กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ข้อเข่าเสื่อม โรคที่เป็นได้ทุกวัย ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ข้อเข่าเสื่อม โรคที่เป็นได้ทุกวัย ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

ใครที่มีอาการปวดข้อปวดเข่า โดยเฉพาะเวลา เดิน วิ่ง ขยับร่างกาย และบางครั้งก็มีเสียงลั่นออกมาเวลาเหยียดงอเข่าด้วย รู้หรือไม่ว่าอาการที่ว่าอาจเป็นสัญญาณของ โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Ostoearthritis) ก็ได้ แม้โรคข้อเข่าเสื่อมจะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในโรคคนแก่ แต่ความจริงแล้วโรคนี้เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย และยังสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมากด้วย

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษา ผ่าตัด กระดูกและข้อวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,673 บาท ลดสูงสุด 80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • รู้สึกเจ็บและฝืดที่ข้อเข่า โดยเฉพาะเวลาเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น วิ่ง เดิน
  • มีเสียงลั่นในข้อเวลาเคลื่อนไหว
  • เมื่อกดที่เข่าจะรู้สึกเจ็บ และมีอาการเข่าอ่อนแรง
  • ข้อเข่าขาดความยืดหยุ่น ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่ หากไม่ได้ขยับนานๆ ก็อาจเกิดอาการเข่ายึด เช่น เวลายืนค้างนานๆ จะขยับขาเดินลำบาก

ซึ่งอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นเรื้อรังและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่รีบทำการรักษา

สาเหตุของโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อม เกิดจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อเกิดการสึกกร่อนและเสื่อมสภาพเนื่องจากการใช้งานหนัก เมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่าอย่างต่อเนื่อง กระดูกก็จะเสียดสีกันจนรู้สึกขัดและเจ็บปวดที่ข้อเข่าได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ได้แก่

  • อายุที่เพิ่มขึ้น ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากกระดูกอ่อนบริเวณข้อต่อจะเสื่อมสภาพลงได้ตามวัย แต่นั่นก็ใช่ว่าคนอายุน้อยจะไม่มีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมเลย
  • เป็นผลจากโรคข้ออักเสบ คนที่ป่วยเป็นโรคเกาท์ หรือรูมาตอยด์ ซึ่งทำให้มีอาการข้ออักเสบ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้อเข่าอักเสบได้สูงเช่นกัน
  • เกิดการบาดเจ็บ เช่น ผู้ที่เล่นกีฬา หรือเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า เมื่อรักษาหายแล้วก็มีโอกาสจะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในอนาคตได้
  • มีน้ำหนักเกิน คนที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักมากเกินไป อาจทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติจนเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อยได้
  • เป็นพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงเช่นกัน

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม สามารถรักษาได้โดยการบรรเทาอาการ ร่วมกับการลดปัจจัยเสี่ยงซึ่งเป็นสาเหตุของโรค ดังนี้

  • การใช้ยารักษา ยาที่ใช้ ได้แก่
    - ยาแก้ปวดและบรรเทาการอักเสบ เช่น ยา Ibuprofen ซึ่งช่วยระงับอาการได้ชั่วคราว แต่ไม่ได้ทำให้ภาวะข้อเข่าเสื่อมดีขึ้น
    - ยาคอร์ติโซน เป็นยาสเตียรอยด์ใช้ฉีดเพื่อยับยั้งการอักเสบ โดยจะฉีดเข้าไปที่ข้อเข่าโดยตรงปีละ 3-4 ครั้ง เพื่อไม่ให้อาการรบกวนการใช้ชีวิตมากนัก
    - กรดไฮยาลูโรนิก เป็นส่วนประกอบสำคัญของข้อต่อและกระดูกอ่อน จึงใช้ฉีดเพื่อเพิ่มความหล่อลื่นและยืดหยุ่นให้แก่ข้อเข่า
    - ยาทาเฉพาะที่ เช่น ยา Capsaicin ใช้ทาที่ข้อเข่าเพื่อบรรเทาอาการปวด
    - ผลิตภัณฑ์จาก Chondroitin ใช้เป็นอาหารเสริมซึ่งเชื่อว่าช่วยบำรุงกระดูกอ่อน และลดการเสียดสีของกระดูกบริเวณข้อต่อได้
  • การทำกายภาพบำบัด จะเน้นการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อบริหารข้อเข่าอย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกายภายใต้คำแนะนำของนักกายภาพบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ข้อเข่ามีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ช่วยลดอาการปวดและช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายดีขึ้น
  • การรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก วิธีที่นิยมคือการฝังเข็ม ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลให้มวลกระดูก กระตุ้นการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงไขข้อ และทำให้ข้อต่อกลับมายืดหยุ่น การฝังเข็มอาจได้ผลดีในผู้ป่วยบางราย
  • การผ่าตัด เป็นวิธีรักษาสำหรับผู้ที่ใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยอาจทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนข้อเข่าที่เสื่อม ตัดเปลี่ยนแนวกระดูก หรือศัลยกรรมในรูปแบบอื่นๆ ตามความเหมาะสม
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกเหนือจากการรักษาที่ว่ามาแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้นก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น การลดน้ำหนัก ออกกำลังกายเพื่อบริหารกล้ามเนื้อและข้อต่อ และหลีกเลี่ยงการยกของหนักที่อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมลงกว่าเดิม

อาหารการกินกับโรคข้อเข่าเสื่อม

อาหารการกินเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาการข้อเข่าเสื่อม โดยอาการที่ควรรับประทานและควรเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีดังนี้

  • อาหารที่มีวิตามิน ซี สูง เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ รวมถึงวิตามิน ซี เสริมในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากวิตามิน ซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยลดการอักเสบของข้อเข่าได้
  • อาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง เช่น ชาเขียว มะเขือเทศ หัวหอม เพราะฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดอาการบาดเจ็บของข้อเข่าได้ดีเช่นเดียวกัน
  • อาหารที่มีวิตามิน ดี สูง เช่น อาหารทะเล นม และไข่ รวมถึงการรับแสงแดดอ่อนๆ ในยามเช้า เนื่องจากวิตามิน ดี จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
  • อาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งได้แก่ ปลาทะเล แซลมอน ทูน่า โอเมก้า 3 จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการปวดข้อและกระดูก
  • สมุนไพรต้านการอักเสบ เช่น ขิง ขมิ้น ซึ่งมีส่วนช่วยลดการบาดเจ็บและอาการปวดข้อเข่าได้ดี แต่การรับประทานมากเกินไปก็อาจทำให้ปวดแสบท้องได้

อาหารที่ควรเลี่ยง

  • อาหารที่มีเกลือสูง เช่น อาหารหมักดอง ขนมขบเคี้ยว เพราะการรับประทานเกลือมากจะทำน้ำถูกดึงเข้าสู่เซลล์ ทำให้ข้อต่อขาดน้ำหล่อเลี้ยงและเสียความยืดหยุ่นได้
  • อาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากการมีน้ำตาลในเลือดสูง จะกระตุ้นการอักเสบในร่างกายให้รุนแรงขึ้นได้ จึงควรลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มรสหวานลง
  • อาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด ฟาสต์ฟู้ด เพราะไขมันจะทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายได้เช่นเดียวกัน
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเหล้าเบียร์มากเกินไปล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพ แถมยังกระตุ้นให้การอักเสบและอาการปวดข้อรุนแรงขึ้นด้วย

การป้องกันโรคข้อเข่าอักเสบ            

วิธีป้องกันโรคข้อเข่าอักเสบที่ได้ผล คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก หรือการออกกำลังกายอย่างหักโหม ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพื่อไม่ให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมาก ลดอาหารและเครื่องดื่มที่กระตุ้นอาการข้อเข่าอักเสบ รวมถึงออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อที่แข็งแรงด้วย


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Why is Osteoarthritis an Age-Related Disease?. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2818253/)
How to Prevent Osteoarthritis. Healthline. (https://www.healthline.com/health/osteoarthritis-prevention)
Osteoarthritis. Arthritis Foundation. (https://arthritis.org/diseases/osteoarthritis)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การตรวจเข่า
การตรวจเข่า

ทำความเข้าใจวิธีการตรวจประเมินข้อเข่าด้วยวิธีต่างๆ ประโยชน์ของการตรวจข้อเข่าแต่ละวิธี และผู้ที่ควรได้รับการตรวจเข่า

อ่านเพิ่ม