ผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์

รู้จักผลข้างเคียงที่เกิดจากยาสเตรียรอยด์ในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อและกระดูก หัวใจและความดันโลหิต ประสาท ผิวหนัง ฯลฯ
เผยแพร่ครั้งแรก 8 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์

ยาสเตียรอยด์ (Steroid) หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นยาที่ใช้ในเวชปฏิบัติทางการแพทย์อย่างแพร่หลายในการรักษาโรค โดยมีการบริหารยาทั้งรูปแบบการกิน (Oral) การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous) การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) หรือแม้แต่การทาบริเวณผิวหนังและเยื่อเมือกในบริเวณที่มีรอยโรค (Topical) ยาสเตียรอยด์มีประสิทธิภาพดีในการรักษา อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจำนวนมากและรุนแรง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ยาในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด 

ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์นั้นเกิดขึ้นได้กับคนที่ใช้ยาในทุกช่วงอายุ ทุกเพศ ทุกวัย ผลข้างเคียงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอายุ โรคประจำตัว การบริหารยา ชนิดของยา รวมถึงระยะเวลาในการใช้ยา เป็นต้น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนจากยาสเตียรอยด์สามารถเกิดขึ้นได้กับแทบทุกอวัยวะในร่างกาย เช่น ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก การมองเห็น ระบบทางเดินอาหาร ระบบการควบคุมเกลือแร่ในร่างกาย ระบบการจัดการไขมันในร่างกาย ระบบหัวใจและความดันโลหิต การตั้งครรภ์ ระบบโลหิต ระบบประสาท หรือแม้แต่ระบบการควบคุมและการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนของยาสเตียรอยด์ต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

ภาวะกระดูกบาง (Osteoporosis

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดในระบบกล้ามเนื้อและกระดูก โดยพบได้ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ในช่วงแรกของการใช้ยาสเตียรอยด์ พบว่าความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว และลดมากที่สุดที่ประมาณ 6 เดือนหลังเริ่มยา การมีภาวะกระดูกบางทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักง่าย โดยเฉพาะในหญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว (Post-menopausal women) โดยทั่วไปภาวะกระดูกบางมักไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่หากโรคดำเนินไปเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดกระดูก กระดูกหัก หรืออาจรุนแรงถึงกระดูกสันหลังยุบตัวลง (Vertebral collapse) ในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจมวลกระดูกเป็นระยะ โดยอาจใช้วิธีการตรวจที่เรียกว่า DEXA (Dual Energy X-ray Absorptiometry) bone scan การตรวจมวลกระดูกด้วยวิธีดังกล่าวอาจมีความจำเป็นต้องทำซ้ำทุกๆ 1-3 ปีหากยังต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ส่วนการตรวจและการแปลผลต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ภาวะกระดูกตาย (Osteonecrosis) 

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อยนัก แต่อันตราย เกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือการติดเชื้อบางชนิด เป็นต้น ภาวะกระดูกตายจากยาสเตียรอยด์มักเกิดบริเวณกระดูกต้นขาหรือกระดูกต้นแขน ในระยะต้นผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณที่มีการตายของกระดูก โดยเฉพาะขณะเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว เมื่อโรครุนแรงมากขึ้นจะมีอาการปวดขณะพักร่วมด้วย

ภาวะการขัดขวางการเจริญเติบโตของกระดูก (Growth retardation)

มักเกิดในผู้ป่วยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ภาวะดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่ให้ในการรักษา หลังหยุดยา กระดูกสามารถเจริญเติบโตต่อได้ แต่หากเข้าสู่อายุที่กระดูกหยุดการแบ่งตัวแล้ว (Epiphyseal plate closure) จะทำให้ความสูงของเด็กน้อยกว่าความสูงทางพันธุกรรมตามที่ควรจะสูง

ภาวะกล้ามเนื้อลีบและโรคทางกล้ามเนื้อ (Muscle atrophy และ Myopathy) 

เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อย มักไม่มีอาการปวด แต่มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเท่าๆ กันทั้งสองข้าง มักเป็นบริเวณขา ภาวะดังกล่าวมักพบในผู้ป่วยที่ได้ยาในปริมาณสูง

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ต่อการมองเห็น

ภาวะต้อกระจก (Cataract) 

มักพบในผู้ป่วยที่มียาสเตียรอยด์สะสมในปริมาณมากและใช้ยาเป็นเวลานาน โดยทั่วไปตามเวชปฏิบัติแนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะดังกล่าวทุกๆ 6 เดือนถึง 1 ปี โดยจักษุแพทย์ ภาวะต้อกระจกจากยาสเตียรอยด์สามารถมีอาการน้อยลงหรือหายไปได้หลังจากหยุดยาสเตียรอยด์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อระบบการควบคุมเกลือแร่ในร่างกาย ระบบการจัดการไขมันในร่างกาย

หลังจากผู้ป่วยได้รับยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน จะทำให้สมดุลของเกลือแร่ ไขมัน และน้ำตาลเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดภาวะพร่องโพแทสเซียมในเลือด และเลือดเป็นด่าง (Hypokalemic alkalosis) ค่าแคลเซียมในเลือดลดต่ำลง (Hypocalcemia) น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและมีภาวะต้านทานต่ออินซูลิน (Hyperglycemia และ Insulin resistance) ภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ (Hypertriglyceridemia) น้ำหนักขึ้น อ้วนบริเวณส่วนกลางของลำตัว (Truncal obesity) เช่น หน้าท้อง ไหล่ หน้า ซึ่งเกิดจากการที่ไขมันสะสมบริเวณแกนกลางลำตัวเพิ่มขึ้น (Fat redistribution) ภาวะดังกล่าวสามารถดีขึ้นได้หลังจากลดและหยุดยาสเตียรอยด์

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อระบบหัวใจและความดันโลหิต

ยาสเตียรอยด์ที่สะสมในร่างกายมากเกินไปมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง (Hypertension) โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว จะทำให้ควบคุมตัวโรคได้ยากขึ้น จากงานวิจัยพบว่า ยาสเตียรอยด์ยังเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะหลอดเลือดตีบ (Atherosclerosis) ทั้งบริเวณหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น สมอง เป็นต้น โดยมักเกิดในผู้ป่วยที่ต้องใช้สเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ยังสามารถพบการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือด (Thromboembolism) และการส่งสัญญาณไฟฟ้าระหว่างหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่างผิดปกติ (Atrioventricular conduction abnormality) อีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อระบบทางเดินอาหาร

ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์มีโอกาสเกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารจนเป็นแผลในกระเพาะหรือลำไส้ได้ (Peptic ulcer หรือ Duodenal ulcer) หากรุนแรงมากอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารทะลุ (Gastrointestinal perforation) ได้ โดยเชื่อว่ายาสเตียรอยด์ไปยับยั้งการสร้างเยื่อเมือกเคลือบผิวทางเดินอาหารและทำให้แผลหายช้า นอกจากนี้ยาสเตียรอยด์ยังอาจทำให้ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) และไขมันเกาะตับ (Fatty liver) ในผู้ป่วยบางรายอีกด้วย 

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อการติดเชื้อ

สรรพคุณหนึ่งของยาสเตียรอยด์คือการออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อลดการอักเสบ ซึ่งทำให้ระบบการต่อต้านเชื้อโรคของร่างกายถูกลงตามไปด้วย การติดเชื้อแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์นั้นสามารถเกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และเชื้อปรสิต การติดเชื้อโดยส่วนใหญ่มักเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบริเวณผิวหนัง เชื้อวัณโรคเป็นอีกเชื้อแบคทีเรียหนึ่งที่เพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์ เนื่องจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น เป็นบริเวณที่มีการระบาดของเชื้อวัณโรค เชื้อราชนิด Pneumocystis jiroveci เป็นเชื้อราที่รุนแรงมากชนิดหนึ่งซึ่งมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับยาสเตียรอยด์

การฉีดวัคซีนในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์อาจทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นๆ ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร และไม่สามารถฉีดวัคซีนตัวเป็น (Live vaccines) ได้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาสเตียรอยด์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนจากตัววัคซีนได้

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อการตั้งครรภ์

หากมารดาได้รับยาสเตียรอยด์ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่เพียงแต่อาจทำให้ทารกมีความพิการ เช่น ภาวะเพดานโหว่ (Cleft palate) หรือทำให้การทำงานของฮอร์โมนในเด็กผิดปกติ มารดายังอาจมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งได้ อย่างไรก็ตามมีโรคหรือภาวะระหว่างตั้งครรภ์บางประเภทที่ต้องได้รับยาสเตียรอยด์ในการรักษาซึ่งต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อระบบประสาท

การมีอารมณ์แปรปรวน (Mood change) และภาวะตื่นตระหนก (Anxiety) เป็นภาวะที่พบได้ในผู้ป่วยที่ได้ยาสเตียรอยด์ ภาวะต่อระบบประสาทอื่นๆ ที่มีรายงาน ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ภาวะซึมเศร้า (Deprssion) และความรู้สึกอ่อนเพลีย (Fatigueness) นอกจากนี้ภาวะความดันในกระโหลกศีรษะสูง (Pseudotumour cerebri) แม้จะพบได้ไม่บ่อย แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยมักเกิดในผู้ป่วยที่ยาสเตียรอยด์ในระดับสูงและเป็นเวลานาน โดยมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หรือมองภาพไม่ชัด มักเกิดจากการลดยาสเตียรอยด์เร็วเกินไป

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อผิวหนัง

ยาสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นยากิน ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือยาทา สามารถมีผลต่อผิวหนังได้ทั้งสิ้น โดยทำให้ผิวหนังบางลง แตกลาย เลือดออกง่าย หน้าแดง หรือเป็นสิว หากเป็นการทายาสเตียรอยด์อาจทำให้เห็นผลข้างเคียงในตำแหน่งที่ทาชัดขึ้น โดยเฉพาะเกิดการตายของเซลล์สร้างเม็ดสี ทำให้ผิวหนังบริเวณที่ทามีสีซีดลง (Hypopigmentation) ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดกับอวัยวะของผิวหนัง เช่น ผมร่วง มีปื้นสีดำตามคอและข้อพับ ขนเพิ่มขึ้น และแผลหายช้า นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเขื้อที่ผิวหนังอีกด้วย

ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ ต่อการทำงานของฮอร์โมน

ยาสเตียรอยด์สามารถมีผลต่อการทำงานของต่อมหมวกไต ทำให้การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตลดลง (Adrenal insufficiency) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุด สามารถทำให้ผู้ป่วยมีทุพลภาพและอาจถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายและเกี่ยวพันกับอวัยวะหลายระบบ เช่น การควบคุมสมดุลเกลือแร่ การควบคุมความดันโลหิต และการควบคุมการทำงานของร่างกายเมื่อมีอันตราย เป็นต้น มีรายงานว่าในผู้ป่วยเด็กที่ได้รับยาทาสเตียรอยด์ในปริมาณมากและเป็นเวลานานสามารถกดการทำงานของต่อมหมวกไตได้เช่นกัน

โดยสรุป ยาสเตียรอยด์เป็นยาที่แพทย์ใช้ในเวชปฏิบัติซึ่งมีข้อบ่งชี้ที่จำเพาะเจาะจง ยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงกับการทำงานของร่างกายในหลายระบบ บางภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการใช้ยาสเตียรอยด์จึงมีความจำเป็นต้องอยู่ในดุลยพินิจและการควบคุมดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ไม่ควรซื้อยาใช้เองโดยเด็ดขาด


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bolognia JL. Dermatology. 4th. 2018
Kang S, et al. Fitzpatrick’s Dermatology. 9th ed. 2019.
Griffiths C, et al. Rook’s Textbook of Dermatology. 9th ed. 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป