อาการปวดศีรษะ เป็นอาการทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนทุกเพศวัย มากกว่าร้อยละ 80 มักเป็นภาวะปวดศีรษะชนิดไม่มีพยาธิสภาพในสมอง (primary headache) และส่วนใหญ่เป็นจากโรคปวดศีรษะไมเกรน อย่างไรก็ตามผู้ที่มีอาการปวดศีรษะทุกรายควรได้รับการประเมินอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่เป็นอันตรายก่อนจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นปวดศีรษะไมเกรนเสมอ เพราะมีแนวทางการดูแลแตกต่างกัน
อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากพยาธิสภาพในสมอง (secondary headache)
ให้สงสัยในผู้ที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับมีอาการและอาการแสดงต่อไปนี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- มีโรคประจำตัวและใช้ยาบางชนิด เช่น
- โรคมะเร็ง ซึ่งอาจแพร่กระจายไปยังสมอง (brain metastasis)
- โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในสมอง (CNS infection)
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื้อตัวเอง (autoimmune disease) มีโอกาสเกิดหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน ทำให้ปวดศีรษะและชัก
- ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี ทำให้เลือดออกในสมองจากหลอดเลือดฝอยภายในสมองแตก
- โรคหัวใจที่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด warfarin หรือ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด aspirin ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง
- มีน้ำไหลจากหูหรือจมูกภายหลังศีรษะได้รับความกระทบกระเทือน อาจเกิดการแตกร้าวของฐานกะโหลก
- มีอาการไข้ น้ำหนักลดร่วมกับปวดศีรษะ อาจทำให้คิดถึงภาวะเยื้อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง
- มีภาวะสับสน ซึม ความจำแย่ลง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในสมองโดยตรง
- อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทันทีทันใดและปวดมากที่สุดในชีวิต (thunder clap headache) อาจเกิดจากมีหลอดเลือดโป่งพองแตก (ruptured aneurysm)
- ปวดหัวครั้งแรกในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- อาการปวดศีรษะแตกต่างจากการปวดครั้งก่อนๆ เช่น เปลี่ยนตำแหน่ง มีความรุนแรงขึ้น ลักษณะที่ปวดไม่เหมือนเดิม ไม่ดีขึ้นจากการรักษา
ในผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์และไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หากแพทย์สงสัยว่าอาจมีความผิดปกติก็จะส่งตรวจเพิ่มเติมต่อไป กรณีแน่ชัดว่าอาการปวดศีรษะนั้นไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพในสมองแล้ว ก็จะให้การรักษาแบบ primary headache ซึ่งจะขอกล่าวถึงโรคปวดศีรษะไมเกรน
อาการปวดศีรษะไมเกรนอาจเรียกสั้นๆว่า PUMA ประกอบด้วย
Pulsating quality: ลักษณะอาการจะเป็นการปวดตุ๊บๆ เป็นจังหวะ
Unilateral location: ปวดซีกเดียว อาจเป็นด้านเดิมหรือสลับด้านก็ได้ ตำแหน่งมักเป็นบริเวณขมับ พบว่าเด็กและวัยรุ่นที่มักมีอาการปวดขมับทั้งสองด้านมากกว่าวันผู้ใหญ่
Moderate or severe pain: ความรุนแรงปานกลางถึงมาก
Aggravation: อาการปวดถูกกระตุ้นด้วยการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น เดินขึ้นบันได
ระหว่างที่ปวดศีรษะอาจมีอาการร่วม เช่น คลื่นไส้อาเจียน ทนแสงหรือเสียงดังไม่ได้ ในผู้ที่มีลักษณะอาการปวดเข้าได้ ระยะเวลาที่ปวดนานตั้งแต่ 4-72 ชั่วโมง และปวดแบบเดิมเป็นอย่างน้อย 5 ครั้ง ก็จะให้การวินิจฉัยเป็นโรคปวดศีรษะไมเกรน
บางครั้งประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนมีอาการปวดศีรษะอาจมีความผิดปกติทางระบบประสาทเป็นอาการนำที่เป็นอยู่เพียงชั่วคราวนำมาก่อนเรียกว่า migraine with aura ส่วนใหญ่อาการนำเหล่านี้จะเกิดเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
- ความผิดปกติทางตา เช่น เห็นแสง
- ความผิดปกติทางความรู้สึกทางกาย เช่น มีอาการชา
- ความผิดปกติทางการพูด เช่น พูดไม่เป็นภาษา พูดไม่ชัด
- ความผิดปกติทางก้านสมอง เช่น เวียนศีรษะ เซ
- ความผิดปกติทางจอประสาทตา เช่น มองไม่เห็น
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้
นอกจากนี้โรคปวดศีรษะไมเกรนอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่พบร่วมด้วยได้
- Status migrainosus คือ ปวดศีรษะนานกว่า 72 ชั่วโมง โดยไม่มีช่วงหายปวดเลย ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดเกินความจำเป็น
- Persistent aura without infraction คือมีอาการนำ (aura) อยู่นานมากกว่าหรือเท่ากับ 1 สัปดาห์ โดยภาพเอกซเรย์สมองไม่พบภาวะสมองขาดเลือด อาการนำเหล่านี้มักเกิดทั้งสองด้านของร่างกาย เช่น ชาทั่วตัวหรืออ่อนแรงทั่วตัว และหายในเวลาเป็นเดือนถึงเป็นปี
- Migrainosus infraction คือปวดศีรษะไมเกรนที่มีอาการนำ (aura) เป็นอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง ร่วมกับมีภาวะสมองขาดเลือดจากภาพเอกซเรย์ ซึ่งพบบ่อยในหลอดเลือดที่เลี้ยงก้านสมองและสมองน้อย ผู้ป่วยผู้หญิงอายุน้อยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากที่สุด
- Migraine aura-triggered seizure คือภาวะที่การปวดศีรษะกระตุ้นให้เกิดลมชักขึ้น โดยต้องเป็นปวดศีรษะไมเกรนชนิดมีอาการนำ (migraine with aura) ผู้ป่วยจะชักในระหว่างหรือภายใน 1 ชั่วโมงหลังเกิด aura
โรคปวดศีรษะไมเกรนมักเกิดในคนอายุน้อย การรักษานอกจากจะช่วยให้อาการปวดดีขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากไมเกรนด้วย และขอเน้นย้ำว่าอาการปวดศีรษะแม้ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากปวดศีรษะไมเกรน แต่หากเกิดในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและใช้ยาบางชนิด หรือผู้ที่มีความผิดปกติทางระบบประสาทร่วมกับการปวดศีรษะต้องให้ตระหนักว่าอาจมีความผิดปกติในสมองที่ต้องการการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป