"คุณหมอลูกเป็ด"
เขียนโดย
"คุณหมอลูกเป็ด"
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

อาการแพ้เหงื่อในเด็ก อันตรายไหมนะ?

ทำความรู้จักกับอาการแพ้เหงื่อที่ทำให้เกิดผดผื่นขึ้นบนผิวหนังได้ โดยเฉพาะในช่วงอากาศร้อน
เผยแพร่ครั้งแรก 30 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 29 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาการแพ้เหงื่อในเด็ก อันตรายไหมนะ?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อน คือภาวะเดียวกัน มักเกิดในเด็กเล็ก โดยเฉพาะวัยทารก สาเหตุเกิดจากต่อมเหงื่อยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้มีเหงื่อไหลย้อนกลับไปอุดตันท่อระบายเหงื่อ หรือต่อมเหงื่อ
  • ลักษณะของผื่นเป็นได้ตั้งแต่คล้ายหยดน้ำขนาดเล็ก มีตุ่มแดง มีการอักเสบ หรือตุ่มหนอง
  • การรักษาและป้องกันสามารถทำได้ด้วยการอยู่ในที่ที่อากาศเย็น ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงอากาศร้อนชื้น ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ถ้าหากมีไข้ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้องเพื่อลดอุณหภูมิในร่างกาย
  • เมื่ออายุของเด็กเพิ่มขึ้น จะมีอาการผดร้อนน้อยลง และหายไปในที่สุด (ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ได้ที่นี่)

"โรคภูมิแพ้ในเด็ก" มีหลายชนิด หนึ่งในชนิดที่พบมากที่สุดรองมาจากโรคแพ้อาหาร คือโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ มีหลายชนิด โดยในเด็กเล็กมักจะมีผดผื่นขึ้นตามตัวอยู่บ่อยครั้ง เป็นผื่นที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่า “ผื่นแพ้เหงื่อ” หรือ “ผดร้อน”

ทำความรู้จักผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อน

ผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อน มีชื่อภาษาอังกฤษหลายชื่อ เช่น Heat Rash, Prickly Heat และ Sweat Heat มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า “Miliaria” มักพบบ่อยในเด็กทารก และเด็กเล็ก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,376 บาท ลดสูงสุด 69%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผื่นแพ้เหงื่อนั้นเกิดจากระบบระบายเหงื่อของต่อมเหงื่อยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้ต่อมเหงื่ออุดตันจนเกิดผดร้อนตามมา

กระบวนการเกิดผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อน

  • เกิดขึ้นเมื่อเด็กอยู่ในภาวะผลิตเหงื่อมากเกินไป เช่น อากาศร้อน ความชื้นสูง ใส่เสื้อผ้าหนาเกินไปไม่ระบายอากาศ หรือมีไข้
  • เหงื่อที่ผลิตออกมามากเกินไปจะไหลย้อนกลับเข้าสู่ชั้นผิวหนังกำพร้า (Epidermis) หรือผิวหนังแท้ (Dermis) ทำให้เซลล์บริเวณท่อระบายเหงื่อ (Eccrine Sweat Duct) หรือต่อมเหงื่อ (Eccrine Sweat Gland) บวมขึ้น จนบางครั้งแตกออก และเกิดการอุดตันในที่สุด
  • บริเวณที่เส้นทางของระบบขนส่งเหงื่ออุดตันจะแสดงอาการออกมาเป็นผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อนที่สามารถเห็นได้ชัด

ชนิดของผื่นแผ่เหงื่อ หรือผดร้อน

แบ่งผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อนออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1. ผดร้อนแบบตุ่มน้ำใส (Miliaria Crystalina)

  • มักพบในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 2 สัปดาห์
  • มีลักษณะเป็นผดเม็ดเล็กๆ ขนาดเล็กกว่า 2 มิลลิเมตร หากสังเกตใกล้ๆ จะเห็นว่า ประกอบด้วยตุ่มน้ำใสของหยดเหงื่ออยู่ด้านบนของผื่น (คล้ายกับการพ่นฝอยละอองน้ำลงบนผิว)
  • ผื่นชนิดนี้เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อระดับตื้นสุด ทำให้ตุ่มน้ำแตกได้ง่ายเมื่อสัมผัส
  • ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณที่มีต่อมเหงื่อเยอะ ได้แก่ ศีรษะ ไรผม ซอกคอ หลังส่วนบนและส่วนล่าง รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนและขา

2. ผดร้อนแบบตุ่มแดง (Miliaria Rubra)

  • มักพบในเด็กทารกอายุ 1-3 สัปดาห์แรก และ 30% ของผู้ใหญ่ที่อาศัยในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น
  • เป็นผดร้อนชนิดที่พบบ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นผดเม็ดเล็กๆ แต่จะเห็นเป็นสีแดง อาจเห็นเป็นตุ่มน้ำขนาดเล็กบนผิวหนังสีแดง หรืออาจเห็นเป็นตุ่มหนอง และบางครั้งอาจมีอาการคันร่วมด้วย
  • เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อในระดับลึกลงไป
  • ผื่นชนิดนี้มักขึ้นในบริเวณเดียวกันกับผดร้อนแบบตุ่มน้ำใส หรือขึ้นตามบริเวณที่เสียดสีกับเสื้อผ้า

3. ผดร้อนแบบลึก (Miliaria Profunda)

  • มักพบในเด็กที่เป็นผดร้อนแบบตุ่มแดงซ้ำๆ หรือพบในผู้ใหญ่ที่ต้องย้ายเข้าสู่สภาพอากาศร้อนชื้นทันที เช่น ทหาร
  • เป็นผดร้อนชนิดที่พบน้อยสุด มีลักษณะเป็นตุ่มแดงสด ขนาดใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก อาจไม่มีอาการคันเลยจนถึงคันมาก
  • เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อในชั้นที่ลึกที่สุด ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อกันระหว่างชั้นผิวหนังกำพร้า และชั้นผิวหนังแท้

ผู้ป่วยสามารถเป็นผดร้อนได้ทีละชนิด หรือหลายชนิดพร้อมกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อนมักเป็นมากขณะมีเหงื่อออก และจะทุเลา หรือหายได้เองเมื่อไม่มีเหงื่อ

การวินิจฉัยผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อน

โดยทั่วไป เพียงดูจากลักษณะของผื่นร่วมกับประวัติ เช่น เมื่อมีเหงื่อแล้วผื่นจะเห่อขึ้น และเมื่อเหงื่อหายไปผื่นจะลดลง แพทย์ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตามมีโรคจำนวนหนึ่งที่อาจแสดงอาการทางผิวหนังออกมาคล้ายผดร้อนได้ เช่น

  • ภาวะรูขุมขนอักเสบจากการติดเชื้อ (Folliculitis)
  • เชื้อราที่ผิวหนัง (Cutaneous Candidiasis)
  • ผื่นจากเชื้อไวรัส (Viral Exanthem)
  • สิวในเด็กทารก (Neonatal Acne)
  • ผื่นแพ้ยาแบบตุ่มหนอง (Acute Generalized Erythematous Pustulosis)
  • ผื่นอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มหนอง เช่น ภาวะมีตุ่มหนองที่ศีรษะ (Neonatal Cephalic Pustulosis)

ผื่นเหล่านี้บางครั้งอาจจำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น 

  • ย้อมสีเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย (Gram Stain) 
  • ย้อมสีดูเชื้อรา (Potassium Hydroxide Smear)
  • ย้อมสีเพื่อดูชนิดของเซลล์ในตุ่ม (Wright’s Stain)

การป้องกันผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อน

  • เหงื่อ และอากาศร้อน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผดร้อน ผู้ป่วยส่วนมากอาการจะบรรเทาลงเมื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านี้
  • การอยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง สวมใส่เสื้อผ้าโปร่ง ใช้สารให้ความชุ่มชื้นที่เหมาะกับสภาพผิว ไม่เหนอะหนะจนเกินไป อาบน้ำอุณหภูมิห้อง เป็นทั้งวิธีป้องกัน และรักษาให้ผื่นหายเร็วขึ้น
  • หากมีอาการรุนแรงอาจใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ ซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจ และการดูแลของแพทย์
  • ไม่ควรซื้อยาทาสเตียรอยด์มาใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงแก่เด็กได้
  • หากติดเชื้อร่วมด้วย อาจจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ

โดยทั่วไป เมื่อเด็กโตขึ้นต่อมเหงื่อก็จะทำงานได้ดีขึ้น อาการผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อนก็จะค่อยๆ หายไป 

ในระหว่างนี้จะต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบ เช่น ความร้อน เหงื่อ หรือสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์ ก็จะช่วยควบคุมไม่ให้อาการผื่นแพ้เหงื่อ หรือผดร้อนกำเริบได้

ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Rama Focus, แพทย์แนะนำวิธีดูแล “อาการแพ้เหงื่อตัวเอง” จากภูมิแพ้ผิวหนัง (https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/แพทย์แนะวิธีดูแล-อาการ/), 11 กุมภาพันธ์ 2562.
Rayala BZ, et al. Common Skin Conditions in Children: Neonatal Skin lesions. FP Essent. 2017;453:11-7.
Chadha A, et al. Common Neonatal Rashes. Pediatr Ann. 2019;48(1):e16-e22.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)