การเรียนรู้ การเล่น และพฤติกรรม

เผยแพร่ครั้งแรก 11 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 30 นาที
การเรียนรู้ การเล่น และพฤติกรรม

วิธีฝึกให้ลูกนั่งกระโถน

การนั่งกระโถนเพื่อขับถ่ายเป็นทักษะที่ใหม่สำหรับลูกของคุณ คุณควรให้ลูกฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป และฝึกตามความพร้อมของเขา ในช่วงนี้คุณจำเป็นต้องอดทนแม้ว่าคุณจะรู้สึกหงุดหงิดเป็นบางครั้งก็ตาม อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กปวดปัสสาวะหรืออุจจาระ เขาสามารถกลั้นไว้ได้ แต่เด็กทุกคนแตกต่างกัน ดังนั้นคุณไม่ควรเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับเด็กคนอื่นๆ ทั้งนี้เด็กส่วนมากสามารถกลั้นอุจจาระได้ก่อนกลั้นปัสสาวะ

  • ทารกที่มีอายุ 1 ปีส่วนใหญ่หยุดถ่ายอุจจาระตอนกลางคืน
  • เด็กที่มีอายุ 2 ปีบางคนจะไม่ขับปัสสาวะใส่ผ้าอ้อมระหว่างวัน
  • เด็กที่มีอายุ 3 ปีประมาณ 9 ใน 10 คนไม่ขับปัสสาวะใส่ผ้าอ้อมเกือบทั้งวัน
  • เด็กที่มีอายุ 4 ปีส่วนมากไม่ขับปัสสาวะใส่ผ้าอ้อมระหว่างวัน

โดยมากแล้วเด็กจะใช้เวลาเรียนรู้เกี่ยวกับการกลั้นปัสสาวะตอนกลางคืนนานกว่าเล็กน้อย แม้ว่าเด็กส่วนมากสามารถทำเช่นนี้ตอนมีอายุอยู่ในช่วง 3-5 ปี แต่เด็กที่มีอายุ 5 ปีกว่า 1 ใน 5 ที่ขับปัสสาวะรดใส่ที่นอน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อไรที่จะเริ่มฝึกให้ลูกนั่งกระโถน?

คุณไม่สามารถบังคับให้ลูกขับถ่ายโดยการนั่งบนกระโถน หากเขายังไม่พร้อมคุณก็ไม่สามารถบังคับเขาได้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะต้องการใช้กระโถน เพราะเด็กส่วนมากไม่อยากใส่ผ้าอ้อมไปโรงเรียน ในระหว่างนี้สิ่งที่คุณสามารถทำได้ก็คือ การส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมแบบที่คุณต้องการ

ผู้ปกครองส่วนใหญ่คิดเกี่ยวกับการฝึกให้ลูกนั่งกระโถนเมื่อเด็กมีอายุอยู่ในช่วง 2 ปี - 2 ½ ปี ซึ่งบางคนอาจสะดวกที่จะฝึกให้ลูกนั่งกระโถนในช่วงฤดูร้อน เพราะเป็นช่วงที่เด็กใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น และเสื้อผ้าแห้งเร็วกว่าฤดูอื่นๆ นอกจากนี้ให้คุณลองฝึกให้ลูกนั่งกระโถนเมื่อไม่มีการรบกวนใดๆ หรือไม่มีการเปลี่ยนกิจวัตรของเด็กหรือครอบครัว ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การฝึกให้ได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ลูกสับสน

หากคุณต้องออกไปนอกบ้าน ให้คุณเตรียมกระโถนติดตัวไปด้วยเพื่อที่ลูกจะได้เข้าใจว่าคุณต้องการให้เขาขับปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระในกระโถนทุกครั้งที่เขาต้องการขับถ่าย นอกจากนี้คุณอาจสอบถามเกี่ยวกับการฝึกให้เด็กนั่งกระโถนจากพ่อแม่คนอื่นๆ ที่มีลูก อย่างไรก็ดี สำหรับสัญญาณที่บอกว่าเด็กเริ่มควบคุมการปัสสาวะได้ ตัวอย่างเช่น

  • พวกเขารู้เมื่อผ้าอ้อมเปียกหรือสกปรก
  • พวกเขารู้ตัวขณะขับปัสสาวะ และอาจบอกคุณว่ากำลังทำเช่นนี้
  • ระยะห่างของเวลาที่ผ้าอ้อมเปียกคืออย่างน้อย 1 ชั่วโมง หากน้อยกว่านี้ การฝึกให้เขานั่งกระโถนก็อาจล้มเหลว
  • มีอาการกระวนกระวายเมื่อต้องการขับปัสสาวะ หรือไปอยู่ในสถานที่เงียบๆ หรือซ่อนตัว
  • เขารู้ว่าต้องการขับปัสสาวะเมื่อไร และอาจบอกให้คุณทราบล่วงหน้า

การฝึกให้ลูกนั่งกระโถนได้รวดเร็วที่สุดนั้นต้องทำเมื่อเด็กอยู่ในช่วงระยะสุดท้ายของการปวดปัสสาวะหรืออุจจาระ ซึ่งเด็กจำเป็นต้องนั่งบนกระโถนและลุกขึ้นมาด้วยตัวเองเมื่อทำธุระแล้วเสร็จและทำตามคำสั่งของคุณ

การเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกนั่งกระโถน

การใช้กระโถนนับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเด็ก ดังนั้นให้คุณสอนลูกให้คุ้นชินกับการใช้กระโถนแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการให้เด็กผู้ชายเริ่มฝึกโดยนั่งกระโถนก่อนที่จะเปลี่ยนไปยืนขับปัสสาวะในภายหลังมักเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า

ทั้งนี้ให้คุณพูดเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมขณะที่ทำเช่นนี้กับลูกเพื่อที่เขาจะได้เข้าใจว่าปัสสาวะและอุจจาระคืออะไรหากคุณเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกในห้องน้ำเมื่ออยู่บ้าน พวกเขาจะเรียนรู้ว่าห้องน้ำเป็นสถานที่ๆ คนใช้ถ่ายอุจจาระ คุณอาจให้ลูกช่วยกดชักโครกและล้างมือให้เขา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ให้คุณวางกระโถนไว้ในตำแหน่งที่เด็กสามารถมองเห็นและอธิบายเกี่ยวกับการใช้งานให้ลูกฟัง ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ผ่านการมองและเลียนแบบ หากคุณมีลูกมากกว่าหนึ่งคน หากน้องเห็นพี่ใช้กระโถน มันก็อาจช่วยให้เขาใช้กระโถนตามพี่ในขณะที่การใช้โถส้วมให้ลูกเห็นและการอธิบายถึงสิ่งที่คุณกำลังทำให้เขาฟัง และการใช้ของเล่นเด็กที่ช่วยสอนเกี่ยวกับประโยชน์ของกระโถนก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

วิธีฝึกให้ลูกนั่งกระโถน

  • วางกระโถนไว้ในห้องน้ำทั้งชั้นบนและชั้นล่างของบ้านเพื่อให้เด็กสามารถเดินไปใช้กระโถนได้อย่างง่ายดาย ประเด็นสำคัญคือ การทำให้การนั่งกระโถนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของลูก
  • ให้ลูกนั่งบนกระโถนหลังทานอาหาร เพราะเป็นช่วงที่มีการย่อยอาหารและมักทำให้เด็กต้องการขับอุจจาระ นอกจากนี้การให้เด็กอ่านหนังสือหรือเล่นของเล่นก็สามารถช่วยให้เด็กนั่งนิ่งๆ บนกระโถนเช่นกัน
  • หากลูกของคุณถ่ายอุจจาระบนกระโถนเวลาเดิมทุกวัน ให้คุณถอดผ้าอ้อมบนตัวของทารกและแนะนำให้เขานั่งบนกระโถน หากลูกไม่พอใจ ให้คุณใส่ผ้าอ้อมกลับคืน และทิ้งช่วงสัก 3-4 อาทิตย์ก่อนที่จะเริ่มฝึกอีกครั้ง
  • การส่งเสริมให้ลูกใช้กระโถนเพื่อขับปัสสาวะจะช่วยสร้างความมั่นใจเมื่อเขาพร้อมที่จะใช้มันเพื่อถ่ายอุจจาระ
  • ทันทีที่คุณเห็นว่าลูกปวดปัสสาวะ คุณควรบอกให้เขาใช้กระโถน หากลูกขับปัสสาวะไม่ลงกระโถน ให้คุณทำความสะอาดพื้น และให้ลูกลองนั่งกระโถนใหม่ครั้งหน้า ซึ่งกว่าที่เด็กจะรู้วิธีการใช้กระโถนนั้นอาจต้องใช้เวลาสักพัก

หากคุณไม่แสดงอาการฉุนเฉียวเมื่อลูกทำพลาด เขาก็จะไม่ประหม่าและกังวล อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะนั่งกระโถนสำเร็จครั้งหน้า ทั้งนี้ให้เด็กใส่เสื้อที่คุณสามารถถอดออกได้สะดวก และหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อที่คับแน่นหรือมีกระดุมหลายเม็ดเด็กจะดีใจเมื่อขับถ่ายบนกระโถนได้สำเร็จ ซึ่งการได้รับคำชมจากคุณเล็กๆ น้อยๆ ก็จะช่วยได้มากทีเดียว

การใช้กางเกงที่ออกแบบมาเพื่อฝึกใช้กระโถน และ Pull-ups

ในช่วงที่คุณเริ่มฝึกให้ลูกนั่งกระโถน คุณอาจให้ลูกใส่กางเกงที่ออกแบบมาเพื่อการนี้ หรือที่เรียกว่า Pull-ups ซึ่งเราสามารถทิ้งหรือนำไปซักใหม่ได้ นอกจากนี้มันยังช่วยให้เด็กมั่นใจเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนจากการใส่ผ้าอ้อมไปใส่กางเกงสำหรับเด็กโต การเกงชนิดนี้จะไม่ดูดซับปัสสาวะและเราสามารถทิ้งผ้าอ้อมได้

อย่างไรก็ดี คุณไม่ควรให้ลูกใส่กางเกงสำหรับฝึกใช้กระโถนแทนผ้าอ้อม แต่คุณควรฝึกให้ลูกไม่ขับปัสสาวะรดใส่กางเกงดังกล่าวโดยใช้กระโถน หากลูกยังไม่พร้อมที่จะหยุดใส่ผ้าอ้อม และเขาไม่รู้ตัวว่าทำผ้าอ้อมเปียก คุณสามารถใช้กระดาษอเนกประสงค์ซ้อนภายในผ้าอ้อม ซึ่งเขาจะยังคงรู้สึกว่าช่วงล่างเปียก และเรียนรู้ว่าการขับปัสสาวะทำให้กางเกงแฉะ

การฝึกให้ลูกนั่งกระโถนตอนกลางคืน

คุณควรมุ่งเน้นให้ลูกฝึกนั่งกระโถนในระหว่างวันก่อนที่คุณจะเริ่มให้ลูกถอดผ้าอ้อมตอนกลางคืน หากผ้าอ้อมของเด็กแห้งหรือเปียกชื้นเล็กน้อยเมื่อลูกตื่นนอน 3-4 วันติดต่อกัน เขาก็อาจพร้อมสำหรับการฝึกใช้กระโถนตอนกลางคืน

ทั้งนี้ให้คุณขอร้องให้ลูกใช้กระโถนเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนที่เขาเข้านอน และวางกระโถนให้อยู่ใกล้กับบริเวณที่เขานอนเพื่อที่เขาสามารถใช้กระโถนเมื่อปวดปัสสาวะตอนกลางคืน อย่างไรก็ดี เด็กก็ยังมีแนวโน้มที่จะขับปัสสาวะรดใส่ที่นอน ดังนั้นการใช้ผ้าปูที่นอนแบบกันน้ำจะช่วยปกป้องฟูกนอน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อย่างไรก็ตาม การพูดชมลูกก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ หากลูกยังใช้กระโถนไม่คล่อง คุณก็ควรให้ลูกใส่ผ้าอ้อมตอนกลางคืนอีกสักพัก และพยายามอีกครั้งหลังจากผ่านไป 3-4 สัปดาห์

การใช้โถส้วมแทนกระโถน

เด็กบางคนเริ่มใช้โถส้วมแทนกระโถนเร็วกว่าเด็กคนอื่นๆ ทั้งนี้การใช้แผ่นรองนั่งชักโครกสำหรับเด็กสามารถช่วยให้ลูกของคุณรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจเมื่อนั่งโถส้วมมากขึ้น ซึ่งการวางขาบนบันไดที่ติดมาด้วยจะช่วยให้เด็กถ่ายอุจจาระได้สะดวก อย่างไรก็ตาม หากคุณมีลูกชาย คุณจำเป็นต้องให้เขานั่งถ่ายอุจจาระบนโถส้วมทุกวัน เพราะเมื่อเขาเริ่มยืนปัสสาวะ เขาก็อาจลืมเกี่ยวกับการถ่ายอุจจาระ และสามารถทำให้เขามีอาการท้องผูกได้ในที่สุด

ทำไมการเล่นถึงเป็นเรื่องสำคัญ?

การเล่นไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกสนุกเท่านั้น แต่มันยังเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็กเล็ก อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กต้องการได้รับเวลาและความสนใจจากใครสักคนหนึ่งที่พร้อมจะเล่นกับเขา

แม้ว่าผู้ปกครองควรหาเวลาเล่นกับลูก แต่ในบางครั้งคุณก็อาจไม่มีเวลาเพราะต้องจัดการกับเรื่องต่างๆ อย่างไรก็ดี เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเล่นสนุกด้วยตัวเอง หากคุณไม่ได้ทำงานนอกบ้าน คุณก็อาจหาหนทางอื่นที่ให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่คุณทำอย่างการทำงานบ้าน เด็กจะเรียนรู้ทุกสิ่งที่เขาทำ และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

การให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ

เมื่อคุณล้างจาน คุณอาจให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ให้ลูกช่วยล้างฝาหม้อ ในขณะที่คุณทำอาหาร ให้คุณสาธิตให้ลูกดูและพูดคุยกับเขา ทั้งนี้การให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่คุณทำยังช่วยสอนให้เด็กรู้จักการช่วยเหลือผู้อื่นกลับคืนและสามารถดูแลตัวเอง นอกจากนี้เขาจะเรียนรู้โดยลอกเลียนสิ่งที่คุณทำ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่คุณอยู่กับลูก คุณไม่ควรเข้มงวดกับตารางเวลามากเกินไป ให้คุณทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกโดยยึดตามอารมณ์ของคุณทั้งคู่

คำแนะนำเกี่ยวกับการเล่นกับเด็กเล็ก

  • ให้เด็กดู คิด และทำสิ่งต่างๆ
  • พูดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ให้ลูกฟัง การแบ่งปันเรื่องราวที่พบเจอให้เขาฟังมากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ
  • ให้เด็กมีโอกาสใช้ร่างกายของตัวเอง เช่น วิ่ง กระโดด และปีนป่าย
  • ให้คนอื่นอยู่เป็นเพื่อนลูกเมื่อคุณจำเป็นต้องใช้สมาธิทำบางสิ่ง

สิ่งที่คุณให้เด็กเล่นนั้นไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงและยาก คุณอาจอ่านหนังสือและร้องเพลงกับลูก นอกจากจะสนุกแล้ว มันก็ยังช่วยเสริมสร้างทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร ทั้งนี้ให้คุณใช้สิ่งของที่คุณมีอยู่แล้วที่บ้านและเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้จากคุณมากกว่าการเล่นของเล่นชิ้นใดๆ ก็ตาม

ไอเดียการเล่นที่เหมาะสำหรับเด็กทุกวัย

เล่นกับน้ำ

ทารก เด็กวัยเตาะแตะ และเด็กเล็กชอบเล่นกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำในอ่างอาบน้ำ สระน้ำตื้นขนาดเล็กสำหรับเด็ก หรือแม้แต่ซิงค์ หรือถ้วยพลาสติก ทั้งนี้คุณอาจใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการเล่นน้ำกับลูก เช่น ขวดน้ำพลาสติกหรือสายยาง ฟองน้ำ กระชอน หลอด กรวย ช้อน หรืออุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ ที่ไม่แตกหรือหักง่าย

อย่างไรก็ดี คุณไม่ควรปล่อยให้เด็กเล็กเล่นน้ำเพียงลำพัง เพราะทารกหรือเด็กเล็กสามารถจมน้ำแม้ว่าน้ำลึกเพียงแค่ 5 เซนติเมตร หรือ 2 นิ้ว

อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

คุณสามารถเริ่มนั่งดูหนังสือกับลูกตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็ก ซึ่งมันจะมีส่วนช่วยเกี่ยวกับการเรียนรู้ในอนาคตของเขา นอกจากนี้การใช้เวลาอ่านหนังสือกับลูกยังช่วยสร้างสายใยรักระหว่างคุณทั้งคู่ และดีต่อสุขภาวะทางอารมณ์ แม้ว่าคุณอ่านหนังสือให้ทารกฟังทั้งๆ ที่เขายังไม่สามารถพูดได้ แต่เขาก็จะเพลิดเพลินกับการฟังสิ่งที่คุณเล่า และเขาจะพยายามจับเสียง จังหวะ และเสียงสัมผัส นอกจากนี้ทารกยังชอบดูภาพในหนังสืออีกด้วย

อย่างไรก็ดี นอกจากคุณจะซื้อหนังสือมาอ่านกับลูกแล้ว คุณอาจพาลูกไปห้องสมุดสาธารณะซึ่งมีหนังสือเด็กให้เลือกอ่านมากมาย แม้ว่าคุณใช้เวลา 10 นาทีในการอ่านหรือดูหนังสือกับลูก แต่เท่านี้ก็เพียงพอที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะที่สำคัญและทำให้เด็กสนใจการอ่านหนังสือ

ไอเดียการเล่นสำหรับเด็กที่มีอายุ 4 เดือน

เล่นเขย่าขวด

ให้คุณล้างขวดพลาสติกและใส่ถั่วเมล็ดแห้งลงไป หลังจากปิดฝาจนสนิทแล้ว ให้คุณเขย่าขวดต่อหน้าลูก ซึ่งเขาจะเรียนรู้วิธีสร้างเสียงโดยใช้ขวด

ไอเดียการเล่นสำหรับเด็กที่มีอายุ 18 เดือน

เล่นแป้งโดว์

คุณสามารถทำแป้งโดว์ด้วยตัวเองโดยใช้น้ำ 1 ถ้วย แป้งอเนกประสงค์ 1 ถ้วย ครีมออฟทาร์ทาร์ 2 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1/2 ถ้วย น้ำมันสำหรับทำอาหาร 1 ช้อนโต๊ะ และสีผสมอาหารหรือสีแบบผงเล็กน้อย

ทั้งนี้ให้คุณนำส่วนผสมข้างต้นไปคนในหม้อโดยเปิดไฟระดับปานกลางจนกระทั่งกลายเป็นแป้งโดว์ เมื่อแป้งเย็นตัวลง คุณก็ค่อยปั้นแป้งเป็นรูปทรงต่างๆ ให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง หลังจากที่เล่นจนพอใจแล้ว ให้คุณเก็บแป้งในกล่องพลาสติก และนำไปแช่ตู้เย็นเพื่อที่คุณสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

เล่นทำอาหาร

ให้คุณใช้ถ้วยและช้อนวัดปริมาณของส่วนผสมจริง เช่น แป้ง ถั่ว ข้าว น้ำตาล แป้งคัสตาร์ด ฯลฯ คุณและลูกสามารถนำวัตถุดิบดังกล่าวมาผสมกับน้ำภายในถ้วย

วาดรูปและระบายสี

ให้คุณใช้ดินสอสี ปากกาเมจิก หรือผงสีในการวาดรูปและระบายสี คุณสามารถทำให้ผงสีหนาขึ้นโดยเติมน้ำยาล้างจานและน้ำลงไป อันดับแรกให้คุณสาธิตการถือดินสอสีหรือพู่กัน หากคุณไม่มีกระดาษ คุณสามารถใช้กระดาษด้านในกล่องซีเรียลหรือซองจดหมายเก่าๆ ที่ถูกแกะแล้ว

ตุ๊กตาหุ่นเชิดที่ทำจากถุงเท้า

ให้คุณใช้ถุงเท้าและซองกระดาษทำตุ๊กตา และวาดใบหน้าลงบนอุปกรณ์เหล่านี้หรือติดวัสดุต่างๆ ลงไปเพื่อสร้างตัวการ์ตูนตามที่คุณต้องการ จากนั้นคุณอาจเล่นโดยให้ตุ๊กตาพูดกันเอง พูดกับคุณ หรือพูดกับลูก

เดินเล่น

เมื่อลูกสามารถเดิน คุณอาจพาลูกไปเดินเล่นด้วย แม้ว่าการพาลูกไปเดินเล่นจะทำให้คุณเดินได้ช้าลง แต่มันกลับเป็นวิธีออกกำลังกายที่ดีต่อคุณทั้งคู่

ไอเดียการเล่นสำหรับเด็กที่มีอายุ 24 เดือน

แต่งตัว

คุณอาจนำหมวก กระเป๋า ถุงมือ ผ้าพันคอ ชุดนอน เศษผ้า และผ้าม่านที่ไม่ใช้แล้วมาเล่นแต่งตัวกับลูก แต่คุณต้องมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีเชือกหลวมๆ สาย หรือเชือกที่สามารถพันคอของลูก หรือทำให้คุณทั้งคู่หกล้ม นอกจากนี้คุณอาจนำจานกระดาษหรือกล่องซีเรียลมาตัดให้เป็นหน้ากากและกรีดกระดาษบริเวณดวงตา และนำมาติดที่ใบหน้าโดยใช้เชือกหรือหนังยาง

โทรทัศน์

การให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีดูโทรทัศน์เป็นเรื่องที่เราไม่แนะนำ ทั้งนี้คุณควรจำกัดให้ลูกดูโทรทัศน์น้อยกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันเมื่อเขามีอายุ 2 ปี อย่างไรก็ดี โทรทัศน์สามารถมอบความบันเทิงให้ลูกของคุณ และทำให้คุณมีเวลาทำสิ่งต่างๆ ในระหว่างที่ลูกดูโทรทัศน์ แต่คุณก็ไม่ควรให้ลูกดูโทรทัศน์ตลอดเวลา รวมถึงหมั่นสังเกตว่าลูกกำลังดูรายการอะไร หากเป็นไปได้ ให้คุณดูโทรทัศน์พร้อมกับลูกเพื่อที่คุณสามารถพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังดู

ไอเดียการเล่นสำหรับเด็กที่มีอายุ 30 เดือน

สร้างแบบจำลองที่ทำมาจากวัสดุเหลือใช้

ให้คุณนำกล่องกระดาษแข็ง กล่องกระดาษ แก้วใส่โยเกิร์ต ฝาขวดนม หรือสิ่งใดๆ ก็ตามที่คุณสามารถคิดออกมาใช้สร้างแบบจำลองหรือหุ่นจำลอง ทั้งนี้ให้คุณซื้อกาวสำหรับเด็กมาให้ลูกใช้ และช่วยลูกประกอบแบบจำลองตามที่เขาต้องการ

ความปลอดภัยในการใช้ของเล่น

ของเล่นแต่ละชนิดมักมีการระบุว่าเด็กวัยใดสามารถเล่นได้ หากมีการกำหนดว่าไม่เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุ 36 เดือน คุณก็ไม่ควรให้ทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปีเล่น ทั้งนี้ให้คุณตรวจสอบของเล่นก่อนว่ามีมุมที่แหลมคม หรือมีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ลูกสามารถกลืนได้หรือไม่

นอกจากนี้ของเล่นบางชิ้นมีถ่านก้อนกระดุมซึ่งมีขนาดเล็กและเป็นทรงกลม หากเด็กกลืนหรือนำไปใส่ในจมูกหรือรูหู มันก็สามารถทำให้เกิดอาการแสบร้อนภายในอย่างรุนแรง ดังนั้นให้คุณเก็บถ่านก้อนกระดุมให้พ้นมือเด็ก และตรวจสอบของเล่นว่ามีการขันสกรูอย่างแน่นหนา หากคุณคิดว่าลูกกลืนถ่านก้อนกระดุม ให้คุณรีบพาเขาไปโรงพยาบาลทันที

ของเล่นสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ของเล่นสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษควรเหมาะสมกับพัฒนาการและความสามารถของเขา หากลูกของคุณเล่นของเล่นที่ออกแบบมาเพื่อเด็กที่มีอายุน้อยกว่า คุณก็ควรตรวจสอบว่าของเล่นมีความแข็งแรงมากพอและไม่หักหรือแตกขณะเล่น

ทั้งนี้เด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นเหมาะกับของเล่นที่มีพื้นผิวต่างกันเพื่อที่เขาจะได้สำรวจของเล่นโดยใช้มือและปาก ในขณะที่เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินเหมาะกับของเล่นที่ช่วยกระตุ้นความสามารถทางภาษา เช่น ของเล่นที่ผู้เล่นจะต้องจับคู่ระหว่างตัวอักษรและรูปภาพ

การให้ทารกและเด็กวัยเตาะแตะเคลื่อนไหวร่างกาย

การกระตุ้นให้ทารกเคลื่อนไหวและเพลิดเพลินกับการเล่นที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วเป็นเรื่องที่สำคัญ ก่อนที่ทารกจะเริ่มคลาน คุณอาจกระตุ้นให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายโดยฝึกให้เขาทำดังนี้

  • เอื้อมและคว้า
  • ดึงและผลัก
  • เคลื่อนศีรษะ ลำตัว แขน และขาระหว่างทำกิจวัตรประจำวัน
  • ให้เขาเล่นบนพื้นโดยที่อยู่ในสายตาของคุณ

เมื่อเด็กเติบโตและมีพัฒนาการ เขาจะชอบคลาน เดิน วิ่ง กระโดด และปีนป่าย ทั้งนี้เด็กที่สามารถเดินด้วยตัวเองควรเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน โดยสามารถทำได้ทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน

การให้เด็กได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกายและเผาผลาญพลังงานสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงช่วยให้ทักษะการทำงานประสานกันของอวัยวะและการนอนดีขึ้น ซึ่งการฝึกให้เด็กทำสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เขายังเป็นเด็กจะช่วยเสริมสร้างอุปนิสัยที่ดีต่อสุขภาพสำหรับชีวิตหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ทารกและเด็กเล็กไม่ควรนั่งหรือนอนเป็นเวลานานยกเว้นตอนนอนหลับ นอกจากนี้คุณไม่ควรให้เขาดูโทรทัศน์ ใช้แท็บเล็ต หรือนั่งบนรถเข็น คาร์ซีท หรือเก้าอี้สูงสำหรับเด็กนานเกินไป หากคุณจำเป็นต้องขับรถทางไกล ให้คุณจอดรถเพื่อพัก และพาเด็กออกมาจากที่นั่งสักครู่

วิธีทำให้ลูกเคลื่อนไหว

  • วางทารกลงเพื่อให้เขาสามารถใช้เท้าเตะ
  • ให้เขามีเวลานอนคว่ำและวางของเล่นให้เขาคว้าใกล้ๆ ตัว หากเขายังเด็กมาก ให้คุณทำเช่นนี้บ่อยครั้งแต่จำกัดเวลาให้สั้น รวมถึงให้เขานอนคว่ำเมื่อเขาตื่นและต้องอยู่ในสายตาของคุณ
  • การดึง การดัน การคว้า และการเล่นกับคนอื่นๆ เป็นวิธีที่ดีในการฝึกการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย
  • เมื่อทารกเริ่มคลาน ให้คุณปล่อยให้เขาคลานไปรอบๆ แต่ให้คุณตรวจสอบก่อนว่าพื้นปลอดภัยสำหรับทารกหรือไม่
  • การให้ทารกเล่นนอกบ้านช่วยให้เขาเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งรอบตัว
  • คุณสามารถพาทารกไปว่ายน้ำตั้งแต่เขายังเด็กมากโดยไม่จำเป็นต้องรอจนกระทั่งเขาฉีดวัคซีน

คำแนะนำเกี่ยวกับกิจกรรมสำหรับเด็กวัยเตาะแตะและเด็กเล็ก

  • ให้ลูกที่อยู่ในวัยเตาะแตะเดินกับคุณแทนที่จะให้เขานั่งรถเข็นตลอดเวลา
  • เด็กวัยเตาะแตะและเด็กเล็กชอบไปสวนสาธารณะ ซึ่งเขาสามารถปีนป่าย เล่นชิงช้า หรือวิ่งไปรอบๆ
  • ของเล่นที่เด็กสามารถหยิบขึ้นมาและเคลื่อนไหวไปรอบๆ จะช่วยให้การทำงานประสานกันของร่างกายดีขึ้น และช่วยพัฒนากล้ามเนื้อในแขนและมือ
  • ให้เด็กมีส่วนช่วยในการทำงานบ้าน เช่น เก็บของที่ซื้อมา จัดบ้านให้เรียบร้อย หรือแยกประเภทเสื้อผ้าที่ต้องซัก
  • สอนให้ลูกร้องเพลงพร้อมกับทำท่าประกอบ และสนับสนุนให้เขาเต้นตามเพลง
  • ให้คุณเข้ามามีส่วนร่วมกับการเล่นของลูกเมื่อคุณสามารถทำได้ การได้เคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมๆ กันเป็นวิธีที่ช่วยให้คุณได้ใช้เวลากับลูกและแสดงให้เขาเห็นว่าการทำกิจกรรมเป็นเรื่องที่สนุก ทั้งนี้ให้คุณสาธิตการทำกิจกรรมใหม่ๆ ให้ลูกดูเพื่อที่เขาสามารถลอกเลียน และอย่าลืมพูดชมเชยลูก
  • หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายและพยายามออกกำลังกาย เพราะคุณเป็นแบบอย่างของลูก หรือคุณจะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมหากเป็นไปได้

การสอนให้เด็กพูด

การพูดเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างมิตรภาพ และทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจโลกรอบๆ ตัว ซึ่งการพูดกับลูกตั้งแต่วันที่เขาเกิดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทารกจำเป็นต้องเข้าใจคำศัพท์ก่อนที่พวกเขาสามารถพูดได้

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถมีส่วนช่วยให้เด็กเรียนรู้โดยอุ้มเขาแนบกับลำตัว มองตาเขา และพูดกับเขาทันทีที่เขาเกิด เด็กจะมองกลับมายังคุณ และจะเริ่มเข้าใจว่าการสนทนาเป็นอย่างไร แม้แต่การทำเสียงเลียนแบบทารกก็จะช่วยสอนเกี่ยวกับการฟัง ความสำคัญของคำ และการผลัดกันสนทนา นอกจากนี้ในขณะที่คุณสอนให้ลูกสนทนา คุณยังได้สร้างความสัมพันธ์กับลูกอีกด้วย

เมื่อลูกของคุณเริ่มสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ให้คุณเริ่มบอกชื่อ และชี้สิ่งที่คุณและลูกมองเห็น เช่น เมื่อคุณเจอแมว ให้คุณชี้ไปที่แมวและพูดคำว่าแมว ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้ทารกเรียนรู้คำศัพท์และเขาจะเริ่มเลียนแบบคุณในที่สุด เมื่อลูกของคุณสามารถพูดคำศัพท์ได้ประมาณ 100 คำ เขาจะเริ่มสร้างประโยคสั้นๆ ได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 2 ปี

คำแนะนำเกี่ยวกับการสอนทารกพูด

 คำแนะนำที่เรากำลังจะกล่าวหลังจากนี้จะช่วยให้ทารกเริ่มพูด

การพูดกับเด็ก

  • ให้คุณพูดกับลูกนับตั้งแต่วันที่เขาเกิด ทำสีหน้า เสียง และพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงถามว่าตอนนี้เขาหิวหรือต้องการกินนมหรือไม่
  • เริ่มดูหนังสือกับทารกตั้งแต่เนิ่นๆ คุณไม่จำเป็นต้องอ่านคำศัพท์ในหนังสือ เพียงแต่ให้คุณพูดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเห็น
  • เมื่อคุณและลูกออกไปนอกบ้าน ให้คุณชี้สิ่งต่างๆ และพูดชื่อของสิ่งนั้น เมื่อทารกโตขึ้น ให้คุณพูดรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างการบอกว่าสิ่งนั้นมีสีอะไร
  • เมื่อทารกโตกว่านี้ คุณก็อาจเปิดเพลงหรือร้องเพลงที่มีจังหวะสนุกสนานให้เขาฟัง โดยเฉพาะเพลงที่มีท่าประกอบ

การช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเสียงและคำ

  • หากคุณทำเสียงแบบเดียวกับที่ทารกทำ ทารกจะเรียนรู้วิธีการเลียนแบบคุณ
  • หากลูกของคุณพยายามพูดเป็นคำแต่พูดไม่ถูกต้อง ให้คุณพูดคำที่ถูกให้เขาฟัง และไม่ตำหนิหรือดุเขา
  • เมื่อลูกของคุณพูดได้แล้ว ให้คุณสอนประโยคสั้นๆ และไม่ยากจนเกินไป
  • คุณสามารถทำให้เด็กรู้คำศัพท์มากขึ้นโดยถามคำถามที่ต้องเลือก เช่น ลูกต้องการทานแอปเปิ้ลหรือกล้วย
  • เล่นเกมส์ที่คุณทั้งคู่ต้องผลัดกันทำ เช่น เล่นซ่อนแอบ

การหาเวลาฟังและพูดกับลูก

  • การหาโอกาสพูดกับลูกจะช่วยให้เขาเรียนรู้ที่จะพูด เช่น ตอนอาบน้ำ ตอนอยู่ในรถ หรือก่อนเข้านอน ฯลฯ หากคุณถามคำถาม คุณควรให้เวลาลูกสักพักในการตอบ
  • เรียกความสนใจจากลูกโดยพูดชื่อของเขาตอนเริ่มต้นประโยค
  • เสียงรบกวนจะทำให้ลูกได้ยินเสียงที่คุณพูดยากขึ้น ดังนั้นให้คุณปิดโทรทัศน์และวิทยุ
  • จำกัดจำนวนชั่วโมงการดูโทรทัศน์ไม่ให้เกินกว่าครึ่งชั่วโมงต่อวันหากลูกมีอายุน้อยกว่า 2 ปี ซึ่งการให้ลูกเล่นและฟังนิทานจะมีประโยชน์มากกว่าเมื่อเขากำลังเรียนรู้ที่จะพูด
  • จำกัดการใช้จุกนมหลอกเมื่อถึงเวลาเข้านอน เพราะการมีจุกนมอยู่ในปากจะทำให้การเรียนรู้ที่จะพูดเป็นไปได้ยากขึ้น

กรณีที่เด็กพูดไม่ค่อยได้

เด็กบางคนอาจรู้สึกว่าการเรียนรู้ความหมายของคำเป็นเรื่องยาก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้คำหรือการนำคำมาสร้างประโยค ในขณะที่เด็กบางคนอาจสร้างประโยคยาวๆ แต่กลับไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณจำเป็นต้องช่วยเหลือเขา หากคุณกังวลเกี่ยวกับพัฒนาการด้านภาษาของลูก ให้คุณลองปรึกษาแพทย์

การเลี้ยงลูกแบบสองภาษา

มีเด็กหลายคนที่เติบโตมาในครอบครัวที่ใช้มากกว่าหนึ่งภาษาในการพูด ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์สำหรับเด็ก สิ่งสำคัญคือ การพูดกับลูกด้วยภาษาใดๆ ก็ตามที่คุณรู้สึกสบายใจ ด้วยความที่เด็กสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี คุณอาจพูดภาษาหนึ่งในขณะที่สามีพูดอีกภาษา

การสอนเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต้องใช้ทุกวัน

เมื่อเด็กเล่น เขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เขาต้องการเรียนรู้ และบ่อยครั้งที่สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่คุณต้องการให้พวกเขาเรียนรู้ด้วย ในบางครั้งเด็กอาจต้องได้รับการช่วยเหลือจากคุณเพื่อเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้กระโถน การซักเสื้อผ้าและการแต่งตัว สิ่งที่ไม่ควรจับ และสถานที่ๆ ไม่ปลอดภัยต่อการวิ่ง

คำแนะนำเกี่ยวกับการสอนเรื่องในชีวิตประจำวัน

คำแนะนำที่เรากำลังจะกล่าวหลังจากนี้สามารถช่วยให้ชีวิตของคุณและลูกง่ายขึ้น

1) การรอจนกว่าลูกจะพร้อม

หากคุณพยายามสอนบางสิ่งให้ลูกเร็วเกินไป มันก็อาจไม่สำเร็จและทำให้คุณทั้งคู่รู้สึกท้อแท้ หากคุณกำลังอยู่ในช่วงที่สอนบางสิ่งแก่เขาและมันไม่ได้ผล ให้คุณทิ้งช่วงสัก 3-4 อาทิตย์ และค่อยลองใหม่อีกครั้ง

2) อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่

ลูกของคุณอาจเรียนรู้วิธีการทานอาหารโดยใช้ช้อนได้อย่างรวดเร็ว แต่เขาก็อาจต้องการให้คุณป้อนอาหารเมื่อเขารู้สึกเหนื่อย หรือเขาอาจใช้กระโถนในการขับถ่ายไม่กี่ครั้งและต้องการกลับไปใส่ผ้าอ้อมตามเดิม ซึ่งคุณไม่ควรวิตกกังวล การที่ลูกทำสิ่งที่เรากล่าวไปไม่ได้หมายความว่าคุณล้มเหลวในการสอนลูก คุณอาจต้องให้เวลาลูกได้เรียนรู้

3) เก็บบางสิ่งที่เป็นอันตรายให้พ้นมือลูก

ด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมพวกเขาไม่ควรเล่นกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือวัตถุที่สามารถแตกหรือหัก ดังนั้นคุณควรเก็บสิ่งเหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก

4) ให้กำลังใจ

ลูกของคุณต้องการทำให้คุณพอใจ หากคุณยิ้มกว้าง กอด หรือพูดชมลูกเมื่อเขาทำบางสิ่งถูกต้อง พวกเขามีแนวโน้มที่จะทำเช่นนี้อีกครั้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่าการว่าลูกเมื่อเขาทำผิด

5) อยู่กับความจริง

คุณไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือเห็นผลลัพธ์ในทันที หากคุณคาดการณ์ว่าลูกจะทำสิ่งต่างๆ โดยใช้เวลานานกว่าที่คุณคิด คุณก็จะประหลาดใจและรู้สึกดีใจหากเขาทำได้เร็วกว่านั้น

6) ทำตัวอย่างให้ลูกเห็น

ลูกของคุณต้องการเป็นแบบคุณและต้องการทำสิ่งที่คุณทำ ดังนั้นให้คุณซักผ้า แปรงฟัน และใช้ห้องน้ำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง

7) ยึดมั่นในสิ่งที่สอน

เด็กต้องการแนวทางปฏิบัติตัวที่สม่ำเสมอหรือไม่เปลี่ยนไปมา หากคุณตัดสินใจให้ลูกทำอะไรสักอย่างแล้ว ให้คุณทำตามนั้นอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น หากคุณเริ่มฝึกให้ลูกใช้กระโถนแต่ลูกยังไม่พร้อม การลองสอนลูกใหม่อีกครั้งใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้าก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ถ้าลูกใส่ผ้าอ้อมแล้วคุณไม่ให้เขาใส่ในวันถัดไป และให้เขากลับมาใส่ผ้าอ้อมอีกครั้งหลังจากนั้น เขาก็อาจสับสน

8) ทำสิ่งที่สอนให้ได้อย่างสม่ำเสมอ

ทุกคนที่เป็นคนดูแลลูกของคุณควรสอนเขาไปในทางเดียวกันโดยไม่ให้ต่างกันมากหรือน้อยเกินไป หากคุณ คนรัก หรือพี่เลี้ยงสอนลูกของคุณแตกต่างกัน ลูกก็จะเรียนรู้ได้ยากขึ้น

9) สอนลูกตามสถานภาพของตัวเอง

ห้คุณทำสิ่งที่เหมาะสำหรับลูกของคุณ และสถานภาพความเป็นอยู่ของตัวเอง รวมถึงไม่เปรียบเทียบลูกของตัวเองกับลูกของคนอื่น               

การดูแลเด็กวัยเตาะแตะที่อยู่ไม่นิ่ง

เด็กเล็กมักอยู่ไม่นิ่ง และเป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้มีพลังล้นเหลือ ซึ่งการให้ทารกและเด็กวัยเตาะแตะเคลื่อนไหวร่างกายทุกวันเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพของเขา อย่างไรก็ตาม การดูแลเด็กที่อยู่ไม่นิ่งสามารถทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยและเครียด แต่มีหลายวิธีที่สามารถช่วยให้ชีวิตของคุณและลูกง่ายขึ้น

วิธีรับมือกับเด็กที่อยู่ไม่นิ่ง

  • รักษากิจวัตรประจำวัน: หากลูกของคุณกระสับกระส่ายหรืออยู่ไม่นิ่ง การกำหนดกิจวัตรสามารถช่วยได้ ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้คุณสงบลงและรับมือกับความเครียดได้
  • อุทิศเวลาให้ลูก: เนื่องจากลูกของคุณอาจต้องการความสนใจจากคุณเกือบตลอดวัน ดังนั้นการมีเวลาและให้ความสนใจกับลูกจะช่วยให้เขาสงบลงได้
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เด็กงอแง: ตัวอย่างเช่น จำกัดเวลาที่ใช้ช็อปปิ้งให้สั้นลง
  • พาออกไปนอกบ้านทุกวัน: ให้คุณพาลูกไปเดินเล่นหรือเล่นในสนามเด็กเล่นหรือสถานที่อื่นๆ ที่ปลอดภัยและเด็กสามารถวิ่งไปรอบๆ และได้ปลดปล่อยพลังงาน
  • ตั้งเป้าหมายเล็กๆ: ให้คุณควบคุมลูกหรือทำให้เขานั่งนิ่งๆ และสนับสนุนให้เขาทำสมาธิเป็นเวลาสั้นๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลา แต่ให้คุณจำไว้ว่าคุณไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้ในชั่วข้ามคืน

อย่างไรก็ตาม มีเด็กหลายคนที่ดูเหมือนว่าอยู่ไม่นิ่งมากเกินไป แต่มีเด็กในประเทศอังกฤษประมาณ 2% เท่านั้นที่เป็นโรคสมาธิสั้น หรือที่เรียกว่า Hyperactivity Disorder (ADHD) ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้ปกครองและแพทย์ในการจำแนกความแตกต่างระหว่างการมีระดับพลังงานที่ปกติของเด็กเล็กและการมีอาการของโรคสมาธิสั้น หากคุณกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูก ให้คุณลองปรึกษาแพทย์

ปัญหาเด็กดื้อรั้น

คนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีแตกต่างกัน สิ่งที่คุณมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีอาจดูเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ปกครองคนอื่นๆ และสิ่งที่ผู้ปกครองคนอื่นๆ มองว่าไม่ดีก็อาจเป็นเรื่องปกติสำหรับคุณเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมที่คุณอาศัยสามารถส่งผลต่อการตัดสินพฤติกรรมของเด็ก ตัวอย่างเช่น คุณจะรับมือกับความไม่เป็นระเบียบของลูกได้ยากขึ้นหากที่บ้านมีพื้นที่น้อยเกินไป นอกจากนี้การตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กของพ่อแม่แต่ละคนก็แตกต่างกัน บางคนเข้มงวดกว่าคนอื่นๆ ในขณะที่บางคนกลับมีความอดทนมากกว่า

อุปนิสัยของเด็กก็ทำให้เกิดความแตกต่างเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เด็กบางคนตอบสนองต่อความเครียดโดยส่งเสียงรบกวนและต้องการได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ในขณะที่เด็กบางคนเก็บตัวและซ่อนตัว

สาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้เด็กดื้อรั้น

มีหลายสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้เด็กดื้อรั้น สำหรับสาเหตุที่เป็นไปได้มีดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็กสามารถเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเขา ตัวอย่างเช่น การมีน้อง การย้ายบ้าน การเปลี่ยนคนดูแล หรือการไปเพลย์กรุ๊ป
  • เด็กสามารถรับรู้อารมณ์โกรธของคุณหรือปัญหาอื่นๆ ในครอบครัว พวกเขาอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีเมื่อคุณไม่มีความอดทนต่อพฤติกรรมนั้น หากคุณมีปัญหา คุณไม่ควรโทษตัวเอง และไม่โทษลูกหากเขาแสดงพฤติกรรมที่ดื้อรั้น
  • ในบางครั้งเด็กอาจตอบสนองอย่างเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีที่คุณใช้รับมือกับปัญหาในอดีต เช่น หากคุณให้ขนมลูกเพื่อให้เขาเงียบตอนอยู่ในร้านค้า เขาก็อาจคาดหวังว่าจะได้ของหวานทุกครั้งที่ไปสถานที่ดังกล่าว
  • ลูกของคุณอาจคิดว่าการแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดเป็นวิธีที่ดึงความสนใจจากคุณได้ เขาอาจตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะต้องการให้คุณกอดหรืออยู่เป็นเพื่อน ทั้งนี้ให้คุณพยายามให้ความสนใจลูกมากขึ้นเมื่อเขาทำตัวดีและน้อยลงเมื่อเขาทำตัวดื้อรั้น
  • ลูกอาจเหนื่อย หิว ตื่นเต้นมากเกินไป ผิดหวัง หรือเบื่อ

หากลูกของคุณทำตัวไม่ดี ให้คุณคิดก่อนว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นปัญหาจริงๆ หรือไม่ โดยให้พิจารณาว่าคุณจำเป็นต้องแก้ไขตอนนี้ หรือมันจะหายไปเองเมื่อเขาโตขึ้น นอกจากนี้ให้คิดว่าพฤติกรรมของลูกเป็นปัญหาสำหรับคนอื่นๆ หรือไม่ เพราะพฤติกรรมที่ไม่ได้ทำให้คุณวิตกกังวลสามารถเป็นปัญหาสำหรับคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัว

ในบางครั้งการจัดการกับพฤติกรรมดังกล่าวสามารถทำให้ปัญหาแย่ลงอย่างน้อยสักพัก แต่หากปัญหาที่ว่าทำให้คุณและลูกไม่มีความสุข หรือสร้างความรำคาญให้แก่คนอื่นๆ ในครอบครัว คุณก็ควรหาทางแก้ปัญหา ซึ่งเราอยากแนะนำดังนี้

1) ทำสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง

สิ่งที่คุณทำจำเป็นต้องเหมาะสำหรับลูก คุณ และครอบครัว หากคุณทำบางสิ่งที่คุณไม่ได้มีความเชื่อในสิ่งนั้นหรือคุณรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง มันก็อาจไม่ได้ผล เด็กสามารถรู้หากคุณไม่ได้หมายความตามที่พูด

2) อย่ายอมแพ้

เมื่อคุณตัดสินใจได้แล้วว่าจะทำบางสิ่ง ให้คุณทำมันต่อไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ให้คุณขอความช่วยเหลือจากคนรัก เพื่อน พ่อแม่คนอื่นๆ หรือแพทย์ ซึ่งการได้พูดคุยกับใครสักคนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังจะทำนับว่าเป็นเรื่องที่ดี

3) ทำอย่างสม่ำเสมอ

เด็กต้องการความสม่ำเสมอ หากคุณตอบสนองต่อพฤติกรรมของเด็กแบบหนึ่ง และเปลี่ยนไปใช้อีกวิธีในวันถัดไป มันก็สามารถทำให้เด็กสับสน ซึ่งทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กควรใช้วิธีแก้ปัญหาที่ไปในทางเดียวกัน

4) อย่าแสดงปฏิกิริยาเกินจริง

เมื่อลูกของคุณทำบางสิ่งที่น่ารำคาญ คุณสามารถรู้สึกโกรธและไม่พอใจ ทั้งนี้คุณควรควบคุมอารมณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้ตัวเองแสดงอาการหงุดหงิดหรือโกรธใส่ลูก มิเช่นนั้นมันจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง หลังจากที่คุณว่ากล่าวลูกแล้ว ให้คุณพาลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยให้คุณทั้งคู่เพลิดเพลินและมีความสุข

5) คุยกับลูก

คุณควรให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผลของการให้เขาทำบางสิ่ง เช่น อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเขาต้องกุมมือของคุณขณะเดินข้ามถนน หรือเข้าไปนั่งรถเข็นเมื่อถึงเวลากลับบ้าน เมื่อลูกของคุณสามารถพูดได้ คุณควรเปิดโอกาสให้ลูกอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เขาโกรธหรือหงุดหงิด การทำเช่นนี้จะช่วยลดความรู้สึกไม่พอใจ

6) มองโลกในแง่บวก

เมื่อลูกทำตัวดื้อรั้น คุณก็อาจมองข้ามสิ่งดีๆ ที่เขาทำ ทั้งนี้ให้คุณบอกลูกเมื่อคุณพอใจกับสิ่งที่เขาทำ ซึ่งคุณสามารถบอกให้ลูกรู้โดยให้ความสนใจ กอด หรือยิ้ม

7) ให้รางวัล

คุณสามารถมีส่วนช่วยให้ลูกดื้อรั้นน้อยลงโดยให้รางวัลเมื่อเขาทำตัวดี ตัวอย่างเช่น การพูดชมเชย หรือให้เขาทานอาหารโปรด หากลูกทำตัวดี ให้คุณบอกเขาด้วยว่าคุณพอใจมากเพียงใด แต่คุณไม่ควรให้รางวัลลูกก่อนที่เขาจะทำสิ่งที่คุณร้องขอได้สำเร็จ

8) หลีกเลี่ยงการตี

การตีอาจทำให้เด็กหยุดทำบางสิ่ง ณ ขณะนั้น แต่มันกลับไม่เป็นผลดีในระยะยาว ทั้งนี้เด็กเรียนรู้จากตัวอย่าง ดังนั้นหากคุณตีลูก นั่นก็เท่ากับว่าคุณกำลังสอนว่าการตีเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ เด็กที่โดนผู้ปกครองปฏิบัติตัวอย่างก้าวร้าวมีแนวโน้มที่จะมีนิสัยก้าวร้าวเช่นกัน ซึ่งการสอนเขาโดยทำตัวเป็นแบบอย่างจึงเป็นวิธีที่ดีกว่า

การขอความช่วยเหลือเมื่อลูกทำตัวดื้อรั้น

หากลูกของคุณทำตัวดื้อรั้นมาก ให้คุณลองปรึกษาแพทย์ การได้รับการสนับสนุนและกำลังใจอาจเป็นสิ่งที่คุณต้องการ เด็กบางคนอาจต้องไปพบแพทย์ผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี การมีลูกที่ทำตัวดื้อรั้นมากสามารถทำให้คุณเครียด ซึ่งการไปพบแพทย์จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

การร้องอาละวาด

โดยทั่วไปแล้วเด็กจะเริ่มร้องอาละวาดเมื่อเขามีอายุประมาณ 18 เดือน และเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในเด็กวัยเตาะแตะ นอกจากนี้การตีและการกัดก็เป็นพฤติกรรมที่พบได้ทั่วไปเช่นกัน

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมเช่นนี้คือ เขาต้องการแสดงความรู้สึกของตัวเองแต่ไม่สามารถทำได้ตามที่ต้องการ ซึ่งเขาจะรู้สึกไม่พอใจ และสุดท้ายเขาก็จะร้องอาละวาด เมื่อเด็กสามารถพูดได้มากขึ้น เขาก็มีแนวโน้มที่จะร้องอาละวาดน้อยลง เมื่อเด็กมีอายุ 4 ปี อาการดังกล่าวก็จะบรรเทาลง

คำแนะนำเมื่อเด็กร้องอาละวาด

1) หาสาเหตุว่าทำไมเด็กถึงร้องอาละวาด

ลูกของคุณอาจเหนื่อยหรือหิว ซึ่งในกรณีนี้เราสามารถแก้ปัญหาได้อย่างง่ายดาย หรือเขาอาจรู้สึกไม่พอใจหรืออิจฉาเด็กคนอื่นๆ เขาอาจต้องการเวลา ความสนใจ และความรัก แม้ว่าเขาทำตัวไม่น่ารักก็ตาม

2) ทำความเข้าใจและยอมรับอารมณ์โกรธของเด็ก

คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองก็เป็นเช่นนั้นในบางครั้ง แต่คุณสามารถแสดงออกโดยใช้วิธีอื่น

3) หาสิ่งที่ช่วยเบี่ยงความสนใจ

หากคุณคิดว่าลูกของคุณเริ่มร้องอาละวาด ให้คุณหาบางสิ่งมาดึงความสนใจจากเขาทันที โดยให้คุณทำเป็นตื่นเต้นและมีทีท่าสนใจสิ่งนั้นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้

4) รอให้ลูกหยุดร้อง

การแสดงอารมณ์โกรธหรือตะคอกใส่ลูกไม่ได้ช่วยให้เขาหยุดอาละวาด ให้คุณเมินเฉยต่อสายตาจากคนรอบข้างที่จับจ้องมาที่คุณ และพยายามใจเย็น

5) อย่าใจอ่อน

การยอมทำตามที่ลูกร้องขอนั้นไม่ได้ช่วยในระยะยาว หากคุณบอกว่าไม่ คุณไม่ควรใจอ่อนในภายหลังเพื่อให้ลูกหยุดอาละวาด มิเช่นนั้นลูกของคุณจะเริ่มคิดว่าการอาละวาดสามารถช่วยให้เขาได้สิ่งที่ต้องการ นอกจากนี้คุณไม่ควรให้ขนมหวานแก่เขาเป็นรางวัล หากคุณอยู่บ้าน ให้คุณพยายามย้ายไปอยู่ห้องอื่นสักพัก แต่ต้องมั่นใจก่อนว่าลูกของคุณจะต้องไม่ทำร้ายตัวเอง

6) เตรียมพร้อมเมื่อไปช็อปปิ้ง

เด็กมักอาละวาดเมื่อเขาอยู่ในร้านค้า ซึ่งสามารถเป็นเรื่องที่น่าอายและความอายจะยิ่งทำให้ยากต่อการทำใจให้สงบดังนั้นคุณควรจำกัดเวลาที่ใช้ช็อปปิ้งให้สั้นที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ รวมถึงให้เด็กเข้ามามีส่วนช่วยในการช็อปปิ้งโดยบอกเขาว่าคุณต้องการซื้อสิ่งใดและยอมให้เขาช่วยคุณหยิบของ

7) พยายามอุ้มลูกให้แนบแน่นจนกว่าเขาจะหยุดอาละวาด

ผู้ปกครองบางคนพบว่าวิธีนี้มีประโยชน์ แต่ก็สามารถทำได้ยากหากเด็กดิ้น อย่างไรก็ดี วิธีนี้มักได้ผลเมื่อเด็กเกิดความรู้สึกไม่พอใจมากกว่ารู้สึกโกรธ และเมื่อคุณใจเย็นพอที่จะพูดกับลูกอย่างนุ่มนวลและทำให้เขาอุ่นใจ

การตี การกัด การเตะ และการต่อสู้

ในบางครั้งเด็กเล็กส่วนมากอาจกัด ตี หรือผลักเด็กคนอื่นๆ เด็กวัยเตาะแตะมักขี้สงสัยและอาจไม่เข้าใจว่าการกัดหรือการดึงผมสามารถทำให้รู้สึกเจ็บเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณจะเติบโตมาเป็นคนก้าวร้าว สำหรับวิธีที่ใช้สอนให้เด็กรู้ว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้มีดังนี้

1) อย่าตี กัด หรือเตะคืน

การทำเช่นนี้สามารถทำให้เด็กคิดว่ามันเป็นการกระทำที่สามารถยอมรับได้ แต่ให้คุณสอนเขาว่าสิ่งที่เขากำลังทำนั้นทำให้คนอื่นเจ็บตัวและคุณไม่ยินยอมให้เขาทำเช่นนั้น

2) พาเด็กไปอยู่อีกห้องหนึ่ง

หากคุณอยู่ที่บ้าน ให้คุณพาเด็กไปอยู่อีกห้องหนึ่งเป็นเวลาสั้นๆ โดยให้ตรวจสอบว่าเขาปลอดภัยก่อนที่จะปล่อยเขาทิ้งไว้ในห้อง

3) พูดคุย

เด็กมักประสบกับเรื่องที่ทำให้เขาโกรธหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย สุดท้ายเขาจะแสดงความรู้สึกของตัวเองโดยทำตัวก้าวร้าว ทั้งนี้การหาว่าสิ่งใดที่ทำให้เขากังวลนั้นเป็นขั้นตอนแรกที่คุณสามารถช่วยเขาได้

4) แสดงความรัก

เด็กอาจทำตัวไม่ดีเพราะต้องการได้รับความสนใจ ดังนั้นให้คุณแสดงความรักต่อลูกโดยพูดชมพฤติกรรมที่เป็นส่วนดีของเขา และกอดเขาเยอะๆ เมื่อเขาทำตัวดี

5) ให้เขาได้มีโอกาสปลดปล่อยความรู้สึกโดยใช้วิธีอื่น

ให้คุณลองหาพื้นที่ๆ มีขนาดกว้าง เช่น สวนสาธารณะ และสนับสนุนให้ลูกวิ่งและตะโกนเพื่อปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเอง การให้เขารู้ว่าคุณรับรู้ความรู้สึกของเขาจะช่วยให้ง่ายต่อการแสดงความรู้สึกของตัวเองโดยไม่ทำร้ายคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หากคุณกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกอย่างจริงจัง การไปพบแพทย์ก็เป็นวิธีที่ดี

การปัสสาวะรดที่นอนในเด็กเล็ก

เมื่อเด็กมีอายุถึง 5 ปี การปัสสาวะรดที่นอนถือเป็นเรื่องปกติ แต่พฤติกรรมดังกล่าวมักหยุดเมื่อลูกของคุณโตขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ ซึ่ง

  • มีเด็กอายุ 5 ปีมากถึง 1 ใน 5 ที่ปัสสาวะรดที่นอน
  • มีเด็กอายุ 10 ปีมากถึง 1 ใน 20 ที่ปัสสาวะรดที่นอน
  • มีวัยรุ่นประมาณ 1 ใน 50 ที่ปัสสาวะรดที่นอน
  • มีวัยรุ่น 1 ใน 100 คนที่ปัสสาวะรดที่นอนต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม การปัสสาวะรดที่นอนเกิดขึ้นเมื่อร่างกายของเด็กผลิตปัสสาวะตอนกลางคืนมากเกินกว่าที่กระเพาะปัสสาวะสามารถกักเก็บไว้ได้ ซึ่งเขาจะไม่รู้ตัว และไม่ได้ตั้งใจปัสสาวะรดที่นอน โดยมักเกิดขึ้นขณะที่เขานอนหลับ

เด็กส่วนมากนอนโดยไม่ปัสสาวะรดที่นอนหลังจากที่พวกเขาได้รับการฝึกให้นั่งกระโถน ทั้งนี้เด็กเล็กส่วนมากมักจะไม่ตื่นเมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็มเหมือนกับเด็กโตส่วนมาก ซึ่งเขาจะค่อยๆ เรียนรู้ทักษะดังกล่าว อย่างไรก็ดี เด็กผู้ชายมีแนวโน้มที่จะปัสสาวะรดใส่ที่นอนมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งชื่อทางการแพทย์ของอาการดังกล่าวก็คือ Nocturnal Enuresis

วิธีรับมือกับปัญหาลูกปัสสาวะรดที่นอน

  • ขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือพยาบาลของโรงเรียนหากลูกถึงวัยที่ต้องเข้าเนิร์สเซอรีหรือเริ่มไปโรงเรียน
  • หากลูกของคุณมีอายุต่ำกว่า 5 ปี คุณไม่จำเป็นต้องพาเขาไปพบแพทย์เว้นเสียแต่ว่าเขาปัสสาวะรดที่นอนบ่อยครั้ง และทำให้เขากลัดกลุ้ม มีอาการท้องผูก เพิ่งเริ่มปัสสาวะรดใส่ตัวเองในระหว่างวันแต่ไม่ได้ปัสสาวะเกือบตลอดวันมาสักพัก ไปเข้าห้องน้ำในระหว่างวันบ่อยครั้ง เช่น ทุกชั่วโมง ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะแม้ว่าไม่กี่วินาทีหรือนาที รู้สึกเจ็บในขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะน้อยกว่า 4 ครั้งต่อวัน

หากคุณไปพบแพทย์ เขาอาจแนะนำหลายวิธี เช่น การลองเปลี่ยนนิสัยการเข้าห้องน้ำของเด็ก หรืออาจแนะนำให้คุณนำระบบให้รางวัลมาใช้ เช่น การทำ Star chart ซึ่งการทำเช่นนี้สามารถช่วยกระตุ้นให้เด็กเข้าห้องน้ำก่อนเข้านอน หรือดื่มน้ำในระหว่างวันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรให้รางวัลลูกเมื่อเขาไม่ปัสสาวะรดที่นอน และไม่ทำโทษเมื่อเขาทำเช่นนี้ เพราะการปัสสาวะรดที่นอนเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถควบคุมได้ในขณะที่นอนหลับ

หากกลยุทธ์เหล่านี้ไม่ได้ผล เขาก็อาจเสนอทางเลือกอื่นๆ เช่น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ Bedwetting Alarm หรือจ่ายยาที่อาจช่วยลดการผลิตปัสสาวะตอนกลางคืน นอกจากนี้แพทย์อาจขอร้องให้คุณจดบันทึกเกี่ยวกับปริมาณของน้ำและเวลาที่เด็กดื่ม เวลาที่เขาเข้าห้องน้ำ และจำนวนครั้งของการปัสสาวะรดที่นอนเพื่อช่วยให้แพทย์ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรสามารถช่วยเด็กได้หรือไม่

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ลูกปัสสาวะรดที่นอน

เด็กบางคนปัสสาวะรดที่นอนเพราะมีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเขา ทั้งนี้การมีอาการท้องผูกเป็นสาเหตุพื้นฐานของการปัสสาวะรดที่นอนและการมีอุจจาระเล็ดในเด็กเล็ก ส่วนสาเหตุอื่นๆ ประกอบไปด้วยการเป็นโรคเบาหวาน โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือปัญหาภายในครอบครัว เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเด็กอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้

อย่าโวยวายเมื่อลูกปัสสาวะรดที่นอน

ลูกของคุณอาจรู้สึกอายที่ทำให้เตียงนอนเปียกชุ่มไปด้วยปัสสาวะ ดังนั้นคุณไม่ควรด่าลูก ซึ่งการปัสสาวะรดที่นอนไม่ใช่สิ่งที่เขาตั้งใจทำ ทั้งนี้คุณไม่ควรลงโทษลูก เพราะมันสามารถทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อแม่บางคนรู้สึกขุ่นเคืองใจ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอนที่เปื้อนปัสสาวะในระหว่างคืน และต้องซักผ้าในวันถัดไป ทำให้มีงานหรือค่าใช้จ่ายในการซักรีดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ให้คุณพยายามใจเย็น หากคุณคิดว่าตัวเองไม่สามารถรับมือได้เพียงลำพัง คุณสามารถปรึกษาแพทย์

การปัสสาวะรดที่นอนและการวิตกกังวล

ในกรณีที่ลูกของคุณไม่ปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืนมากกว่า 6 เดือน และเริ่มกลับมามีพฤติกรรมดังกล่าว เราสามารถเรียกพฤติกรรมนี้ว่า  Secondary Bedwetting การปัสสาวะรดที่นอนประเภทนี้มักเริ่มเมื่อลูกของคุณกังวลหรือประหม่าเกี่ยวกับบางสิ่ง และมีการเปลี่ยนแปลงในกิจวัตรหรือสิ่งแวดล้อมตามมา เช่น การมีน้อง การย้ายบ้าน หรือการเริ่มไปเนิร์สเซอร์รี รวมถึงอาจเชื่อมโยงกับความตึงเครียดภายในครอบครัว เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือคุณและคนรักแยกทางกัน

หากคุณคิดว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกปัสสาวะรดที่นอน คุณก็อาจรู้สึกผิด แต่ความจริงแล้วการที่ลูกปัสสาวะรดที่นอนนั้นไม่ใช่ความผิดของคุณ และคุณสามารถช่วยเขาโดยใช้วิธีที่เรากำลังจะกล่าวหลังจากนี้เพื่อช่วยให้เขาไม่ปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน หรือช่วยให้เขาอุ่นใจเพื่อให้เขาสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม คุณสามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ ซึ่งเขาอาจแนะนำแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กหากจำเป็น

วิธีรับมือกับปัญหา

1) การจำกัดอาหารและเครื่องดื่ม

การให้ลูกดื่มน้ำระหว่างวันน้อยลงไม่ได้เป็นวิธีที่ช่วยให้เขาปัสสาวะรดที่นอนลดลง หากคุณทำเช่นนี้ กระเพาะปัสสาวะของลูกจะปรับตัวเพื่อกักเก็บปัสสาวะได้น้อยลงและไม่รู้วิธีจัดการกับปริมาณน้ำที่เด็กต้องการเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดี ทั้งนี้เด็กควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วต่อวัน โดยเริ่มดื่มตั้งแต่ตอนทานอาหารเช้า

เมื่อถึงเวลาห้าโมงเย็น เด็กจำเป็นต้องดื่มน้ำไปแล้วอย่างน้อย 5 แก้ว เด็กที่ไปเนิร์สเซอรีหรือโรงเรียนควรดื่มน้ำอย่างน้อย 3 แก้วระหว่างที่อยู่โรงเรียน หากคุณกำลังกังวลว่าลูกอาจดื่มน้ำไม่เพียงพอ ให้คุณลองคุยกับคนดูแลลูก

คุณไม่ควรให้ลูกดื่มชา โคลา หรือช็อกโกแลตร้อนก่อนเข้านอน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีคาเฟอีน ซึ่งสามารถทำให้ร่างกายของเด็กผลิตปัสสาวะระหว่างคืนมากเกินไป อย่างไรก็ดี เด็กควรดื่มน้ำแก้วสุดท้ายก่อนเข้านอน 90 นาที และปริมาณน้ำจะต้องไม่มากเกินไป

2) การใช้กระโถนหรือโถส้วม

  • สนับสนุนให้เด็กเข้าห้องน้ำเป็นประจำในระหว่างวัน
  • คุณควรให้ลูกเข้าห้องน้ำก่อนเข้านอน
  • คุณต้องแน่ใจว่าเด็กสามารถเดินไปยังกระโถนหรือห้องน้ำได้อย่างง่ายดาย คุณอาจวาง Trainer Seat บนโถส้วมทิ้งไว้ตลอดคืน
  • หากคุณนอนเตียงแบบสองชั้น คุณก็ควรให้ลูกนอนชั้นล่างเพื่อที่เขาจะได้ลุกไปเข้าห้องน้ำได้สะดวก
  • หากลูกกลัวความมืด ให้คุณเปิดไฟสลัวๆ ข้างเตียงหรือเปิดไฟในห้องน้ำทิ้งไว้
  • ถ้าลูกตื่นนอนตอนกลางคืนและไม่ได้เป็นเพราะว่าเขาปวดปัสสาวะมาก คุณควรขอร้องให้เขาไปเข้าห้องน้ำ

อย่างไรก็ตาม บางคนปลุกลูกให้ไปเข้าห้องน้ำ หรืออุ้มเขามานั่งตรงกระโถนหรือโถส้วมในขณะที่เขานอนหลับ ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี เพราะมันไม่ได้สอนให้เขาตื่นเมื่อมีปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ

3) การจัดการกับที่นอนหรือผ้าปูที่นอน

คุณสามารถปกป้องฟูกนอนของลูกโดยใช้ผ้าปูเตียงแบบกันน้ำ และใช้ปลอกผ้านวมแบบกันน้ำ หรือ Bed Pads แบบสอด ซึ่งช่วยคลุมบางส่วนของผ้าปูด้านล่างและง่ายต่อการถอดเพื่อนำมาซัก ทั้งนี้ให้คุณเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ้าปูเตียงตอนกลางคืน หากผ้าปูเตียงเลอะปัสสาวะของลูก ให้คุณนำผ้าไปล้างในน้ำเย็น หรือผงซักฟอกแบบอ่อนก่อนที่จะซักตามปกติ

ปัญหาเกี่ยวกับการฝึกให้ลูกนั่งกระโถน

เด็กบางคนสามารถใช้กระโถนได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่บางคนใช้เวลามากกว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเกิดคำถามและเผชิญกับความล้มเหลวเมื่อเด็กเรียนรู้ทักษะใหม่ถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ให้คุณปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับสิ่งที่คุณกังวลหรือคำถามต่างๆ ซึ่งเขาสามารถให้คำแนะนำเพื่อช่วยให้ชีวิตของคุณและลูกง่ายขึ้น

ทำไรอย่างไรเมื่อลูกไม่ต้องการใช้กระโถน?

คุณไม่ควรวิตกกังวล เพราะไม่ช้าก็เร็วลูกของคุณจะไม่ต้องการถ่ายรดกางเกงของตัวเอง ทั้งนี้ให้คุณเว้นช่วงการฝึกนั่งกระโถน 1 เดือนหรือมากกว่านี้ แล้วให้ลองอีกครั้งอย่างช้าๆ และทำอย่างใจเย็น การให้สติกเกอร์เป็นรางวัลเมื่อเด็กใช้กระโถนก็อาจทำให้เด็กบางคนหันมาใช้กระโถนมากขึ้น

 ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่นั่งบนกระโถนจนทำธุระแล้วเสร็จ?

หากการฝึกนั่งกระโถนดูน่าสนใจ มันก็จะช่วยให้เขานั่งนิ่งๆ คุณอาจให้เขาดูหนังสือหรือเล่นของเล่นในระหว่างนี้ แต่คุณไม่จำเป็นต้องให้ลูกนั่งบนกระโถนนานหลายนาที นอกจากนี้ให้คุณพูดชมลูกเมื่อเขาใช้กระโถนได้สำเร็จไม่ว่าเขาจะขับปัสสาวะหรืออุจจาระแต่ละครั้งหรือไม่ก็ตาม

ทำอย่างไรเมื่อลูกยังคงปัสสาวะรดใส่กางเกง?

คุณมี 2 ทางเลือกคือ ให้ลูกกลับไปใส่ผ้าอ้อมสักพัก และพยายามอีกครั้งใน 3-4 สัปดาห์ข้างหน้า หรือคุณจะไม่ให้ลูกใส่ผ้าอ้อม แต่ต้องเปลี่ยนและซักเสื้อผ้าของลูกบ่อยขึ้น ไม่ว่าคุณจะเลือกทางใดก็ตาม คุณไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีหรือรู้สึกกดดัน นอกจากนี้คุณอาจสอบถามพ่อแม่คนอื่นๆ เกี่ยวกับวิธีรับมือกับปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรทำให้ลูกสับสนโดยหยุดและเริ่มฝึกให้ลูกนั่งกระโถนถี่เกินไป หากคุณหยุดฝึก ให้คุณทิ้งช่วง 3-4 สัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มใหม่อีกครั้ง

ทำอย่างไรเมื่อลูกใช้กระโถนบางครั้งแต่ก็ปัสสาวะรดใส่กางเกงบางเวลา?

การปัสสาวะรดกางเกงจะเกิดขึ้นสักพัก แม้ว่าคุณจะรู้สึกไม่พอใจ แต่ให้คุณพยายามไม่แสดงความรู้สึกของตัวเอง และอธิบายให้เขาฟังว่าคุณอยากให้เขาใช้กระโถนครั้งหน้า หากลูกของคุณเริ่มกังวลเกี่ยวกับการทำบ้านเลอะเทอะ มันก็สามารถทำให้สถานการณ์แย่ลง

ทำอย่างไรเมื่อลูกไม่ปัสสาวะรดใส่กางเกงมาสักพักแล้วเริ่มกลับมามีพฤติกรรมที่ว่าอีกครั้ง?

หากลูกของคุณไม่ปัสสาวะรดใส่กางเกงมาสักพักไม่ตอนกลางคืนก็ตอนระหว่างวัน หรือทั้งสองกรณี และเริ่มปัสสาวะรดใส่กางเกงอีกครั้ง บางทีอาจเป็นเพราะว่าเขาเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคท้องผูก โรคเบาหวานประเภทที่ 1 หรือโรคพยาธิเส้นด้าย ทั้งนี้ให้คุณลองขอคำปรึกษาจากแพทย์

นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากสาเหตุทางอารมณ์ หรือการเปลี่ยนกิจวัตรหรือการรบกวนอื่นๆ เช่น การย้ายบ้าน หรือการมีน้องก็สามารถส่งผลกระทบต่อเด็กเช่นกัน ซึ่งคุณควรเข้าใจและเห็นใจลูก อย่างไรก็ดี ลูกของคุณก็อาจอารมณ์เสียเกี่ยวกับการปัสสาวะรดใส่กางเกงไม่ต่างจากคุณและเขาก็อาจไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น ทั้งนี้ให้คุณพยายามคิดบวกและเตือนให้ลูกใช้กระโถนเป็นประจำ

ทำอย่างไรเมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียนแต่ยังคงปัสสาวะรดใส่กางเกง?

เมื่อถึงวัยที่ต้องไปโรงเรียน เด็กมีแนวโน้มที่จะอารมณ์เสียไม่ต่างจากคุณเมื่อเขาปัสสาวะรดใส่กางเกง อย่างไรก็ตาม คุณควรทำให้ลูกรู้ว่าคุณอยู่เคียงข้างเขาและคุณกำลังช่วยเขาแก้ปัญหา ในกรณีนี้คุณอาจต้องปรึกษาแพทย์

ความวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกัน (Seperation Anxiety)

ทารกและเด็กวัยเตาะแตะมักทำตัวเกาะติด และร้องไห้หากคุณหรือคนที่ดูแลเขาจากไปแม้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ความวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกัน และการเกิดความรู้สึกกลัวคนแปลกหน้าถือเป็นเรื่องปกติที่พบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือน-3 ปี แต่มันกลับเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของเด็ก และมักหายไปเองเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่

ทำไมเด็กถึงมีอาการวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกัน?

หากลูกของคุณเคยทำตัวสงบเสงี่ยมเมื่อคุณออกไปจากห้อง และมีความสุขเมื่อคนแปลกหน้าอุ้ม มันก็อาจดูไม่สมเหตุสมผลหากเขาร้องไห้เมื่อใดก็ตามที่คุณไม่อยู่กับเขาหรือมีคนแปลกหน้าอยู่ใกล้ตัว ในขณะที่ความวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกันเป็นสัญญาณที่บอกว่าทารกรู้แล้วว่าเขาต้องพึ่งพาคนที่ดูแลเขา ซึ่งสามารถหมายความรวมถึงปู่ย่าตายาย คนที่มีหน้าที่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และผู้ปกครอง เนื่องจากเด็กตระหนักรู้ถึงสิ่งรอบตัวมากขึ้น ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อไม่มีคุณอยู่เคียงข้าง นอกจากนี้การได้เห็นโลกรอบตัวสามารถทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยหรืออารมณ์เสียเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรือเมื่อเจอคนใหม่ๆ แม้ว่าคุณจะอยู่กับเขาก็ตาม

วิธีรับมือกับอาการวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกัน

หากลูกของคุณมีอาการวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากคุณ การปล่อยให้เขาอยู่ที่เนิร์สเซอรีหรืออยู่ในความดูแลของคนอื่นก็จะเป็นเรื่องยากขึ้น คุณจะรู้สึกสะเทือนใจที่ต้องเห็นลูกร้องไห้ และเป็นห่วงลูกทุกครั้งที่คุณจำเป็นต้องฝากเขาไว้กับคนอื่น

อย่างไรก็ตาม การที่เด็กรู้สึกวิตกกังวลเมื่อแยกจากคุณนั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ดังนั้นคุณไม่ควรรู้สึกผิด ความจริงแล้วความวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกันมักเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความผูกพันของคุณและลูกว่าแน่นแฟ้นมากเพียงใด

คุณสามารถช่วยให้ทารกเข้าใจและจัดการกับความรู้สึกของตัวเองเพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น พวกเขาจะเรียนรู้ว่าเมื่อคุณอยู่ห่างจากเขา เขาจะสามารถอยู่ได้และคุณจะกลับมา หากลูกของคุณโตมากพอ คุณสามารถคุยกับเขาเกี่ยวกับสิ่งที่คุณทำในระหว่างที่แยกจากลูก และเวลาที่คุณจะกลับมารับเขา การปล่อยให้ลูกอยู่กับคนอื่นถือเป็นการช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะอยู่โดยไม่มีคุณ และนั่นก็เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เขาหัดพึ่งพาตัวเอง

คำแนะนำเกี่ยวกับอาการวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกัน

1) ฝึกอยู่ห่างจากลูกเป็นระยะเวลาสั้นๆ

คุณควรเริ่มฝึกโดยปล่อยให้ลูกอยู่ในความดูแลของคนอื่นสักพักในขณะที่คุณไปซื้อของที่ร้านค้าใกล้บ้านโดยปล่อยให้ลูกอยู่กับคนที่เขารู้จักเป็นอย่างดีเพื่อให้เขารู้สึกสบายใจและปลอดภัยเมื่อต้องแยกจากคุณ จากนั้นให้คุณค่อยๆ เพิ่มเวลาที่ต้องอยู่ห่างกัน และให้เขาอยู่กับคนที่เขาคุ้นเคยน้อยลง

2) พูดเกี่ยวกับเรื่องที่พวกคุณจะทำด้วยกันในภายหลัง

คุณอาจคุยกับลูกเกี่ยวกับเรื่องที่พวกคุณจะทำด้วยกันเมื่อคุณกลับมารับเพื่อที่เขาจะได้มีบางสิ่งให้ตั้งตารอ เช่น คุณอาจบอกลูกว่าคุณจะพาเขาไปช็อปปิ้งด้วยกันหลังจากที่คุณกลับมารับเขา

3) ทิ้งสิ่งของบางชิ้นไว้ที่ลูก

ลูกของคุณอาจสบายใจเมื่อเขาได้กลิ่นหรือได้สัมผัสบางอย่างที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นตัวคุณ เช่น ผ้าพันคอที่มีกลิ่นตัวของคุณ หรือคุณอาจให้ของเล่นชิ้นโปรดแก่เขา ซึ่งการทำเช่นนี้อาจช่วยให้เขาอุ่นใจเมื่อต้องอยู่ห่างจากคุณ

4) ไม่แสดงอาการเศร้าเมื่อถึงเวลาบอกลา

เมื่อคุณปล่อยให้ลูกอยู่กับคนอื่น ไม่ว่าคุณจะรู้สึกเศร้าหรือวิตกกังวล คุณควรยิ้มและโบกมือลาลูกอย่างมั่นใจและมีความสุข มิเช่นนั้นเขาจะรับรู้ได้ถึงอารมณ์ตึงเครียดของคุณ

เมื่อไรที่ต้องขอความช่วยเหลือ?

การที่ทารกหรือเด็กเล็กร้องไห้เมื่อแยกจากคนที่เลี้ยงเขาเป็นหลักนั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อทารกโตขึ้น พวกเขามีแนวโน้มที่จะเข้าใจว่าคนและสิ่งต่างๆ ยังคงอยู่แม้ว่าพวกเขาไม่สามารถมองเห็นได้ ณ ขณะนั้น แต่ก่อนที่เขาจะโตพอเข้าใจสิ่งที่เรากล่าวไป ความกังวลของลูกจะต้องไม่ไปขัดขวางให้เขาไม่ได้รับประโยขน์จากการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างการเข้าสังคมและการไปเนิร์สเซอ์รี รวมถึงไม่ทำให้คุณต้องหยุดทำงาน

หากอาการวิตกกังวลที่ต้องแยกจากกันของเด็กทำให้เขาเครียดมาก อารมณ์เสียเป็นเวลานานหลังจากที่คุณปล่อยให้เขาอยู่กับคนอื่น หรือเขามีอาการดังกล่าวมากกว่า 3-4 สัปดาห์ คุณควรพาลูกไปพบแพทย์


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
The 8 Best Potty Chairs of 2020. Verywell Family. (https://www.verywellfamily.com/best-potty-chairs-4154241)
Infant potty training: What it is and how to do it. BabyCenter. (https://www.babycenter.com/0_infant-potty-training-what-it-is-and-how-to-do-it_1745035.bc)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)