มะเขือพวง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ จัดอยู่ในพวกวัชพืช แต่เมื่อกระจายพันธุ์มาแถบทวีปเอเชียกลับกลายเป็นผักพื้นบ้าน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงเขียวหวาน น้ำพริก ส่วนใหญ่คนไม่ชอบรับประทานเพราะมีรสขม แต่รู้หรือไม่ว่ามะเขือพวงนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
มะเขือพวง ลักษณะเป็นอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไร?
ต้นมะเขือพวงเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีหนาม ใบกว้างรูปไข่ มีขนเล็กๆปกคลุม ขอบใบเรียบหรืออาจจะมีรอยหยักก็ได้ ผลของมะเขือพวงมีลักษณะเป็นทรงกลม ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร สีเขียวคล้ายเมล็ดถั่วลันเตา รสขมเฝื่อน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หลายคนสับสนแยกมะเขือพวงออกจากมะแว้งเครือได้ยาก เพราะมีลักษณะคล้ายกันมาก ขนาดใกล้เคียงกัน และมีรสขมเหมือนกัน แต่จุดสังเกตคือ ผลมะแว้งเครือจะมีสีเขียวและมีริ้วสีขาวอยู่ด้วย
มะเขือพวง รักษาโรคและอาการใดได้บ้าง?
ในมะเขือพวงมีสารอาหารและแร่ธาตุหลายอย่าง ซึ่งออกฤทธิ์รักษาและบรรเทาโรคและอาการดังนี้
- ในมะเขือพวงอุดมไปด้วยสารเพกทินมากกว่ามะเขือเปราะถึง 65 เท่า ซึ่งหากสารดังกล่าวละลายในน้ำแล้วจะมีลักษณะคล้ายวุ้น เมื่อเข้าสู่กระเพราะอาหารและลำไส้จึงช่วยทำให้ผนังลำไส้ดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ในกระแสเลือดไม่มีน้ำตาลส่วนเกิน
มีประโยชน์กับผู้ป่วยเบาหวาน ไม่เพียงเท่านี้ สารเพกทินยังช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดและโรคคอเลสเตอรอลสูง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี - มีสารทราโวไซด์เอ (Torvoside A) ที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดได้ และช่วยกระตุ้นให้ตับนำคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดไปใช้ได้มากขึ้น และยังมีทราโวไซด์เอช (Torvoside H) มีฤทธ์ในการต่อต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม และมีการศึกษาที่ให้ผลว่าทราโวไซด์เอชนี้มีประสิทธิภาพกว่าการใช้ยาอะไซโคลเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโตและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ที่เป็นสาเหตุโรคเริมและงูสวัด มากถึง 3 เท่า
- มีสารโซลาโซนีน (Solasonine) ซึ่งพบมากในผักตระกูลมะเขือ มีคุณสมบัติในการยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง
- มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ลดความชราก่อนวัย และช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้
- เนื้อของมะเขือพวงมีกากใยอาหารอยู่มาก มีคุณสมบัติช่วยดึงน้ำ มีประโยชน์ในผู้ที่ขับถ่ายยาก ท้องผูก ไปจนถึงโรคริดสีดวงทวาร ช่วยทำให้อุจจาระเหลวและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
- มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ ช่วยฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยโรคขาดสารอาหาร ทำให้น่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
- ประเทศบังคลาเทศ ใช้น้ำต้มจากรากและใบมะเขือพวง รักษาอาการหอบหืด เบาหวาน และลดความดันโลหิตสูง
- ประเทศบลาซิล ใช้น้ำต้มจากราก รักษาอาการจากโรคตับ โรควัณโรค และรักษาภาวะโลหิตจาง
สรรพคุณของมะเขือพวง
มะเขือพวงมีรสขม ตามหลักของแพทย์แผนไทยนั้นจะช่วยทำให้เจริญอาหาร กระตุ้นความอยากอาหารได้ ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น จึงช่วยบำรุงธาตุต่างๆ ในร่างกายและทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการใช้มะเขือพวงเป็นยารักษาโรคและอาการต่างๆ อย่างแพร่หลาย ดังที่ปรากฏตามหลักการแพทย์พื้นบ้านและศาสตร์อายุรเวทอินเดีย เช่น
- น้ำต้มจากผล แก้อาการตับม้ามโต และช่วยขับพยาธิ
- ใบมะเขือพวงผสมดื่มกับนมวัว หรือผลมะเขือพวงต้มน้ำ หรือคั่วไฟอ่อน รักษาอาการไอ
- สารสกัดจากรากมะเขือพวง ใช้ทาแก้อาการเท้าแตก
- ใบของต้นมะเขือพวง นำมาต้มน้ำ พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและลดอาการปวดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
- ผลและใบมะเขือพวง นำมาผ่านกระบวนการสกัด (Methanolic extracts) พบว่าให้สารสำคัญมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ (Anti-microbial) ทั้งในคนและสัตว์
- ต้นมะเขือพวง นำไปสกัด ให้สารที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น E.Coli, V. cholera, S.aurenus ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในระบบขับถ่ายที่ทำให้มีอาการท้องเสีย ช่วยลดการเกิดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่ต้นไม้ รวมถึงCandida albicans ที่เป็นต้นเหตุของโรคเชื้อราในระบบทางเดินอาหารและช่องคลอด
มะเขือพวง กินสดหรือสุก ดีกว่ากัน?
การรับประทานมะเขือพวงนั้น แนะนำให้กินสุก เพราะมะเขือพวงมียางมาก หากรับประทานแบบสดอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปากและลำคอได้
ที่สำคัญควรล้างให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง ก่อนนำไปปรุงอาหาร อีกทั้งการผ่านความร้อนยังช่วยลดอาการแพ้สารโซลานีนได้อีกด้วย
การกินมะเขือพวงให้ดีต่อสุขภาพ
ในมะเขือพวงมีสารที่ชื่อว่า โซลานีน (Solanine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ที่พบมากในผักตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเปราะ มะเขือยาว
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ผู้ที่มีอาการปวดบริเวณข้อต่างๆ ในร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสารนี้ เพราะจะรบกวนสภาวะสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ทำให้มีอาการปวดและเป็นตะคริวได้
นอกจากนี้สารดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการในระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทได้ เช่น เวียนศรีษะ มึนงง หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน
ชามะเขือพวงดีจริงหรือ?
ปัจจุบันมีมะเขือพวงในรูปแบบชา ชามะเขือพวงมีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดน้ำตาลในเลือด และยังเหมาะสำหรับผู้ที่ขับถ่ายยากหรือท้องผูก สามารถทำเองได้ง่ายๆ 2 วิธี ดังนี้
- นำมะเขือพวงและใบเตยมาล้างให้สะอาด ใช้สัดส่วนของทั้งสองอย่างเท่าๆ กัน เมื่อล้างแล้วทุบผลมะเขือพวงพอแหลก และหั่นใบเตยเป็นชิ้นเล็ก นำไปตากแดดจนแห้ง จากนั้นคั่วในกะทะ โดยใช้ไฟอ่อนประมาณ 5 นาทีจนมีกลิ่นหอม แล้วจึงนำไปตำในครกให้เป็นผง พร้อมนำไปชงกับน้ำร้อน
- หรือนำมะเขือพวงสดไปคั่วไฟอ่อนในกระทะ จนมีกลิ่นหอม จากนั้นทุบให้มะเขือพวงแตก แล้วจึงนำไปต้มจนเดือด ใช้กระชอนกรองกากออก พร้อมดื่ม สามารถใส่ใบเตยสดหรือหญ้าหวานเพิ่มได้
ทั้งสองวิธีดื่มเป็นชาวันละ 1-2 แก้ว รับประทานติดต่อกัน 7-10 วัน
อย่างไรก็ตาม การรับประทานผักเป็นยารักษาโรคมีข้อจำกัดการใช้หลายอย่าง ทั้งสภาพร่างกาย ภูมิต้านทาน และโรคประจำแต่ละบุคคล ดังนั้นหากต้องการรับประทานเป็นยาควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือหากมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยและลดผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้