ผ้ารัดกล้ามเนื้อมีประโยชน์จริงหรือ?

ทำความเข้าใจหลักการทำงานของผ้ารัดกล้ามเนื้อ ประโยชน์ทางกายภาพบำบัด และการนำไปประยุกต์ใช้ในนักกีฬา
เผยแพร่ครั้งแรก 12 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ผ้ารัดกล้ามเนื้อมีประโยชน์จริงหรือ?


แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

“ผ้ารัดกล้ามเนื้อ” หนึ่งในอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับผู้ป่วยอาการต่างๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังผ่าตัดเต้านม ผู้ป่วยหลังผ่าตัดข้อเข่า และผู้ป่วยที่มีอาการบวมของปลายแขนหรือขา เป็นต้น ในปัจจุบันผ้ารัดกล้ามเนื้อได้รับความนิยมในหมู่ผู้ออกกำลังกายอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มนักวิ่งมาราธอน แต่ก็มีบางคนบอกว่าแท้ที่จริงผ้ารัดกล้ามเนื้อไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้เลือดหมุนเวียนลำบาก บทความนี้จะช่วยอธิบาย ไขความเข้าใจที่ถูกต้อง

ผ้ารัดกล้ามเนื้อคืออะไร?

ผ้ารัดกล้ามเนื้อ (Compression sleeves หรือ Compression garments) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการกายภาพบำบัด และมีการพัฒนารูปแบบอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีหลายรูปร่างและขนาด เหมาะสำหรับร่างกายแต่ละส่วน เช่น ลักษณะเหมือนถุงเท้า ถุงน่องที่สวมจากเท้ามาถึงต้นขา ถุงน่องแบบครึ่งตัวสวมตั้งแต่เท้ามาถึงเอว นอกจากนี้ยังมีลักษณะที่เป็นถุงมือ ปลอกแขน และลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนมากจะใช้เพื่อลดอาการบวม และเพิ่มการไหลเวียน ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (Deep vein thrombosis: DVT) เป็นต้น

หลักการทำงานของผ้ารัดกล้ามเนื้อเป็นอย่างไร?

เมื่อจะกล่าวถึงหลักการทำงานของอุปกรณ์รัดกล้ามเนื้อชนิดต่างๆ คงต้องย้อนไปถึงกระบวนการบาดเจ็บของร่างกาย เมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายบาดเจ็บร่างกายจะตอบสนองด้วยกระบวนการอักเสบ (Inflammation) ซึ่งลักษณะสำคัญของกระบวนการอักเสบที่สังเกตได้ชัดคือ ปวด บวม แดง ร้อน และทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพของร่างกายส่วนนั้น

ในทางกายภาพบำบัด เมื่อมีการอักเสบหรือบาดเจ็บเกิดขึ้น นักกายภาพบำบัดจะพยายามความคุมกระบวนการอักเสบไม่ให้ลุกลาม และเป็นไปอย่างถูกต้อง เพื่อให้การฟื้นฟูเป็นได้ได้อย่างรวดเร็ว หลักการที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย

  • การพักการใช้งาน (Resting)
  • การประคบเย็น (Icing)
  • การให้แรงกด (Compression)
  • การยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงกว่าหัวใจเล็กน้อย (Elevation)

4 อย่างด้านบนเรียกโดยย่อว่า RICE และในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาโดยเพิ่มองค์ประกอบเข้าไปอีกหลายข้อ หลักการที่ได้รับความนิยมมากหลักการหนึ่งก็คือ POLICE ซึ่งเคยได้กล่าวไว้แล้วในเรื่องการรักษาข้อเท้าพลิกเบื้องต้นด้วยตนเอง

อ่านเพิ่มเติม: ข้อเท้าพลิกคืออะไร รักษาอย่างไรให้ถูกต้อง?

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า การให้แรงกด (Compression) นั้นมีความสำคัญกับการยับยยั้งกระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บของร่างกาย ในแง่ของการลดอาการบวมและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดกลับไปสู่หัวใจ จึงถูกนำมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์ และวิธีการรักษาต่างๆ ทางกายการแพทย์และกายภาพบำบัดมากมาย นอกจากนี้ในปัจจุบันก็ได้มีผู้เริ่มนำเข้าไปปรับใช้กับการป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากการเล่นกีฬาอีกด้วย 

อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดใดใช้ประโยชน์อะไรจากแรงกดบ้าง?

ในทางกายภาพบำบัด เครื่องมือที่ใช้เพื่อการลดบวมและทำหน้าที่ในลักษณะนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. ผ้ายืด (Bandage) เป็นแถบผ้ายืดที่มีความกว้างขนาดต่างๆ มักมีสีส้มอ่อนๆ โดยมากมักใช้พันข้อเท้าแพลงหรือข้อมือเคล็ด แต่ความจริงแล้วผ้ายืดชนิดนี้มีประโยชน์หลายอย่าง หนึ่งในข้อสำคัญคือลดบวม แต่วิธีใช้จะยุ่งยากและซับซ้อน ต้องอาศัยการให้แรงรัดแน่นจากส่วนปลายรยางค์ แล้วค่อยๆ ลดแรงนั้นลงเมื่อพันเข้าใกล้ต้นแขนหรือต้นขา ข้อดีของการรัดด้วยอุปกรณ์ชนิดนี้คือ นอกจากจะช่วยลดอาการบวม ยังสามารถช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อต่อที่บาดเจ็บได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทิศทางและลักษณะการพันผ้าที่ต้องทำโดยชำนาญด้วย มักนิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีปลายมือหรือปลายเท้าบวม หรือต้องจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อต่อนั้นๆ ให้น้อยลง เพื่อให้ส่วนนั้นได้ทำงานน้อยลงและฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อเท้าแพลง เอ็นเข่าบาดเจ็บ เป็นต้น
  2. ผ้ารัดกล้ามเนื้อสำเร็จรูป (Compression sleeves หรือ Compression garments) หรือถ้าใช้กับผู้ป่วยที่มีความเสียงต่อหลอดเลือดที่ขาดำอุดตัน มักจะถูกเรียกว่า ถุงเท้า หรือ ถุงน่องรัดกล้ามเนื้อ (Graduated compression stockings) มีลักษณะเหมือนถุงเท้า ถุงน่อง หรือปลอกสวมขา ออกแบบมาให้ใช้ได้สะดวก ซึ่งเป็นจุดเด่นของอุปกรณ์ชนิดนี้ แต่การเลือกไซซ์ต้องทำอย่างแม่นยำ แต่ละไซซ์ให้แรงรัดกล้ามเนื้อที่ต่างกัน หากแน่นไปอาจจะทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี หากหลวมไปก็จะไม่ได้ผล มักใช้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ที่มีเส้นเลือดขอด หรือผู้ที่มีอาการบวมของรยางค์ เป็นต้น
  3. เครื่องบีบเป็นระยะด้วยลม (Intermittent pneumatic compression) เป็นปลอกแขนหรือขา ต่อกับเครื่องผลิตลมไฟฟ้าบีบและปล่อยเป็นจังหวะสลับกัน ทำให้สวมใส่ได้ตลอดทั้งวัน ไม่ต้องคอยคลายหรือถอดเหมือนสองชนิดแรก ข้อเสียคือไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ มักใช้กับผู้ป่วยที่เพิ่งรับการผ่าตัดเต้านม เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้รักแร้มักจะถูกตัดออกไปด้วย ทำให้การไหลเวียนของของเหลวเป็นไปได้ไม่ดี มักจะเกิดอาการบวมตามมา หรือผู้ป่วยหลังผ่าตัดใหญ่หลายชนิดก็มักจะต้องใส่อุปกรณ์ชนิดนี้ที่ขาเพื่อกระตุ้นให้เลือดไหลเวียน ไม่เกิดเป็นลิ่มเลือดขึ้น

จะเห็นว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การเลือกนำไปใช้ต้องถูกพิจารณาอย่างระเอียดทั้งจากแพทย์และนักกายภาพบำบัดเพื่อให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย

ข้อบ่งชี้ทางกายภาพบำบัดของผ้ารัดกล้ามเนื้อ

นอกจากที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า อุปกรณ์รัดกล้ามเนื้อชนิดต่างๆ มีประโยชน์ในการป้องกันการลดบวม และเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ผู้ป่วยที่มักได้รับการแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เหล่านี้บ่อยๆ ได้แก่

  1. สตรีตั้งครรภ์ เมื่อท้องใหญ่ขึ้นกดทับเส้นเลือดใหญ่ทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้ไม่ดี มีอาการบวมของปลายมือปลายเท้า
  2. ผู้ที่มีเส้นเลือดขอด (Varicose หรือ Spider veins) 
  3. ผู้มีภาวะบวมจากการการคั่งของน้ำเหลือง (Lymphedema)
  4. ผู้ที่มีอาการบวม ปวดขา และมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดดำอุดตัน
  5. ผู้ที่มีความผิดปกติของการไหลเวียนเลือด เช่น เมื่อนั่งหรือยืนนานๆ ทำให้ความดันต่ำหรือปลายเท้ามีอาการบวม
  6. ผู้ป่วยหลังผ่าตัด

อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดควรได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากนักกายภาพบำบัด เพื่อให้ได้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับอาการและความรุนแรง รวมทั้งป้องกันผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ด้วย

ผ้ารัดกล้ามเนื้อสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนักกีฬาได้หรือไม่?

ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่านักกายภาพบำบัดเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในวงการวิทยศาสตร์การกีฬา อุปกรณ์ให้แรงกดได้รับการพัฒนาไปอย่างหลากหลาย และมีลักษณะสวยงาม เช่น อยู่ในรูปแบบถุงเท้า (Compression socks) ปลอกรัดน่องแขน (Compression sleeves) หรือแม้กระทั่งชุด (Compression suits) เพื่อให้เหมาะสมกับการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน

ประโยชน์ของอุปกณ์ชนิดนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศสตร์ที่แน่นอนในรูปแบบของการทำการทบทวนวรรณอย่างเป็นระบบ (Systematic review) ข้อแนะนำการใช้หรือข้อปฏิบัติที่อ้างอิงมาจากผลการศึกษาที่เชื่อถือได้

การศึกษาหลายฉบับที่ชี้ว่าอุปกรณ์ชนิดนี้มีประโยชน์มักทำโดยให้ผู้ออกกำลังกายสวมใส่หลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้วและติดตามผล ไม่ได้ให้ใส่ขณะออกกำลังกาย ในขณะที่การทดลองที่ให้ผู้ออกกกำลังกายสวมใส่ขณะทำการออกกำลังกายส่วนใหญ่ก็ไม่พบความแตกต่างกับผู้ที่อกกกำลังกายโดยไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์รัดกล้ามเนื้อต่างๆ หรือพบความแตกต่างน้อยมาก ยังต้องต้องการผลการทดลองเพิ่มเติมเพื่อชี้ให้แน่ชัดว่ามีประโยชน์ต่อผู้สวมใส่

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์รัดกล้ามเนื้อต่างๆ อาจจะช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายขณะออกกำลังกายได้บางส่วน ส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจ กระฉับกระเฉงขึ้น และส่งผลต่อจิตใจของผู้อออกำลังกายมากกว่า นับเป็นผลทางอ้อมต่อการออกกำลังกายมากกว่าผลโดยตรงต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการออกกำลังกายและการป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
John R. Jakeman, Chris Byrne, Roger G. Eston. Lower limb compression garment improves recovery from exercise-induced muscle damage in young, active females. Eur J Appl Physiol (2010) 109: 1137
Rob Duffield, Jack Cannon, Monique King. The effects of compression garments on recovery of muscle performance following high-intensity sprint and plyometric exercise. Journal of Science and Medicine in Sport 13 (2010) 136–140.
Boucourt B, Bouhaddi M, Mourot L et al. Changes in tissue oxygen saturation with calf compression sleeve: before, during and after a cycling exercise. J Sports Med Phys Fitness. 2015 Dec;55(12):1497-501.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป