อาการคัดจมูก เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของโรคเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบและไซนัสอักเสบ เกิดขึ้นจากการอุดกั้นของทางเดินอากาศในโพรงจมูก การอักเสบเป็นสาเหตุหลักเบื้องหลังของการเกิดการอุดกั้นนี้ โดยเมื่อกระบวนการการอักเสบถูกกระตุ้นโดยสารสื่อกลาง (เช่น ฮีสตามีน) จะทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดในโพรงจมูก เพิ่มการหลั่งเมือกในโพรงจมูกมากขึ้น และทำให้เกิดการบวม เป็นผลให้ทางเดินอากาศแคบลง ผู้ป่วยจึงรู้สึกหายใจไม่โล่ง ไม่สะดวก ยาบรรเทาอาการคัดจมูกที่ใช้จึงมีกลไกทำให้หลอดเลือดหดตัวเป็นหลัก ปัจจุบันยาที่ใช้มีวางจำหน่ายใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ยาชนิดรับประทาน และยาสำหรับใช้เฉพาะที่ แต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้
1. ยาชนิดรับประทาน
ตัวอย่างยาในกลุ่ม
- ซูโดเอฟริดรีน (Pseudoephedrine) มีวางจำหน่ายในรูปแบบยารับประทาน ออกฤทธิ์ช้ากว่ายารูปแบบสเปรย์พ่นจมูก แต่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่ยาวนานกว่า และก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า ยาชนิดรับประทานไม่ก่อให้เกิดอาการคัดจมูกที่รุนแรงขึ้นกว่าเดิมเมื่อใช้ยาเป็นระยะเวลานาน (Rebound decongestion) ซึ่งการเกิด Rebound decongestion นี้เกิดขึ้นจากเมื่อยาหมดฤทธิ์ในการทำให้หลอดเลือดฝอยหดตัว อาจทำให้เยื่อบุโพรงจมูกกลับมาบวมใหม่ ทำให้อาการคัดจมูกกลับมาเหมือนเดิม หรือมีอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม อาการนี้มักเกิดในผู้ที่ใช้ยาบรรเทาอาการคัดจมูกในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูกต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซูโดเอฟริดรีนขนาดยาไม่เกิน 180 มิลลิกรัมไม่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด แต่การใช้ยาขนาดที่สูง (210-240 มิลลิกรัม) สามารถเพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้แล้ว ซูโดเอฟริดรีนอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรงเมื่อให้ยาร่วมกับยาต้านเศร้าในกลุ่ม MAOI (Mono Amine Oxidase Inhibitor) เช่น Rasagiline, Selegiline, Isocarboxazid, Phenelzine และ Tranylcypromine) จึงไม่ควรใช้ยาสองกลุ่มนี้ร่วมกัน และซูโดเอฟริดรีนยังมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทอ่อนๆ แม้ว่าจะใช้ยาในขนาดไม่สูงสำหรับบรรเทาอาการคัดจมูกก็ตาม
- ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เนื่องจากฤทธิ์กระตุ้นประสาทของซูโดเอฟริดรีนทำให้มักมีการนำยาไปใช้ในทางที่ผิด ฟีนิลเอฟรีนจึงมีบทบาทเข้ามาแทนที่การใช้ซูโดเอฟริดรีน โดยฟีนิลเอฟรีนสำหรับบรรเทาอาการคัดจมูกมีวางจำหน่ายทั้งในรูปแบบของยาชนิดรับประทานและชนิดสเปรย์พ่นจมูก แต่ปัจจุบันมีการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของยา เนื่องจากมีบางการศึกษาพบว่า ฤทธิ์ในการลดอาการคัดจมูกไม่แตกต่างจากยาหลอก (Placebo)
กลไกหลักของยาในกลุ่ม
- ยากระตุ้นตัวรับอัลฟ่า ชนิดที่ 1 ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดฝอยที่บริเวณเยื่อบุโพรงจมูกที่บวม เลือดจึงไปเลี้ยงที่เยื่อบุโพรงจมูกลดลง ทำให้การหลั่งเมือกที่โพรงจมูกลดลง ทางเดินของอากาศกว้างขึ้น จึงทำให้รู้สึกจมูกโล่งและหายใจได้สะดวกขึ้น
ข้อบ่งใช้
- ยาในรูปแบบรับประทาน ใช้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก
ข้อควรระวังในการใช้ยา
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี
- ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากยาอาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในผู้ป่วยต้อหิน ต่อมลูกหมากโต เนื่องจากฤทธิ์ในการหดตัวของหลอดเลือดอาจทำให้อาการแย่ลง
- ยาซูโดเอฟริดรีนไม่ควรใช้ยาร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้าในกลุ่ม MAOI (Mono Amine Oxidase Inhibitor)
2. ยาใช้เฉพาะที่ ชนิดสเปรย์พ่นจมูกและยาหยอดจมูก
ตัวอย่างยาในกลุ่ม
- เอฟริดรีน (Ephedrine) *ปัจจุบันไม่มีตำรับยาที่มีเอฟริดรีนเป็นส่วนประกอบแล้ว โดยเอฟริดรีน ในอดีตนิยมใช้เป็นยาสำหรับบรรเทาอาการคัดจมูก แต่ในปัจจุบันพบว่ายามีผลข้างเคียงสูง ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ ทั้งฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด กระตุ้นระบบประสาท รวมทั้งมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดจำนวนมาก นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดให้เอฟริดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภทที่ 2
- ยาอื่นในกลุ่มยาบรรเทาอาการคัดจมูสำหรับใช้เฉพาะที่ เช่น แนฟาโซลีน (Naphazoline) ออกซีเมทาโซลีน (Oxymetazoline) ฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) ไทมาโซลีน (Tymazoline) และไซโลเมทาโซลีน (Xylometazoline) ข้อดีของยาบรรเทาอาการคัดจมูกสำหรับใช้เฉพาะที่คือมีการดูดซึมเข้าระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกายที่ต่ำกว่ายาชนิดรับประทานมาก ไปจนถึงไม่มีการดูดซึมเลย ยาจึงแทบจะไม่ส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ข้อจำกัดในการใช้จึงต่ำกว่ายาชนิดรับประทาน นิยมใช้เป็นยาทางเลือกแรกในการรักษาอาการคัดจมูก ยามีการออกฤทธิ์ที่ไวกว่ายาในรูปแบบรับประทาน แต่มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ที่สั้นกว่า ข้อควรระวังที่สำคัญของการใช้ยาสำหรับใช้เฉพาะที่คือไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 3-5 วัน เนื่องจากยาอาจทำให้อาการคัดจมูกกลับมารุนแรงขึ้นกว่าเดิม การใช้ยาจึงแนะนำให้ใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น เช่น เวลานอน โดยใช้ในความถี่และปริมาณน้อยที่สุดที่สามารถควบคุมอาการได้ และใช้ต่อเนื่องไม่เกิน 3-5 วัน ผลข้างเคียงอื่นจากการใช้ยา ได้แก่ รู้สึกแสบจมูก ระคายเคือง จาม และโพรงจมูกแห้ง
กลไกหลักของยาในกลุ่ม
- ยามีกลไกในการบรรเทาอาการคัดจมูกเช่นเดียวกันกับยาชนิดรับประทาน
ข้อบ่งใช้
- ยาในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูกและยาหยอดจมูก ใช้เพื่อบรรเทาอาการคัดจมูก
ข้อควรระวังในการใช้ยา
- ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องนานเกินกว่า 3-5 วัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดยาอาจทำให้อาการคัดจมูกกลับมารุนแรงขึ้นกว่าเดิม (Rebound decongestion) ได้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง