โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) คืออะไร?

โรคสมองพิการ เป็นความพิการทางกายที่พบบ่อยในเด็ก ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการ และระบบอื่นๆ ในร่างกายได้
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) คืออะไร?

โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy: CP) เป็นความพิการทางร่างกายที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก เกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน ทำให้เกิดการทำลายอย่างถาวรหรือการพัฒนาผิดปกติแบบเรื้อรังบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ในระยะที่สมองกำลังอยู่ในระหว่างการเจริญเติบโต

มักพบในเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมากกว่าเด็กคลอดครบกำหนด

โรคสมองพิการส่งผลให้ทารกมีพัฒนาการทางการเคลื่อนไหวและการทรงตัวผิดปกติ จึงมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมต่างๆ

โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบร่วมกับความผิดปกติอื่นๆ ได้แก่ การรับรู้ความรู้สึก สติปัญญา การสื่อสาร พฤติกรรม และอาจมีโรคลมชักและภาวะแทรกซ้อนจากระบบกระดูกและกล้ามเนื้อร่วมด้วยได้

สาเหตุของโรคสมองพิการ

สาเหตุของสมองพิการเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น พันธุกรรม การอักเสบ การติดเชื้อ การขาดออกซิเจน การได้รับบาดเจ็บต่อสมองที่กำลังพัฒนา ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือภายหลังคลอด

สาเหตุของโรคสมองพิการที่พบบ่อยที่สุดถึง 75-80% คือ ปัจจัยขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

  • การติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์
  • ความผิดปกติในการเจริญพัฒนาของสมอง
  • โรคทางพันธุกรรม
  • การได้รับสารพิษในครรภ์
  • รกผิดปกติ
  • ครรภ์แฝด
  • ปัจจัยด้านสุขภาพของมารดา เช่น โรคลมชัก ความบกพร่องทางสติปัญญา ไทรอยด์เป็นพิษ เบาหวาน การดื่มสุราหรือใช้สารเสพติด

ปัจจัยช่วงขณะคลอดและระยะช่วงหลังคลอด พบเป็นสาเหตุน้อยกว่า 10% ได้แก่

  • การได้รับบาดเจ็บระหว่างการเกิด
  • การขาดออกซิเจนระหว่างการเกิด
  • ลมชัก
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ภาวะตัวเหลือง
  • การติดเชื้อ
  • เลือดออกในสมอง

ปัจจัยที่เกิดในภายหลัง พบเป็นสาเหตุประมาณ 12-21% ได้แก่

  • การจมน้ำ
  • การได้รับสารพิษ
  • การได้รับอุบัติเหตุ
  • การติดเชื้อในสมอง

อาการแสดงของโรคสมองพิการ

อาการนำของเด็กสมองพิการมักมาด้วยพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อล่าช้า หรืออาจจะมาด้วยอาการแสดงของระบบอื่นๆ ได้

  • อาการแสดงทางระบบประสาทและพฤติกรรม เช่น การร้องกวน มีปัญหาการกินในวัยทารกแรกเกิด นอนหลับยาก อาเจียนบ่อย อุ้มลำบากเนื่องจากจัดท่าได้ยาก จ้องมองหน้าน้อย
  • ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น ความตึงตัวของกล้ามเนื้อปกติหรือเพิ่มขึ้น หดเกร็ง กำมือตลอดเวลาหรือกำมือสองข้างไม่เท่ากัน แอ่นคอและหลัง ชันคอได้ไม่ดี ไม่สามารถทรงตัวได้ ตัวอ่อนปวกเปียก ตั้งคลานไม่ได้ กล้ามเนื้อช่องปากทำงานผิดปกติ เช่น แลบลิ้นไม่ได้ แลบลิ้นตลอดเวลา กัดฟันตลอด ทำหน้าแสยะตลอด หรือมีการรับรู้ความรู้สึกเร็วกว่าปกติ พัฒนาการของปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งกระตุ้น ไม่เป็นไปตามวัย เป็นต้น

อาการแสดงจะขึ้นกับชนิดของโรคสมองพิการที่ตัวเด็กเป็น ซึ่งมีทั้งชนิดหดเกร็ง แบบยุกยิก ควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ได้ ชนิดเดินเซ และชนิดผสม

โรงสมองพิการแต่ละชนิดจะมีการวินิจฉัยแยกย่อยลงไปในรายละเอียด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมทางการแพทย์ รวมทั้งการเฝ้าติดตามดูอาการของตัวเด็ก โดยชนิดสมองพิการแบบหดเกร็ง (Spastic cerebral palsy) จะพบได้บ่อยที่สุดถึง 50-75%

การรักษาโรคสมองพิการ

โรคสมองพิการมีหลายชนิดด้วยกันอย่างที่บอกไปแล้ว แต่ละชนิดจะทำให้เด็กเกิดปัญหาด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน และอาจต้องใช้การรักษาพร้อมกันหลายๆ ด้าน

เช่น ปัญหาการเคลื่อนไหว การดูดกลืน การใช้มือ การสื่อสาร ปัญหาด้านสติปัญญา อารมณ์และสังคม ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทีมผู้รักษา ครอบครัว และตัวเด็กเอง

ในเด็กที่ได้รับความรัก ความเข้าใจ และการรักษาตั้งแต่อายุน้อยๆ จะมีโอกาสทางพัฒนาการที่ดีขึ้นได้มากกว่า

ชนิดของโรคสมองพิการนั้นพบว่ามีความสัมพันธ์กับการพยากรณ์โรค ส่วนใหญ่ระดับสติปัญญาที่บกพร่องมักสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค

ถ้าเด็กสมองพิการสามารถเดินได้ก่อนอายุ 2 ปี มักจะมีระดับสติปัญญาปกติถึงใกล้เคียงปกติ โดยอาจช่วยเหลือตนเองโดยใช้รถเข็นหรืออุปกรณ์เสริมได้ แต่ก็มีโรคสมองพิการบางชนิดที่ช่วยเหลือตนเองได้น้อย

เป้าหมายการรักษาคือ ทำให้เด็กสามารถอยู่ในครอบครัวและสังคม ป้องกันความพิการซ้ำซ้อน สามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือพึ่งพาผู้อื่นน้อยที่สุด

โรคสมองพิการ รักษาได้หรือไม่?

โรคสมองพิการเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถรักษาฟื้นฟูให้ความผิดปกติลดลง จนสามารถทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพ และเด็กหลายคนสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงคนปกติ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ, โรคสมองพิการ (Cerebral pasy) (http://www.bangkokhealth.com/index.php/health/health-system/brain/1819-โรคสมองพิการ-cerebral-palsy.html).
สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต, ข้อมูลวิชาการ กลุ่มโรคสำคัญ โรคสมองพิการ CP (https://th.rajanukul.go.th/preview-4006.html).
รศ.พญ.ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, E-book : development behavioral pediatrics, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (http://www.thaipediatrics.org/Media/media-20180606120233.pdf).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป