ดิฉันเข้าใจนะคะว่าชื่อยาซึ่งไม่ใช่ภาษาบ้านเรามันก็จำยากจริง ๆ น่ะแหละ โดยเฉพาะถ้าไม่ได้เรียกหาจนคุ้นปากหรือชินหู คงอารมณ์ประมาณดิฉันที่จำชื่อดารานักร้องเกาหลีไม่ได้เหมือนกัน
แต่การ “จำชื่อยาไม่ได้” ไม่อันตรายเท่า “จำชื่อยาผิด” นะคะ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ความแตกต่างระหว่างไอบูโปรเฟนและพาราเซตามอล
ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ใช้สำหรับแก้ปวด ลดไข้ โดยกินครั้งละ 5-10 มิลลิกรัม ต่อครั้ง วันละไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัมในผู้ใหญ่
พาราเซตามอล (Paracetamol) ใช้สำหรับแก้ปวด ลดไข้ โดยกินครั้งละ 10-15 มิลลิกรัม ต่อครั้ง วันละไม่เกิน 3,000 มิลลิกรัมในผู้ใหญ่
กรณีที่ใช้เองโดยไม่มีคำสั่งแพทย์
ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม จะรับประทานยาไอบูโปรเฟนในขนาด 400 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ได้ไม่เกินวันละ 3 เม็ด ในขณะที่รับประทานยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด ได้ไม่เกินวันละ 6 เม็ด
หากผู้ใช้ยาเข้าใจผิดว่าไอบูโปรเฟนเป็นยา “พาราเซตามอลเม็ดสีชมพู” อาจรับประทานยาในขนาดของพาราเซตามอล ซึ่งมากกว่าขนาดที่แนะนำให้ใช้ของไอบูโปรเฟน แล้วเกิดอันตรายจากผลข้างเคียงจากยาได้มากขึ้นค่ะ
หากจำผิดอาจรับประทานผิดเวลา
ผลข้างเคียงเด่น ๆ ของไอบูโปรเฟนคือการระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ในขณะที่พาราเซตามอลไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร จึงสามารถรับประทานเวลาไหนก็ได้ที่มีอาการปวดหรือมีไข้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเวลาก่อนหรือหลังอาหาร และรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมงหากยังมีอาการอยู่
หากผู้ใช้ยาเข้าใจผิดว่าไอบูโปรเฟนเป็นยา “พาราเซตามอลเม็ดสีชมพู” อาจนำไปรับประทานตอนท้องว่าง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารตามมาค่ะ
อาจเกิดอันตรายจากการใช้ไม่เหมาะกับสภาวะหรือโรคประจำตัวที่มีอยู่
ด้วยข้อจำกัดบางอย่างอาจทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาไอบูโปรเฟนและพาราเซตามอล แม้บางกรณีแพทย์จะให้ใช้ยาได้ แต่ต้องมีการปรับขนาดยา และ/หรือ ความถี่ในการใช้ รวมถึงเฝ้าระวังผลอันไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ที่มีสภาวะหรือโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ จึงไม่ควรหาซื้อไอบูโปรเฟนหรือพาราเซตามอลมาใช้เอง
ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen)
สภาวะหรือโรคประจำตัวที่ไม่ควร หรือต้องระวังการใช้ไอบูโปรเฟน มีดังต่อไปนี้
- แพ้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ผู้ป่วยไตวาย
- ผู้ป่วยโรคตับ (ตับอักเสบ, ตับแข็ง)
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
- ผู้ป่วยไข้เลือดออก
- ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด
- มีแผล/เลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
- ผู้ป่วยหอบหืด
- ตั้งครรภ์ (สามเดือนสุดท้าย)
- ผู้สูงอายุ
พาราเซตามอล (Paracetamol)
สภาวะหรือโรคประจำตัวที่ไม่ควร หรือต้องระวังการใช้พาราเซตามอล มีดังต่อไปนี้
- แพ้ยาพาราเซตามอล
- ผู้ป่วยไตวาย
- ผู้ป่วยโรคตับ (ตับอักเสบ, ตับแข็ง)
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
จะเห็นได้ว่าไอบูโปรเฟนมีข้อจำกัดการใช้มากกว่า หากผู้ที่มีสภาวะหรือโรคประจำตัวที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ มีความเข้าใจผิด ๆ ว่าไอบูโปรเฟนเป็นยา “พาราเซตามอลเม็ดสีชมพู” ก็อาจนำไปรับประทานและเกิดอันตรายได้นั่นเอง
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
หากเคยมีประวัติแพ้ยา อาจเกิดการแพ้ยาซ้ำได้อีก
ยาส่วนใหญ่ มักจะมีผู้ผลิตหลายแห่ง ทำให้มีรูปแบบ รูปร่าง ขนาด และสีสันที่แตกต่างกันไป นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของเม็ดยาไอบูโปรเฟนที่มีจำหน่ายในประเทศไทยนะคะ
(รูปภาพจาก http://www.mims.com)
หากเคยแพ้ยาตัวหนึ่งตัวใดแล้ว เมื่อมีการใช้ซ้ำ แม้จะต่างยี่ห้อ ต่างรูปแบบ ต่างรูปร่าง ต่างขนาด หรือต่างสี ก็จะทำให้เกิดการแพ้ได้อีกเช่นกันค่ะ
ยกตัวอย่างผู้ที่เคยแพ้ยาไอบูโปรเฟนที่เป็นเม็ดยาวสีเหลืองนะคะ หากเข้าใจผิดว่าไอบูโปรเฟนเม็ดกลมสีชมพูเป็นยา “พาราเซตามอลเม็ดสีชมพู” ก็อาจนำไปรับประทาน จนทำให้เกิดการแพ้ยาซ้ำได้อีกค่ะ
ถ้าจำชื่อยาไม่ได้จริง ๆ บอกลักษณะของเม็ดยา เช่น รูปร่าง สี สัญลักษณ์/ตัวเลข/ตัวอักษรบนเม็ดยาที่ต้องการใช้ก็พอได้ค่ะ เภสัชกรจะเข้าฌานทำการระลึกชาติหาชื่อยาที่น่าจะเป็นไปได้ให้ แต่ก็ไม่แน่นอนเท่ากับทราบชื่อยาอยู่ดีนะคะ เพราะนอกจากยาที่มีใช้ทั้งหมดบนโลกใบนี้จะมีหลากหลายมาก แล้ว ยาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันก็มีอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ
สำหรับใครที่เคยเข้าใจผิดว่า “ไอบูโปรเฟนคือยาพาราเซตามอลเม็ดสีชมพู” หรือไม่เข้าใจว่า “เรียกชื่อยาผิดแค่นี้เอง จะสำคัญอะไรนักหนา” หวังว่าบทความนี้จะช่วยปรับความเข้าใจให้ถูกต้องได้นะคะ เพราะ “การจำชื่อยาผิด” มันไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ สิว ๆ ที่ควรมองข้ามเลยค่า