รู้หรือไม่ อาหารที่เราถวายเพิ่มความเสี่ยงหลายโรคแก่พระสงฆ์!

เพราะพระสงฆ์เลือกฉันไม่ได้ เราจึงควรเลือกเมนูอาหารโดยคำนึงถึงสุขภาพพระ
เผยแพร่ครั้งแรก 10 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
รู้หรือไม่ อาหารที่เราถวายเพิ่มความเสี่ยงหลายโรคแก่พระสงฆ์!

“อายุ วัณโณ สุขัง พลัง…” หลังจากที่พระกล่าวให้พรแล้ว ผู้ทำบุญทุกคนย่อมรู้สึกอิ่มบุญไปตามกัน แต่หารู้ไม่ว่าบางสิ่งที่เพิ่งถวายพระไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวมันไก่พิเศษ แกงกะทิเนื้อเยอะๆ หรือไก่ทอดเจ้าเด็ด ล้วนแต่เป็นโทษต่อสุขภาพของพระสงฆ์ โดยปัญหาสุขภาพหลักๆ ที่พระสงฆ์ไทยต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตและไขมันสูง ซึ่งบางรูปถึงขั้นต้องผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ ด้วยเหตุผลเพียงแค่ไม่อยากขัดศรัทธาญาติโยมที่ถวายอาหารมา 

เมนูอาหารใส่บาตร-ถวายเพลยอดฮิต

“ตักบาตรอย่าถามพระ” เป็นสุภาษิตไทยที่มีความหมายว่า หากจะให้สิ่งใดที่ผู้รับเต็มใจรับอยู่แล้ว ก็ไม่ควรจะถาม เฉกเช่นเดียวกันกับการตักบาตรให้พระสงฆ์ ก็ไม่ควรถามว่าท่านจะรับหรือไม่ เพราะตามหลักพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่สามารถเลือกรับอาหารจากญาติโยมได้ และถึงหากทำได้ ก็จะทำให้ญาติโยมเสียศรัทธา และพาลไม่เคารพพระสงฆ์องค์นั้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

เมื่อพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกรับอาหารได้ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอาพาธได้เช่นกัน เพราะอาหารส่วนมากที่โยมใส่บาตร หรือนำไปถวายเพลที่วัด มักจะเป็นอาหารสำเร็จรูป เช่น แกงกะทิ ผัดผัก ของทอดต่างๆ ไปจนถึงอาหารจานเดียว เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง เป็นต้น

ทีมงาน HonestDocs ได้สำรวจเมนูอาหารที่พนักงานบริษัทหลายแห่งนิยมนำไปทำบุญถวายพระ พบว่าอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ข้าวมันไก่ พะแนงหมู ผักผัก ปลาทอด ซึ่งเป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง ส่วนเครื่องดื่มที่นิยมถวายพระ ได้แก่ กาแฟ ชาเขียว น้ำผลไม้ และนมกล่องรสต่างๆ

นับเป็นเรื่องดีที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยยังให้ความสำคัญกับการทำบุญแก่พระสงฆ์ แต่รู้หรือไม่ว่าอาหารที่นำมาใส่บาตร หรือนำมาถวายเพล เป็นสิ่งที่ทำลายสุขภาพพระสงฆ์มาก ดังตัวอย่างต่อไปนี้

  • ข้าวมันไก่ ให้พลังงานสูงถึง 600 แคลอรีต่อจาน หากใส่เครื่องในไก่ หรือเลือกเนื้อไก่ส่วนติกกระดูก จะทำให้พระสงค์ได้รับสารพิวรีน (Purine) สูง ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริก ทำให้เกิดผลเสียต่อกระดูกและข้อต่อ หากพระสงฆ์มีอาการของโรคเกาต์อยู่แล้ว จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ยังมีโซเดียมสูงอีกด้วย
  • แกงกะทิ กะทิให้ไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งไขมันชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอล หากร่างกายนำไขมันไปใช้ไม่หมด จะทำให้ไขมันไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  • ของทอดทุกชนิด เป็นอาหารที่ให้แคลอรีสูงไม่แพ้อาหารชนิดอื่นๆ จากการดูดซับน้ำมันที่ใช้ทอด นอกจากนี้ยังทำให้พระสงฆ์เสี่ยงต่อการอาพาธด้วยโรคมะเร็งจากน้ำมันที่ได้รับความร้อนเป็นเวลานาน และเนื้อสัตว์ที่ทอดเกรียมจนเกิดสารไนโตรซามีน (Nitrosamines)
  • น้ำผลไม้กล่อง มักไม่มีคุณค่าทางสารอาหาร และอุดมไปด้วยน้ำตาล หากพระสงฆ์ฉันบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน 

อาหารต่างภาค อันตรายต่อสุขภาพต่างกัน

จากสถิติของกรมอนามัยในปี พ.ศ. 2559 ที่ได้ตรวจคัดกรองสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศ และได้จำแนกการอาพาธของพระสงฆ์ออกตามภูมิภาค ดังนี้

  • ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร พระสงฆ์มีภาวะไขมันสูง และเป็นโรคอ้วนมากที่สุด 
  • ภาคใต้ พระสงฆ์มีค่ากรดยูริกสูงและไตทำงานผิดปกติ 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสงฆ์ภาวะโลหิตจาง และมีความเสี่ยงต่อไตทำงานผิดปกติมากถึง 8 เท่า

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นว่า พระสงฆ์ในแต่ละภูมิภาคอาพาธด้วยโรคแตกต่างกันไป โดยสาเหตุหลักนั้นมาจากโภชนาการทั้งสิ้น 

เนื่องจากแต่ละภูมิภาคมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ต่างกัน อย่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเน้นอาหารที่มีรสชาติ เผ็ด เปรี้ยวและเค็ม และมีผักหลายชนิดเป็นเครื่องเคียงในทุกมื้อ ซึ่งผักบางชนิด เช่น กระถิน และยอดผักต่างๆ มีสารไฟเตต (Phytate) ที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางขึ้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ส่วนภาคใต้ จะเน้นรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มและเผ็ดจัด มักมีส่วนผสมของกะปิ และอาหารทะเล และนิยมรับประทานหน่อไม้ สะตอ กระถิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอาหารที่มีกรดยูริกเยอะ จึงทำให้พระสงฆ์ในภาคใต้มีค่ากรดยูริกสูง และมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต

คนไทยตั้งใจให้พระสงฆ์สุขภาพดี แต่อาหารที่ถวายจริงกลับให้ผลตรงข้าม

ทีมงาน HonestDocs ได้ทำการสำรวจวิธีการเลือกเมนูอาหารถวายพระ จากผู้เข้าชมเว็บไซต์ HonestDocs ด้วยวิธีแจกแบบสอบถามออนไลน์ ผู้ตอบแบบสอบถามมีจำนวนทั้งสิ้น 9,133 คน ในจำนวนนี้มี 5,538 คนที่ตั้งใจจะทำบุญหรือถวายเพลในช่วงเข้าพรรษา 

เมื่อดูเฉพาะผู้ที่คิดว่าจะทำบุญหรือถวายเพล พบว่าพวกเขาเลือกเมนูอาหารถวายพระโดยคำนึงถึงสุขภาพพระสงฆ์มากที่สุด (38.4%) รองลงมาเลือกเมนูที่ตัวเองชอบ (22.4%) ส่วนอันดับ 3 คือเลือกเมนูที่หาซื้อสะดวก (21.1%) 

ผลการสำรวจนี้ขัดแย้งกับเมนูอาหารจริงๆ ที่ได้จากการสอบถาม ดังที่ได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว นอกจากนี้เมื่อทีมงานหาสถิติและข้อมูลเพิ่มจากแหล่งอื่นๆ ยังพบสถานการณ์สุขภาพพระสงฆ์ที่น่าเป็นห่วง ดังนี้

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขใน พ.ศ. 2559 ระบุว่ามีพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด 348,433 รูป อาพาธประมาณ 28.5% และข้อมูลของกรมการแพทย์ใน พ.ศ. 2559 ระบุว่า พระสงฆ์และสามเณรมารับการรักษาจากโรงพยาบาลสงฆ์มากที่สุด 5 โรค ได้แก่ 

สอดคล้องกับข้อมูลจากการคัดกรองในโรงพยาบาลสงฆ์ที่ได้มีการเปรียบเทียบในช่วงเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2549-2559) พบว่า พระสงฆ์มีภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น 2.1% มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น 23.6% และมีภาวะอ้วนลงพุงเพิ่มขึ้น 10.9% 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปได้ว่า 5 โรคนี้ ล้วนเป็นผลที่เกิดจากการฉันอาหารของพระสงฆ์ทั้งสิ้น แม้พระสงฆ์จะสามารถเลือกฉันอาหารเป็นบางอย่างได้ แต่ในความเป็นจริงหากไม่มีโยมคนไหนถวายผักสด หรืออาหารที่มีประโยชน์ ก็ทำให้พระสงฆ์ต้องทานอาหารต่อไปนี้เรื่อยๆ จนอาพาธ

“พระวินัย” และ “ภาพลักษณ์” ปัจจัยเสริมทำสุขภาพพระแย่

ตามพระวินัยได้ระบุไว้ว่า การบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับเพศบรรพชิต คือช่วงเวลาตั้งแต่อรุณขึ้นจนถึงเที่ยงวัน และหลังเที่ยงจนถึงรุ่งอรุญของอีกวันสามารถฉันน้ำปานะ 8 อย่าง ซึ่งเป็นน้ำคั้นจากผลไม้ที่ไม่มีเนื้อหรือกากปนได้

จากหลักพระวินัยนี้เอง ทำให้พระสงฆ์สามารถฉันอาหารได้เพียงวันละ 2 มื้อ คือมื้อเช้าและมื้อเพล ซึ่งก็ดูเหมือนจะดีต่อสุขภาพ เนื่องจากได้รับพลังงานน้อยกว่าคนทั่วไป แต่อย่าลืมว่าน้ำปานะในปัจจุบันไม่ได้เป็นน้ำคั้นจากผลไม้แล้ว ส่วนมากมักเป็นนมกล่อง น้ำผลไม้กล่อง หรือน้ำสมุนไพรบรรจุขวด ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก หากพระสงฆ์ฉันน้ำเหล่านี้เป็นประจำ จะทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในร่างกายจนทำให้เป็นโรคเบาหวานขึ้น

แม้พระสงฆ์บางรูปจะไม่ได้ฉันน้ำปานะ แต่หากรับประทานอาหารประเภทแกงกะทิ ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน ซึ่งเป็นอาหารที่ญาติโยมมักนำมาถวายบ่อยๆ ทุกวัน ก็มีโอกาสที่จะนำพลังงานจากอาหารเหล่านี้ไปใช้ไม่หมด เนื่องจากพระสงฆ์ไม่มีโอกาสที่จะได้ออกกำลังกายเหมือนคนทั่วไป เช่น เข้าฟิตเนส เตะฟุตบอล เล่นแบดมินตัน เพราะจะดูไม่สำรวม สิ่งที่ท่านทำได้มีเพียงการเดินบิณฑบาต การเดินจงกรม และทำความสะอาดวัด ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ได้เผาผลาญพลังงานมากนัก 

ปรับสูตรอาหารหรือเลือกซื้อให้ Healthy ดีกับสุขภาพพระสงฆ์

ไม่ใช่แค่เรื่องโภชนาการอย่างเดียวที่ทำให้พระสงฆ์เจ็บป่วย คุณภาพอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โยมบางคนก็ไม่รู้ว่าอาหารที่ตัวเองซื้อถวายพระเป็นของบูดเน่า เมื่อพระฉันเข้าไปก็ทำให้ท้องเสีย แทนที่จะได้บุญก็กลายเป็นได้บาปโดยไม่รู้ตัว

หากเป็นไปได้ ขอแนะนำให้ทำอาหารถวายพระสงฆ์เองจะดีกว่า และควรปรับสูตรอาหารให้ดีต่อสุขภาพพระมากขึ้น ดังนี้

  • ลดการใส่กะทิในอาหารลง 50% แล้วเสริมด้วยนมสด นมพร่องมันเนย หรือนมถั่วเหลืองแทน เพื่อลดไขมันอิ่มตัว และเพิ่มแคลเซียมมากขึ้น
  • เลือกเนื้อสัตว์ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันต่ำ เช่น อกไก่ สันในไก่ เนื้อไม่ติดมัน หรือเนื้อปลา
  • ลดการใส่เครื่องปรุงลง หากต้องการรสเค็ม สามารถใช้เกลือทะเลที่มีโซเดียมต่ำปรุงรสแทน
  • ถวายผลไม้สดหั่นเป็นชิ้น หรือถวายน้ำปานะเพื่อสุขภาพแทนน้ำผลไม้แบบกล่อง
  • หรือยังอยากถวายน้ำปานะ ลองดูสูตรน้ำปานะที่ดีต่อสุขภาพพระสงฆ์ได้ ที่นี่

ในกรณีที่ไม่สะดวกทำอาหารเองที่บ้าน แนะนำให้ลองซื้ออาหารที่ถวายพระสงฆ์เป็นประจำมาลองชิมดูสักครั้ง และลองเปรียบเทียบกับหลายๆ ร้านที่ขายในบริเวณเดียวกัน จะได้ทราบว่าคุณภาพของอาหารเป็นอย่างไร เหมาะสมกับการนำไปถวายพระจริงๆ หรือไม่

ถึงจะถามไม่ได้ว่าพระอยากฉันอะไร แต่ตักบาตรหรือถวายเพลคราวหน้า คงจะดีถ้าทุกคนมาช่วยกันใส่ใจสุขภาพพระให้มากขึ้น


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, พระสงฆ์ป่วยเบาหวาน ความดันรุมเร้า (https://www.thaihealth.or.th/Content/44970), 3 ตุลาคม 2561
จงจิตร อังคทะวานิช, บาตรไทย ไกลโรค 4.0 (http://sonkthaiglairok.com/ebook5/mobile/index.html)
United States Department of Agriculture, Basic Report: 12117, Nuts, coconut milk, raw (liquid expressed from grated meat and water) (https://ndb.nal.usda.gov/ndb/foods/show/12117)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป