กรดซิตริก มีผสมทั้งในอาหารและเครื่องสำอาง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

"กรดซิตริกหรือกรดมะนาว สารปรุงแต่งรสอาหารให้มีรสเปรี้ยว ใช้มากในเครื่องดื่ม และลูกอมลูกกวาด รับประทานมากเกินไปมีผลต่อร่างกาย อันตรายถึงชีวิต "
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ธ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
กรดซิตริก มีผสมทั้งในอาหารและเครื่องสำอาง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย?

เครื่องดื่มรสชาติเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว เป็นเครื่องดื่มยอดฮิตของคนไทย เนื่องจากท่ามกลางอากาศร้อนระอุ การได้ดื่มเครื่องดื่มเปรี้ยวๆ หวานๆ จะช่วยสร้างความสดชื่นชุ่มฉ่ำได้ดี แต่บางครั้งรสชาติเครื่องดื่มเหล่านั้นก็ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติเสียเลย อาจเป็นเพราะมี กรดซิตริก เป็นส่วนผสม

สำหรับใครที่สงสัยว่า กรดซิตริก คืออะไร มาจากไหน มีประโยชน์ต่อร่างกายและปลอดภัยจริงหรือไม่ HonestDocs มีคำตอบ

กรดซิตริก (Citric acid) หรือกรดมะนาว คืออะไร?

กรดซิตริก หรือกรดมะนาว คือสารที่มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ลักษณะเป็นผงสีขาวใส มีรสเปรี้ยว ไม่มีกลิ่น ผลิตได้จาก 2 แหล่ง ได้แก่

  1. จากแหล่งธรรมชาติ โดยการสกัดจากผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
  2. จากการสังเคราะห์ จากกระบวนการหมักแป้งและน้ำตาล ผ่านวิถีไกลโคไลซีส (Glycolysis Pathway)

กรดซิตริกสามารถย่อยสลายได้ง่ายและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งทางการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหาร ทางด้านการเกษตร เป็นต้น

กรดซิตริก จากธรรมชาติ พบได้ในผลไม้หรือจากแหล่งใดได้บ้าง?

กรดซิตริกจากแหล่งธรรมชาติ มาจากผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว พบมากที่สุดในมะนาว เลมอน สัปปะรด ส้มโอ มักอยู่รวมกับสารอื่นในธรรมชาติ เช่น กรดวิตามินซี (Ascorbic acids) น้ำมันหอมระเหย (Essential oil) เป็นต้น

การสกัดกรดซิตริกทำได้โดยการคั้นน้ำมะนาวโดยมีปริมาณกรดซิตริกสูง 7-9% ผ่านการผสมกับเกลือ และตกผลึกเพื่ออบแห้งกลายเป็นผลึกของกรดซิตริก

กรดซิตริกมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?

กรดซิตริกสามารถใช้ได้ทั้งรูปแบบการใช้ภายนอกและการรับประทาน ดังนี้

1. กรดซิตริกรูปแบบรับประทาน

กรดซิตริกมีรสเปรี้ยว จึงช่วยในการย่อยอาหารได้หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม กรดซิตริกเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ในร่างกาย ช่วยสลายก้อนนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ ดังนั้นจึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

2. กรดซิตริกรูปแบบใช้ภายนอก

กรดซิตริก จัดอยู่ในกลุ่มของกรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha Hydroxy Acids: AHA) พบได้ในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหลายชนิด มีส่วนช่วยในการลอกผิวหนังที่มีความหมองคล้ำ หรือรอยดำรอยแดงจากสิว ทำให้รอยดูจางลง

ความเข้มข้นของกรดซิตริกที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยคือ ไม่เกิน 10% หากใช้เกินควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ เพราะอาจมีอันตรายระคายเคือง ผิวลอก หรือผิวอักเสบได้

ประโยชน์ของกรดซิตริกคืออะไร?

กรดซิตริกเป็นกรดอ่อน พบได้ในผักผลไม้หลายชนิดดังที่กล่าวไปแล้ว

ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้กรดซิตริกในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การใช้เป็นส่วนผสมในครีมเพื่อผิวกระจ่างใส ใช้เป็นสารถนอมอาหาร ใช้เพิ่มรสชาติอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมยาได้อีกด้วย มีรายละเอียดดังนี้

ประโยชน์ของกรดซิตริกด้านเครื่องสำอาง

ด้วยคุณสมบัติช่วยลอกเซลล์ผิวที่หมองคล้ำ จึงใช้เป็นส่วนผสมในครีมช่วยให้ผิวกระจ่างใส ปรับสีผิวที่มีสีไม่สม่ำเสมอให้เท่ากัน ลดปัญหาสิวอุดตัน ช่วยให้ผิวสะอาด อ่อนนุ่ม และยังช่วยลดรอยแผลเป็นได้อีกด้วย

ประโยชน์ของกรดซิตริกด้านอุตสาหกรรมยา

เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็นกรด มีรสเปรี้ยว กรดซิตริกจึงนำมาใช้ในการควบคุมความเป็นกรดด่างในยา ทำหน้าที่เป็นสารปรุงแต่งรสเปรี้ยวและช่วยให้ยากระจายตัวได้ดีในยาเม็ดฟู่ละลายน้ำ ให้รสชาติเกลือแร่รสส้ม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็นสารช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในเลือดต้านการแข้งตัวของเลือดสำหรับการเก็บเลือดในโรงพยาบาล

ประโยชน์ของกรดซิตริกด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

กรดซิตริกสามารถใช้เป็นสารเพิ่มรสชาติ นำมาใช้ทำน้ำมะนาวและน้ำเลมอนเทียม และด้วยคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้อาหารและเครื่องดื่มคงสภาพไม่เน่าเสีย ใช้มากในอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และอาหารแช่เข็ง

ประโยชน์ของกรดซิตริกด้านอุตสาหกรรมอื่นๆ

ในทางอุตสาหกรรมทำความสะอาด มีการใช้กรดซิตริกเป็นสารช่วยขจัดคราบ เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็นกรดมีฤทธิ์กัดกร่อน และใช้เป็นตัวปรับ pH ในอุตสาหกรรมสีผสมอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหมักชีวภาพ ฉีดพ่น เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อราในพืช

ข้อควรระวังในการใช้กรดซิตริก

กรดซิตริกเข้มข้นอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง หากเกิดความผิดพลาด สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  • การรับประทาน หากรับประทานกรดซิตริกในปริมาณสูง ขั้นแรกจะทำให้ฟันสึกจากกรดที่ทำลายสารเคลือบฟัน เกิดอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีอาการแสบท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้

    หากรับประทานต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือด จะทำให้เลือดมีสภาวะเป็นกรด เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เกิดภาวะช็อก อันตรายถึงชีวิตได้
  • การสูดดมไอจากกรดซิตริก จะทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ แสบจมูกแสบคอ คันคอ เนื่องจากกรดกัดกร่อนเนื้อเยื่อบริเวณทางเดินหายใจ
  • ทางการสัมผัส หากใช้ปริมาณสูง หรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อได้ ควรรีบล้างด้วยน้ำเปล่าและไปพบแพทย์ทันที

กรดซิตริกหรือกรดมะนาวสามารถพบได้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์รอบตัว ดังนั้นการใช้งานจึงควรตรงกับวัตถุประสงค์ ในทางการแพทย์ยังไม่ยืนยันผลในการรักษา ดังนั้นการใช้จึงควรอย่างระมัดระวัง หากใช้เพื่อการรักษาโรคควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล, กรดซิตริก (http://www.ocsb.go.th/upload/journal/fileupload/146-6034.pdf),14 มกราคม 2559.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, ข้อมูลสารเคมีที่ศึกษาเพื่อออกประกาศควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (http://www.fda.moph.go.th/sites/Hazardous/Shared%20Documents/กลุ่มกำหนดมาตรฐานวัตถุอันตราย/รับฟังความคิดเห็น_การปรับปรุงการจัดชนิดวัตถุอันตราย%20citric%20acid_lactic%20acid/ข้อมูล%20citric%20acid%20ลง%20website.pdf), 24 มกราคม 2554.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, บทที่ 37 กรดซิตริก (http://asp.plastics.or.th:8001/files/article_file/20181016080559u.pdf), ตุลาคม 2557.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป