ผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ในผู้หญิง
การรักษาโรคมะเร็งสามารถส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ได้หลายทาง ดังนี้:
- ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) สามารถส่งผลกระทบต่อรังไข่ ซึ่งอาจทำให้ผลิตไข่ได้ลดลงหรือไม่มีไข่เลย ซึ่งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสามารถส่งผลต่อการสืบพันธุ์เพียงชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
- รังสีรักษา (radiotherapy) หรือการฉายแสง สามารถส่งผลต่อการผลิตไข่ นอกจากนี้ยังสามารถทำลายรังไข่หรือมดลูกและลดระดับฮอร์โมนได้ การใช้รังสีรักษาที่ต่างชนิดกันจะส่งผลต่อการสืบพันธุ์ที่แตกต่างกันด้วย
- การผ่าตัดที่มดลูก, รังไข่ หรือ ต่อมใต้สมอง อาจส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ได้
- การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด (hormonal therapy) จะลดหรือยับยั้งฮอร์โมนภายในร่างกาย โดยทั่วไปผลที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงผลชั่วคราว
- การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (targeted therapy) อาจส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ แต่ยังไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการสืบพันธุ์จะเป็นไปอย่างถาวรในผู้หญิงบางราย และส่วนที่เหลือจะเป็นแบบชั่วคราว แพทย์ที่ดูแลรักษาคุณจะพูดคุยกับคุณเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านการสืบพันธุ์ที่เป็นผลกระทบมาจากการรักษาโรคมะเร็งให้คุณทราบก่อนเสมอ คุณสามารถขอให้แพทย์ทำการตรวจระบบสืบพันธุ์ของคุณภายหลังสิ้นสุดการรักษามะเร็ง เพื่อดูว่าระบบสืบพันธุ์ของคุณเป็นปกติ สามารถมีลูกได้หรือไม่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สิ่งสำคัญที่สุดระหว่างการรักษาโรคมะเร็งคือ ต้องคุมกำเนิด เพราะการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีต่างๆ นั้น สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ได้
การวางแผนการมีลูกก่อนการรักษามะเร็ง
เนื่องจากการรักษามะเร็งอาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ (ความสามารถในการมีลูกของคุณ) ในผู้หญิงบางราย ความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียความสามารถในการมีลูกถือเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ การเจริญพันธุ์/การสืบพันธุ์ในเพศหญิงจะขึ้นกับการมี:
- การมีไข่ที่สร้างมาจากรังไข่
- การมีระดับฮอร์โมนที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์
- การมีมดลูกที่แข็งแรงสุขภาพดี
ก่อนการรักษามะเร็งจะเริ่มต้นขึ้น คุณควรพูดคุยกับแพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบสืบพันธุ์ที่มีสาเหตุจากการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งแน่นอนว่าแพทย์ไม่สามารถคาดการณ์ได้ 100% ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคุณจะเป็นอย่างไร ข้อมูลอายุและแผนการรักษาที่ได้วางไว้จะช่วยบอกได้ว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหากับระบบสืบพันธุ์มากน้อยเพียงใด แนะนำให้คุณพยายามคิดเกี่ยวกับคำถามที่คุณต้องการถามแพทย์หรือพยาบาลเพื่อให้คุณได้ข้อมูลที่ต้องการรู้มากที่สุด หากคุณมีแฟน แต่งงานมีคู่แล้ว ขอให้พาเขาไปพบแพทย์เพื่อถามคำถามด้วย
คุณอาจต้องเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ก่อนที่จะเริ่มรักษาโรคมะเร็ง เพื่อดูว่ามีวิธีใดที่จะช่วยเพิ่มโอกาสการมีลูกในอนาคตภายหลังการรักษามะเร็งจบลง ซึ่งขึ้นกับว่าคุณจะเริ่มการรักษามะเร็งเมื่อใด
การเก็บรักษาความสามารถในการเจริญพันธุ์ไว้
คุณอาจได้รับการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกการเจริญพันธุ์เพื่อรับคำแนะนำก่อนเริ่มการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะขึ้นกับอายุของคุณและชนิดของมะเร็งที่คุณเป็นด้วย แพทย์จะพูดคุยกับคุณถึงทางเลือกที่จะช่วยให้คุณมีลูกได้ในอนาคต
มีหลายวิธีที่จะช่วยรักษาความสามารถในการเจริญพันธุ์ไว้:
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- การนำไข่ไปแช่แข็ง – รังไข่ของคุณจะได้รับการกระตุ้นเพื่อผลิตไข่เพิ่มมากขึ้น และแพทย์จะทำการเก็บไข่และแช่แข็งไว้
- การแช่แข็งตัวอ่อน – ไข่ที่ถูกเก็บไว้จะถูกนำมาปฏิสนธิกับตัวอสุจิบนจานทดลองปราศจากเชื้อ โดยตัวอสุจิอาจมากจากคู่ของคุณหรือจากผู้บริจาค เมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิมีการพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะ embryos แล้ว ตัวอ่อนนี้จะถูกแช่แข็งเก็บไว้
- เมื่อคุณรักษาโรคมะเร็งสิ้นสุดแล้ว และวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ไข่หรือตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้จะถูกนำมาละลายและถูกย้ายเข้าไปใส่ในโพรงมดลูกต่อไป
นักวิทยาศาสตร์อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยถึงเทคนิคในการนำเนื้อเยื่อรังไข่ที่อาจมีไข่อยู่ภายในออกมาและทำการแช่แข็ง แต่มีเด็กจำนวนน้อยมากที่เกิดจากเทคนิคนี้
การใช้ไข่บริจาค หรืออสุจิบริจาค
ผู้หญิงบางรายหรือคู่สมรสบางรายที่ได้รับผลกระทบด้านการสืบพันธุ์จากโรคมะเร็งอาจเลือกวิธีการมีลูกด้วยการใช้ไข่บริจาค หรือ อสุจิบริจาค ซึ่งปัจจุบันมีผู้บริจาคไม่มาก ไม่ใช่ทางเลือกที่ง่ายนัก
ผู้หญิงที่มีปัญหาเป็นหมันถาวรและไม่ได้ทำการฝากไข่หรือตัวอ่อนไว้ก่อนการรักษามะเร็ง อาจต้องพิจารณาเลือกใช้จากผู้บริจาคแทน
ในการตัดสินใจเลือกใช้ไข่ หรืออสุจิบริจาคเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากและไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคน ในบางศาสนาต่อต้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์เหล่านี้ หรือบางศาสนาอาจต่อต้านการใช้ไข่หรืออสุจิจากผู้บริจาค ดังนั้นขอให้ปรึกษากับคู่สมรส ครอบครัว หรือที่ปรึกษาทางศาสนาของคุณเกี่ยวกับความกังวลใดๆ ที่คุณมีก่อนด้วย นอกจากนี้คุณยังสามารถพูดคุยเรื่องดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่ที่คลินิกผู้มีบุตรยากได้ด้วย
ผู้บริจาค
โดยทั่วไปการคัดเลือกไข่หรืออสุจิจากผู้บริจาค จะทำอย่างระมัดระวัง:
- มักจะเลือกผู้บริจาคที่มีลักษณะใกล้เคียงกับผู้รับบริจาคมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ได้แก่ สีตา สีผม ลักษณะทางกายภาพ และชาติกำเนิด (เชื้อชาติ)
- ผู้บริจาคจะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและไม่มีปัญหาทางสุขภาพใดๆ
- ผู้บริจาคจะต้องได้รับการตรวจโรคติดต่อต่างๆ เช่น เอชไอวี (HIV), ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี และโรคทางพันธุกรรมบางโรค
ผู้หญิงบางรายอาจพิจารณารับเลี้ยงบุตรบุญธรรมหรือเลือกใช้วิธีการตั้งครรภ์แทน (การอุ้มบุญ) ซึ่งผู้หญิงคนอื่นรับหน้าที่ตั้งครรภ์ให้กับคุณ ถ้าคุณได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออก หรือได้รับรังสีรักษาโดยตรงที่บริเวณมดลูก การรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม หรือการอุ้มบุญคือทางเลือกเดียวที่คุณสามารถเลือกเพื่อการมีบุตรได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
แต่ก็มีผู้หญิงบางรายที่ไม่เข้ารักษาการมีบุตรยาก ไม่รับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ไม่ใช้วิธีอุ้มบุญ แต่ก็ยังมีชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขแม้ไม่มีลูก แน่นอนว่าทุกคนแตกต่างกัน
ผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ในผู้ชาย
การรักษาโรคมะเร็งสามารถส่งผลกระทบต่อการสืบพันธุ์ในเพศชายได้หลายวิธี คุณสามารถขอรับการตรวจอสุจิภายหลังการรักษาโรคมะเร็งสิ้นสุดลงเพื่อดูว่าคุณผลิตอสุจิที่แข็งแรงหรือไม่
- ยาเคมีบำบัดจะส่งผลให้การสร้างอสุจิช้าลงหรือยับยั้งการสร้างอสุจิ โดยผลที่เกิดขึ้นจะขึ้นกับชนิดของยาที่ได้รับ คุณควรมีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์และการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายต่อไป
- รังสีรักษา การได้รับรังสีรักษาเข้าไปที่บริเวณเชิงกรานจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอสุจิและการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย การฉายรังสีเข้าไปที่บริเวณสมองหรืออัณฑะจะส่งผลลดระดับฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า เทสโทสเตอโรน (testosterone)
- การผ่าตัดที่บริเวณเชิงกราน สามารถส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายและการหลั่งน้ำอสุจิได้ การผ่าตัดที่ต่อมใต้สมองในศีรษะหรือที่บริเวณอัณฑะสามารถส่งผลลดระดับฮอร์โมนเพศชาย เทสโทสเตอโรน (testosterone) ได้
- การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด (hormonal therapy) จะลดระดับฮอร์โมน เทสโทสเตอโรน (testosterone) ซึ่งจะทำให้ไม่ค่อยมีอารมณ์ทางเพศและเกิดปัญหาในการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้อาจเป็นอย่างถาวรในผู้ชายบางราย ส่วนที่เหลือจะเกิดเพียงชั่วคราว ซึ่งแพทย์จะพูดคุยกับคุณเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ของคุณ
การวางแผนการมีลูกก่อนการรักษามะเร็ง
เมื่อผู้ชายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้ว อัณฑะจะผลิตอสุจิได้หลายล้านตัว การผลิตอสุจินี้ถูกควบคุมโดยฮอร์โมน เทสโทสเตอโรน เป็นหลัก คุณจำเป็นต้องมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เพื่อให้มีแรงขับเคลื่อนทางเพศและมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย
ตามปกติแล้วคุณต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเพื่อให้ตัวอสุจิของคุณผสมกับไข่ของเพศหญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายและการหลั่งน้ำอสุจิเข้าสู่ช่องคลอดของผู้หญิง สารคัดหลั่งที่หลั่งออกมาจากอวัยวะเพศชายเราเรียกว่าน้ำอสุจิ ซึ่งภายในมีตัวอสุจิอยู่จำนวนมากที่สามารถผสมกับไข่ของฝ่ายหญิงได้
บางคู่สมรสจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีทางการเจริญพันธุ์เพื่อช่วยในการมีบุตร ซึ่งเทคโนโลยีในการเจริญพันธุ์นั้นมีอยู่หลายวิธีเพื่อช่วยให้ผู้มีบุตรยากตามธรรมชาติสามารถมีบุตรได้
การจะบอกว่าคุณเป็นโรคมะเร็งและการรักษาโรคมะเร็งอาจทำให้คุณมีบุตรยากถือเป็นเรื่องยากที่จะพูด ในผู้ชายบางคนการบอกว่าเขามีโอกาสสูญเสียความสามารถในการมีบุตรไปเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้พอๆ กับที่จะต้องยอมรับว่าตนเองเป็นโรคมะเร็ง
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องพูดคุยกับแพทย์หรือพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการมีบุตรก่อนการเริ่มรักษาโรคมะเร็ง ให้คิดถึงคำถามที่คุณอยากรู้และถามแพทย์หรือพยาบาลเพื่อให้ได้รับคำตอบที่ครบถ้วนตามที่คุณสงสัย หากคุณมีคู่สมรสแล้วขอให้พาคู่สมรสไปพร้อมกัน
หากการรักษาโรคมะเร็งที่คุณจะได้รับมีโอกาสทำให้คุณเป็นหมัน แพทย์จะพูดคุยกับคุณถึงการฝากอสุจิไว้ในธนาคารเพื่อแช่แข็งก่อนที่จะเริ่มการรักษามะเร็ง การฝากตัวอสุจิจะมีประโยชน์ในกรณีที่คู่สมรสหรือคุณต้องการจะมีลูกในอนาคตหลังการรักษามะเร็งสิ้นสุดลง แม้ว่าการรักษาจะทำให้คุณเป็นหมันก็ตาม
แพทย์โรคมะเร็งสามารถส่งต่อคุณไปยังคลินิกการเจริญพันธุ์ทันที ซึ่งหมายความว่าคุณจะได้รับการเก็บอสุจิอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้การรักษาโรคมะเร็งล่าช้าออกไป แต่ในบางสถานการณ์คุณอาจต้องเริ่มการรักษาโรคมะเร็งทันที ทำให้คุณไม่สามารถฝากตัวอสุจิได้ในกรณีนี้
ถ้าคุณได้รับการรักษาโรคมะเร็งจนเสร็จสิ้นแล้ว และคุณกำลังมีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก ขอให้พูดคุยกับแพทย์โรคมะเร็งที่รักษาคุณ ซึ่งแพทย์จะส่งต่อคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านการมีบุตรยากเพื่อขอรับคำแนะนำและรับการตรวจต่อไป
การเก็บรักษาความสามารถในการเจริญพันธุ์ไว้
ในบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าการรักษาโรคมะเร็งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการมีบุตรของคุณมากน้อยเพียงใด แพทย์อาจแนะนำให้คุณทำการเก็บตัวอสุจิไว้ แม้ว่าคุณจะมีโอกาสน้อยที่จะเป็นหมันก็ตาม ตัวอสุจิที่แช่แข็งไว้สามารถนำมาใช้หลังการรักษามะเร็งสิ้นสุดลงเพื่อช่วยให้คุณและคู่สมรสของคุณมีบุตรได้
หากคุณตัดสินใจที่จะฝากตัวอสุจิแช่แข็ง คุณจะต้องลงนามยินยอมในหนังสือแสดงความยินยอม (consent form) โดยการเก็บตัวอสุจินั้นคุณจะต้องทำการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (ช่วยตัวเอง) โดยจะทำในห้องส่วนตัวปิดมิดชิด ณ คลินิกการเจริญพันธุ์แห่งที่คุณไปติดต่อ และเก็บใส่บรรจุภัณฑ์ที่เจ้าหน้าที่คลินิกได้ให้กับคุณไว้
หากคุณไม่สามารถเก็บตัวอสุจิได้จากวิธีการช่วยตัวเอง ยังมีทางเลือกในการเก็บตัวอสุจิโดยการเก็บสารคัดหลั่งหรือเนื้อเยื่อโดยตรงจากอัณฑะ อย่างไรก็ตามนักวิจัยกำลังศึกษาวิจัยถึงวิธีการอื่นๆ ในการเก็บรักษาความสามารถในการเจริญพันธุ์ การพูดคุยกับแพทย์จะทำให้รู้ถึงวิธีการที่เหมาะสมสำหรับคุณ
ทางเลือกในการมีบุตรหลังการรักษามะเร็งเสร็จสิ้นแล้ว
ภายหลังการรักษาโรคมะเร็งเสร็จสิ้น คุณอาจกำลังวางแผนที่จะเริ่มสร้างครอบครัว และมีลูก ถ้าคุณได้เก็บตัวอสุจิแช่แข็งไว้ก่อนการรักษามะเร็ง คุณสามารถนำตัวอสุจิมาใช้ได้ดังนี้:
- นำอสุจินั้นมาฉีดเข้าสู่โพรงมดลูกของคู่สมรสคุณ
- นำอสุจินั้นมาผสมกับไข่ของคู่สมรสคุณในห้องปฏิบัติการ
- นำอสุจิ 1 ตัวฉีดเข้าสู่ไข่จากคู่สมรสคุณ 1 ใบ (ทำในห้องปฏิบัติการ)
เทคนิคต่างๆ ที่ช่วยในการเจริญพันธุ์นั้นมีความปลอดภัยและมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดอันตรายต่อตัวเด็ก อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถยืนยันได้ 100% ว่าเทคนิคเหล่านี้จะทำให้ตั้งครรภ์ได้ คุณสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ในประเด็นนี้
หากการรักษาโรคมะเร็งทำให้คุณเป็นหมันถาวร และคุณไม่ได้ฝากตัวอสุจิไว้ตั้งแต่ก่อนการรักษาโรคมะเร็ง คุณอาจต้องใช้ตัวอสุจิที่ได้รับการบริจาค ในการคัดเลือกผู้บริจาคตัวอสุจิจะทำอย่างระมัดระวังที่สุด แต่ก็พบว่ามีจำนวนผู้บริจาคไม่มากนัก
ในผู้ชายบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ฮอร์โมน เทสโทสเตอโรน ทดแทน เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว หรือปัญหาไม่ค่อยมีอารมณ์ทางเพศ การรักษาด้วยวิธีนี้จะส่งผลต่อการผลิตตัวอสุจิด้วย ถ้าคุณวางแผนจะมีบุตรในอนาคตขอให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการรักษาด้วยวิธีนี้
การขอรับการสนับสนุน
ภาวะมีบุตรยากเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลสำหรับคนที่ต้องการมีลูก การมีลูกคือส่วนสำคัญหนึ่งของชีวิตคู่หลายๆ คนหรือการวางแผนในอนาคตของชีวิตคู่ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องยากมากเมื่อคุณกำลังรับมือกับโรคมะเร็ง และก็ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าภายหลังการรักษาโรคมะเร็งแล้ว ระบบสืบพันธุ์จะกลับมาเป็นปกติหรือไม่ หรือจะเกิดภาวะมีบุตรยากเกิดขึ้น
ผู้ป่วยบางรายพบว่าการพูดคุยกับคู่สมรส ครอบครัว หรือเพื่อน เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ บางคนอาจต้องการพูดคุยกับผู้ให้คำปรึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมแล้ว แพทย์ทั่วไปหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งสามารถให้คำแนะนำกับคุณในเรื่องต่างๆ หรือส่งต่อคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านได้ และในโรงพยาบาลหลายๆ แห่งจะมีพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่สามารถให้การสนับสนุน และมีคลินิกการเจริญพันธุ์ที่มีนักให้คำปรึกษาคอยพูดคุยกับคุณในเรื่องที่คุณกำลังกังวลอยู่นี้
การพูดคุยกับคนอื่นที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกับคุณจะทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง องค์กรบางองค์กรสามารถให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาเฉพาะด้านให้กับคุณได้ หรืออาจใช้การพูดคุยผ่านสื่อออนไลน์ แหล่งชุมชนออนไลน์ต่างๆ ที่มีผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกับคุณ