คลอทาลิโดน (Chlortalidone) เป็นยาขับปัสสาวะในกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) ช่วยลดอาการบวมน้ำในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว หรือผู้ป่วยโรคไต ช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และการทำงานของไตผิดปกติ คลอทาลิโดนออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของโซเดียมและคลอไรด์ โดยตำแหน่งหลักที่ยาออกฤทธิ์ คือ บริเวณโซเดียม-คลอไรด์ ซิมพอร์ทเตอร์ (Na+/Cl- symporter) ที่ท่อขดส่วนปลายของหน่วยไต จึงเพิ่มการขับออกของโซเดียมและน้ำส่วนเกินในรูปของปัสสาวะออกจากร่างกาย เมื่อของเหลวในร่างกายลดลง เลือดที่กลับเข้าสู่หัวใจและถูกสูบฉีดออกจากหัวใจจึงลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
คลอทาลิโดนมีประสิทธิภาพที่แตกต่างจากยาขับปัสสาวะในกลุ่มอื่น คือ นอกจากยาจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตแล้ว การศึกษายังพบว่ายามีฤทธิ์ลดการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ลดคุณสมบัติการยอมให้สารผ่านเข้าออกจากหลอดเลือด จึงเชื่อว่าประสิทธิภาพเหล่านี้ทำให้คลอทาลิโดนสามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
คลอทาลิโดนจัดเป็นยาอันตราย ตามการจำแนกประเภทของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันในประเทศไทยมี คลอทาลิโดนวางจำหน่ายในรูปแบบยาเดี่ยวชนิดเม็ด คือ โคทาลิน (CHOTALIN®) โดยบริษัท Berlin Pharm โดยตัวยาสำคัญ ได้แก่ Chlortalidone ขนาด 25 มิลลิกรัม ส่วนชื่อการค้าอื่นๆนั้น มีวางจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดผสม เช่น EDARBYCLOR® โดยบริษัท Takeda เป็นยาเม็ดผสมระหว่าง Azilsartan ขนาด 40 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มยับยั้งการทำงานของตัวรับแองจิโอเทนซิน ชนิดที่ 2 (Angiotensin II Receptor Blocker; ARB) และ Chlortalidone ขนาด 12.5 มิลลิกรัม
ข้อบ่งใช้ของยา Chlortalidone
- รักษาภาวะท้องมานในผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือผู้ป่วยภาวะบวมน้ำเนื่องจากกลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (Nephrotic syndrome)
- รักษาโรคความดันโลหินสูง
- รักษาโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง
- รักษาความผิดปกติของไตจากโรคเบาจืด (Diabetes insipidus) หรือเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Partial pituitary diabetes insipidus)
ขนาดและวิธีการใช้ยา Chlortalidone
- ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะท้องมานในผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือผู้ป่วยภาวะบวมน้ำเนื่องจากกลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อวัน
- ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 25 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้งในเวลาเช้า สามารถปรับเพิ่มขนาดยาได้ถึง 50 มิลลิกรัมต่อวันตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
- ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง ระดับไม่รุนแรง ถึงปานกลาง ยาในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 25-50 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทานวันละครั้งในเวลาเช้า สามารถปรับเพิ่มขนาดยาได้ถึง 100-200 มิลลิกรัมต่อวันตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ระดับยาที่ใช้ในระยะรักษาให้เป็นขนาดที่ต่ำที่สุดที่ช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้
ผลข้างเคียงของยา Chlortalidone
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ Chlortalidone ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- รบกวนสมดุลของระดับอิเล็กทรอไลต์
- เกิดผื่นลมพิษ
- ความดันโลหิตต่ำ
- ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องเสีย
- ระดับคลอรีนในกระแสเลือดต่ำ
- ระดับกรดยูริกในกระแสเลือดสูง
- ลดความอยากอาหาร
- อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อย ได้แก่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เบาหวานกำเริบ พบน้ำตาลในปัสสาวะ ความผิดปกติต่อตับ ไตอักเสบ น้ำท่วมปอด ความผิดปกติต่อระบบทางเดินหายใจ อาเจียน
ข้อควรระวังของยา Chlortalidone
- ยาถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category B ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ยาค่อนข้างมีควรปลอดภัยกับทารกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ควรพิจารณาถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการใช้ยาว่ามีมากกว่าความเสี่ยง
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาในสตรีมีครรภ์เพื่อรักษาภาวะบวมน้ำระดับไม่รุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่แพ้ยา Chlortalidone หรือยาอนุพันธ์ในกลุ่มซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamide)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคแอดดิสัน (โรคที่เกิดจากความผิกปกติของต่อมหมวกไต ที่ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล และ อัลโดสเตอโรนได้เพียงพอ อาการของผู้ป่วย เช่น มีผิวสีเข้ม ความดันโลหิตต่ำ ไม่มีเรี่ยวแรง น้ำหนักตัวลดลง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มีปัญหาเกี่ยวกับระบบเผาผลาญและระบบย่อยอาหาร อาการที่รุนแรงนำไปสู่การเกิดภาวะวิกฤตของโรคได้)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยภาวะระดับกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia)
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตวายที่ปัสสาวะน้อยกว่า 100 มิลลิลิตรต่อวัน (Anuria)
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีโอกาสได้รับความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงมากกว่า ควรมีการปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับการทำงานของไต
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเกาท์ เนื่องจากยาเพิ่มระดับกรดยูริกในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น
- ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยการทำงานของตับ ไตบกพร่อง
- ควรรับประทานยานี้พร้อมหรือหลังอาหาร และแนะนำให้รับประทานยาในมื้อเช้า และไม่แนะนำให้รับประทานยาช่วงก่อนนอน เนื่องจากยาทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้น อาจรบกวนการนอนของผู้ป่วย