การขาดธาตุเหล็กเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกกว่า 2 พันล้านราย โรคโลหิตจางภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุอันดับต้นของโรคโลหิตจางในปัจจุบัน เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าการขาด ธาตุเหล็กนั้นส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจางได้อย่างไร
สาเหตุของการขาดธาตุเหล็ก
ภาวะโลหิตจางพบได้ในเพศหญิงประมาณร้อยละ 20 พบในเพศชายประมาณร้อยละ 3 และพบกว่าร้อยละ 50 ในสตรีมีครรภ์ สาเหตุของการขาดธาตุเหล็กนั้นมีได้จากหลายสาเหตุ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
1. สาเหตุทางกายภาพ คือ ร่างกายอยู่ในภาวะต้องการธาตุเหล็กมากขึ้น ได้แก่ สตรีที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ (ไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม) ทารก เด็กอยู่ในช่วงเจริญเติบโต การมีประจำเดือน หรือการบริจาคเลือด
2. สาเหตุทางสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรับธาตุเหล็กจากการรับประทานไม่เพียงพอ การขาดสารอาหาร พฤติกรรมการรับประทานอาหาร (เช่น ในกลุ่มผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ)
3. สาเหตุที่เกิดจากพยาธิวิทยาของร่างกาย ได้แก่ ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง (เช่น จากการติดเชื้อ Helicobactor pyroli ในระบบทางเดินอาหาร โรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS) หรือโรคแพ้กลูเต็น (ciliac sprue) เนื่องจากธาตุเหล็กปริมาณสูงสามารถพบได้ในอาหารพวกซีเรียล) หรือเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียเลือดแบบเรื้อรัง (เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวง ภาวะมีเลือดประจำเดือนมากผิดปกติ)
4. สาเหตุที่มาจากการใช้ยา ยาที่มีผลทำให้เกิดการขาดธาตุเหล็ก ได้แก่ยากลุ่มสเตียรอยด์ (glucocorticoid) ยาต้านการอักเสบกลุ่ม salicylate NSAID และยารักษาโรคกรดในกระเพาะอาหารกลุ่ม proton-pump inhibitor
5. สาเหตุทางด้านพันธุกรรม
กลไกที่ร่างกายปรับเปลี่ยนเมื่อเข้าสู่ภาวะขาดธาตุเหล็ก
กลไกการควบคุมสมดุลธาตุเหล็กในร่างกายนั้น ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนที่ชื่อว่า เฮปซิดิน (hepcidin) ฮอร์โมนนี้มีการสังเคราะห์ที่ตับ ทำหน้าที่ในการจัดการกับภาวะธาตุเหล็กในร่างกายผันผวนในระยะเฉียบพลัน ฮอร์โมนเฮปซิดินพบในเพศชายในปริมาณสูงกว่าเพศหญิง การทำงานของฮอร์โมนเฮปซิดินจะสูงขึ้นเมื่อระดับธาตุเหล็กในกระแสเลือดและเนื้อเยื่อมีปริมาณสูงโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ ในช่วงหลังจากมีประจำเดือนในเพศหญิงระดับของฮอร์โมนเฮปซิดินจะมีความผันผวนเนื่องจากร่างกายได้สูญเสียเลือด ฮอร์โมนเฮปซิดินสามารถถูกยับยั้งการสร้างได้เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะขาดธาตุเหล็กหรือเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน ในผู้ป่วยภาวะขาดธาตุเหล็ก ฮอร์โมนจะถูกกดการสร้างเพื่อให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น และเป็นการช่วยให้ร่างกายปลดปล่อยธาตุเหล็กที่สะสมไว้ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ในเซลล์ตับ ปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายสะสมไว้สามารถบ่งบอกได้ถึงความรวดเร็วและความรุนแรงของภาวะขาดธาตุเหล็กจากการสูญเสียเลือดในปริมาณมาก หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้อย่างปกติ
การรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก
ผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก จะได้รับการรักษาโดยการให้ยากลุ่ม เกลือไอออนของธาตุเหล็ก (ferrous salt) ยาชนิดรับประทานได้แก่ เฟอร์รัสซัลเฟต (ferrous sulfate) เฟอร์รัสกลูโคเนต (ferrous gluconate) เฟอร์รัสฟูมาเรต (ferrous fumarate) ซึ่งยาแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันที่ปริมาณของธาตุเหล็กในตัวยา ขนาดยาที่รับประทานในผู้ใหญ่ คือ 150-200 mg ของปริมาณธาตุเหล็กที่อยู่ในตัวยาต่อวัน ยากลุ่มนี้ควรรับประทานก่อนอาหารหนึ่งชั่วโมง เนื่องจากอาหารสามารถเกิดอันตรกิริยากับตัวยา และสามารถรบกวนร่างกายในการดูดซึมธาตุเหล็ก ช่วงเวลาที่ใช้รักษาขั้นต่ำคือ 3 เดือนและอาจรักษาต่อเนื่องไปถึง 1 ปี หรือจนกว่าระดับฮีโมโกลบินจะเข้าสู่ระดับปกติ ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระเปลี่ยนเป็นสีเข้ม ท้องผูกหรือท้องเสีย ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาชนิดรับประทานได้ อาจพิจารณาให้ยาในรูปแบบยาฉีดแทน
อาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูง
ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง หรือแนะนำให้รับประทานในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อาหารที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูง เช่น ซีเรียล (ซึ่งเป็นตัวเลือกของแหล่งธาตุเหล็กที่ดีในผู้รับประทานมังสวิรัติ แต่ไม่แนะนำในผู้ป่วยที่แพ้กลูเต็น) เนื้อวัว ตับไก่ หอยนางรม เต้าหู้ บรอคโคลี ถั่ว มันฝรั่งอบ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว วิตามินซีสามารถช่วยเพิ่มการดูดซึมของธาตุเหล็กได้ด้วยเช่นกัน