หากคุณหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ ซึ่งเป็นโรคที่ส่งผลให้มีช่วงอารมณ์ดีมากผิดปกติหรือมีช่วงอารมณ์ซึมเศร้าสลับกัน การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ การรักษาด้วยยาถือเป็นวิธีรักษาสำคัญที่จะช่วยให้คุณควบคุมอาการของโรคนี้ได้
เป็นที่รู้กันดีในวงการแพทย์ว่ายากันชักหลายชนิดสามารถนำมาใช้เป็นยาปรับอารมณ์ในผู้ป่วยที่เป็นไบโพลาร์ได้ โดยแรกเริ่มยานี้ใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาลิเทียม (Lithium) เท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการใช้ยานี้ในผู้ป่วยไบโพลาร์อย่างหลากหลาย ทั้งใช้เพียงลำพังและใช้ร่วมกับยาอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โรคไบโพลาร์ รักษานานแค่ไหน ?
การรักษาผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ แบ่งเป็นระยะหลักๆ ดังต่อไปนี้
- การรักษาระยะเฉียบพลัน เป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการและควบคุมอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งมักอยู่ในช่วง 3-8 สัปดาห์ หลังจากที่ผู้ป่วยเริ่มรักษา
- การรักษาระยะต่อเนื่อง หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจจะยังมีอาการให้เห็นอยู่บ้าง ในระยะนี้แพทย์จะให้ยาเดิมที่ผู้ป่วยได้รับในระยะเฉียบพลันต่อไป หรืออาจปรับลดขนาดยาลงเพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา แต่ให้ปริมาณยายังอยู่ในระดับที่ช่วยควบคุมและบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้ การรักษาช่วงนี้ใช้เวลานาน 2-6 เดือน โดยมีเป้าหมายของการรักษาคือต้องการให้ให้ผู้ป่วยหายขาด และป้องกันการกลับไปมีอาการกำเริบซ้ำในภายหลัง
- การป้องกันระยะยาว เป็นการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอาการในครั้งต่อไป และช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด ซึ่งระยะเวลาในการให้ยาสำหรับป้องกันจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและความถี่ในการกำเริบของโรคแต่ละครั้ง ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและมีอาการกำเริบบ่อยๆ อาจต้องกินยารักษาโรคไบโพลาร์ไปตลอดชีวิต
ยาลิเทียม เป็นยาที่ดีที่สุดในการรักษาโรคอารมณ์สองขั้วจริงหรือ
Lithium (ลิเทียม) จัดเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคอารมณ์สองขั้วทั้งในระยะเฉียบพลัน ระยะรักษาต่อเนื่อง และการป้องกันระยะยาว หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ยานี้ร่วมกับยารักษาโรคจิตเภท หรือให้ใช้ร่วมกับยากันชัก แต่ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาลิเทียม ตัวยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง หรือทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ แพทย์อาจหันไปใช้ยากันชักแทน ซึ่งนับว่าเป็นทางเลือกในการรักษาโรคไบโพลาร์ที่ให้ผลดีไม่แพ้ยาลิเทียม
ลักษณะผู้ป่วยที่อาจไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาลิเทียมเพียงอย่างเดียว ได้แก่
- มีอาการช่วงอารมณ์ดีร่วมกับอาการช่วงซึมเศร้า
- มีอาการช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) อย่างรุนแรง
- มีอาการอารมณ์ดีสลับอารมณ์ซึมเศร้ารวมแล้วมากกว่า 4 รอบต่อปี
- มีอาการมามากกว่า 3 ครั้งก่อนการรักษา
- มีอาการโรคจิตร่วมด้วย
- มีประวัติการใช้สารเสพติด
- มีประวัติได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
ยากันชักแต่ละชนิดรักษาโรคไบโพลาร์ได้อย่างไรบ้าง
ยากันชักออกฤทธิ์โดยช่วยให้การทำงานของสมองเป็นไปอย่างปกติขึ้น ยานี้จึงใช้รักษาโรคเกี่ยวกับสมองหลายๆ โรค เช่น รักษาโรคลมชัก และป้องกันโรคไมเกรน รวมไปถึงโรคไบโพลาร์
ยากันชักชนิดต่างๆ ที่นำมาใช้รักษาโรคไบโพลาร์สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- ยากันชักกลุ่มแรก ได้แก่ คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) กรดวาลโปรอิก (Valproic acid) และยาอนุพันธ์
- ยากันชักกลุ่มใหม่ ได้แก่ ลาโมไตรจีน (Lamotrigine) โทพิราเมท (Topiramate) กาบาเพนติน (Gabapentin)
ตัวอย่างยากันชักที่มีใช้รักษาโรคไบโพลาร์มีดังต่อไปนี้
- คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) นำมาใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบแบบภาวะอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ที่ไม่ตอบสนองต่อยาลิเทียมหรือยากันชักวาลโปรอิก หรือไม่สามารถใช้ยากลุ่มข้างต้นได้ ซึ่งยานี้อาจใช้เป็นยาเดี่ยว กรณีอาการที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง หรือที่เรียกว่าอาการมาเนียแบบอ่อน (Hypomania) ผู้ป่วยมีอาการกำเริบแบบมาเนียรุนแรง อาการกำเริบแบบมาเนียที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย หรืออาการกำเริบที่มากกว่า 4 ครั้งต่อปี นอกจากนี้ยังนำมาใช้ป้องกันการกำเริบของโรคในระยะยาวได้เช่นกัน ยาคาร์บามาซีปีนสามารถใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น ลิเทียม ยากันชักตัวอื่น หรือยารักษาโรคจิตเภทกลุ่มใหม่ได้
- กรดวาลโปรอิก (Valproic acid) และอนุพันธ์ ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบแบบมาเนียที่ไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงจากการใช้ยาลิเทียมได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาลิเทียมและยาคาร์บามาซีปีน โดยอาจใช้เป็นยาขนานแรกในผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบแบบมาเนียซึ่งมีอาการกำเริบบ่อยมากกว่า 4 ครั้งต่อปี อาการแบบมาเนียที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย อาการมาเนียที่มีความผิดปกติของระบบเส้นประสาท และนำมาใช้ป้องกันการกำเริบของโรคในระยะยาวได้เช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบบ่อยมากกว่า 4 ครั้งต่อปี หรือผู้ที่มีอาการแบบมาเนียเกิดขึ้นพร้อมกับอาการซึมเศร้า
- ลาโมไตรจีน (Lamotrigine) ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาปรับอารมณ์ตัวอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการในระยะซึมเศร้ากำเริบ โดยพบว่ายานี้มีอัตราการตอบสนองต่อการรักษาประมาณร้อยละ 51-72 ส่วนผลในการรักษาโรคไบโพลาร์รูปแบบอื่นๆ นั้น ปรากฎว่าไม่ดีเท่ากับยากันชักชนิดอื่น
- โทพิราเมท (Topiramate) ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาลิเทียม หรือมีอาการข้างเคียงจากใช้ยากันชักตัวอื่นๆ โดยอาจให้ยานี้อย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับยาปรับสภาวะอารมณ์ชนิดอื่นก็ได้ ผลการศึกษาพบว่ายาโทพิราเมทใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
- กาบาเพนติน (Gabapentin) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วที่ไม่ตอบสนองการรักษา ทั้งผู้ป่วยที่มีอาการแบบมาเนียและอาการซึมเศร้า โดยจะให้ใช้ร่วมกับยาชนิดเดิมที่ใช้อยู่ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในระยะหลังพบว่าการใช้ยานี้ไม่ค่อยได้ผลดี จึงแนะนำให้เลือกใช้เป็นยาชนิดสุดท้ายร่วมกับยาปรับสภาวะอารมณ์ตัวอื่นๆ
เพื่อการรักษาที่ได้ผลดีและปลอดภัย คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งการรักษาจะทำควบคู่ไปกับการให้ความรู้กับผู้ป่วยและครอบครัวเกี่ยวกับโรค ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรค การดำเนินของโรค การรักษา รวมถึงการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น รวมถึงช่วยลดปัญหาเรื่องวินัยในการรับประทานยาของผู้ป่วยด้วย