ท้องเสียตอนประจำเดือนมา เรื่องธรรมดาที่กวนใจสาวๆ

เผยแพร่ครั้งแรก 25 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ท้องเสียตอนประจำเดือนมา เรื่องธรรมดาที่กวนใจสาวๆ

ช่วงก่อนและระหว่างมีประจำเดือน สังเกตว่าสาวๆ ทั้งหลายจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์หลายอย่าง เช่น อ้วนขึ้น สิวขึ้น กินเก่งขึ้น หงุดหงิดหัวร้อนง่ายขึ้น นั่นก็เป็นเพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไปจากปกตินั่นเอง และบางครั้งก็ยังส่งผลให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวนไปด้วย ทำให้สาวๆ มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ไปจนถึงท้องเสีย ซึ่งสร้างความทรมานให้เรายิ่งขึ้น จากที่ปวดท้องประจำเดือนอยู่แล้ว เรามาดูกันว่า ท้องเสียตอนมีประจำเดือนเกิดจากอะไร แล้วถ้าเกิดขึ้นเราจะดูแลตัวเองอย่างไร 

ทำไมตอนมีประจำเดือนจึงท้องเสีย?

อย่างที่ทราบไปแล้วว่า ช่วงมีประจำเดือนระดับฮอร์โมนในร่างกายเราจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาการท้องเสียก็เกิดจากการที่ฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) และฮอร์โมนเซโรโทนิน (serotonin) เพิ่มสูงขึ้นในร่างกาย ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารของเราแปรปรวน จนบางคนมีอาการท้องผูกหรือท้องเสีย ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง อาจเกิดจากในร่างกายมีการหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน (prostaglandins) ซึ่งส่งผลให้มดลูกและลำไส้หดตัว เราจึงรู้สึกปวดท้องประจำเดือน และมีอาการท้องเสียในบางครั้งนั่นเอง การท้องเสียระหว่างมีประจำเดือนนั้นเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย และไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษปนเปื้อนในอาหาร ดังนั้น สาวๆ ไม่ต้องกังวลใจไปล่ะ!

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการท้องเสียเป็นอันตรายหรือไม่?

อาการท้องเสียตอนมีประจำเดือน ไม่ได้มีอันตรายรุนแรงอะไร นอกเหนือจากการสร้างความทรมานและไม่สบายเนื้อสบายตัวให้กับสาวๆ อีกทั้งทำให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น ไปไหนมาไหนไม่สะดวกเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สาวๆ ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะในช่วงมีประจำเดือน ร่างกายเราจะอ่อนเพลียกว่าปกติ ดังนั้น อาการท้องเสียอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุจนอ่อนเพลียลงกว่าเดิม และอาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน การดูแลตัวเองในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

หากท้องเสียตอนมีประจำเดือน ควรทำอย่างไร?

หากเรามีอาการท้องเสียในช่วงประจำเดือนมา สิ่งที่ควรทำเพื่อดูแลร่างกายตนเอง ได้แก่

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มคาเฟอีน ซึ่งจะไปกระตุ้นการขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะ ทำให้อาการท้องเสียรุนแรงกว่าเดิม และร่างกายอาจเสียน้ำมากขึ้นได้
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด เพราะจะทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารระคายเคือง เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารแปรปรวน และอาการท้องเสียเลวร้ายลงได้
  • งดทานผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส นมสด ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก ลำไส้บีบตัวมากขึ้น ส่งผลให้เรายิ่งรู้สึกปวดท้อง ไม่สบายตัว และอาจเกิดอาหารไม่ย่อยจนมีอาการท้องเสียได้
  • ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักและธัญพืช จะช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติมากขึ้น
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อชดเชยการเสียน้ำจากอาการท้องเสีย และหากมีอาการอ่อนเพลียจากการถ่ายหลายๆ ครั้ง อาจต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เพื่อให้ได้แร่ธาตุทดแทนด้วย

แม้บางครั้งอาการท้องเสียในช่วงมีประจำเดือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่หากสาวๆ ดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีตามที่เราแนะนำ ก็จะเป็นการช่วยบรรเทาอาการท้องเสียให้หายได้เร็วโดยไม่เป็นอันตราย แถมยังช่วยลดความรุนแรงและความทรมานร่างกายที่เกิดจากอาการดังกล่าวด้วย

 


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Period poop: How does your period affect bowel movements?. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/327009)
Diarrhea During Period and Before Period: How to Manage It. Healthline. (https://www.healthline.com/health/diarrhea-during-period)
Can Your Period Change Your Bathroom Habits?. Everyday Health. (https://www.everydayhealth.com/digestive-health/diarrhea-and-your-period/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป