ไตเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ทำหน้าที่กรองของเสียออกทางปัสสาวะ ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ และควบคุมความดันโลหิต สร้างฮอร์โมนสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด และสร้างวิตามินดีที่เกี่ยวข้องกับกระดูก วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ไตสุขภาพดี ก็คือการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ทำให้ไตทำงานหนัก ซึ่งหากไตทำงานหนักจนเกิดความผิดปกติหรือที่เรียกว่าไตเสื่อมนั้น จะส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อร่างกายได้
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทั้งเค็ม มัน หรือหวานจัด การรับประทานโปรตีน หรือยาแก้ปวดบางชนิดมากเกินไป การดื่มน้ำน้อย รวมถึงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ และการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ได้แนะนำเรื่องการป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต ดังนี้
- ลดอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
- เลิกสูบบุหรี่
- งดดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาแก้ปวดหรือยาชุดมารับประทานเอง
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ควรควบคุมความดันให้อยู่ที่ 130/80 mmHg และระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 110 mg/dL และระดับน้ำตาลสะสมในเลือดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา (HbA1C) ควรมีค่าต่ำกว่า 6.5 mg% รวมถึงระดับไขมันในเลือด ระดับแอลดีแอล (LDL) น้อยกว่า 100 mg/dL
หลายท่านอาจจะทราบว่า อาหารรสเค็มถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ดีต่อไต เหตุที่เป็นอย่างนั้นเนื่องจาก อาหารรสเค็มถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียมมากเกินความต้องการจากการรับประทานอาหาร เพราะอาหารตามธรรมชาติก็มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว ประกอบกับการปรุงอาหารที่มีการเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ เพื่อให้มีรสชาติกลมกล่อม โดยเฉพาะในอาหารแปรรูป หรืออาหารสำเร็จรูป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอาหารบางประเภทที่นิยมใส่เครื่องปรุงเพิ่ม เช่น ก๋วยเตี๋ยว ข้าวราดแกง เพราะเหตุนี้ร่างกายจึงมีการสะสมโซเดียมในปริมาณที่เกินพอดี ส่งผลเสียต่อร่างกาย ทำให้ไตเริ่มเสื่อม อันเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ตามมา ซึ่งการลดปริมาณการรับประทานรสเค็มจะทำให้อาการของโรคนั้นๆ ดีขึ้น และป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาวได้
ความต้องการโซเดียมของร่างกาย
ข้อมูลจากการรายงานของ สสส. เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ความต้องการโซเดียมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นกับเพศ อายุ และสภาวะของร่างกาย แต่ความต้องการสูงสุดของโซเดียมที่ร่างกายรับได้และไม่ก่อให้เกิดอันตราย ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน แต่ความจริงแล้วคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 4,352 มิลลิกรัม/วัน หรือเกินกว่าปริมาณที่แนะนำถึง 2 เท่า
ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยในเครื่องปรุง
ชนิดเครื่องปรุง | ปริมาณ | ปริมาณโซเดียม (มิลลิกรัม) |
---|---|---|
เกลือป่น | 1 ช้อนชา | 2,000 |
น้ำปลา | 1 ช้อนโต๊ะ | 1,350 |
ซอสถั่วเหลือง | 1 ช้อนโต๊ะ | 1,190 |
ซอสหอยนางรม | 1 ช้อนโต๊ะ | 1,187 |
น้้ำจิ้มไก่ | 1 ช้อนโต๊ะ | 518 |
ซอสพริก | 1 ช้อนโต๊ะ | 231 |
ซอสมะเขือเทศ | 1 ช้อนโต๊ะ | 149 |
ที่มา: สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อแนะนำในการลดการบริโภคโซเดียม
- เลือกรับประทานอาหารสดตามธรรมชาติ และควรปรุงอาหารโดยเครื่องปรุงรสต่างๆ ให้น้อยที่สุด
- ลดการเติมผงชูรสในการปรุงอาหาร
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ขนมกรุบกรอบ อาหารหมักดองหรือแช่อิ่ม อาหารกระป๋อง และเบเกอรีต่างๆ
- ลดการรับประทานอาหารที่มีน้ำจิ้ม เช่น สุกี้ เป็นต้น
- ปรับนิสัยให้เลือกรับประทานอาหารที่มีรสชาติจืดลง ไม่เติมเครื่องปรุงรสเพิ่มในอาหารที่ผ่านการปรุงแล้ว
- อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง และสังเกตปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อจะได้บริโภคแต่พอดี (คือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ดังกล่าวไปข้างต้น)