คำถามนี้เป็นคำถามที่สร้างความกังวลใจให้ผู้หญิงหลายคนที่รับประทานยารักษาโรคทางจิตเวช รวมทั้งโรคซึมเศร้าได้ไม่น้อย เมื่อมีครอบครัวย่อมมีโอกาสตั้งครรภ์
หากผู้ป่วยที่รับประทานยารักษาโรคซึมเศร้าแล้ววางแผนจะตั้งครรภ์ รวมถึงผู้หญิงมีครรภ์ที่มีอาการโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ควรได้รับทราบข้อมูลถึงความเสี่ยง ต่อการเกิดความพิการต่อทารกจากการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ เปรียบเทียบกับผลดีในการป้องกันอาการกำเริบ และควรเลือกใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่ำต่อทารกในครรภ์และมารดา
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การแบ่งประเภทกลุ่มยา
เรามาทำความรู้จักการแบ่งประเภทกลุ่มยา ตามข้อมูลความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
- ยากลุ่ม A หมายถึง ยาที่ไม่พบว่ามีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์เลย จากการศึกษาทดลองแบบควบคุมในมนุษย์ ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ปลอดภัยที่สุดเมื่อนำมาใช้ในมารดาที่กำลังตั้งครรภ์
- ยากลุ่ม B หมายถึง ยาที่ไม่พบความเสี่ยงต่อตัวอ่อนจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีการศึกษาแบบควบคุมในมนุษย์
- ยากลุ่ม C หมายถึง ยาที่พบว่ามีผลเสียต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในมนุษย์
- ยากลุ่ม D หมายถึง ยาที่มีหลักฐานว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการในครรภ์ แต่ผลดีจากการใช้ยา มีมากกว่าความเสี่ยงนั้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อความปลอดภัยของมารดา
- ยากลุ่ม X หมายถึง ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการในทารก และความเสี่ยงนั้นมีมากกว่าผลดีจากการใช้ยา จึงเป็นกลุ่มยาที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาดขณะตั้งครรภ์
เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มยาต่าง ๆ ที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า สามารถแบ่ง ตามความปลอดภัยของยาต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนี้
- ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม Tricyclic antidepressants: มีข้อมูลการใช้ยากลุ่มนี้ในช่วงตั้งครรภ์ พบว่าไม่เกิดความพิการในทารก แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยาในกลุ่ม Tricyclic antidepressants ในขนาดสูงและใช้ยาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระยะใกล้คลอด พบว่าอาจทำให้เกิดอาการถอนพิษยาในเด็กทารกได้ อาการที่อาจพบ ได้แก่ อาการงอแง สั่น ท้องเสีย กินนมยาก กดระบบทางเดินหายใจ และอาการชัก โดยส่วนใหญ่อาการมักเกิดขึ้นภายใน 72 ชั่วโมงหลังคลอด แต่อาจเกิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่งได้เช่นกัน แต่ไม่เพียงเฉพาะยากลุ่ม Tricyclic antidepressants เท่านั้น ที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เพราะยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มอื่น หรือยาตัวอื่น ๆ ก็อาจเกิดปัญหาดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน
- ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs: ความปลอดภัยของยากลุ่มนี้ เมื่อนำมาใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ค่อนข้างหลากหลาย แพทย์อาจเลือกใช้ยากลุ่มนี้ตามแนวทางการรักษาในปัจจุบัน ยกตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่
- Fluoxetine ไม่มีหลักฐานว่ายาเพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ โดยปกติ fluoxetine จัดเป็นยาที่มีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ในกลุ่ม C แต่จัดเป็นยากลุ่ม D หากใช้ยาในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อาจเลือกใช้ยานี้ เมื่อไม่สามารถใช้ยา Sertraline ได้ แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวังภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- Sertraline เป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีระดับความปลอดภัย ต่อทารกในครรภ์ กลุ่ม C โดยส่วนใหญ่แนวทางการรักษาโรคซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ มักแนะนำให้เลือกใช้ยา Sertraline เป็นลำดับแรก รองลงมาคือ fluoxetine ไม่นิยมเลือกยากลุ่ม Tricyclic antidepressants
- สำหรับยาตัวอื่นๆในกลุ่ม SSRIs เช่น Paroxetine และกลุ่มใกล้เคียง เช่น mianserin, Trazodone, citalopram, venlafaxine, reboxetine ล้วนเป็นยาที่มีระดับความปลอดภัย ต่อทารกในครรภ์กลุ่ม C หรือ D มีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับความพิการของทารกในครรภ์ หากมีการนำมาใช้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ยารักษาโรคซึมเศร้า กลุ่ม MAOIs: ยากลุ่มนี้มีข้อมูลจำกัดเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้เมื่อตั้งครรภ์เช่นกัน จึงควรหลีกเลี่ยงใช้ยากลุ่มนี้เมื่อผู้ป่วยตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงที่มีการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาโรคซึมเศร้าแล้ว หากวางแผนล่วงหน้าที่จะตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาเลือกใช้ยาที่สามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนเข้าสู่การตั้งครรภ์ และหากเป็นไปได้ ก็จะหยุดการรักษาด้วยยาโรคซึมเศร้า เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์
หากสมมุติว่าไม่ได้วางแผนการตั้งครรภ์ แต่เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ผู้ป่วยจำเป็นต้องงดยารักษาโรคซึมเศร้าหรือไม่ ?
ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ที่อวัยวะต่าง ๆ ของทารกมีการก่อตัวและเจริญเติบโต โดยหลักการแล้ว แพทย์อาจพิจารณาหยุดยา หรือถ้าจำเป็นให้ใช้ยา แพทย์จะพิจารณาใช้ยาขนาดต่ำสุดที่ยังคงประสิทธิภาพในการรักษา เนื่องจากในผู้ป่วยหลายรายที่หยุดยาทำให้อาการกำเริบได้ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน เพราะจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์เพิ่มขึ้น ต่อเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 และ 3 ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์และผลกระทบต่างๆจากยามักจะลดลง อย่างไรก็ตาม ในการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยง และผลประโยชน์ของการให้ยาและเลือกยาที่ปลอดภัยมากที่สุดมีผลต่อทารกในครรภ์น้อยที่สุด