กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Ephedrine (เอฟิดรีน)

เผยแพร่ครั้งแรก 28 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที

Ephedrine เป็นยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการคัดจมูก และยาที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว Ephedrine เป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ ในอดีตมีการใช้ในตำรับยาแก้คัดจมูกและยาขยายหลอดลม กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ กระตุ้นตัวรับอะดรีเนอร์จิกได้ทั้งชนิดอัลฟ่าและบีต้า เพิ่มการทำงานของนอร์อีพิเนปฟรีน เนื่องจากตัวรับไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างอะดรีนาลีน (Adrenaline) นอร์อิพิเนปฟรีน (Norepinephrine) และอีเฟดรีนได้ ทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดลม หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว และกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ในปัจจุบัน Ephedrine ไม่เป็นที่นิยมใช้เนื่องจากพบว่ามีอันตรายมากกว่าประโยชน์ที่ผู้ใช้ได้รับ และยังมียาทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยและให้ประสิทธิภาพดีกว่าในการรักษาอาการดังกล่าว

Ephedrine จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 ตาม พ.ร.บ. วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไม่สามารถวางจำหน่ายได้ในร้านขายยา และในปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีทะเบียนตำรับยาที่มี Ephedrine เป็นส่วนผสมแล้ว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ในอดีตมีการใช้ Ephedrine ในรูปแบบดังต่อไปนี้

  • มีการใช้ Ephedrine ทั้งในรูปเกลือ Ephedrine hydrochloride และ Ephedrine sulfate
  • รูปแบบยาสำหรับฉีด
  • รูปแบบยาสำหรับรับประทาน
  • รูปแบบยาสำหรับใช้ทางจมูก

ข้อบ่งใช้ของยา Ephedrine

โรคและภาวะที่เป็นข้อบ่งใช้ของยานี้ ได้แก่

  • ภาวะความดันโลหิตต่ำในระหว่างการผ่าตัด เมื่อให้ยาระงับความรู้สึกผ่านไขสันหลัง
  • ภาวะหลอดลมหดเกร็งเฉียบพลัน และการอุดกั้นของทางเดินหายใจ
  • ภาวะบวมน้ำจากระบบประสาท
  • อาการคัดจมูก ไซนัสอักเสบ

ขนาดและวิธีการใช้ยา Ephedrine

Ephedrine มีขนาดและวิธีการใช้ตามข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • ภาวะความดันโลหิตต่ำในระหว่างการผ่าตัด เมื่อให้ยาระงับความรู้สึกผ่านไขสันหลัง การใช้ยาในรูปแบบยาฉีด
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป Ephedrine hydrochloride ขนาด 3-6 มิลลิกรัม ให้ยาผ่านหลอดเลือดดำช้าๆ ทุก 3-4 นาที จนมีการตอบสนองของระดับความดันโลหิต ขนาดยาสูงสุดคือ 30 มิลลิกรัม
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป Ephedrine sulfate ขนาด 25-50 มิลลิกรัม ให้ยาผ่านการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือขนาด 5-25 มิลลิกรัม เมื่อให้ยาผ่านหลอดเลือดดำ อาจให้ยาซ้ำจนมีการตอบสนองของระดับความดันโลหิต ขนาดยาสูงสุดคือ 150 มิลลิกรัมต่อวัน
    • ขนาดการใช้ยาในเด็ก ขนาด 0.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ให้ยาผ่านการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ขนาด 0.75 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม วันละสี่ครั้ง ให้ยาผ่านการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือหลอดเลือดดำ
    • ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ ขนาดการใช้เดียวกันกับผู้ใหญ่
  • ภาวะหลอดลมหดเกร็งเฉียบพลัน และการอุดกั้นของทางเดินหายใจ
    • การใช้ยาในรูปแบบยาฉีด
      • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป Ephedrine sulfate ขนาด 12.5-25 มิลลิกรัม ให้ยาผ่านการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เข้ากล้าม หรือเข้าหลอดเลือดดำ อาจให้ยาซ้ำจนมีการตอบสนองของอาการ
    • การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน
      • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป Ephedrine hydrochloride ขนาด 15-60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
      • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป Ephedrine sulfate 12.5-25 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ขนาดยาสูงสุด 150 มิลลิกรัมต่อวัน
      • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 1-5 ปี ยาในรูป Ephedrine hydrochloride ขนาด 15 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง
      • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 6-12 ปี ยาในรูป Ephedrine hydrochloride ขนาด 30 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง
      • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ยาในรูป Ephedrine hydrochloride ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่
      • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ยาในรูป Ephedrine sulfate ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่
      • ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ ยาในรูป Ephedrine hydrochloride และ Ephedrine sulfate ลดขนาดยาลงครึ่งหนึ่งของขนาดที่ใช้ในผู้ใหญ่
  • ภาวะบวมน้ำจากระบบประสาท การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูป Ephedrine hydrochloride ขนาด 30-60 มิลลิกรัม วันละสามครั้ง
  • อาการคัดจมูก ไซนัสอักเสบ การใช้ยาในรูปแบบหยอดทางจมูก
    • ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาความเข้มข้น 1 % หยด 1-2 หยดลงในรูจมูกแต่ละข้าง วันละ 4 ครั้ง ใช้ยาต่อเนื่องนานสุด 7 วัน
    • ขนาดการใช้ยาในเด็กอายุ 12-17 ปี ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่
    • ขนาดการใช้ยาในผู้สูงอายุ ใช้ขนาดยาเดียวกันกับผู้ใหญ่

ข้อควรระวังในการใช้ Ephedrine ได้แก่

  • ไม่แนะนำให้ใช้ยารูปแบบหยดทางจมูกในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยต้อหินมุมปิด
  • ห้ามใช้ยาในรูปแบบยาหยอดทางจมูกต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  • ห้ามใช้ยาในรูปแบบยาหยอดทางจมูกในผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดจมูก หรือไซนัส
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่ได้รับยากลุ่ม MAOI (Mono Amine Oxidase Inhibitor - ยากลุ่มหนึ่งของยารักษาโรคซึมเศร้า) หรือเพิ่งหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOI ยังไม่เกิน 2 สัปดาห์ (ยากลุ่ม MAOI ได้แก่ Rasagiline, Selegiline, Isocarboxazid, Phenelzine และ Tranylcypromine)
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มกระตุ้นระบบซิมพาเทติก ยาบีต้าบล็อกเกอร์ และผู้ป่วยดมยาสลบ
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีอาการ Vasomotor (ได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ เหงื่ออกมาก ในสตรีหมดประจำเดือน)
  • ควระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีประวัติโรคลมชัก
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยไตบกพร่อง
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยสูงอายุ และสตรีมีครรภ์

ผลข้างเคียงของการใช้ Ephedrine

ข้อควรทราบอื่นๆของยา Ephedrine

  • ยาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category C ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ควรใช้ยานี้เฉพาะเมื่อแพทย์มีความเห็นว่า ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยามากกว่าความเสี่ยงรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์
  • ในผู้ป่วยสตรีมีครรภ์ ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ทั้ง 3 รูปแบบ โดยเฉพาะยาในรูปแบบยาฉีด เนื่องจากยามีความเสี่ยงเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจจนเสียชีวิตได้
  • การใช้ยาในรูปแบบยาฉีด ควรมีการติดตามระดับความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ
  • การใช้ยาในรูปแบบยาฉีด ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่มเกลือประจุลบ และการให้ยาผ่าน Y-site ห้ามให้ร่วมกับ Thiopental
  • การใช้ยาในรูปแบบยารับประทาน สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • การใช้ยาในรูปแบบยาหยอดจมูก ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 7 วัน
  • ยานี้แนะนำให้เก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เกิน 20-25 องศาเซลเซียส เก็บให้พ้นจากแสง และความชื้น

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
gov, Pseudoephedrine and ephedrine: update on managing risk of misuse (https://www.gov.uk/drug-safety-update/pseudoephedrine-and-ephedrine-update-on-managing-risk-of-misuse), 8 September 2015.
fda, Legal Requirements for the Sale and Purchase of Drug Products Containing Pseudoephedrine, Ephedrine, and Phenylpropanolamine (https://www.fda.gov/drugs/information-drug-class/legal-requirements-sale-and-purchase-drug-products-containing-pseudoephedrine-ephedrine-and)
Jill Seladi-Schulman, PhD, What Is an ECA Stack? (https://www.healthline.com/health/eca-stack), 22 August 2017.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)