อิทธิพลของสีกับ Placebo Effect

เผยแพร่ครั้งแรก 2 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
อิทธิพลของสีกับ Placebo Effect

 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

คุณผู้อ่านคิดว่า ยาพาราเซตามอลในข้อใดต่อไปนี้ ที่น่าจะมีฤทธิ์แรงที่สุด… แก้ปวด-แก้ไข้ได้ชะงัดที่สุดคะ…

para1          para2          para3

para4                       para5

ไม่แปลกหรอกค่ะ หากท่านจะคิดว่ายาที่นำมาเป็นตัวอย่าง มีความแรงไม่เท่ากัน แม้ในความเป็นจริงแล้ว ยาทั้งหมดจะเป็นพาราเซตามอลขนาดความแรง 500 มิลลิกรัมเหมือนกั๊นนนนนน…เหมือนกันค่ะ

 

ใน ‘วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การจ่ายยา’ (แหม… เป็นคำที่ยาวไปหน่อยนะคะ ถ้าจะให้สั้น ๆ ก็ขอเปลี่ยนเป็น ใน ‘วงนินทาคนไข้’ ละกัน ^_^) คำบอกเล่าของผู้ป่วยประมาณว่า “พาราสีขาวกินแล้วไม่หายปวดเลย ขอแบบสีฟ้า-ขาวเหมือนคราวก่อนนะคุณเภสัชกร” หรือ “ยาพาราเม็ดกลมไม่แรง ป้าขอเปลี่ยนเป็นยาพาราที่เป็นเม็ดยาว ๆ เถอะนะ” ก็ไม่ใช่เรื่องเล่าเกินจริงเลยค่ะ …ดิฉันก็เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้เหมือนกัน ถึงพยายามจะเข้าใจว่า การที่ยามีความแรงเท่ากัน (เผลอ ๆ ก็เป็นยาที่ผลิตจากบริษัทยาเดียวกันด้วยซ้ำไป) แต่มีรูปลักษณ์หรือสีของยาหรือบรรจุภัณฑ์ที่ต่างกัน ก็ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในผลการใช้ที่ต่างกันได้นะเออ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

 

นั่นก็เพราะ “รูปลักษณ์” และ “สี” มีอิทธิพลกับความคิดของคนเรา แม้จะดูเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ …แต่เรื่องนี้ก็มีการนำใช้ประโยชน์ในการรักษาความเจ็บป่วยด้วยนะคะ เป็นศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับ Placebo effect

 

The Placebo effect หรือ ฤทธิ์ผลจากยาหลอก หมายถึงการนำแป้งและน้ำตาลอัดและเคลือบให้ดูเป็นเม็ดยา หรืออยู่ในแคปซูล หรือเตรียมเป็นรูปแบบยาต่าง ๆ เช่นยาน้ำ ยาฉีด หรืออื่น ๆ ไม่มีตัวยาที่ออกฤทธิ์รักษาโรคผสมอยู่ แต่เมื่อนำมาใช้กลับพบว่าทำให้ผู้ป่วยบรรเทาอาการหรือหายจากการเจ็บป่วยได้ โดยที่ผู้ป่วยอาจจะรู้หรือไม่รู้ว่ากำลังได้รับ “ยาหลอก” อยู่ก็ได้

นอกจากนี้ ยังหมายถึงกรณีอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดหลอก ๆ, คำพูดปลอบขวัญให้กำลังใจจากแพทย์, การตรวจร่างกายที่มีปฏิสัมพันธ์เล็กน้อยระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย (เช่น เวลาที่ไปพบแพทย์ หากแพทย์มีการจับ ๆ คลำ ๆ ร่างกาย หรือเอาเครื่องมือนู่นนี่มาแตะ ๆ ต้อง ๆ ตัว ผู้ป่วยอย่างเรา ๆ ก็มักจะรู้สึกว่า “ผ่านการตรวจ” และเชื่อว่าแพทย์จะรักษาได้ดีกว่ากรณีที่แพทย์เหลือบมองหน้าผู้ป่วยแว่บเดียว แล้วก้มหน้าก้มตาจดรายการยาในใบสั่งยาก่อนจะยื่นมาให้แล้วบอกให้เราไปรับยาได้เลย…จริงไหมคะ)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

 

ทั้งที่ในความเป็นจริง ยาหลอกที่ไม่มีตัวยาผสมอยู่ ไม่น่าจะมีฤทธิ์ในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้เลย แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะว่ามันช่วยได้ เช่นเคยมีการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า เมื่อให้ยาหลอกบำบัดรักษาแก่ผู้ป่วยที่มีอาการต่าง ๆ เช่น เจ็บปวด, ความดันโลหิตสูง rx14และหอบหืด ผลปรากฏว่ามีผู้ป่วยร้อยละ 30-40 ที่มีอาการดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ คณะวิจัยได้ดำเนินการวางยาสลบและผ่าตัดผิวหนังผู้ป่วยออกไปเล็กน้อย ผลปรากฏว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้นถึงร้อยละ 80 …น่าทึ่งไหมล่ะคะ

การวิจัยข้างต้นนั้น ผู้ป่วยไม่ทราบค่ะว่าตนเองได้รับยาหลอก ๆ หรือการผ่าตัดหลอก ๆ แต่ที่น่าทึ่งยิ่งกว่านั้น ก็คืองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกเช่นกัน คราวนี้ทีมนักวิจัยของ Dr.Ted Kaptchuk ได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome หรือ IBS เกิดจากกล้ามเนื้อลำไส้ทำงานผิดปกติ ทำให้อาหารเคลื่อนผ่านได้ดีบ้างไม่ดีบ้าง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง จุกเสียด มีแก๊สในลำไส้ ท้องเสียหรือท้องผูก) เปรียบเทียบผู้ป่วยที่ถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ก็คือ กลุ่มที่ไม่ได้รับยาใด ๆ เลย กับอีกกลุ่มที่ได้รับยาปลอมให้รับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยที่แพทย์ก็บอกกับผู้ป่วยว่ามันคือยาปลอม อีกทั้งที่ฉลากยาก็เขียนว่าเป็นยาปลอม แต่มีคำแนะนำที่บอกผู้ป่วยว่า Placebo Effect มีผลช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้ พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาหลอก มีอาการดีขึ้นร้อยละ 59 ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้รับยาใด ๆ มีอาการดีขึ้นร้อยละ 35 …มากกว่ากันเกือบเท่าตัวเลยนะคะ

 

ว่ากันว่าผลการรักษาจากยาหลอกนั้นเกิด “แรงศรัทธา” ก็คือ หากคุณเชื่อมั่นว่ายานั้น, การรักษานั้น หรือแพทย์ผู้นั้นช่วยคุณได้ ร่างกายของเราก็จะหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่มีผลช่วยสร้างพลังหรือเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ทำให้การรักษาได้ผลดีตามที่เราเชื่อมั่นหรือคาดหวัง

 

ในความเป็นจริง ไม่มีแพทย์ที่เจตนาจ่ายยาหลอกยาปลอมให้ผู้ป่วยแทนยาที่มีฤทธิ์รักษาโรคแน่นอนค่ะ แต่หากมียาให้เลือก 2 ชนิด ระหว่างยาที่มีฤทธิ์รักษาจริงและผู้ป่วยเชื่อมั่นว่ารักษาหายเร็ว rx07กับยาที่มีฤทธิ์รักษาจริงแต่ผู้ป่วยไม่เชื่อมั่นว่ารักษาได้ผล …คุณผู้อ่านคิดว่าแพทย์ควรนำยาชนิดใดมาใช้ดีล่ะคะ …นี่ก็จัดเป็น Placebo effect อีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจค่ะ

 

ในทางเภสัชกรรม ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของสีเม็ดยาต่อประสิทธิภาพในการรักษา / ประสิทธิผลของยาที่ใช้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลการรักษาด้วยยาจาก Placebo effect ที่มาจากอิทธิพลของสี ซึ่งดิฉันจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ค่ะ

 

ก่อนอื่น ขอให้คุณผู้อ่านร่วมสนุก ลองเลือกรูปยาที่ท่านต้องการใช้หากจำเป็นต้องรับประทานยา เลือกแล้วเก็บคำตอบไว้ในใจเลยค่ะ ไม่ต้องส่งไปชิงโชคที่ไหน ^_^ จะได้ลองเปรียบเทียบดูว่าทัศนคติของท่านเหมือนหรือแตกต่างจากงานวิจัยที่เก็บข้อมูลในต่างประเทศนะคะ

 

tab-red          tab-blue          tab-green

tab-orange          tab-pink          tab-yellow

tab-white

 

งานวิจัยนี้เป็นของ Dr.R.K. Srivastava จาก University of Mumbai ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้ยา OTC (Over the counter : ยาที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์)

ซึ่งมีการสรุปผลการศึกษา ว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75 เห็นว่าสีของเม็ดยา มีผลต่อความรู้สึกและเพิ่มความร่วมมือในการใช้ยาได้ ในขณะที่รูปทรงของเม็ดยาจะมีผลดังกล่าวในกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58

 

อันที่จริงแล้ว ต่อให้เม็ดยานั้นจะเม็ดใหญ่ระดับ ‘เจ้าคุณปู่เม็ดยา’ หรือจะมีสีช้ำเลือดช้ำหนองน่ากลัวเพียงไหน แต่หากผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อการรักษา, ยาที่ต้องใช้ หรือแพทย์ผู้ทำการรักษา ก็ต้องร้องว่า “สู้โว้ย!” ก่อนจะหลับหูหลับตากลืนยาลงคอให้ได้อยู่ดีนะคะ เพียงแต่หากเลือกได้… ใครต่อใครก็คงอยากเลือกกลืนยาเม็ดเล็ก ๆ กลืนง่าย ๆ สีสันสวยงามมากกว่าอยู่แล้ว …ลำพังอาการป่วยก็ทรมานแล้ว หากต้องเห็นเม็ดยาเม็ดมหึมาน่าเกลียด ชวนให้คิดกลัวว่ามันจะติดคอ ก็คงยิ่งทรมานใจแถมไปด้วยแน่ ๆ

 

เมื่อพิจารณาถึงสีของเม็ดยาต่อความรู้สึกในการรับรสบ้าง โดยทดสอบกับสีแดง, ฟ้า, เขียว, ส้ม, ชมพู, เหลือง และ ขาว พบว่า…

  • สีที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าให้ความรู้สึก “ขม” คือเม็ดยาสี ขาว และ ฟ้า
  • สีที่ให้ความรู้สึก “หวาน” คือ ชมพู และ แดง
  • สีที่ให้ความรู้สึก “เปรี้ยว” คือ ส้ม ซึ่งคะแนนนำโด่งสีอื่น ๆ แบบไร้คู่แข่งค่ะ
  • สีที่ให้ความรู้สึก “เค็ม” คือ เหลือง
  • แม้เม็ดยาสีขาวจะทำให้กลุ่มตัวอย่างคิดว่ามีรส “ขม” ถึงร้อยละ 11 แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างที่คิดว่าเม็ดยาสีขาว “ไม่มีรส” ก็มีถึงร้อยละ 12 ค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเรื่องสีเม็ดต่อรสของยา อาจแตกต่างกันในชนชาติ เช่น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้เห็นว่า สีเหลือง เป็นตัวแทนของ “รสขม” แต่ในประเทศ จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี กลับเห็นว่า สีเหลือง ให้ความรู้สึกถึง “รสดี”

 

เช่นเดียวกัน อิทธิพลของสีเม็ดยาต่อความรู้สึกดึงดูดในการเลือกใช้ ยังอาจแตกต่างกันตามเพศ, วัย และการได้รับข้อมูลยาหรือไม่ด้วย

 

 

ขอปิดท้ายด้วยเรื่องเล่า ที่ไม่ได้กล่าวเพื่อยืนยันผลของ Placebo effect หรอกค่ะ แต่จะบอกคุณผู้อ่านว่า “สี” มีอิทธิพลกับความคิดของคนเราจริงจริ๊งงงงงงง…

 

เช้าวันธรรมดาที่ไม่ธรรมดา …เนื่องจากดิฉันตื่นเช้า ^_^ วันนี้ดิฉันจึงมีเวลาแต่งหน้าทาปากอย่างพิถีพิถัน แก้มที่เคยทาแดงแบบก้นลิงกัง (แหม…ตื่นสายค่ะ รีบแต่งหน้าก็อย่างงี้แหละ) ก็เปลี่ยนเป็นชมพูอ่อนให้ดูสวยเป็นธรรมชาติ และเมื่อสวมกระโปรงตัวโปรดเช่นนี้ อา… ช่างเป็นวันที่ดิฉันมั่นใจในบุคลิกภาพแบบสุด ๆ

 

rx16สวัสดีค่ะคุณพี่ กำลังจะลงเวรดึกเหรอคะ คงไม่ได้นอนแน่เลย คนไข้เยอะสิคะ
…น้องสาวคนสวยเอ่ยทักทายเมื่อพบหน้ากัน

 

rx05(…อึ้งกิมกี่ไปราว 3 วินาที…)

rx10กรี๊ดดดดดดด… คุณน้อง!!! พี่มารับเวรตอนเช้านะคะ! เพิ่งมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเอง นี่หน้าตาพี่โทรมเหมือนคนที่กำลังลงเวรดึก แถมเป็นเวรดึกที่ยุ่งจนไม่ได้นอนเลยเหรอ โฮ…

 

เหตุการณ์นี้ แม้จะทำให้เสีย Self ไปบ้าง แต่เราทั้งสองก็ได้ข้อคิดกันไปทั้งคู่ค่ะ…

 

คุณน้องคนสวยได้ข้อคิดว่า…

 

rx20‘ตายล่ะ… เห็นทีว่าต้องลบคำทักทายนี้ออกจากสารานุกรมส่วนตัว หมวด “คำทักทายยามเช้า” เสียแล้ว เพราะเสี่ยงเหลือเกินที่จะทักผิดแบบนี้อีก’

 

และข้อคิดสำหรับดิฉัน…

 

rx09 ‘การแต่งหน้าอ่อน ๆ เป็นธรรมชาติ สำหรับบางคนอาจดูดี แต่สำหรับเราคงเป็น “ธรรมชาติ…ลงโทษ” อย่ากระนั้นเลย ทีหลังต้องจัดหนัก! …ปัดบรัชออนแบบไม่ต้องยั้งมือ เอาให้แดงแป๊ดเหมือนเดิมล่ะดีแล้ว!’

 

 

ขอขอบคุณ แหล่งข้อมูล…

  • ความรู้ / วิชาการ
  1. Components of Placebo Effect: Randomised Controlled Trial in Patients with Irritable Bowel Syndrome โดย Kaptchuk Ted J. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2557, จากhttp://www.daegfa.de/AerztePortal/Upload/Documents/Wissenschaft/Studien/2-2010-2%20Reizdarmsyndrom-%20Innere%20Nguyen,%20PDF
  2. Aesthetic considerations for pharmaceutical OTC (over the counter) products Aesthetic considerations for pharmaceutical OTC (over the counter) products โดย K. Srivastava. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2557, จากhttp://www.gcbe.us/2009_obec/data/Aarti%20T.%20More,%20R.K.%20Srivastava.doc

 

(หมายเหตุ : งานวิจัยที่กล่าวถึงทั้งหมด ผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าประกอบการเขียนบทความไว้นานแล้ว แต่เนื่องจากไม่ได้เก็บรายละเอียดไว้ เมื่อกลับมาค้นคว้าอีกครั้งเพื่อนำมาลงในส่วนการอ้างอิงนี้ จึงหางานวิจัยชิ้นแรกที่กล่าวถึงไม่เจอค่ะ)

 

  • ภาพประกอบ
  1. MIMS Thailand. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2557, จาก
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/paracetamol?page=4
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/Red%20tablet
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/blue%20tablet
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/green%20tablet?page=1
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/orange%20tablet?page=3
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/pink%20tablet?page=9
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/yellow%20tablet?page=7
  • http://www.mims.com/Thailand/image/search/white%20tablet?page=1

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Color Psychology: Does It Affect How You Feel?. Verywell Mind. (https://www.verywellmind.com/color-psychology-2795824)
Placebos: The power of the placebo effect. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/306437)
Effect of colour of drugs: systematic review of perceived effect of drugs and of their effectiveness.. National Center for Biotechnology Information. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2359128/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป