บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือไม่ ถ้าเทียบกับบุหรี่จริง

รู้จักบุหรี่ไฟฟ้าให้ดีก่อนตัดสินใจใช้เพราะคำว่า "เท่" หรือเชื่อว่า "ช่วยทำให้เลิกบุหรี่ได้"
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือไม่ ถ้าเทียบกับบุหรี่จริง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสูบบุหรี่ ผ่านการสร้างความร้อน และไอน้ำด้วยแบตเตอรี่ นอกจากนี้ ผู้สูบยังสามารถเลือกระดับของสารนิโคติน กลิ่น และรสของบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วย
  • ถึงแม้บุหรี่ไฟฟ้าจะทำงานโดยใช้แบตเตอรี่เป็นหลัก และมีสารเคมีอื่นๆ เติมเข้ามาเพื่อเพิ่มรส และกลิ่น แต่บุหรี่ไฟฟ้าก็ยังมีสารนิโคตินซึ่งทำอันตรายต่อร่างกายได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา
  • ข้อดีของบุหรี่ไฟฟ้า คือ ไม่ได้ผสมน้ำมันดิน คาร์บอนมอนอกไซต์ และสารพิษอื่นๆ เอาไว้เหมือนบุหรี่ธรรมดา ทำให้อย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งปอดไปได้ส่วนหนึ่ง
  • ถึงจะไม่มีกลิ่นเหม็น และดูมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ความจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เส้นเลือดสมองแตก หัวใจวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้สูงขึ้น
  • เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดี คุณไม่ควรสูบบุหรี่ทั้งแบบธรรมดา และแบบไฟฟ้า หรือหากคุณอยู่ในภาวะติดบุหรี่ ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางเลิกโดยเร็วที่สุด (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัยกับแพทย์โดยตรงได้ที่นี่)

บุหรี่ไฟฟ้า คือ นวัตกรรมการสูบบุหรี่แบบใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ โดยตัวบุหรี่จะไม่ใช่ยาสูบเป็นมวนสีขาว แต่เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสูบที่สามารถเลือกสี ยี่ห้อ และกลิ่นได้หลากหลาย 

สิงห์อมควันหลายคนเข้าใจว่า การสูบบหรี่ไฟฟ้านั้นปลอดภัย ไม่ส่งกลิ่นเหม็น สามารถสูบในที่ห้ามสูบได้ แต่ความจริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอันตรายไม่ต่างจากมวนบุหรี่แบบเดิมเลย

ควาหมายของบุหรี่ไฟฟ้า                                 

บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสูบบุหรี่ ผ่านการสร้างความร้อน และไอน้ำด้วยแบตเตอรี่ ไม่ใช่การจุดให้เผาไหม้ ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้ นอกจากนี้ผู้สูบยังสามารถเลือกระดับของนิโคติน และเลือกกลิ่นรสได้ตามความต้องการด้วย

อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า

ปัจจุบันทั้งใน และต่างประเทศยังไมํมีหน่วยงาน หรือองค์กรใดที่ออกมาตั้งมาตรฐานการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าที่ชัดเจน ทั้งในด้านการออกแบบ ส่วนประกอบ ความเข้มข้น ความบริสุทธิ์ ความปลอดภัย และการแนะนำการใช้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง 

นอกจากนี้ ยังไม่มีวิธีวัดที่สะดวกสำหรับผู้บริโภค ในการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าด้วย ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพหรือไม่

ส่วนประกอบของสารต่างๆ ภายในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า

นอกจากแบตเตอรี่ที่ทำให้เกิดความร้อน และไอน้ำแล้ว ส่วนประกอบสำคัญในบุหรี่ไฟฟ้าที่ควรรู้จักคือ "น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า" หรือ สามารถเรียกได้อีกอย่างว่า E-liquid ซึ่งมีสารประกอบสำคัญต่างๆ อย่างได้แก่

1. นิโคติน 

สารนิโคตินได้จากใบยาสูบถือเป็นสารออกฤทธิ์ที่สำคัญที่สุดของบุหรี่ ซึ่งทำให้เกิดการเสพติดขึ้น 

เมื่อร่างกายดูดซึมนิโคตินเข้าไปกระแสเลือดจะทำให้เกิดการกด กระตุ้น และกล่อมประสาทส่วนกลาง รวมทั้งการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตจึงเพิ่มขึ้น ทำให้หลอดเลือดหดตัว เหนื่อยง่าย ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 

ไม่เพียงเท่านั้น นิโคตินยังสามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด รวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ด้วย

2. กลีเซอรีน 

กลีเซอรีน (Glycerin) สารเพิ่มความชื้น ไม่มีกลิ่นและสี แต่มีรสชาติ กลีเซอรีนได้รับการรับรองความปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหารหรือยาจากองค์การอาหาร และยา แต่ยังไม่มีผลการศึกษาออกมาอย่างแน่ชัดว่า เมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอน้ำ ผ่านการสูดดมเข้าไปแล้ว จะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายบ้าง 

3. โพลไพลีนไกลคอล 

โพลไพลีนไกลคอล (Propylene Glycol) เป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดไอน้ำออกมา โพลไพลีนเป็นอีกหนึ่งสารได้รับการยืนยันความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยาแล้วสำหรับนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ยา และอาหาร 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสูดดมโพลไพลีนไกลคอลเข้าไป ก็อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ปอดรวมถึงดวงตา และอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ นอกจากนี้ โพลไพลีนไกลคอลยังมีอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคหอบ และโรคถุงลมโป่งพองได้

4. สารแต่งกลิ่น และรส 

เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วไปจึงมีความปลอดภัยเมื่อรับประทาน แต่เมื่อสูดดมเข้าไปยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ปลอดภัยต่อร่างกายหรือไม่ 

ผลกระทบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีเพียงแค่ส่วนเสียเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนดีอยู่ด้วยเช่นกัน 

ข้อดีของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

ในบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีการผสมน้ำมันดิน หรือทาร์ รวมถึงคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารพิษอื่นๆ อย่างที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดา จึงสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งปอด รวมถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากสารเคมีที่กล่าวถึงมาข้างต้นได้

ข้อเสียของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

เพราะส่วนประกอบหลักของบุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นนิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา ดังนั้นนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีผลเสียต่อร่างกายได้ไม่ต่างกัน แต่จะแตกต่างเพียงแค่ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถกำหนดขนาดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าได้เอง 

แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยกลิ่นที่หอม สามารถเลือกอุปกรณ์ได้หลากหลาย บุหรี่ไฟฟ้าก็อาจทำให้ผู้สูบได้รับนิโคตินมากเกินความจำเป็น จนทำให้เกิดอาการมึนงง หัวใจเต้นเร็ว เส้นเลือดสมองแตก ที่สำคัญในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้ายังมีโลหะหนักผสมอยู่ด้วย 

งานวิจัยล่าสุดพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบสูงขึ้น 71% โรคหัวใจวายเฉียบพลันสูงขึ้น 59% และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 40%

บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้หรือไม่

ในปัจจุบันองค์การอาหาร และยายังไม่อนุมัติให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่ หากคุณต้องการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อต้องการเลิกสูบบุหรีจริงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่ปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากมีหลายคนต้องการที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยในการเลิกบุหรี่ แต่สุดท้ายกลับหันมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเรียนรู้อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ระมัดระวังการใช้ แต่ทางที่ดีหากไม่ใช้เลยก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายกับแพทย์โดยตรง เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.),แพทย์เตือน บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่า PM 2.5 (http://www.trc.or.th/th/%E0%B8...), 12 กุมภาพันธ์ 2562
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์, โครงการศึกษาผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทยและข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการจากภาครัฐ (http://www.thaitobacco.or.th/th/wp-content/uploads/2015/07/140305_ECIG-Report-Template_V28.pdf), 16 มิถุนายน 2557

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป