ฝีแตกต่างจากสิวอย่างไร ดูแลรักษาและป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด

เผยแพร่ครั้งแรก 9 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ฝีแตกต่างจากสิวอย่างไร ดูแลรักษาและป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด

ฝีและสิว ถือเป็นปัญหาสุขภาพผิวที่หลายคนไม่อยากให้เกิด แต่เชื่อว่าหลายคนที่มีอาการทั้ง 2 อย่างนี้ ย่อมเกิดความสับสนว่าอาการแบบไหนคือ ฝีหรือสิวกันแน่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ฝีมีความแตกต่างจากสิวอยู่พอสมควร ว่าแต่จะมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ไปติดตามข้อมูลดังต่อไปนี้ได้เลย

ฝี คืออะไร?

ฝี หรือ Abscess คือเนื้อเยื่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Staphylococcus aureus และ streptococci โดยมีลักษณะเกิดต่อมบวมกลัดหนองด้านในทำให้มีอาการปวดบวมและแดงขึ้น ซึ่งมักจะเกิดขึ้นตามบริเวณต่อมไขมันหรือรูขุมขนบนผิวหนังเป็นส่วนมาก ส่วนใหญ่เราจะสามารถพบเจอฝีได้ตามผิวหนังภายนอกเป็นส่วนมาก แต่ก็ยังสามารถเกิดขึ้นตามอวัยวะภายในของร่างกายได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สิว คืออะไร?

สิว เกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันที่อยู่บริเวณรูขุมขน ซึ่งพบได้บนผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมีสาเหตุหลายชนิดที่ทำให้เกิดสิว เช่น เซลล์ที่เส้นขนแบ่งตัวมากผิดปกติ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ไขมัน ขี้ไคล หรือเชื้อแบคทีเรียต่างๆ เข้าไปสะสมอยู่ที่ต่อมขนจนทำให้กลายเป็นสิวอุดตัน (Comedone), เกิดจากต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไปจนออกมาในรูปแบบของตุ่มสิว, เกิดการอักเสบที่ต่อมขน, ติดเชื้อแบคทีเรีย Propionibacterium acnes (P.acnes) จนเกิดเป็นตุ่มนูน ตุ่มหนอง หรือตุ่มน้ำ

ฝีแตกต่างจากสิวอย่างไร?

หลายครั้งที่ผู้ป่วยมักจะเกิดความกังวลว่าอาการที่เป็นอยู่นั้นคือฝีหรือสิวกันแน่ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ฝีนั้นแตกต่างจากสิวอย่างชัดเจนในเรื่องของขนาดที่ใหญ่กว่า มีลักษณะบวมแดง และจะรู้สึกปวดมากกว่าสิว ซึ่งถือเป็นวิธีสังเกตอย่างง่ายๆด้วยตนเอง นอกจากนี้ ความแตกต่างอย่างหนึ่งของฝีก็คือ ฝีสามารถเกิดขึ้นได้ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น

  • โพรงหนองที่ฟัน เกิดบริเวณเนื้อใต้ฟันหรือบริเวณเหงือกและกระดูกกรามใต้ฟัน
  • ฝีทอนซิล เกิดบริเวณต่อมทอนซิลในช่องปากและผนังด้านในลำคอ
  • ฝีต่อมบาร์โธลิน เกิดในต่อมบาร์โธลินที่อยู่บริเวณผิวหนังของแคมอวัยวะเพศหญิง
  • ฝีที่ก้น เกิดบริเวณผิวหนังที่รอยแยกหรือร่องก้น
  • ฝีบริเวณทวารหนัก เกิดบริเวณลำไส้ตรงและทวารหนัก
  • ฝีไขสันหลัง เกิดบริเวณโดยรอบไขสันหลัง
  • ฝีในสมอง เกิดภายในเนื้อสมองใต้กะโหลกศีรษะ

สำหรับฝีที่สมอง จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้องโดยเร็ว ตลอดจนฝีชนิดอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากจะต้องทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุในการเปิดฝีภายในร่างกาย แต่สำหรับสิวจะเกิดขึ้นที่บริเวณผิวหนังที่มีต่อมไขมันเท่านั้น เช่น ใบหน้า คอ หน้าอก แผ่นหลัง หรือไหล่ เป็นต้น โดยมักไม่ขึ้นตามอวัยวะภายในต่างๆ ของร่างกายเหมือนเช่นกับฝี และนอกจากนี้ สิวก็ยังมีทั้งอาการสิวอักเสบและสิวอุดตัน

การรักษาฝีและสิวแตกต่างกันหรือไม่?

แม้ว่าฝีและสิวจะมีลักษณะที่คล้ายกัน แต่วิธีรักษานั้นจะแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งจะต้องทำการตรวจวินิจฉัยจากขนาดและอาการของฝีหรือสิวเป็นหลักก่อน สำหรับการรักษาฝีนั้นผู้ป่วยควรต้องเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย หากพบว่าอาการฝีไม่ได้มีขนาดใหญ่และปวดเล็กน้อย สามารถใช้วิธีการประคบร้อนด้วยน้ำอุ่น วันละประมาณ 2 – 3 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15 – 20 นาที อาการของฝีจะค่อยๆ หายไปได้เองจนเป็นปกติ นอกจากผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบแพทย์ก็จะทำการจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีวิธีผ่าหรือเจาะเพื่อระบายหนองออก สำหรับผู้ที่มีฝีขนาดใหญ่และปวดอักเสบมาก

ในขณะที่อาการของสิวนั้น ถือเป็นอาการที่สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง ด้วยการรักษาความสะอาดของผิวหน้าหรือร่างกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ยารักษาสิวที่มีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียร่วมได้ เช่น เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์, กรดซาลิไซลิก, ยารักษาสิวอุดตันในกลุ่มกรดวิตามินเอชนิดทาภายนอก หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ จะช่วยทำให้อาการของสิวดีขึ้นตามลำดับ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องใส่ใจดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของฝีหรือสิวลุกลามหนักขึ้น

วิธีป้องกันการเกิดฝีและสิวทำได้อย่างไร?

การป้องกันฝีนั้นจะแตกต่างจากสิวพอสมควร เนื่องจากฝีเป็นโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อกันได้จากเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในเรื่องของความสะอาดเป็นพิเศษ เช่น ควรหมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ควรสัมผัสฝีของคนอื่นหรือของตนเอง และควรปิดแผลตามร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย สำหรับวิธีป้องกันสิวนั้นสามารถทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ทำความสะอาดผิวหน้าและร่างกายให้สะอาด หลีกเลี่ยงแสงแดด ฝุ่นละออง และสิ่งเร้าที่อาจจะทำให้เกิดความมันส่วนเกินบนใบหน้าก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดสิวลงได้

สิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่เป็นฝีหรือสิวก็คือ การดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและไม่ควรไปบีบฝีหรือสิวอย่างเด็ดขาด แต่ควรดูแลโดยทำความสะอาดโดยรอบโดยใช้น้ำเกลือทำความสะอาด และใช้วิธีรักษาตามที่ได้แนะนำไว้ก็จะช่วยทำให้อาการดีขึ้นตามลำดับ สำหรับใครที่เกิดความสงสัยถึงอาการปวดบวมว่าจะเป็นฝีหรือสิวกันแน่ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไปจะดีที่สุด เพราะในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีและยารักษาที่สามารถช่วยให้อาการของฝีและสิวดีขึ้นได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องกลัวและไม่ต้องกังวลว่าอาการทั้งฝีหรือสิวจะรักษาไม่ได้


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How to Get Rid of Boils: Causes, Symptoms, Prevention, Treatment & Pictures. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/boils/article.htm)
Boil vs. Pimple: Learn the Differences & Similarities. eMedicineHealth. (https://www.emedicinehealth.com/boil_vs_pimple/article_em.htm)
Abscesses Treatment, Diagnosis, and Prevention. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/abscess-causes-and-treatment-1068819)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป