้งแต่ส่วนสีขาวโคนต้นถึงใบสีเขียวอ่อน จะมีสารสำคัญอยู่มากกว่าส่วนอื่น

เคล็ดลับที่ช่วยให้รับประทานต้นหอมง่ายขึ้น คือนำต้นหอมแช่ในน้ำส้มสายชูไว้ก่อน จะช่วยให้ความเผ็ดร้อนหายไป และมีรสหวานมากขึ้น แนะนำให้รับประทานแบบสดจะดีกว่าแบบปรุงสุกแล้ว เพราะวิตามินซี น้ำมันหอมระเหย และสารออกฤทธิ์ต่างๆ ยังไม่ถูกทำลายจากความร้อน 

ข้อควรระวังในการรับประทานต้นหอม

ระวังผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มวาร์ฟาริน (Warfarin-ยาป้องกันการอุดตันของเลือด) เนื่องจากต้นหอมมีวิตามินเคปริมาณมาก อาจส่งเสริมการทำงานของยาดังกล่าว ทำให้เลือดเป็นก้อน อาจเกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้ และควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะต้นหอมมีรสร้อน อาจทำให้มีอาการเสียดท้องหรือแสบร้อนกลางอกในบางรายได้


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Jessie Szalay, Live Science Contributor, Onions: Health Benefits, Health Risk & Nutrition Facts (https://www.livescience.com/45293-onion-nutrition.html), 9 May 2017.
Rachael Link, Scallions: The Immune-Boosting, Disease-Fighting Powerhouses (https://draxe.com/scallions/), 5 September 2018.
Bhavyajyoti Chilukoti, 8 health benefits of spring onions we bet you didn’t know! (https://www.thehealthsite.com/fitness/healthy-food-fitness/top-8-health-benefits-of-spring-onions-176453/), 20 March 2015.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป