โรคมะเร็งกระดูกคืออะไร
โรคมะเร็งกระดูก คือ มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อกระดูกเอง เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกระดูกจะมีอาการปวดกระดูก บวมแดง อักเสบ คลำเจอก้อนแถวบริเวณกระดูกที่เป็นมะเร็ง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกแตกหักได้ง่าย
ความแตกต่างระหว่างมะเร็งกระดูกปฐมภูมิและทุตยภูมิ
มะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary bone cancer)
- มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary bone cancer)
ซึ่งความแตกต่างของมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้คือ มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ จะหมายถึงโรคมะเร็งที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกเอง ส่วนมากมักเกิดแถวบริเวณใกล้ข้อต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อสะโพก ส่วนมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ จะเป็นมะเร็งที่พบในกระดูกเหมือนกัน แต่มีสาเหตุมาจากการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
อาการแสดงของมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกสามารถส่งผลกระทบต่อกระดูกส่วนใดของร่างกายก็ได้ แต่ส่วนมากแล้วจะเกิดที่กระดูกยาวบริเวณขา และแขนส่วนบน สำหรับอาการหลักๆ ของโรคมะเร็งกระดูก จะได้แก่
- มีอาการปวดเรื้อรังและจะปวดร้ายแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป รวมถึงปวดในช่วงเวลากลางคืนด้วย
- มีอาการบวม แดง ซึ่งเป็นสัญญาณของการอักเสบในกระดูกบริเวณที่เป็นมะเร็ง และผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น ถ้ากระดูกที่เป็นมะเร็งอยู่ใกล้กับข้อต่อ
- ผู้ป่วยจะคลำเจอก้อนเนื้อตรงกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็ง
- กระดูกจะอ่อนแอและแตกหักได้ง่ายกว่าปกติ
หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวเรื้อรัง มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือปวดแย่ลงเรื่อยๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากที่อาการดังกล่าวจะเกิดจากโรคมะเร็งกระดูก แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันเวลา
ชนิดของมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่
- มะเร็งกระดูกออสทีโอซาร์โคม่า (Osteosarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยจะพบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี
- มะเร็งกระดูกอีวิง ซาร์โคม่า (Ewing sarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกอีกชนิดที่พบได้มากในผู้ป่วยอายุประมาณ 10-20 ปีเช่นกัน
- มะเร็งกระดูกคอนโดซาร์โคม่า (Chondrosarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกชนิดที่มีแนวโน้มจะพบมากในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 40 ปี
สำหรับสาเหตุที่มักพบมะเร็งกระดูกในผู้ป่วยอายุน้อยนั้น อาจเป็นเพราะการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเป็นวัยรุ่น ทำให้เกิดเนื้องอกกระดูกขึ้นได้ และชนิดของมะเร็งกระดูกที่กล่าวถึงข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อชนิดของเซลล์กระดูกที่แตกต่างกันไป ดังนั้นวิธีการรักษาและการวินิจฉัยโรคจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งกระดูกที่คุณเป็นด้วย
สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งกระดูก
ยังไม่มีการทราบสาเหตุแน่ชัดว่าทำไมคนเราถึงเป็นมะเร็งกระดูกได้ แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ เช่น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- เคยได้รับรังสีจากรังสีรักษา (Radiotherapy) ซึ่งจะทำให้เซลล์ในกระดูกเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ แต่ความเสี่ยงจากสาเหตุนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก
- เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก หรือเซลล์กระดูกมีพัฒนาการที่ผิดปกติ เช่น โรคพาเจทของกระดูก (Paget’s disease of the bone) การเกิดเนื้องอกในกระดูกเช่น โรคโอลิเยร์ (Ollier's disease) ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้ มีจำนวนน้อยมากที่จะอาการลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้ และมักเกิดในผู้ป่วยที่อายุประมาณ 50-60 ปี
- เป็นโรคลิ-โฟรเมนิ ซินโดรม (Li-Fraumeni syndrome) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมียีนที่ผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
- มีประวัติเป็นโรคอื่นๆ ได้แก่
- โรคมะเร็งจอประสาทตา (Retinoblastoma) ซึ่งผู้ที่เป็นมะเร็งจอประสาทตาตั้งแต่เด็ก มีความเสี่ยงจะเป็นโรคมะเร็งกระดูกได้มากกว่า เพราะโรคนี้มียีนที่ผิดปกติเช่นเดียวกับโรคมะเร็งกระดูก
- โรคไส้เลื่อนที่สะดือ (Umbilical hernia) ผู้ป่วยโรคนี้มีความเสี่ยงจะเกิดโรคมะเร็งกระดูกชนิดอีวิง ซาร์โคม่า ได้ถึง 3 เท่าของผู้ป่วยทั่วไป แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่
โอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก
อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งกระดูกจะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ ชนิดของมะเร็งกระดูกที่เป็น ระยะของโรคมะเร็งว่าได้แพร่กระจายไปขนาดไหนแล้ว เกรดของโรคว่ามีความเร็วในการแพร่กระจายเชื้อเพียงใด ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีเป็นพื้นฐานและเชื้อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายมาก จะรักษาหายได้ง่ายกว่า
จากภาพรวมของโรคจะพบว่า ประมาณ 6 ใน 10 คนที่เป็นโรคมะเร็งกระดูก จะมีชีวิตอยู่ได้อีกอย่างน้อย 5 ปี หลังการวินิจฉัยโรคและหลายคนก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้
อาการของโรคมะเร็งกระดูก
1. ปวดกระดูก
อาการปวดกระดูก (Bone pain) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระดูก โดยอาการปวดจะเริ่มต้นจากความรู้สึกกดเจ็บที่บริเวณกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็ง ก่อนจะค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นปวดเรื้อรัง หรือปวดแบบเป็นๆ หายๆ และอาการจะเกิดตลอดเวลาแม้ช่วงเวลากลางคืน หรือในขณะพัก
2. อาการปวดอื่นๆ
ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการบวมแดง อักเสบ หรือคลำพบก้อนอยู่บนกระดูกหรือรอบๆ กระดูก ถ้ากระดูกที่เป็นมะเร็งอยู่ใกล้กับข้อต่อ อาการบวมที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ลำบาก และในบางกรณี มะเร็งกระดูกจะทำให้กระดูกอ่อนแอลง ทำให้กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังมีอาการอื่นๆ ที่พบได้อีกแต่เป็นส่วนน้อย ได้แก่
- มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- เหงื่อออก โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน
การวินิจฉัยมะเร็งกระดูก
หากคุณมีอาการปวดกระดูก แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ และทำการตรวจกระดูกบริเวณที่ปวดเพิ่มเติม จากนั้นแพทย์จึงจะตัดสินใจว่า คุณควรได้รับการตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากนี้แพทย์จะตรวจดูอาการบวม ก้อนเนื้อที่คลำพบบริเวณกระดูก และสอบถามว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในบริเวณที่ปวดหรือไม่ และจะสอบถามเกี่ยวกับชนิดของอาการปวดว่าเป็นอย่างไรบ้าง
หลังจากแพทย์ตรวจร่างกายแล้ว แพทย์จะส่งคุณไปเอกซเรย์เพื่อดูว่ามีปัญหาอื่นใดที่กระดูกหรือไม่ ถ้าผลจากการเอกซเรย์พบความผิดปกติเกิดขึ้น คุณจะถูกส่งต่อให้ไปพบแพทย์ศัลยกรรมกระดูก หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็งกระดูก เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมต่อไป
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
การทดสอบหรือการตรวจบางอย่างที่คุณจะได้รับเพื่อช่วยในการวินิจฉัย และประเมินโรคมะเร็งกระดูก มีรายละเอียดดังนี้
1. เอกซเรย์
การเอกซเรย์ (X-Ray) จะทำให้มองเห็นกระดูกที่ถูกทำลายจากมะเร็งด้านใน หรือมีกระดูกที่เกิดขึ้นใหม่จากมะเร็ง และยังประเมินได้ด้วยว่าอาการของคุณเกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือไม่ เช่น กระดูกหัก (Fracture) หากภาพเอกซเรย์บอกว่าคุณอาจเป็นโรคมะเร็งกระดูก คุณจะได้รับการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมอีกครั้ง เนื่องจากมะเร็งกระดูกเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย จึงอาจมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่มากนัก
2. การตรวจชิ้นเนื้อกระดูก
การตรวจชิ้นเนื้อกระดูก (Biopsy) คือ วิธีที่แม่นยำที่สุดในการวินิจฉัยมะเร็งกระดูก โดยแพทย์จะนำตัวอย่างของกระดูกที่มีอาการไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งในการตรวจชิ้นเนื้อกระดูกยังทำให้รู้ได้ด้วยว่าชนิดของมะเร็งกระดูกที่เป็นคือชนิดใด และบอกระยะการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งได้
การนำตัวอย่างของกระดูกออกมา ทำได้ 2 วิธี ได้แก่
- การใช้เข็มเจาะเข้าไปดูดตัวอย่างกระดูกออกมา ซึ่งจะทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือการใช้ยาสลบ ขึ้นกับบริเวณของกระดูกที่เกิดอาการ โดยแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเข้าไปที่กระดูกเพื่อดูดเอาตัวอย่างของเนื้อเยื่อกระดูกออกมาแล้วนำไปตรวจ
- การผ่าตัด จะอยู่ภายใต้การใช้ยาสลบ โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดเข้าไปที่บริเวณกระดูกเพื่อนำตัวอย่างของเนื้อเยื่อกระดูกออกมาตรวจ
การตรวจเพิ่มเติม
หากผลการตรวจชิ้นเนื้อกระดูกยืนยันหรือมีแนวโน้มว่าคุณอาจเป็นมะเร็งกระดูก คุณจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินว่าเชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใดแล้ว โดยจะทำการตรวจดังนี้
1. การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) คือ การใช้สนามแม่เหล็กเข้มข้นและคลื่นวิทยุเพื่อสแกน และสร้างเป็นภาพรายละเอียดของกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนในร่างกายของเรา ซึ่งมีประสิทธิภาพในการประเมินขนาดและการแพร่กระจายของเนื้องอกมะเร็งในกระดูก และรอบๆ กระดูก
2. การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การตรวจด้วยวิธีนี้มีอีกชื่อที่คุ้นหูคือ "ซีที สแกน" (CT Scan) ซึ่งการทำซีที สแกนจะเป็นการใช้รังสีเอกซ์ (X-Ray) ช่วยสร้างเป็นภาพรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายเป็นภาพ 3 มิติ มักใช้เพื่อตรวจว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปถึงบริเวณปอดหรือไม่ และอาจมีการทำการเอกซเรย์ปอดร่วมด้วยเพื่อประเมินสภาวะดังกล่าว
3. การสแกนกระดูก
การสแกนกระดูก (Bone Scan) จะทำให้ได้ข้อมูลของสิ่งที่อยู่ภายในกระดูกซึ่งมีความละเอียดมากกว่าการเอกซเรย์ โดยระหว่างการสแกนกระดูก จะมีการฉีดสารกัมมันตรังสี (Radioactive tracers) ทางหลอดเลือดดำเล็กน้อย จากนั้นบริเวณที่ผิดปกติของกระดูกจะดูดซับสารกัมมันตรังสีไว้อย่างรวดเร็วมากกว่ากระดูกปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นในระหว่างการตรวจสแกน
4. การเจาะตรวจไขกระดูก
ถ้าคุณเป็นมะเร็งกระดูกชนิดอีวิง ซาร์โคม่า คุณอาจต้องทำการเจาะตรวจไขกระดูก (Bone marrow biopsy) เพื่อดูว่าเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปถึงไขกระดูกหรือยัง ซึ่งระหว่างการตรวจ แพทย์จะใช้เข็มเจาะเข้าไปในกระดูกเพื่อดูดเอาตัวอย่างของไขกระดูกออกมา วิธีการตรวจแบบนี้อาจทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ หรือใช้ยาสลบ
ระยะและเกรดของมะเร็งกระดูก
เมื่อการทดสอบทั้งหมดสิ้นสุดลง แพทย์จะบอกได้ว่าคุณเป็นมะเร็งในระยะใด และอยู่ในเกรดใด ซึ่งสำหรับ "ระยะของมะเร็ง" จะเป็นการบอกว่าเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใดแล้ว ส่วน "เกรดของมะเร็ง" จะบอกว่ามะเร็งสามารถแพร่กระจายได้เร็วแค่ไหนในอนาคตที่จะถึงนี้
สำหรับระยะของมะเร็งกระดูกที่นิยมใช้ จะแบ่งออกได้ 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1: เป็นมะเร็งเกรดต่ำ และไม่แพร่กระจายไปจากกระดูก
- ระยะที่ 2: มะเร็งยังคงไม่แพร่กระจายไปจากกระดูก แต่เกรดของมะเร็งจะสูงขึ้น
- ระยะที่ 3: มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว เช่น ปอด
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งกระดูกระยะ 1 และบางรายในระยะ 2 จะมีโอกาสรักษาหายขาด แต่ถ้าเป็นมะเร็งในระยะ 3 จะยากในการรักษาให้หายขาดได้ แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาจะยังช่วยบรรเทาอาการและชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งได้
การรักษามะเร็งกระดูก
ในการรักษามะเร็งกระดูกจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งกระดูกที่เป็น และการแพร่กระจายของมะเร็งว่ามีมากน้อยเพียงใด รวมถึงสภาวะทางสุขภาพโดยรวมของคุณด้วย ซึ่งการรักษาหลักของมะเร็งกระดูก จะแบ่งออกได้ 3 วิธีคือ การผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการใช้รังสีรักษา
1. การผ่าตัด
การผ่าตัด จะเป็นการนำกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออกไป โดยปัจจุบันนี้ การผ่าตัดกระดูกส่วนที่เป็นมะเร็งออกจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- การผ่าตัดที่ยังคงแขนและขาไว้ (Limb-sparing surgery)
- การผ่าตัดแขน หรือขาออก (Amputation) ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 10 ที่จำเป็นต้องผ่าตัดแบบนี้
1.1 การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกที่เป็นมะเร็งออกแต่ยังคงแขนและขาไว้
การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำก็ต่อเมื่อมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปจากกระดูก และยังสามารถซ่อมแซมกระดูกทดแทนได้ โดยแพทย์จะนำกระดูกเฉพาะส่วนที่เป็นมะเร็งออก และอาจรวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงบางส่วนด้วย ในกรณีที่มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อแล้ว
ส่วนของกระดูกที่ถูกผ่าออกไปแล้วจะถูกแทนที่ด้วยกระดูกเทียม (Prosthesis) หรือส่วนของกระดูกจากบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย (Bone graft) แต่หากมะเร็งเกิดใกล้บริเวณข้อต่อ เช่น ข้อเข่า ก็สามารถผ่าตัดออกได้ และใส่ข้อเข่าเทียมเข้าไปแทน
1.2 การผ่าตัดแขนและขา
การผ่าตัดแขนและขาออก จะจำเป็นในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีที่ยังคงแขนและขาไว้ได้ หรือ ผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดด้วยวิธีแรกแล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยส่วนมากแพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัดแบบนี้ ถ้าอาการของโรคมะเร็งลุกลามไปถึงขั้นรุนแรง เช่น
- เชื้อมะเร็งแพร่กระจายจากกระดูกไปยังเส้นเลือดใหญ่ หรือเส้นประสาท
- มีการติดเชื้อเกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัดด้วยวิธีที่คงแขนและขาไว้ ทำให้ต้องนำกระดูกเทียม หรือกระดูกจากส่วนอื่นๆ ที่เคยแทนที่ไว้ออก
- มะเร็งเกิดขึ้นที่ส่วนของร่างกายซึ่งไม่สามารถทำการผ่าตัดแบบวิธีคงแขนและขาไว้ได้ เช่น ข้อเท้า
ทีมแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยจะมีความเข้าใจในอาการตื่นกลัวที่ผู้ป่วยต้องเผชิญเมื่อทราบว่าจะต้องทำการตัดแขนหรือขาออก แต่ทางทีมแพทย์จะให้การช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาที่ดีที่สุดกับผู้ป่วย หรือในบางกรณี ผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำให้ลองพบกับผู้ป่วยอื่นที่เคยได้รับการตัดแขนหรือขาไปแล้ว
ซึ่งภายหลังการตัดแขน หรือขา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการใส่แขนหรือขาเทียม ซึ่งมีการพัฒนาไปมากและสะดวกในการใช้งาน ปัจจุบันผู้ที่ใส่ขาเทียมจะสามารถเดิน วิ่ง และเล่นกีฬาได้เหมือนคนปกติ รวมถึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพียงแต่อาจต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการใส่แขนหรือขาเทียมสักพัก
การฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัด
ภายหลังการผ่าตัด คุณจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อให้ฟื้นตัวกลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติ เราเรียกว่า "การฟื้นฟูสภาพร่างกาย" (Rehabilitation) ซึ่งในการฟื้นฟูสภาพร่างกาย คุณจะได้รับการทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ร่างกายกลับมาทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ร่วมกับการทำกิจกรรมบำบัด ซึ่งจะสอนให้คุณมีทักษะช่วยเหลือตนเองในการทำกิจกรรมประจำวัน
และภายหลังการตัดแขน หรือขา คุณอาจได้รับการดูแลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยที่ตัดแขน หรือขา เพื่อรับคำแนะนำ และการรักษาเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายต่อไป
2. การใช้ยาเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัดสามารถให้ได้ 4 วิธี เพื่อรักษามะเร็งกระดูก ดังนี้
- ให้ก่อนการผ่าตัด เพื่อลดขนาดเนื้องอก และทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น
- ให้ร่วมกับรังสีรักษาก่อนการผ่าตัด (chemoradiation) ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากในการรักษามะเร็งกระดูกชนิดอีวิง ซาร์โคม่า
- ให้หลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ
- ให้เพื่อควบคุมอาการในผู้ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ (Palliative chemotherapy)
การใช้ยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งจะใช้ยาหลายตัวร่วมกัน โดยจะฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือใส่ทางสายสวนที่คาไว้ที่หลอดเลือดขนาดใหญ่
เวลาในการให้ยาเคมีบำบัดส่วนมากมักให้เป็นรอบๆ ในแต่ละรอบจะใช้เวลาหลายวัน และมีการหยุดพักเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองจากผลของยาเคมีบำบัด จากนั้นค่อยเริ่มรอบการรักษาใหม่อีกครั้ง โดยจำนวนรอบที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งและขึ้นกับเกรดของโรคมะเร็งด้วย
ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัดอาจช่วยในการรักษาและทำลายเซลล์มะเร็งได้ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังทำลายเซลล์ปกติในร่างกายของเราไปด้วย จนทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยาเคมีบำบัด ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- มีแผลในปาก
- อ่อนเพลีย
- เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ
- ผมร่วงชั่วคราว
- มีบุตรยาก
ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ซึ่งเกิดจากยาเคมีบำบัดควรจะดีขึ้นหลังการรักษาสิ้นสุดลง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะมีบุตรยากถาวรได้ ซึ่งทีมแพทย์ที่ดูแลจะให้ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และจะให้คำปรึกษาหากผู้ป่วยมีความกังวลหรือข้อสงสัยใดๆ
3. การใช้รังสีรักษา
เช่นเดียวกับการใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษาสามารถใช้ได้ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งกระดูก ควบคุมอาการ และเพื่อชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งในกรณีที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ วิธีการรักษาคือ แพทย์จะฉายรังสีเข้าไปที่กระดูกบริเวณที่เป็นมะเร็งโดยตรง ซึ่งระยะความถี่ในการฉายโดยปกติแล้ว ผู้ป่วยจะฉายรังสีทุกวัน เป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์ ส่วนจะฉายกี่สัปดาห์นั้น ขึ้นอยู่กับระยะและการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็ง
ผลข้างเคียงของการใช้รังสีรักษา
การใช้รังสีรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การทำลายเซลล์มะเร็ง แต่เซลล์ปกติข้างเคียงก็อาจถูกทำลายไปได้ด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงดังนี้
- ผิวร้อนแดง ระคายเคือง คล้ายกับอาการผิวไหม้แดด
- ปวดข้อในบริเวณที่ทำการรักษา
- รู้สึกคลื่นไส้
- ผมร่วง และขนร่วงบริเวณที่รักษา
- มีอาการอ่อนเพลีย
ผลข้างเคียงต่างๆ จะดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง ซึ่งจะไม่หายโดยทันที แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นและอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์
นอกจากการรักษาโรคมะเร็งกระดูกทั้ง 3 วิธีข้างต้นแล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาบางชนิดร่วมกับการรักษาด้วย เช่น ยาไมฟาเมอร์ไทด์ (Mifamurtide) ซึ่งเป็นยากระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน และมักถูกแนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งกระดูกประเภทออสทีโอซาร์โคม่าที่อายุยังน้อย และเป็นมะเร็งเกรดสูง สำหรับวิธีการให้ยาชนิดนี้คือ การให้ทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลา 12 สัปดาห์ โดยแต่ละครั้งจะใช้เวลาให้ยาประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นจะปรับเป็นให้ยาสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 24 สัปดาห์
การติดตามอาการ
เมื่อการรักษาสิ้นสุดลง คุณจะได้รับการนัดหมายเพื่อติดตามอาการอย่างเป็นประจำว่า มะเร็งได้กลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ ซึ่งในช่วง 2 ปีแรกหลังการรักษา คุณจะได้รับการนัดหมายให้มาติดตามอาการบ่อยครั้ง อาจเป็นทุกๆ 3 เดือน จากนั้นความถี่จะลดน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี แต่หากคุณรู้สึกว่าตนเองมีอาการของโรคมะเร็งกระดูกกลับมาอีก หรือสงสัยว่ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรีบตรวจสอบอาการ