กลุ่มโรคทางจิตใจหลังคลอด เป็น ความผิดปกติทางจิตใจและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายใน ระยะ 1-3 เดือนหลังคลอด จำแนกออกเป็น 2 โรคหลัก คือ
1. โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression)
เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย คือประมาณ 10-15% โดยผู้ป่วยบางรายมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ยังไม่คลอดแต่มักพบว่ามีอาการเกิดขึ้นในช่วง 1-3 เดือนหลังคลอด อาการต่างๆ จะเหมือนโรคซึมเศร้าทั่วไป ที่จะมีอาการทุกวันและเกือบทั้งวัน คือ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ด้านอารมณ์ : มีอารมณ์ซึมเศร้า , หงุดหงิดง่าย , เบื่อหน่ายไปหมด ไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไร ไม่สนใจเรื่องการดูแลตัวเองหรือสิ่งที่เคยชอบทำ , รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ดีไม่พอ ไร้ค่า ไม่มีความสามารถ , ไม่อยากเข้าใกล้ดูแลลูกทำให้รู้สึกผิด , ร้องไห้ง่ายอย่างไม่มีเหตุผล
- ด้านความคิด : ไม่มีสมาธิ ทำให้หลงๆลืมๆ ตัดสินใจไม่ได้แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ , มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องความตายหรือความคิดอยากฆ่าตัวตาย , และอาจจะมีความคิดกังวลแปลกๆโผล่ขึ้นมา เช่น คิดกลัวว่าตัวเองจะทำร้ายลูก
- ด้านร่างกาย : อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง , นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป , เบื่ออาหารหรือทานมากผิดปกติ , เคลื่อนไหวเชื่องช้าเซื่องซึมหรือกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข , และอาการทางกายอื่นๆ เช่น ปวดหัว ใจสั่น หายใจไม่อิ่ม มือเท้าชา เป็นต้น
การวินิจฉัยภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blue)
ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์เศร้าที่รุนแรง อาจจะมีความคิดอยากตาย คงอยู่นานกว่า 2 สัปดาห์ และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเลี้ยงดูทารก
การรักษา
วิธีการรักษาจะไม่แตกต่างจากการรักษาโรคซึมเศร้าทั่วไป ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด โดยยาที่จิตแพทย์มักจะเลือกใช้เป็นกลุ่มแรกคือ ยาต้านเศร้า (antidepressant) กลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitor (SSRI) ซึ่งยากลุ่มนี้แทบไม่พบรายงานว่ามีผลข้างเคียงที่รุนแรงทั้งต่อแม่และเด็ก ยาจะผ่านออกทางน้ำนมน้อยมาก สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแม้ว่าจะอยู่ในช่วงให้นมบุตร
2. โรคจิตหลังคลอด (Postpartum Psychosis)
เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยคือประมาณ 0.1-0.2% แต่อาการมักรุนแรง อาการมักเริ่มใน 2-3 วันแรกหลังคลอด น้อยรายมากที่มีอาการหลัง 2 สัปดาห์แรกไปแล้ว
อาการเริ่มแรก คือ ผุดลุกผุดนั่ง หงุดหงิด นอนไม่หลับ หลังจากนั้น ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ซึมเศร้าหรืออารมณ์ดีแบบไม่สมเหตุผลก็ได้ อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงเร็ว มีพฤติกรรมวุ่นวายแปลกประหลาด มีความคิดหลงผิด มีความคิดหลงผิดเกี่ยวกับไสยศาสตร์ หวาดระแวง ประสาทหลอน (hallucination) เช่น มีหูแว่ว (auditory hallucination) เป็นเสียงสั่งให้ทำร้ายลูกตัวเอง
ผู้ป่วยที่มีโรคจิตหลังคลอดต้องพบแพทย์ทันที จัดว่าเป็นภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช และมักจำเป็นต้องรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลเนื่องจากอาการค่อนข้างรุนแรง มีความเสี่ยงสูงในการทำร้ายตัวเองและผู้อื่น
กลุ่มโรคทางจิตใจหลังคลอดเป็นโรคที่สามารถรักษาหายขาดได้ โดยบุคคลใกล้ชิดต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากพบความผิดปกติดังกล่าวก็ควรปรึกษาจิตแพทย์ทันทีทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวแม่เอง พัฒนาการด้านต่างๆของเด็ก และสัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัวด้วย