ข้อเท้าพลิก เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย เป็นได้ในทุกช่วงอายุ แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเท้าพลิกของแต่ละคนนั้นต่างกัน
ในผู้หญิงมักพบในกลุ่มที่ใส่รองเท้าส้นสูงบ่อยๆ จนเกิดอุบัติเหตุหกล้ม ในผู้ชายมักเกิดเท้าพลิกในกลุ่มที่เล่นกีฬาเป็นประจำ ส่วนในผู้สูงอายุนั้น มีปัจจัยเสี่ยงจากการทรงตัวที่ไม่มั่นคง และความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า ส่วนเด็ก หรือวัยรุ่นเกิดจากมีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก
อาการของข้อเท้าพลิก
ข้อเท้าพลิก หรือข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain) คือ อาการบาดเจ็บของเอ็นที่เชื่อมระหว่างกระดูกกับกระดูก (Ligaments) บริเวณข้อเท้า มักเกิดจากอุบัติเหตุสะดุดหรือหกล้ม หลังจากนั้นจะมีอาการปวดทันที
นอกเหนือจากอาการปวด ผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการ บวม แดง ร้อน จนไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือลงน้ำหนักที่ข้อเท้าข้างนั้นได้ทันที โดยอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าเป็นไม่รุนแรงมาก ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายสนิทภายในระยะเวลา 2-6 สัปดาห์
ในผู้ป่วยข้อเท้าพลิกรายที่อาการรุนแรง ปวด หรือบวมมาก จนขยับข้อเท้าข้างนั้นไม่ได้ ควรเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูก และกล้ามเนื้อ แพทย์เวชปฏิบัติฉุกเฉิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพบำบัดทันที เพื่อรับการตรวจประเมินอาการ หรือส่งไปรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เพราะอาการรุนแรงนั้นอาจมาจากมีกระดูกบริเวณข้อเท้าร้าวหรือแตกร่วมด้วย
ชนิดของอาการข้อเท้าพลิก
ข้อเท้าพลิกสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ ตามลักษณะการพลิกของข้อเท้า และเอ็นที่ได้รับการบาดเจ็บ ดังนี้
- ข้อเท้าพลิกหันฝ่าเท้าเข้าด้านใน (Inversion) เอ็นที่มักจะได้รับบาดเจ็บจะอยู่บริเวณตาตุ่มด้านนอก (Lateral Maleolous) มีชื่อว่า Calcaneofibular Ligament เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
- ข้อเท้าพลิกหันฝ่าเท้าออกด้านนอก (Eversion) เอ็นที่มักจะได้รับบาดเจ็บจะอยู่บริเวณตาตุ่มด้านใน (Medial Maleolous) มีชื่อว่า Deltoid Ligament
- ข้อเท้าพลิกโดยการหมุนของหน้าแข้ง (High Ankle) การพลิกของข้อเท้าในรูปแบบนี้ มักจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของพังผืด (Syndesmosis) ที่ยึดระหว่างกระดูกหน้าแข้งทั้ง 2 ท่อน (Tibia and Fibular) เป็นชนิดที่พบน้อยที่สุด
จะเห็นได้ว่า การซักประวัติถึงท่าทางที่เกิดขึ้นขณะข้อเท้าพลิกมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยวินิจฉัยโครงสร้างที่ได้รับการบาดเจ็บ
อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยบางรายอาจจะพบการบาดเจ็บมากกว่า 1 โครงสร้าง ซึ่งต้องอาศัยผลการตรวจร่างกายที่พบมาวิเคราะห์รวมกับข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติด้วย
ระดับความรุนแรงของข้อเท้าพลิก
ความรุนแรงของข้อเท้าพลิกสามารถแบ่งตามระดับการฉีกขาดของโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายเป็น 3 ระดับ แต่ละระดับทำให้เกิดพยาธิสาภาพที่ต่างกัน และมีวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่ต่างกัน ดังนี้
1. ความรุนแรงระดับ 1
มีการบาดเจ็บเล็กน้อยของเส้นใยคอลลาเจนที่เป็นองประกอบของเอ็นเชื่อมกระดูก ผู้ป่วยอาจมีอาการปวด และอักเสบเพียงเล็กน้อย ยังคงสามารถเดินลงน้ำหนักได้เท่าที่ทนไหว การรักษาอาการเท้าพลิกระยะนี้จะเน้นไปที่การทำกายภาพบำบัด
2. ความรุนแรงระดับ 2
มีการฉีกขาดแบบสมบูรณ์ของเส้นใยคอลลาเจนบางส่วน มีอาการปวดและการอักเสบมากกว่าระดับ 1 ผู้ป่วยบางรายอาจทนความเจ็บปวดนี้ได้ แต่การเคลื่อนไหว และความมั่นคงของข้อเท้าอาจมีประสิทธิภาพลดลง
ดังนั้นแพทย์อาจพิจารณาจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อเท้าที่มีอาการด้วยเฝือกอ่อน ชนิดที่ใช้อากาศเป็นตัวคงรูปข้อเท้า (Air Splint) และส่งผู้ป่วยไปทำกายภาพบำบัดต่อไป
3. ความรุนแรงระดับ 3
มีการฉีกขาดแบบสมบูรณ์ของเส้นเอ็นทั้งเส้น ทั้งยังรู้สึกปวด และอักเสบมาก ความมั่นคงของข้อเท้าลดลง แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ฉีกขาด ก่อนจะใส่เฝือกแข็ง และส่งผู้ป่วยไปทำการรักษาทางกายภาพบำบัด
ส่วนผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดหรืออักเสบมาก ก็อาจจะได้รับการรักษาทางยาร่วมด้วย
การรักษาทางกายภาพบำบัดข้อเท้าพลิก
ดังที่ได้กล่าวถึงวิธีการรักษาไว้เบื้องต้นแล้ว จะเห็นว่า กายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญในผู้ป่วยข้อเท้าพลิกทุกระดับความรุนแรง โดยการรักษาทางกายภาพบำบัดจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับอาการ ความรุนแรง และกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยแต่ละราย
ในระยะที่การอักเสบยังมากอยู่ เป้าหมายของการทำกายภาพบำบัด คือ เพื่อลดความเจ็บปวด การอักเสบ และสนับสนุนให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
และเมื่อการอักเสบลดลง เป้าหมายทางกายภาพบำบัดจะเปลี่ยนเป็นมุ่งสนับสนุนการฟื้นตัวให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติเร็วที่สุด และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยการรักษาที่อาจจะพบได้บ่อยมีดังนี้
1. การลดการอักเสบและความปวด
นักกายภาพบำบัดอาจเลือกใช้ความร้อน ความเย็น คลื่นอัลตราซาวนด์ เพื่อบรรเทาอาการ
2. การจำกัดการเคลื่อนไหว
ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงจนถึงขั้นต้องใส่เฝือก นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์พยุงข้อเท้าแบบต่างๆ หรืออุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้ค้ำรักแร้ ไม้เท้า อีกทั้งการฝึกเดินด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน ทั้งทางราบ และทางขึ้น-ลงบันไดให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
นอกจากนี้ การพันผ้ายืด และการติดเทปก็สามารถช่วยจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อเท้าเพื่อลดการอักเสบ ป้องกันการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้น และส่งเสริมกระบวนการรักษาตัวเองของร่างกายได้ดี อีกทั้งสามารถลดอาการบวมได้อีกด้วย
3. การออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
การรักษาข้อเท้าพลิกบางวิธีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- ข้อต่อใกล้เคียงกับข้อเท้าติดแข็ง
- กล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับการจำกัดการเคลื่อนไหวฝ่อลีบ
ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องมีการออกกำลังกายเพื่อบริหาร และลดอาการบวม เช่น จัดท่ายกขาสูง และเกร็งกล้ามเนื้อนิ้วเท้า หรือขยับข้อเท้า (Pumping Exercise)
4. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง
เมื่ออาการปวด หรืออักเสบหายดีแล้ว การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความมั่นคงของโครงสร้างรอบๆ ข้อเท้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ
คำถามที่นักกายภาพบำบัดได้รับบ่อยๆ เกี่ยวกับข้อเท้าพลิก คือ การนวดคลายเส้นสามารถบรรเทาอาการได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีเพื่อรักษาข้อเท้าพลิก ไม่แนะนำให้มีการนวด ดัด หรือดึง เพราะจะยิ่งทำให้อักเสบ ระบม หรืออาการรุนแรงขึ้นได้
การรักษา ข้อเท้าพลิก เบื้องต้นด้วยตัวเอง
มีหลักการปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับข้อเท้าพลิกได้ ซึ่งทำด้วยตัวเองได้ง่าย จำกันว่า POLICE ดังนี้
1. P - Protection (พักการใช้งาน)
หมายถึง ผู้ป่วยควรหยุดการใช้งานโครงสร้างที่ได้รับการบาดเจ็บทันที เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เพิ่มขึ้น อาจจะพยุงด้วยการพันผ้ายืด ติดเทปหรือใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงต่างๆ รวมถึงการใช้เครื่องช่วยเดินต่างๆ เช่น ไม้ค้ำรักแร้ ไม้เท้า ร่วมด้วย
2. O L - Optimum Loading (ขยับเท่าที่ทำได้)
สำหรับข้อเท้าพลิก สามารถทำได้ด้วยการขยับข้อเท้าเท่าที่ทำได้ เดินลงน้ำหนักเท่าที่ไหว โดยระวังไม่ให้มีอาการปวดมากขึ้น
3. I - Ice (ประคบด้วยความเย็น)
เพื่อลดกระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อที่ได้รับการบาดเจ็บ
4. C - Compression (ให้แรงกดเบาๆ ขณะประคบเย็น)
ขณะประคบเย็นอาจจะใช้ผ้ายืดรัด โดยรัดแน่นที่ส่วนปลายเท้า และค่อยๆ ผ่อนแรงตึงของผ้าลงเรื่อยๆ เมื่อเข้าใกล้ส่วนลำตัว เป็นเวลา 15-20 นาที ก่อนจะแกะออก และทำซ้ำใหม่ทุกๆ 2 ชั่วโมง หรืออาจเลือกติดเทปที่ผลิตเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถให้ความเย็น และไม่แฉะด้วย
5. E - Elevation (ยกข้อเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจ)
ทำได้โดยการนอนหงาย ใช้หมอนรองใช้ข้อเท้าข้างที่มีอาการให้สูงกว่าระดับหัวใจเล็กน้อย เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดจากปลายเท้ากลับสู่หัวใจ ซึ่งช่วยลดอาการบวมได้ ทั้งนี้อาจกระดกข้อเท้าเบาๆ ร่วมด้วย จะช่วยให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
ข้อเท้าพลิกเป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในชีวิตประจำวัน การเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นอย่างถูกต้องจะช่วยลดอาการบาดเจ็บ และย่นระยะเวลาฟื้นฟูให้กลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติให้เร็วยิ่งขึ้น
ดูแพ็กเกจตรวจกระดูก เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android